ถุงผ้าไม่ได้ลดโลกร้อน เพราะการใช้ถุงผ้าตามกระแสโดยเข้าไม่ถึงหลักใหญ่ใจความ ขณะที่ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกยังคงเดิม
คงไม่ต้องไปดูไหนไกลอื่น แค่เพียงเราสำรวจดูที่บ้านว่าเรามีถุงผ้าอยู่ในครอบครองกี่ใบ แต่ละวันที่เราออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือเวลาที่ตั้งใจไปจ่ายตลาด มีใครสักกี่คนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วย และในบรรดาคนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วยนั้น จะมีใครบ้างไหมที่ปฏิเสธแม่ค้าว่าไม่เอาถุงพลาสติก โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดสด "ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกชั่งน้ำหนักแล้วเทลงถุงผ้าเลย" อย่างน้อยการซื้อแกงถุงกลับบ้าน นอกจากถุงร้อนที่ใส่แกงแล้ว ยังมีถุงหูหิ้วสวมทับอีก ๑ ใบด้วยหรือไม่
นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา และสื่อมวลชนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงวิชาการ ไปร่วมเวทีเสวนาบ่อยๆ ไปงานหนึ่งก็จะได้รับถุงผ้าบรรจุเอกสารเสวนามาด้วย ๑ ใบ แต่ละคนไปมาแล้วกี่งาน เคยนับบ้างไหมว่าได้ถุงผ้ามากี่ใบ มีใบไหนบ้างที่ถูกนำมาใช้งานซ้ำ
ทุกวันนี้กระแสถุงผ้ากลายเป็นแฟชั่นลดโลกร้อนลุกลามเข้าไปยังร้านขายผลิตภัณฑ์แนวสุขภาพ โรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาทั้งหลาย
ผู้เขียนมีถุงผ้าที่ได้มาต่างกรรมต่างวาระประมาณ ๓๐ ใบ ได้จากเวทีเสวนาวิชาการเสียครึ่งหนึ่ง ที่เหลือได้มาจากห้างสรรพสินค้าที่แถมให้เมื่อซื้อสินค้าครบ ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาท จากโรงพยาบาล ร้านขายหนังสือ คนรู้จักมอบให้มาพร้อมทั้งกำชับว่า "ใช้ถุงผ้าช่วยกันลดโลกร้อน" แต่จนแล้วจนรอดผู้เขียนก็ไม่ค่อยได้ใช้ถุงผ้าเหล่านี้ นานทีปีหนนอกจากไปทำธุระใกล้บ้านเท่านั้น และก็ใช้อยู่เพียงแค่ใบเดียว ทั้งที่มีอยู่ล้นลิ้นชัก
ตัวอย่างกรณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่หันมารณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าในศูนย์หนังสือ โดยเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษแทนและหากนักศึกษาซื้อหนังสือครบ ๑,๐๐๐ บาท จะได้รับถุงผ้าแทน ส่วนใครที่ซื้อหนังสือมูลค่าเกินกว่านี้จะได้รับ "ถุงผ้าสะท้อนน้ำ" ก็เท่ากับว่าคนที่มีใจช่วยลดโลกร้อนก็ถูกยั่วยุให้ต้องเสียเงินซื้อหนังสือตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป ซึ่งจากคำให้สัมภาษณ์ของดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังยอมรับว่าปริมาณการใช้ถุงพลาสติกคงเดิม
"เราตื่นตัวในการใช้ถุงผ้าได้ระยะหนึ่งแต่การใช้ถุงพลาสติกยังไม่ลดลง ในฐานะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ เราแจกถุงผ้าในการปฐมนิเทศน์นักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา ๒๕๕๑ เราจะลดการใช้ถุงพลาสติก และในอนาคตเราจะลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างสิ้นเชิง..."
กระแสที่ผู้คนลุกขึ้นมาให้ค่ากับการใช้ถุงผ้า ดาราไทยหลายคนก็ไม่พลาดรถไฟเที่ยวนี้ด้วยเช่นกัน (ดาราไทยไม่เคยพลาดขบวนรถไฟเที่ยวออกเทป รถไฟเที่ยวเปิดร้านอาหาร รถไฟเที่ยวเปิดร้านสปาร์ หรือรถไฟเที่ยวออกพ๊อคเกตบุ๊คส์แฉ) บางคนว่าเลยกันไปจนถึงขั้นการสะสม ตามมาด้วยการแข่งขันทั้งรูปแบบและสีสัน และตบท้ายด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ถุงผ้าชื่อดัง
นับจากวันที่เกิดแคมเปญรณรงค์ลดโลกร้อนเพื่อลดปริมาณถุงพลาสติก จนเป็นกระแสโลกเมื่อ Anya Hindmarch (อันย่า ไฮด์มาร์ช) นักออกแบบกระเป๋าชื่อดังระดับโลก ร่วมกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม We Are What We Do ผลิตกระเป๋าผ้านำสมัยมีลายสกรีนข้อความโดนใจว่า I'm not a plastic bag ที่แปลว่า "ฉันไม่ใช่ถุงพลาสติก" กระเป๋าผ้ากว่า 20,000 ใบขายหมดเกลี้ยงในเวลาไม่นาน
กระแสตอบรับดีอย่างเหลือเชื่อ แต่ประเด็นของการลดการใช้ถุงพลาสติกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลับถูกพลิกผัน การรณรงค์ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกกลายเป็นแคมเปญจ์ไฟไหม้ฟางแถมเข้ารกเข้าพงผิดวัตถุประสงค์ เมื่อกระเป๋าผ้า "ฉันไม่ใช่ถุงพลาสติก" ของไฮด์มาร์ชที่วางขายราคาใบละ 5 ปอนด์ (ประมาณ 300 บาท) ถูกนักเก็งกำไรกว้านซื้อไปขายต่อทางเว็บไซต์ในราคาใบละ 220 ปอนด์ (ประมาณ 13,200 บาท) คนทั่วโลกเห่อสั่งซื้ออย่างไม่ทันคิดเสียดายเงิน บางรายลุกขึ้นมาปลอมสินค้ากันอย่างเปิดเผย วัตถุประสงค์ของกระเป๋าผ้าที่ออกมาเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน จึงกลายเป็นปัจจัยเสริมให้โลกร้อนมากยิ่งขึ้น ร้อนทั้งกิเลศที่อยากมีอยากได้ และร้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิตและขนส่งถุงผ้า
กระแสเริ่มต้นที่เกิดขึ้นนั้นสวยงามใครต่างก็ร่วมอนุโมทนาสาธุ แต่ที่สุดผู้คนก็ตื่นกระแสแบบหลงทิศและจบด้วย "หัวมังกุท้ายมังกร" เพราะการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งถุงผ้าเพื่อการสะสมแลตามกระแสนั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้แสดงเห็นว่าเป็นค่านิยมชั่วครู่ชั่วยามที่ขาดความยั้งคิดและขาดการทำความเข้าใจในความเป็นไปของโลก เหมือนครั้งหนึ่งที่มีคนพูดว่า "ยุคนี้หมดสมัยการถวายเทียนเข้าพรรษาแล้ว เพราะพระสงฆ์ไม่ได้ใช้งานจริง สู้ถวายหลอดไฟไม่ได้ มีประโยชน์กว่า" ถูก... หลอดไฟมีประโยชน์ แต่หลอดไฟหลอดหนึ่งก็ใช้งานนานหลายปี เมื่อสังคมหน้ามืดตามัวตามกระแสโดยไม่ทันยั้งคิด ทุกคนซื้อหลอดไฟถวายพระ บางรายฐานะดีหน่อยซื้อหลอดผอมถวายให้เปลี่ยนใหม่หมดทั้งวัด ทำให้วัดไม่มีที่เก็บหลอดไฟ ดูแลก็ยากเพราะหลอดไฟแตกหักง่าย วัดในกรุงเทพฯหลายวัดประสบปัญหานี้ จะบริจาคให้วัดต่างจังหวัด ต่างก็ปฏิเสธเพราะมีอยู่ล้นวัดเช่นกัน
คนที่ใช้ถุงผ้าจึงไม่ได้ช่วย "ลด" โลกร้อน อย่างมากก็เพียงแค่ไม่ทำให้โลกร้อนขึ้นเท่านั้น แต่อย่างน้อยคนที่ใช้ถุงผ้าตามกระแสอย่างทุกวันนี้ มีส่วนทำให้อัตราเพิ่มการผลิตถุงผ้าที่เข้าสู่กระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม เริ่มจากการโค่นป่าไม้ทำไร่ฝ้าย ผลิตเส้นด้ายป้อนโรงงานทอผ้า ที่ล้วนใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงงานถ่านหิน หรือโรงงานไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่ที่ป่าไม้หลายแสนไร่จมอยู่ใต้นั้น ธรรมชาติที่ถูกทำลาย กระนั้นทรัพยากรภายในประเทศก็ยังไม่เพียงพอ จนต้องซื้อแก๊สจากมาเลเซียและพม่า ซื้อไฟฟ้าจากลาวและเวียดนาม พร้อมด้วยโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขง ชาวไร่ชาวนาจากต่างจังหวัดมุ่งเข้าเมืองเพื่อใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตถุงผ้า คนงานที่ดิ้นรนเพื่อปากท้องตนเองและครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด อนาคตฝากไว้กับรายได้จากการขายถุงผ้า สุขภาพร่างกายและจิตใจที่เสียหาย เวลามีค่าแข่งกันทำงานหาเงิน ไม่มีเวลาทอผ้าใช้เอง ต้องซื้อเสื้อผ้าที่ห่อมากับถุงพลาสติก ทำโอทีดึกดื่นไม่มีเวลาทำอาหารเอง ไม่วายต้องหิ้วแกงถุงเข้าไปกินในห้องเช่าข้างโรงงานหลังเลิกงานทุกวัน