ขนิษฐา คันธะวิชัย
“สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย”
กลอนภาษาไทยข้างต้นเป็นกลอนที่ฉันได้ยินมาแต่เด็ก เมื่อมาเขียนบทความนี้ก็พยายามหาว่าใครเป็นคนแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่ามาจากเชคเสปียร์ที่บอกว่า “Two folks look through same hole, one sees mud, one sees star” ส่วนผู้ที่ถอดเป็นภาษาไทยนั้น ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นคนถอดความและประพันธ์กลอนนี้ อย่างไรก็ตาม ฉันเข้าใจว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงการมองสรรพสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าต่างคนอาจมองได้ต่างกัน และเมื่อฉันโตขึ้น ฉันก็ได้เห็นประจักษ์ถึงความเป็นไปตามคำกล่าวนั้น
ในครั้งนี้ฉันอยากจะเขียนถึงงานใหญ่ของชาวมอญในเมืองไทยงานหนึ่งที่ฉันได้ไปร่วม นั่นคือ พิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมานี้เอง งานนี้เราจัดกัน ๑ วัน แต่การเตรียมการนั้นใช้เวลาหลายเดือน เนื่องจากเราทำตามประเพณีมอญโบราณซึ่งมีขั้นตอนเยอะ และเราก็ต้องใช้ปัจจัยเยอะด้วยเช่นกัน
ขบวนแห่ฮะอุ๊บมอญ (สังฆทาน) จากวัดชนะสงครามไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
ในวันงาน ฉัน ในฐานะคณะกรรมการจัดงาน (มือใหม่) ของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ ก็ต้องวิ่งวุ่นวายเพื่อช่วยเรื่องประสานงาน ซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนกิจกรรมที่มีการเปลี่ยนกะทันหันตามเหตุการณ์ และต้อนรับพี่น้องชาวมอญที่มาร่วมงานภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพียงเท่านี้ก็วุ่นและเหนื่อยจนไม่ได้เดินออกไปไหนนอกจากภายในลานพระที่นั่ง มาทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังต้องนำเสื่อมาปูเพิ่มให้ประชาชนส่วนหนึ่งนั่งบริเวณลานด้านนอกกำแพงพระที่นั่ง เพราะยังมีพี่น้องชาวมอญอีกหลายท่านไม่สามารถเข้ามานั่งร่วมพิธีภายในลานพระที่นั่งดุสิต เนื่องจากคนเยอะจนที่ไม่เพียงพอ
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ฉันไม่ได้นับจำนวนที่แน่นอน แต่เห็นว่าน่าจะเป็นจำนวนมากกว่าสองพันคน ชาวมอญหลายๆ คนมาร่วมพิธีเพราะเห็นว่า นี่คือการบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับสมเด็จพระพี่นางฯ หรือบางคนอาจเห็นว่านี่เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีแบบชาวมอญที่ยึดถือกันมาแต่โบราณ ตอนที่เคลื่อนขบวนจากวัดชนะสงครามมาที่พระที่นั่งดุสิต ฉันสังเกตได้ว่าประชาชนที่ผ่านไปมาบนถนนให้ความสนใจ เนื่องจากมองเห็นสาวๆ แต่งชุดมอญถือฮะอุ๊บที่ใส่เครื่องไทยทานเดินเรียงเป็นแถว ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นบ่อยนัก นักท่องเที่ยวหลายๆ คนก็อาจจะเห็นว่านี่เป็นภาพที่แปลกตาแนวๆ amazing Thailand จึงได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
พวงมาลาสักการะพระศพสมเด็จพระพี่นางฯ โดยชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ
ต่างคนก็ต่างมองเห็นและมีเหตุผลในมุมของตนเอง แต่สำหรับฉันแล้ว ในงานครั้งนี้ฉันมองเห็น “โสร่งแดง” และการยอมรับการแต่งกายตามวัฒนธรรมในชาติพันธุ์ต่างๆ ของสำนักพระราชวัง”
โสร่งนี้ พ่อเมืองท้องถิ่นใกล้กรุงเทพฯบางท่านเกลียดนักเกลียดหนา ว่าไม่ให้ใส่ รับไม่ได้ ใส่โสร่งมาช่วยพระตามเก็บของบิณฑบาต ใส่กางเกงยังรับได้มากกว่า ฯลฯ แต่ก็โสร่งแบบเดียวกันนี้เองที่สำนักพระราชวังให้การยอมรับ และอนุญาตให้ใส่เข้ามาในพระที่นั่งดุสิตฯเพื่อถวายความเคารพพระศพ (ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อครั้งที่สมเด็จพระพี่นางฯสิ้นพระชนม์ใหม่ๆ ชาวมอญสังขละฯ ก็เคยเข้ามาถวายสักการะพระศพแล้วครั้งหนึ่ง) เนื่องจากเคารพในวัฒนธรรมประเพณีการแต่งกายตามกลุ่มชาติพันธุ์และคติเบื้องหลังการแต่งกาย ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดดำเมื่อมาร่วมงานศพ และนี่คือการส่งเสด็จพระวิญญาณสู่สวรรค์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าโศกเศร้าแต่อย่างใดจึงไม่จำเป็นต้องแต่งดำไว้ทุกข์ (แต่ชาวไทยเชื้อสายมอญในระยะหลังๆ ก็ได้รับอิทธิพลแบบกระแสหลักเข้าไปมาก จึงแต่งกายด้วยชุดดำเมื่อไปร่วมงานศพ แต่กระนั้นก็ไม่เคร่งครัดมากว่าต้องเป็นขาวดำเท่านั้น อาจมีสีสดใสแซมมาบ้าง) และสำหรับงานบำเพ็ญกุศลถวายแด่สมเด็จพระพี่นางฯในครั้งนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่อัญเชิญพวงมาลาเพื่อให้ประธานในพิธีถวายสักการะที่หน้าพระโกศก็เป็นหนุ่มมอญ ๒ นายที่นุ่ง “โสร่งแดง”
มอญรำจากเกาะเกร็ด นนทบุรี
เมื่อปีก่อนคนที่นุ่งโสร่งแดงแบบเดียวกันนี้โดนมองว่าเป็นพวกแรงงานต่างด้าว เป็นภัยต่อความมั่นคง นั่นก็อาจเป็นเพราะคนที่มองนั้นมีพื้นฐานประสบการณ์ในแนวที่ทำให้มองเป็นแบบนั้นได้ง่าย เช่นอาจจะเคยได้ยินแต่ข่าวแรงงานต่างด้าวก่ออาชญากรรม หรือฟังภาษาที่พูดไม่ออกเลยเกิดความไม่เข้าใจและหวาดระแวง หรือมองด้วยกรอบความคิดเรื่องความมั่นคง อาจจะกลัวโดนยึดเมือง กลัวว่ารัฐบาลประเทศข้างเคียงจะไม่พอใจ ฯลฯ ซึ่งทางชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ กลุ่ม NGO ในพื้นที่ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ได้มองแบบนั้น เพราะเรามีพื้นฐานมาอีกแบบหนึ่ง ทำให้เรามองเห็นว่าการนุ่งโสร่งเป็นเรื่องปกติของชาวมอญ ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว และก็เป็นการธำรงวัฒนธรรมอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สามารถแสดงออกได้ และตอนนี้ฉันก็ได้แต่หวังว่าผู้ใหญ่ท่านนั้นคงจะมีความเข้าใจในประเด็นต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น และมองเห็นอะไรที่กว้างขึ้นบ้างแล้ว
ตัวแทนพระสงฆ์มอญจากทั่วประเทศรับสังฆทานแบบมอญ
อย่างไรก็ตาม ในพิธีบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ นี้ ฉันดีใจและขอขอบพระคุณสำนักพระราชวังที่ “มองเห็น” คุณค่าของวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ ยอมรับและเปิดโอกาสให้เรามีโอกาสรักษาประเพณีวัฒนธรรมแบบเดิมนี้ไว้ ไม่ได้มีมุมมองว่า เป็นชุดของต่างด้าวหรือไม่น่าพึงประสงค์หรือไม่เรียบร้อยแต่อย่างใด จึงนับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีในประเด็นเรื่องการธำรงวัฒนธรรม
“สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย”