Skip to main content

จากข่าวเรื่องประเทศบรูไนประกาศใช้กม.ชารีอะห์นั้น ดิฉันมีความเห็นและข้อสังเกต 7 ประการค่ะ

1. บรูไนมีการ socialization กม.ชารีอะห์ก่อนที่จะมีประกาศใช้เป็นกฎหมายก่อนหน้านี้เป็นเวลาอย่างน้อยสองปี เมื่อเทียบกับอาเจะห์ที่ประกาศใช้กม.ชารีอะห์ก่อนที่จะมีการ socialization ซึ่งตัวอย่างจากการใช้กม.ชารีอะห์ที่อาเจะห์เห็นได้ชัดว่าคนขาดความรู้ความเข้าใจว่าอะไรคือ “กฎหมายชารีอะห์ในฐานะที่เป็นกฎหมาย” แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะกล่าวว่าตัวเองนั้นปฎิบัติตาม syariat Islam มาก่อนหน้าจะมีการประกาศให้ syariat Islam เป็นกฎหมายเสียอีก

2. คำว่า syariat Islam มันหมายถึงกฎหมายอิสลามอยู่แล้วในตัวของมันเอง ดังนั้นชาวมุสลิมทุกคนจะไม่พูดว่าตัวเองไม่เอา/ปฏิเสธ/ไม่สนับสนุน syariat Islam เพราะสำหรับมุสลิมทุกคน วิถีในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันนั่นคือการปฏิบัติตาม syariat Islam พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ชีวิตของมุสลิมก็ดำเนินตาม syariat Islam อยู่แล้ว

3. ได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนอาจารย์ชาวออสเตรเลียที่ไปสอนหนังสือที่บรูไนอยู่หลายปี เธอเล่าว่ากม.ชารีอะห์ที่บรูไนไม่ได้น่ากลัว เคร่งครัดอย่างที่คิด ตำรวจศาสนาที่บรูไนไม่เคยจับคน มีไว้เหมือนให้คนมีอาชีพ กม.ชารีอะห์เหมือนมีเอาไว้เป็นสัญลักษณ์และเป็นเครื่องมือในการดำรงอยู่ของหลายกลุ่ม รวมถึงเอาไว้เพื่อต่อรองยืนยันอัตลักษณ์ในโลก ณ ปัจจุบันที่เรื่องกม.ชารีอะห์และอิสลามถูกยกขึ้นมาดีเบตอย่างมาก

4. โทษการตัดมือ การปาด้วยหินจนตาย ไม่ได้กระทำกันได้ง่ายๆ อย่างที่คิด จะต้องมีพยานเห็นการกระทำนั้นๆ เช่น ขโมยของ หรือผิดประเวณี ถึง 4 คน หมายความว่าด้วย 8 ตา และต้องเห็นกับตา เป็นคลิปวีดีโอก็ไม่นับ ในแง่นี้มีนักวิชาการหลายคนที่นี่กล่าวว่าโทษประหารที่ใช้กันในหลายๆ ประเทศที่เป็นรัฐทางโลกก็ป่าเถื่อนไม่น้อยไปกว่ากัน

5. ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกับกม.ชารีอะห์ก็ยังเป็นการดีเบตกันอย่างกว้างขวาง สำหรับคนที่สนับสนุนกม.ชารีอะห์จะมีมุมมองว่ากม.ชารีอะห์นั่นแหละที่พิทักษ์รักษาสิทธิของมนุษย์โดยแท้ คนที่ถูกลงโทษก็เพราะขโมยของๆ คนอื่น ดังนั้นกม.ชารีอะห์ต่างหากที่จะช่วยให้หยุดการละเมิดสิทธิ

6. กม.ชารีอะห์ที่ใช้ทั้งในอาเจะห์และบรูไนไม่ได้ดำเนินตามแบบอย่างของประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นรัฐอิสลาม หากแต่มีลักษณะเฉพาะตามแบบของตัวเอง โดยเฉพาะอาเจะห์ที่มีการผสมผสานกับ Adat (จารีต) ด้วย

7. ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ด้วยก็ตาม เราจำเป็นต้องเข้าใจการเรียกร้องกม.ชารีอะห์เพราะมันดูเหมือนจะเป็นเทร็นด์ในโลกมุสลิมในปัจจุบัน มีหลายชุมชนมุสลิมในหลายประเทศเรียกร้องกม.ชารีอะห์ เพราะว่าสำหรับพวกเขากม.ชารีอะห์คือกม.ของพระเจ้า ในหลายๆ พื้นที่การเรียกร้องกม.ชารีอะห์เกิดจากการที่กม.ทางโลกไม่สามารถเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมได้ อย่างน้อยๆ ก็ในความรู้สึกของพวกเขา
 

บล็อกของ onanong

onanong
คำในภาษาไทยหลายๆ คำที่คล้ายกับคำในภาษามลายู, อินโดนีเซีย และ ชวา มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตอยู่ไม่น้อย
onanong
ชื่อบล็อก “Selamat Datang”  (อ่านว่า เซอลามัต ดาตัง) นั้นแปลว่า “ยินดีต้อนรับ” ซึ่งใช้กันทั้งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไปจนถึงบรูไน, สิงคโปร์ และปาตานี หากคุณพูดภาษามลายูได้ก็หมายความว่าคุณจะพูดกับคนได้เกือบๆ 250 ล้านคน