การทำเกษตรอินทรีย์กลายมาเป็น “แบบอย่าง” หรือ “ต้นแบบ” ที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภคโดยทั่วไปยกย่อง และอยากให้เกษตรกรไทยหันมาทำตามอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะในฐานะระบบผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค หรือเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรเอง
ทว่า เกษตรกรแต่ละคนมี “ต้นทุน” ที่ต่างกัน การทำเกษตรอินทรีย์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก
เกษตรกรตัวอย่าง
ฉันมีโอกาสไปสัมภาษณ์ลุง ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง เกษตรกรผู้มีชื่อเสียงแห่งอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเริ่มทำ “เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ” มาตั้งแต่ราวปี 2538 ปัจจุบันลุงทองเหมาะเป็นที่รู้จักผ่านรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ พร้อมด้วยรางวัลยกย่องเชิดชูมากมาย
เมื่อทำเกษตรอินทรีย์แรก ๆ ลุงทองเหมาะคลุกคลีอยู่กับองค์กรพัฒนาเอกชน จึงมีผู้มาศึกษาดูงาน และมีผู้ส่งชื่อเข้าประกวดในฐานะเกษตรกรตัวอย่าง จนกระทั่งได้รับยกย่องให้เป็นเป็นครูภูมิปัญญาไทยของกระทรวงศึกษาธิการในปี 2548 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ลุงทองเหมาะเริ่มจัดฝึกอบรมการทำเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ และในปีถัดมาลุงทองเหมาะได้เป็นเกษตรกรแห่งชาติสาขาทำนา ต่อมาปี 2550 ได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ลุงทองเหมาะยังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยมีชื่ออีกด้วย
แนวทาง “เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ” ของลุงทองเหมาะเป็นการผสมผสานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลักธรรมตามพุทธศาสนา และความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางด้านจุลินทรีย์ชีวภาพที่ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้เป็นอาหารของต้นพืช
จุดเปลี่ยนสู่การทำเกษตรอินทรีย์ชีวภาพ
ความรู้ด้านเทคนิคการทำเกษตรของลุงทองเหมาะนั้นผู้อ่านอาจค้นหาได้ตามหน้าเวบไซท์ต่าง ๆ หรือการไปศึกษาดูงานหรือเข้ารับการฝึกอบรมด้วยตนเอง แต่เรื่องที่ฉันสนใจและอยากเล่าในที่นี้คือ “ต้นทุน” ในการปรับตัวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ในวิถีแบบ “พอเพียง” ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ลุงทองเหมาะเคยทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาหลายรูปแบบในที่ดินนับพันไร่ เคยเป็นผู้ประกอบกิจการโรงสีขนาดใหญ่มาก่อน และเคยเป็นหนี้ถึงเจ็ดล้านบาท
“ทำมาทุกอาชีพเลยเมื่อก่อน ผมไม่รู้หรอกว่าสารเคมีมีผลร้ายขนาดไหน ผมสีข้าว ป่าวร้องให้ชาวบ้านเอาข้าวมาให้ผมสี ผมเอาข้าวปลาย เอาแกลบ เอารำ ค่าจ้างไม่เอา แล้วเก็บข้าวไว้กินเอง ปีหนึ่งสีข้าว 400-500 เกวียน”
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีลูกน้องในโรงสีสลบไปเพราะสูดฝุ่นข้าวที่ปลูกด้วยการใช้สารเคมีอย่างแรง ลุงทองเหมาะจึงตั้งใจว่าจะพยายามไม่ใช้สารเคมีในการผลิตอีกต่อไป เพราะมันอันตรายและเป็นบาป จากนั้นลุงทองเหมาะได้มีโอกาสไปเรียนรู้จากองค์กรต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์จนกระทั่งพัฒนาองค์ความรู้เป็นของตนเอง สามารถปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี และผลผลิตไม่ลดต่ำลง
ต้นทุน กับ การ "บริหาร" การทำนา
รอบบ้านของลุงทองเหมาะเป็นแปลงสาธิต “หนึ่งไร่แก้จน” ในที่ดินเนื้อที่เพียง 1 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็นที่ทำนา เพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู ไก่ ห่าน ทำปุ๋ย ปลูกผัก โรงสีขนาดเล็ก และแปรรูปผลผลิตจากการเกษตร ฯลฯ ลุงบอกว่าหากจัดการได้ครบวงจรดังกล่าวด้วยที่ดินเพียงหนึ่งไร่เกษตรกรก็จะสามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงและมีสุขภาพดี
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ลุงทองเหมาะทำการเกษตรในที่ดินประมาณ 300 ไร่ ทำการผลิตปีละ 2 หน แต่ในปีที่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์จะทำการผลิตได้ปีละ 3 หน ที่ดินเหล่านี้เป็นที่ดินของลุงทองเหมาะที่มีมาแต่เดิมเกือบ 200 ไร่ และอีก100 กว่าไร่เป็นที่นาของอดีตข้าราชการระดับสูงที่แบ่งให้ใช้โดยไม่คิดค่าเช่า ลุงทองเหมาะทำนาในที่ดินแปลงนั้นอยู่สามปีจึงแบ่งผลผลิตให้เจ้าของนาด้วยเพราะได้ผลผลิตนับพันเกวียน (หนึ่งไร่ได้ผลผลิตประมาณหนึ่งเกวียนกับแปดสิบถัง) โดยแบ่งให้ในอัตราไร่ละ 15 ถัง แต่จ่ายเป็นเงินสดที่ได้จากการขายข้าวคิดเป็นเงินประมาณหนึ่งแสนถึงสองแสนบาท
ลุงทองเหมาะบอกว่า “เดี๋ยวนี้ทำนาง่ายจะตาย จ้างเขาทำ ให้เขาไถ หว่าน จ้างรถเกี่ยว นา 100 ไร่เกี่ยว 2 วันก็เสร็จ”
ด้วยวิธีการจ้างแบบครบวงจรทำให้เจ้าของนาขนาดใหญ่สามารถคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้อย่างแม่นยำ ผู้รับจ้างในกระบวนการต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นคนท้องที่มีเครื่องจักรกลการเกษตร (รถไถ รถเกี่ยว ฯลฯ) เป็นของตนเอง จัดว่าเป็น “ผู้รับจ้างเป็นอาชีพ” ซึ่งผู้รับจ้างเหล่านี้ไม่นิยมทำการผลิตของตนเอง บางคนหากมีที่ดินก็เอาให้คนอื่นเช่าทำการผลิต
ฟังลุงทองเหมาะอธิบายทำให้ความเข้าใจของฉันเกี่ยวกับ “การทำนา” เปลี่ยนไปอย่างมากจากที่คุ้นเคยกับภาพลักษณ์ชาวนารายย่อยผู้ “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” ใช้แรงงานตนเองเป็นส่วนใหญ่ ชาวนาแบบนั้นคงมีอยู่ไม่น้อยแต่ย่อมไม่ใช่ชาวนาในละแวกนี้ที่โดยมากมีสถานะเป็น “ผู้จัดการนา” ซึ่งนอกจากในจังหวัดสุพรรณแล้ว ฉันพบว่าในจังหวัดอยุธยา และอุทัยธานีก็มีการทำนาในลักษณะนี้อยู่มาก และนอกจากจะจัดการนาของตนเองแล้ว ลุงทองเหมาะยังเล่าว่ามีชาวบ้านในท้องที่นี้ไปรับจ้าง “บริหาร” การทำนาให้คนกรุงเทพฯที่มีเงินซื้อที่นาแต่ไม่มีเวลาและความสามารถในการจัดการการผลิต
“เดี๋ยวนี้เราทำนาเป็นพันไร่ก็ได้ คุณหาคนไปไถ คุณแค่ไปนั่งดู” ลุงทองเหมาะกล่าว
ในวัยหกสิบเศษ ลุงทองเหมาะมีลูก 3 คน จบการศึกษาในระดับสูง แต่แกโน้มน้าวให้ลูก ๆ กลับมาทำนาโดยบอกว่า “ทำนาก็รวยได้” แกเล่าว่าลูกคนโตเรียนโรงเรียนจิตรลดา 6 ปี จบปริญญาตรีสองใบ และจบปริญญาโท คนที่สองจบวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ คนที่สามจบคุรุศาสตร์ดนตรีไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเคยไปสอนดนตรีอยู่ในหลายประเทศ เช่น แคนนาดา เยอรมัน ทุกวันนี้ลูกคนแรกและคนสุดท้องกลับมาช่วยลุงทองเหมาะทำนา ส่วนคนกลางยืนยันว่าไม่ชอบทำนาจึงไปอยู่ที่อเมริกา
ลุงทองเหมาะกล่าวว่า “ทุกคนอยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน แล้วใครจะมาทำมาหากิน อาชีพของเรามันพัฒนาได้ ลูกผมทำนาสามร้อยไร่ มีรถแทรกเตอร์ตั้งห้าหกคัน มีบ้านอยู่สวย ๆ ทำนาก็ไม่ได้ลงมือทำเอง แค่ลงไปดูเขาทำเฉย ๆ”
การจัดฝึกอบรม
นอกจากลูกทั้งสองคนจะเป็นกำลังหลักในการทำนาแล้ว ลุงทองเหมาะ ภรรยาและลูก ๆ ยังช่วยจัดฝึกอบรมในนามของ “สถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์สุพรรณบุรี” ในเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งก็ใช้บ้านของลุงทองเหมาะนั่นเองที่ปรับพื้นที่ส่วนที่เคยใช้เป็นโรงสีข้าวมาทำเป็นสถานที่ฝึกอบรม ศูนย์ฯเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 ในแต่ละปีหน่วยงานราชการจะสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าที่พัก อาหาร วิทยากร ฯลฯโดยทำโครงการร่วมกันว่าศูนย์ฯจะจัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรกี่คนจากที่ใดบ้าง ที่เหลือศูนย์ฯดำเนินการเองหมดตั้งแต่การรับสมัครผู้เข้าฝึกอบรม จัดทำหลักสูตร และดำเนินการฝึกอบรม นอกจากโครงการฝึกอบรมเกษตรกรแล้วดังกล่าวแล้วทางศูนย์ฯยังรับฝึกอบรมให้แก่บุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ ตามแต่จะติดต่อมา ซึ่งในแต่ละปีมีผู้มารับการอบรมหลายพันคนจากจังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี นครสวรรค์ แพร่ ลำปาง สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ฯลฯ
ลุงทองเหมาะเปิดเผยว่าแทบไม่มีเกษตรกรจากจังหวัดสุพรรณบุรีมาฝึกอบรม และเกษตรกรในละแวกบ้านของแกเองก็ไม่ค่อยนิยมทำเกษตรอินทรีย์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำซึ่งหมายถึง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ ฯลฯ ในท้องที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เท่าที่ควร ในทางตรงกันข้าม พวกนักธุรกิจการเกษตรและนักการเมืองท้องถิ่นยังสนับสนุนการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างเห็นได้ชัดทั้งโดยการแจกให้ฟรีในโอกาสต่าง ๆ หรือมีแหล่งให้เบิกไปใช้ในระบบเงินเชื่อ
เมื่อเป็นดังนี้ ลุงทองเหมาะจึงเห็นว่าการอบรมเกษตรอินทรีย์ให้ได้ผลนั้นควรจะเน้นไปที่คนยากจนและมีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บอยู่ก่อนแล้ว “คนสุพรรณเขากินดีอยู่ดี อย่างคนต่างจังหวัดเขาแร้นแค้น เขาจึงจะอยู่ในความพอเพียง” ลุงทองเหมาะกล่าว
และหนึ่งเนื้อหาหลักสูตรที่สำคัญของการฝึกอบรมคือการให้ความรู้เรื่องธรรมมะ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรตระหนักรู้เรื่องบาปบุญคุณโทษมากขึ้น มีวิถีชีวิตที่ตั้งอยู่ในความสมถะ และหันมาทำเกษตรที่ทำลายธรรมชาติและทำร้ายตนเองและผู้บริโภคน้อยลง
ฉันเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องความพอเพียงว่าเป็นแนวคิดที่ดีและเต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อคนยากคนจน แต่ฉันก็อดสงสัยไม่ได้จึงถามออกไปว่าเกษตรกรที่ยากจนข้นแค้นมาก ๆ มีไม่เคยพอกิน จะมาริเริ่มทำการเกษตรพอเพียงแบบนี้ได้หรือไม่ ความพอเพียงของพวกเขาดังที่ลุงทองเหมาะเข้าใจ มันเป็นความพอเพียงโดยเต็มใจ หรือจำใจกันแน่ และลำพังอาศัยการฝึกอบรมเพียง 2-4 คืนจะช่วยให้เขาเปลี่ยนวิถีการผลิตมาสู่การทำเกษตรอินทรีย์ได้หรือเปล่า
ลุงทองเหมาะยังคงยืนยันว่าอย่างไรเสียก็ต้องเริ่มจากความพอเพียง ซึ่งคนสมัยนี้ “ไม่รู้จักพอเพียง” และไม่รู้จักคิดที่จะทำเกษตรแบบนี้ การฝึกอบรมเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนความคิด “อย่างน้อยเขาก็ยังได้คิด ต้นทุนน้อยก็ทำน้อยให้ได้เท่าเก่าแต่ลดต้นทุน ไม่ต้องทำให้ได้เยอะ”
จบด้วยคำถาม
ฉันจบการสัมภาษณ์ลงแค่นั้น เวลาสองชั่วโมงเศษคงไม่สามารถทำให้ฉันเข้าใจได้ครบถ้วนว่าลุงทองเหมาะผ่านอะไรมาบ้างและใช้ต้นทุนต่าง ๆ ในชีวิตไปเท่าไรกว่าจะมาทำเกษตรอินทรีย์ชีวภาพและคิดหลักสูตรฝึกอบรมอย่างเร่งรัดได้แบบนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่เห็นชีวิตสุขสบายและเห็นของจริงว่า “ทำนาก็รวยได้” แบบที่ลุงทองเหมาะเป็นอยู่คงจะหันมาสนใจการทำเกษตรอินทรีย์ชีวภาพกันมากขึ้น แต่โอกาสที่จะมีวิถีชีวิตแบบพอเพียงอย่างลุงทองเหมาะอาจเป็นไปไม่ได้สำหรับทุกคน โดยเฉพาะสำหรับเกษตรกรที่ลำบากยากจนมีหนี้สินล้นพ้นตัวพวกเขาคงอยากจะมีให้พอกินเสียก่อนจึงค่อยคิดเรื่องอยู่อย่างพอเพียง
ท้ายการสัมภาษณ์ในระหว่างที่ลุงทองเหมาะพาเดินชมแปลงสาธิต “หนึ่งไร่แก้จน” ฉันหวนนึกไปถึงชีวิตชาวนาของตา-ยายในจังหวัดสระบุรี ฉันเกิดมามาในยุคที่บ้านเรายังใช้ควายไถนา และโตมาในยุคที่ชาวนาใช้แทรกเตอร์และเป็นหนี้ ธกส. กันถ้วนหน้า ตั้งแต่เล็กจนโตฉันไม่เคยเห็นความสบายของชาวนาที่บ้าน ไม่เคยสักครั้งที่ตา-ยาย รวมทั้งลุงป้าซึ่งรับมรดกทำนาในรุ่นต่อมาจะบอกว่าการทำนานั้น “ง่ายจะตาย” ไม่เคยได้ยินชาวนาที่บ้านสั่งสอนลูกหลานว่าโตขึ้นให้กลับมาทำนา
นั่นอาจเป็นเพราะชาวนาที่บ้านของฉันไม่มีความรู้เรื่องการทำนาอินทรีย์ชีวภาพในวิถีแห่งความพอเพียง? ไม่ตั้งอยู่ในหลักธรรม? หรือเป็นเพราะต้นทุนชีวิตติดลบที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ? เพราะพวกเขามีที่นากันอยู่แค่กระแบะมือเดียว? เพราะพวกเขาถูกโรงสีใหญ่ที่มีอยู่แห่งเดียวในตำบลขูดรีดอยู่ชั่วนาตาปี? เพราะโครงสร้างสังคมและทิศทางการพัฒนาที่ไม่เคยเอื้อให้ชาวนารายย่อยเหล่านั้นลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้?
หรือเป็นเพราะอย่างอื่นอีกมากมายในชีวิตคนที่สลับซับซ้อนกว่านั้น ?