Skip to main content

ในโลกยุควิทยาศาสตร์แบบนี้ น่าสนใจที่การกระทำซึ่ง “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” ยังคงได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจับยามสามตาทำนายอนาคต การทรงเจ้าเข้าผี การบนบานศาลกล่าว หรือการแสวงหา “ทางเลือก” แบบอื่น ๆ นอกเหนือไปจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

เมื่อเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนกำลังป่วยหนักอยู่ในห้องไอซียู หลังจากเขาถูกส่งตัวให้อยู่ในความดูแลของแพทย์สมัยใหม่ก็ไม่มีสิ่งใดที่ญาติและเพื่อน ๆ จะกระทำได้อีกนอกจากอดทนรอคอยกระบวนการรักษา แต่การรอคอยนั่นเองที่ทำให้เกิดความอึดอัดและทรมานใจกันอย่างมาก เพราะมันเป็นการกระทำที่ดูราวกับว่ามิได้กระทำอะไรเลย

ในวิกฤติการณ์ปัญหามนุษย์มักดิ้นรนและหาหนทางอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ไขสถานการณ์เสมอ  สมัยเด็ก ๆ เมื่อตายายของผู้เขียนล้มป่วยลง ญาติพี่น้องในชุมชนชนบทช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระเพื่อต่ออายุ และดูราวกับว่าจะเป็นผล เพราะหลังงานทำบุญอ าการเจ็บไข้ของท่านดีขึ้นอย่างน่าประหลาดและท่านมีอายุต่อไปอีกหลายปี

สำหรับกรณีเพื่อนของผู้เขียนที่แม้ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ ญาติมิตรของเขาแสวงหาทางเลือกในการรักษาพยาบาลด้วยการสวดมนต์ภาวนา  การทำบุญ บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งการปรึกษาหมอพื้นบ้านและเยียวยาด้วยสมุนไพร โดยมีคำอธิบายว่าช่วยเสริมพลังการรักษาของแพทย์สมัยใหม่

แต่แล้วปัญหาก็เกิดเมื่อกระบวนการรักษาทั้งสองทาง-วิทยาศาสตร์กับไม่เป็นวิทยาศาสตร์นั้นขัดแย้งกัน ญาติเจรจากับแพทย์อยู่หลายครั้ง เป็นต้นว่าญาติอยากให้ผู้ป่วยรับยาสมุนไพร แต่แพทย์เห็นว่าสมุนไพรชนิดนั้นเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย แพทย์อยากให้ญาติเซ็นยินยอมให้ผ่าตัด แต่ญาติได้รับคำเตือนจากเกจิอาจารย์ชื่อดังว่าไม่ควรผ่าตัด ญาติมิตรทำบุญและสวดภาวนาเพื่อหวังปาฏิหาริย์ แต่แพทย์บอกว่าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นก็ด้วยการรักษาของแพทย์เท่านั้น

ผู้ที่เชื่อมั่น “วิทยาศาสตร์” อาจเห็นว่าญาติมิตรงมงายไม่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งเป็นตรรกะสำคัญในโลกสมัยใหม่ แต่หากอธิบายตามกรอบหน้าที่นิยมอย่างง่าย ๆ สิ่งที่ญาติมิตรทำก็เพื่อบรรเทาความเครียดของตนเอง โดยหาที่พึ่งทางใจ ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาในระดับปัจเจกบุคคลแบบหนึ่ง นักมนุษย์นิยมอาจไม่เห็นด้วยกับการหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และการอธิบายปัญหาด้วยบาปบุญ-เจ้ากรรมนายเวร แทนที่จะเชื่อมั่นความสามารถของมนุษย์ ซึ่งในที่นี้ได้แก่แพทย์ผู้รักษาและวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มนุษย์คิดค้นพัฒนาขึ้นมา

ผู้เขียนไม่มีความรู้และความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการรักษา แต่สนใจความพยายามต่อสู้กับโรคร้ายของญาติมิตร ผู้เขียนไม่ได้มองว่าพวกเขางมงาย และไม่คิดว่าพวกเขาไม่เชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ ในทางตรงข้าม ผู้เขียนเห็นว่าการบนบานวเป็นการต่อสู้ดิ้นรนของผู้ที่เชื่อมั่นในพลังของมนุษย์อย่างมาก เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถยื้อยุดหรือเปลี่ยนแปลงการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ พวกเขาจึงยื่นข้อเสนอเพื่อต่อรองกับสิ่งที่ไม่น่าจะต่อรองกันได้นั่นคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพยดาฟ้าดินที่ทรงฤทธานุภาพ

ข้อเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือของสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีหลายแบบ เช่น การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรของผู้ป่วย การทำบุญต่ออายุ การเรียกขวัญ การไถ่ชีวิตโคกระบือ การท่องบทสวดให้ได้จำนวนรอบเท่าอายุของผู้ป่วยบวกหนึ่ง การทำสังฆทาน การถวายไข่ต้มหรืออาหารคาวหวาน รวมทั้งการถือศีลปฏิบัติธรรมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ฯลฯ 

โดยมิได้คิดลบหลู่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงหรือไม่ หรือท่านจะศักดิ์สิทธิจนมีอำนาจดลบันดาลให้เกิดผลตามคำวิงวอนร้องขอหรือเปล่า แต่ผู้เขียนอดแปลกใจมิได้กับข้อแลกเปลี่ยนที่ดูจะไม่ค่อยสมน้ำสมเนื้อและเป็นธรรมเท่าใดนัก และไม่ค่อยเข้าใจนักว่าเหตุใดสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเจ้ากรรมนายเวรจึงจะอยากตอบรับข้อเสนอเพื่อไข่ต้ม อาหารคาวหวาน ชีวิตโคกระบือ การวิปัสสนากัมฐาน สังฆทาน และการสวดมนต์ ฯลฯ

หากคิดเปรียบเทียบมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือคุณค่าของสิ่งแลกเปลี่ยนจะเห็นได้ว่าสิ่งของที่มนุษย์เสนอถวายต่อสิ่งศักดิ์สิทธินั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่มนุษย์ต้องการ หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่ามนุษย์ยังคงเลือกให้ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบเสมอ  เพราะข้อเสนอล้วนอยู่ในวิสัยที่มนุษย์จะสามารถจัดหามาได้ หรือไม่หนักหนาเกินไปนักที่จะจัดหามา แต่กลับขอแลกเปลี่ยนกับสิ่งยิ่งใหญ่ที่มีคุณค่าและความสำคัญซึ่งมนุษย์ไม่สามารถบันดาลให้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง

ไม่ว่าจะได้ผลตามที่วิงวอนร้องขอหรือไม่ก็ตาม การบนบานศาลกล่าวได้ช่วยให้มนุษย์บำบัดความอึดอัดของตนลงไปได้มาก การได้ตระเวนไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อกล่าวอ้อนวอนภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือทำบุญทำทานผ่านผู้ทรงศีลและเกจิอาจารย์นอกจากจะเป็นการพาตนเองไปให้พ้นจากภาวะตึงเครียดที่โรงพยาบาลในชั่วขณะหนึ่งแล้ว ยังทำให้มนุษย์สามารถบรรเทาความอึดอัดจากการได้ “ทำอะไร” บ้างในสถานการณ์ที่ไม่อาจทำอะไรได้เลยนอกจากรอคอย และหากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นญาติมิตรก็จะสามารถภาคภูมิใจได้ว่าพวกตนได้มีส่วนร่วมทำให้เกิดผลนั้นด้วย 

ผู้เขียนเองผู้ซึ่งโดยปกติไม่นิยมการเข้าวัดทำบุญเนื่องจากเชื่อมั่นในพลังของมนุษย์ว่าจะสามารถกำหนดโชคชะตาและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตนเอง มากกว่าจะหวังพึ่งอำนาจอื่น ๆ  แต่ในสภาวะเดียวกันนี้ที่ไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถอันใดทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาได้ ผู้เขียนก็หาทางออกด้วยการไปไหว้พระ สวดมนต์ภาวนา และบนบานศาลกล่าวด้วยเช่นกัน  แล้วก็พบว่าการกระทำเช่นนั้นได้ช่วยคลายความอึดอัดของตนลงไปได้มากเพราะรู้สึกว่าดีกว่ารออยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไรเลย แม้จะไม่สามารถคาดหวังผลจากการสวดวิงวอนก็ตาม

คงมีคำอธิบายได้อีกหลากหลายแง่มุมสำหรับการพยายามแสวงหาทางแก้วิกฤติด้วยวิธีการที่ “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” แต่ในมุมมองของผู้เขียนนั้นเห็นว่าการดิ้นรนทำอะไรสักอย่างนี่แหละที่เป็นพลังสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถนำพาชีวิตตนเองไปข้างหน้าได้

และน่าทึ่งอย่างมากที่มนุษย์จำนวนมากยังคงมุ่งมั่นที่จะดิ้นรนต่อรองแม้แต่ในเรื่องที่ไม่น่าจะต่อรองได้ สรรหาวิธีการอันแยบยลมาใช้ และต่อรองแม้แต่กับเทพยดาฟ้าดินที่ดูราวกับมีอำนาจสูงส่งจนไม่น่ากล้าที่จะต่อรอง

และด้วยการดิ้นรนต่อสู้และต่อรองแบบนี้นี่แหละที่ตอกย้ำและยืนยันถึงพลังอำนาจของมนุษย์

เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อยอมจำนน

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า