Skip to main content

 

องค์ บรรจุน

ธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ "ใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" หัวเรื่องที่จั่วไว้ด้านบนบทความนี้ ถือเป็นคุณสมบัติอันน่าภาคภูมิของคนไทยอย่างหนึ่ง คนไทยทั้งผองเชื่อกันว่าคนไทยมีข้อดีงามหลายอย่าง เป็นต้นว่า โอบอ้อมอารีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต ยิ้มสยาม หรือแม้แต่ "รักสามัคคี" และ "ไทยนี้รักสงบ..." ล้วนเป็นความดีเด่นประจำชนชาติไทยตามลัทธิอัตตานิยม "คนไทยดีที่สุดในโลก" ดังนั้นเมื่อหมอดูทำนายคนไทยหน้าไหนก็ตามว่าเป็นคนดีดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีใครปฏิเสธว่าหมอดูไม่แม่น

แท้จริงแล้ว คุณสมบัติของสัตว์สังคมเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะในสันดานคนไทยเท่านั้น ชนใดไหนอื่นเขาก็มีน้ำจิตน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น ครั้งหนึ่งได้ชมรายการสารคดีทางโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ภาพชนเผ่ากลางทะเลทรายตะวันออกกลางที่กุลีกุจอยกน้ำชานมแพะและของว่างออกมารับรองนักเดินทาง เมื่อไปบ้านเพื่อนชาวจีนเขาก็มีธรรมเนียมการต้อนรับด้วยน้ำชาและขนมแห้ง บางคนมองว่าความสัมพันธ์ในแบบใสซื่อประสาคนบ้านป่าบ้านดงเป็นลักษณะของคนทางตะวันออกมากกว่าคนตะวันตก เมื่อมีคนแปลกหน้าซัดเซพเนจรมาถึงหน้าบ้านค่ำมืดดึกดื่น คนทางตะวันออกอย่างเราก็จะเปิดประตูด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ เรียกขึ้นเรือน ยกเชี่ยนหมาก ขันน้ำฝน และสำรับกับข้าวออกมาคะยั้นคะยอให้กินแม้ไม่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้า ดังที่คนเก่าคนแก่ได้สั่งสอนกันมาตลอดว่า หากเราไปขึ้นบ้านไหน เขายกข้าวคำน้ำขันให้กินแล้วอย่าได้ลืมคุณเขา แม้แต่โจรผู้ร้ายสมัยก่อนทั้งที่ตั้งใจเข้าปล้นแต่เมื่อเจ้าของบ้านไม่ทันรู้เรียกกินข้าวกินน้ำ ทั้งหัวหน้าและสมุนโจรขัดไม่ได้ก็พากันกินเสียอิ่มแปร้แล้วก็ปล้นไม่ลง จนเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในหลายคุ้งน้ำ

คนทางตะวันตก
"เท่าที่เรารู้จัก" จากหนังฝรั่งหรือการไปเที่ยวชั่วครู่ชั่วยาม เขาอยู่กันแบบสังคมเมือง มีพิธีรีตองตามขนบธรรมเนียมอย่างของเขา คนที่คุ้นเคยกับฝรั่งมังค่าพูดกันว่าคนตะวันตกเขาก็ต้อนรับขับสู้แขกไม่ต่างจากเรา ใครมาถึงบ้านเรือนก็ต้อนรับเหมือนกัน แต่ด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกัน อย่างธรรมชาติการกินอาหารของเขานั้นจัดเตรียมเอาไว้แบบพอดีคนในครอบครัว บดมัน ย่างเนื้อ ปรุงสลัด ปิ้งขนมปัง และคั้นน้ำส้มพอดีคน เมื่อแขกไปใครมาเขาจึงไม่อาจเรียกกินอาหารร่วมสำรับได้ โดยเฉพาะการไปถึงที่ไม่ตรงมื้ออาหาร ลำพังความคิดของผู้เขียนเชื่อว่าหากจำเป็นจริงๆ เช่นหลงทาง อดน้ำและอาหารกำลังจะตาย เจ้าของบ้านก็น่าจะพอปิ้งย่างอาหารเลี้ยงแขกได้เพียงแต่ต้องใช้เวลามากสักหน่อย ต่างจากครัวทางตะวันออกเราที่หุงข้าวต้มแกงกันทีด้วยหม้อใบเขื่อง ยิ่งหากนานครั้งได้เนื้อได้หมูอย่างดีมาก็อดคิดถึงญาติพี่น้องเพื่อนบ้านไม่ได้ เมื่อแกงสุกก็ตักใส่ชามแจกกันไปหลายหลัง กินกันในครัวเรือนแล้วยังมีเหลือกินมื้อหน้าได้อีก หากเพื่อนบ้านมีแกงดีก็ให้แบ่งปันกลับมา เรียกว่าแกงหม้อใหญ่อย่างเดียวแต่กลับมีแกงกินหลายอย่างและไม่รู้จักหมด เพราะวันหน้าหากเพื่อนบ้านมีแกงดีๆ ให้ตอบแทนมาบ้าง

สมัยเด็กๆ แม่พูดเสมอว่าต้องหุงข้าวต้มแกงไว้ให้มาก เหลือดีกว่าขาด โดยเฉพาะมื้อเย็นแม้กินอิ่มทุกคนแล้วก็ต้องมีข้าวสุกเหลือติดก้นหม้อไว้สักทัพพีเป็นอย่างน้อย แม่บอกว่า

"เวลานอนหลับ ขวัญ (ที่อยู่ในตัว) ของเราจะออกมาหาอาหารกิน ถ้าในหม้อไม่มีข้าวเหลือเลยขวัญต้องออกไปหากินไกลๆ ไปเจออะไรตกอกตกใจ (ขวัญหนีดีฝ่อ) หรืออาจหลงทางไป (ขวัญหาย) เราก็จะไม่สบาย..."

ตอนผู้เขียนเป็นเด็กเชื่อฟังและทำตามคำแม่ไม่เคยฝืน บ่อยครั้งถามแม่ว่าเพราะอะไรก็มักได้รับคำตอบว่า
"คนโบราณเขาว่ากันมาอย่างนี้" จึงเท่ากับว่าไม่เคยมีคำอธิบายใดๆ ที่ชัดเจนไปกว่านี้ แต่ก็ทำตามกันมาและเลิกคิดที่จะถาม เมื่อโตขึ้นจึงเข้าใจไปเองว่า คนโบราณเขาคงคิดห่วงญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือคนเดินทางไกลซึ่งอาจหลงทางหรือมาถึงเอาค่ำมืดดึกดื่นจะได้มีข้าวปลาคลายหิว ครั้นจะหุงใหม่ก็อาจช้าไม่ทันกิน ซึ่งการจะปล่อยให้เหลือไว้ก็ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไร เช้าขึ้นมายังไม่บูดเน่าผัดน้ำมันกับกระเทียมเสียหน่อยก็กินได้อร่อย หนักหนานักก็เทให้ไอ้ด่างกิน

ที่เล่ามาเสียยืดยาว เกิดจากความประทับใจที่ได้ไปนั่งกินอาหารปักษ์ใต้ที่นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลอด ๕ วันที่ท่องไปในสองเมืองนี้ ไม่ว่าจะเข้าร้านอาหารเพิงหมาแหงนริมทาง ตึกแถวในปั๊มน้ำมัน หรือตามโรงแรม ก็มีธรรมเนียมรับลูกค้าทุกคนเท่าเทียมกัน ทันทีที่แขกนั่งลง เจ้าของหรือเด็กในร้านจะเสิร์พด้วยน้ำเย็นก่อน ตามด้วยจานหรือถาดผักเหนาะ (ผักกินกับน้ำพริกหรือแกงเผ็ด) สดล้นพูน พร้อมน้ำพริกกะปิวางตรงหน้า ก่อนจะรอจดรายการอาหารหรือตะโกนถามว่าต้องการอะไรบ้าง มีหลายอย่างที่รสชาติเฉพาะแบบแกงใต้ แนะนำสักหน่อยก็ได้ เช่น แกงไตปลา แกงเหลืองปลากระพง คั่วกลิ้ง แกงคั่วกระดูกหมูอ่อน สะตอผัดกุ้ง แต่ละชามกลิ่นรสร้อนแรงขึ้นจมูก

 

ผักเหนาะนับ ๑๐ ชนิด หน้าตาแปลกฟังชื่อไม่คุ้นหูหลายอย่าง ผักมันปู ผักหมุย ผักเหลียง ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมะกอก สะตอ ลูกเนียง ขมิ้นชันอ่อน ผักกูด หน้าตาน่ากิน ลองหยิบใส่ปาก กรอบ บางชนิดมัน บางชนิดออกเฝื่อนขมปลายลิ้นแต่กินได้ทุกชนิด กินกับน้ำพริกกะปิรสจัดหอมฉุย ไม่ต้องสั่งกับข้าวอื่นเลยยังได้ จากการตระเวนไปหลายวันทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมว่า ยิ่งออกไกลจากตัวเมืองยิ่งได้กินน้ำพริกดีรสดั้งเดิม แต่หากยิ่งเข้าใกล้ตัวเมืองรสน้ำพริกยิ่งหวานมากขึ้นเท่านั้น คาดว่าคนตำน้ำพริกคงเตรียมรอท่านักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ที่ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้เพราะคนปักษ์ใต้นั้นไม่กิน (กับข้าว) หวาน เอาเข้าจริงแล้วรอบบ้านเรา จีนอินเดียลาวพม่ากัมพูชามาเลเซีย ในบ้านเราเอง ภาคเหนืออีสานใต้กลางออกตกก็ไม่มีใครกินหวาน บางคนจึงสงสัยว่าอาจเป็นค่านิยมที่มาจากในรั้วในวัง จนชาววังบางคนต้องออกมาแก้ตัวว่าไม่ใช่ แล้วใครกันที่กินหวานจนกลายเป็นค่านิยมที่แสนเลี่ยนของคนกรุงเทพฯทุกวันนี้ จนบางครั้งแยกไม่ออกว่า ชามไหนอาหารหวาน ชามไหนอาหารคาว



หลังกลับมาจากปักษ์ใต้เที่ยวนี้ลองถามเพื่อนชาวใต้ ได้ความว่าส่วนใหญ่ธรรมเนียมการรับรองลูกค้าด้วยน้ำพริกผักสดนี้มีตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไป เหนือขึ้นมาไม่ค่อยพบนัก ความอร่อยของน้ำพริกกะปินี้ไม่ได้เอามาวางพอเป็นพิธีแบบขอไปที หากแต่ตั้งใจคัดสรรส่วนผสมและบรรจงตำจนได้รสชาติอย่างดี จนในมื้อหนึ่งเพื่อนร่วมโต๊ะถึงกับแกล้งเย้าว่า มื้อหน้าเห็นทีเราสั่งแต่ข้าวเปล่ารอกินกับผักสดจิ้มน้ำพริกอย่างเดียวก็น่าจะพอแล้ว อร่อย แถมประหยัดสตางค์อีกด้วย ผู้เขียนคิดว่าคนขายอาจจะไม่ว่าอะไร เพราะไม่เคยเจอมาก่อนจนคิดคำที่จะต่อว่าไม่ทัน แต่เราเองนี่แหละจะนั่งกินและกลืนลงคอหรือเปล่าต่างหาก

เรื่องนี้บังเอิญไปสะกิดความทรงจำอันแสนประทับใจที่เคยพบเห็นมาในเมืองพม่าเมื่อสองสามปีก่อน ทุกครั้งที่ไปสั่งข้าวตามร้านอาหารจะมีธรรมเนียมเหมือนกับที่พบในร้านอาหารปักษ์ใต้นี้ เห็นได้ชัดถึงความมีน้ำจิตน้ำใจของผู้คนในสังคมแบบดั้งเดิม ที่อยู่กันแบบมิตรจิตมิตรใจมากกว่าหวังผลกำไรทางการค้า ลูกค้าชาวพม่าบางคนแต่งกายซอมซ่อแบบบ้านนอกเข้ากรุง พ่อแม่ลูกมากันสามสี่คน สั่งกับข้าวราคาถูกเพียงถ้วยเดียว กินข้าวสวยกับปลาร้าหลนแนมกับผักสดที่วางอยู่บนโต๊ะเป็นหลัก ไม่เคยเห็นเจ้าของร้านคนไหนต่อว่าลูกค้าสักราย มีแต่เติมข้าวสุก ผักสด และปลาร้าหลนให้กินกันจนอิ่ม จ่ายกันไม่กี่จ๊าต

ในเมืองพม่าและปักษ์ใต้บ้านเรา เมืองที่อารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมานับนาน ถือเป็นเมืองที่ผู้คนมีความเจริญด้านจิตใจเป็นรากฐานอย่างต่อเนื่องยาวนานมาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน มุมที่งดงามแบบนี้จึงยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไปหากเรามีเวลามองดูอย่างสนใจ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในกรุงเทพฯเมืองหลวงของเราในวันนี้ เมืองที่มีรากฐานมาจากการเข่นฆ่าแก่งแย่งช่วงชิงให้ได้มาซึ่งอำนาจ ทรัพยากรมนุษย์ และวัตถุมีค่า วันนี้เมืองใหญ่ของเราทั้งหลายจึงเจริญก้าวหน้าแต่ทางด้านวัตถุ ท่ามกลางผู้คนที่มีสภาพจิตวูบไหว กอบโกย นึกคิดแต่ตัวเอง และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

รอว่าเมื่อไหร่หนอ ...คนเราจะคิดเพื่อตัวเองและคนอื่นพร้อมกันเสียที

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์