Skip to main content

 

มาเรียนภาษาอินโดนีเซียกันต่อนะคะ คราวนี้จะเป็นพยัญชนะและสระประสมนะคะ และแถมด้วยคำที่ออกเสียงใกล้ๆ กันแต่ความหมายไปคนละเรื่องเลยค่ะ

พยัญชนะประสม

“ng” = ง ตัวนี้คนไทยไม่มีปัญหา เพราะว่าเรามีตัว “ง” อยู่แล้ว ออกเสียงเหมือนกันเปี้ยบค่ะ เช่นคำว่า ngantuk (adj.) อ่านว่า งัน-ตุ๊ก แปลว่า ง่วงนอน

“ny” = ญ ตัวนี้ออกเสียงทั้ง น และ ญ เวลาออกเสียงเหมือนเสียงขึ้นจมูก เช่นคำว่า nyonya อ่านว่า โญ-ญา คำนี้แปลได้หมายความหมาย ใช้เรียกนำหน้าชื่อผู้หญิงก็ได้ แปลประมาณ “คุณผู้หญิง” ในยุคอาณานิคมดัชต์คำนี้ใช้เรียกสตรีชาวดัชต์หรือสตรีพื้นเมืองที่แต่งงานกับชาวดัชต์ นอกจากนี้คำนี้ยังหมายถึง “ผู้หญิง” ได้อีกด้วย

“kh” = ค ตัวนี้เวลาออกเสียงเหมือนมีอะไรติดอยู่ที่คอ หรือพูดให้ง่ายก็คือทำเสียงเหมือนเวลาจะขากเสมหะน่ะค่ะ เช่นคำว่า khas (adj.) อ่านว่า คัส แปลว่า (ลักษณะ) เฉพาะตัว, ไม่เหมือนใคร, แบบฉบับของตัวเอง 

สระประสม

ia = เอีย เช่นคำว่า siapa (pron.) อ่านว่า เสีย-ปะ แปลว่า ใคร

ua = อัว เช่นคำว่า semua (adj.) อ่านว่า เซอ-มัว แปลว่า ทั้งหมด

au = เอา เช่นคำว่า mau (v.) อ่านว่า เม้า แปลว่า ต้องการ

oi = ออย เช่นคำว่า boikot (v.) อ่านว่า บอย-ก็อต แปลเหมือนคำว่า boycott เลย เพราะเป็นคำทับศัพท์

 

คำที่ออกเสียงใกล้เคียงกัน

1. mudah (มู-ดะฮ์) = ง่าย      muda (มู-ดา) = อ่อน, เยาว์วัย

สองคำนี้คนไทยพูดกันผิดมากค่ะ ดังที่อธิบายในคราวที่แล้วว่า เสียง h ท้ายคำในภาษาอินโดนีเซียมีความสำคัญ ถ้าเราไม่ออกเสียง h ความหมายอาจจะเปลี่ยนได้ค่ะ เช่น ถ้าเราต้องการพูดว่า “ฉันเป็นคนที่ (ยัง) อายุเยาว์” ต้องพูดว่า “Saya muda” ไม่ต้องมี “ฮา” นะคะ ถ้าเติม “ฮา” เข้าไป จะกลายเป็น “ฉันเป็นคนง่าย” แทน .. อาจจะฮาไม่ออกนะคะ

2. sukar (ซู-การฺ) = ยาก        suka (ซู-กา) = ชอบ

สองคำนี้ถ้าออกเรียง “แอรฺ” หรือ “ร” ท้ายคำไม่ชัดจะทำให้จาก “ยาก” กลายเป็น “ชอบ” เลยค่ะ

3. tuhan (ตู-ฮัน) = พระเจ้า     hantu (ฮัน-ตู) = ผี     hutan (ฮู-ตัน) = ป่า

เซ็ทนี้ก็ต้องระวังค่ะ โดยเฉพาะคนไทยที่มีความสามารถในการกลับหรือผวนคำ จาก “พระจ้า” อาจจะกลายเป็น “ผี” ได้

4. kepala (เกอ-ปา-ลา) = ศีรษะ                  kelapa (เกอ-ลา-ปา) = มะพร้าว

สองคำนี้เป็นสองคำที่คนไทยใช้ผิดบ่อยมากค่ะ ถ้าไม่ระวังท่านอาจจะสั่ง “น้ำศีรษะ” แทน “น้ำมะพร้าว” ได้นะคะ

5. cabo (จา-โบ) = ผู้หญิง (ภาษาจีน) coba (โจ-บา) = ลอง

สองคำนี้ก็เช่นกันค่ะ ถ้าเราผวนคำความหมายจะคนละเรื่องเลยค่ะ

6. kabar (กา-บารฺ) = ข่าว                bakar (บา-การฺ) = เผา, ย่าง

คำทักทายว่า “How are you? ในภาษาอินโดนีเซียคือ “Apa kabar?” แปลตรงตัวก็ “What’s news?” ระวังจะพูดผิดเป็น “Apa bakar”? คนฟังอาจจะงงได้ค่ะ เพราะหมายความกันไปคนละทางเลยค่ะ

7. rupa (รู-ปารฺ) = รูป                     lupa (ลู-ปา) = ลืม

สองคำนี้ถ้าไม่กระดกลิ้นจากคำว่า “รูป” ก็อาจจะกลายเป็นคำว่า “ลืม” ได้

8. harus (ฮา-รุส) = ต้อง                           halus (ฮา-ลุส) = ละเอียด, อ่อน

9. murah (มู-ระฮฺ) = (ราคา) ถูก                  merah (เม-ระฮฺ) = (สี) แดง             

   marah (มา-ระฮฺ) = โกรธ                        rumah (รู-มะฮฺ) = บ้าน

เซ็ทนี้ก็เป็นเซ็ทที่นักเรียนไทยสับสนกันมากค่ะ เพราะว่าออกเสียงและสะกดใกล้เคียงกัน

10. kenyang (เคอ-ญัง) = อิ่ม           kentang (เคิน-ตัง) = มัน (พืช)

สองคำนี้ดิฉันก็ได้ฟังคนไทยพูดผิดบ่อยๆ ค่ะ จาก “ฉันอิ่ม” เป็น “ฉันคือมัน (พืช)”

11. enak (แอ-นะกฺ) = อร่อย, สบาย    anak (อา-นะกฺ) = ลูก, เด็ก

12. tinggal (ติง-กัลฺ) = พัก, อาศัย      tanggal (ตัง-กัลฺ) = วันที่        tangga (ตัง-กา) = บันได

13. maha (มา-ฮา) = ใหญ่, ยิ่งใหญ่   mahal (มา-ฮัลฺ) = (ราคา) แพง

14. tulis (ตู-ลิสฺ) = เขียน                           turis (ตู-ริสฺ) = นักท่องเที่ยว

15. bawa (บา-วา) = นำ, พา            bawah (บา-วะฮฺ) = ใต้, ข้างใต้  bahwa (บะฮฺ-วา) = (พูด/คิด ฯลฯ) ว่า

 

บล็อกของ onanong

onanong
คำในภาษาไทยหลายๆ คำที่คล้ายกับคำในภาษามลายู, อินโดนีเซีย และ ชวา มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตอยู่ไม่น้อย
onanong
ชื่อบล็อก “Selamat Datang”  (อ่านว่า เซอลามัต ดาตัง) นั้นแปลว่า “ยินดีต้อนรับ” ซึ่งใช้กันทั้งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไปจนถึงบรูไน, สิงคโปร์ และปาตานี หากคุณพูดภาษามลายูได้ก็หมายความว่าคุณจะพูดกับคนได้เกือบๆ 250 ล้านคน