Skip to main content

 

องค์ บรรจุน

ธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ "ใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" หัวเรื่องที่จั่วไว้ด้านบนบทความนี้ ถือเป็นคุณสมบัติอันน่าภาคภูมิของคนไทยอย่างหนึ่ง คนไทยทั้งผองเชื่อกันว่าคนไทยมีข้อดีงามหลายอย่าง เป็นต้นว่า โอบอ้อมอารีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต ยิ้มสยาม หรือแม้แต่ "รักสามัคคี" และ "ไทยนี้รักสงบ..." ล้วนเป็นความดีเด่นประจำชนชาติไทยตามลัทธิอัตตานิยม "คนไทยดีที่สุดในโลก" ดังนั้นเมื่อหมอดูทำนายคนไทยหน้าไหนก็ตามว่าเป็นคนดีดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีใครปฏิเสธว่าหมอดูไม่แม่น

แท้จริงแล้ว คุณสมบัติของสัตว์สังคมเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะในสันดานคนไทยเท่านั้น ชนใดไหนอื่นเขาก็มีน้ำจิตน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น ครั้งหนึ่งได้ชมรายการสารคดีทางโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ภาพชนเผ่ากลางทะเลทรายตะวันออกกลางที่กุลีกุจอยกน้ำชานมแพะและของว่างออกมารับรองนักเดินทาง เมื่อไปบ้านเพื่อนชาวจีนเขาก็มีธรรมเนียมการต้อนรับด้วยน้ำชาและขนมแห้ง บางคนมองว่าความสัมพันธ์ในแบบใสซื่อประสาคนบ้านป่าบ้านดงเป็นลักษณะของคนทางตะวันออกมากกว่าคนตะวันตก เมื่อมีคนแปลกหน้าซัดเซพเนจรมาถึงหน้าบ้านค่ำมืดดึกดื่น คนทางตะวันออกอย่างเราก็จะเปิดประตูด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ เรียกขึ้นเรือน ยกเชี่ยนหมาก ขันน้ำฝน และสำรับกับข้าวออกมาคะยั้นคะยอให้กินแม้ไม่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้า ดังที่คนเก่าคนแก่ได้สั่งสอนกันมาตลอดว่า หากเราไปขึ้นบ้านไหน เขายกข้าวคำน้ำขันให้กินแล้วอย่าได้ลืมคุณเขา แม้แต่โจรผู้ร้ายสมัยก่อนทั้งที่ตั้งใจเข้าปล้นแต่เมื่อเจ้าของบ้านไม่ทันรู้เรียกกินข้าวกินน้ำ ทั้งหัวหน้าและสมุนโจรขัดไม่ได้ก็พากันกินเสียอิ่มแปร้แล้วก็ปล้นไม่ลง จนเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในหลายคุ้งน้ำ

คนทางตะวันตก
"เท่าที่เรารู้จัก" จากหนังฝรั่งหรือการไปเที่ยวชั่วครู่ชั่วยาม เขาอยู่กันแบบสังคมเมือง มีพิธีรีตองตามขนบธรรมเนียมอย่างของเขา คนที่คุ้นเคยกับฝรั่งมังค่าพูดกันว่าคนตะวันตกเขาก็ต้อนรับขับสู้แขกไม่ต่างจากเรา ใครมาถึงบ้านเรือนก็ต้อนรับเหมือนกัน แต่ด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกัน อย่างธรรมชาติการกินอาหารของเขานั้นจัดเตรียมเอาไว้แบบพอดีคนในครอบครัว บดมัน ย่างเนื้อ ปรุงสลัด ปิ้งขนมปัง และคั้นน้ำส้มพอดีคน เมื่อแขกไปใครมาเขาจึงไม่อาจเรียกกินอาหารร่วมสำรับได้ โดยเฉพาะการไปถึงที่ไม่ตรงมื้ออาหาร ลำพังความคิดของผู้เขียนเชื่อว่าหากจำเป็นจริงๆ เช่นหลงทาง อดน้ำและอาหารกำลังจะตาย เจ้าของบ้านก็น่าจะพอปิ้งย่างอาหารเลี้ยงแขกได้เพียงแต่ต้องใช้เวลามากสักหน่อย ต่างจากครัวทางตะวันออกเราที่หุงข้าวต้มแกงกันทีด้วยหม้อใบเขื่อง ยิ่งหากนานครั้งได้เนื้อได้หมูอย่างดีมาก็อดคิดถึงญาติพี่น้องเพื่อนบ้านไม่ได้ เมื่อแกงสุกก็ตักใส่ชามแจกกันไปหลายหลัง กินกันในครัวเรือนแล้วยังมีเหลือกินมื้อหน้าได้อีก หากเพื่อนบ้านมีแกงดีก็ให้แบ่งปันกลับมา เรียกว่าแกงหม้อใหญ่อย่างเดียวแต่กลับมีแกงกินหลายอย่างและไม่รู้จักหมด เพราะวันหน้าหากเพื่อนบ้านมีแกงดีๆ ให้ตอบแทนมาบ้าง

สมัยเด็กๆ แม่พูดเสมอว่าต้องหุงข้าวต้มแกงไว้ให้มาก เหลือดีกว่าขาด โดยเฉพาะมื้อเย็นแม้กินอิ่มทุกคนแล้วก็ต้องมีข้าวสุกเหลือติดก้นหม้อไว้สักทัพพีเป็นอย่างน้อย แม่บอกว่า

"เวลานอนหลับ ขวัญ (ที่อยู่ในตัว) ของเราจะออกมาหาอาหารกิน ถ้าในหม้อไม่มีข้าวเหลือเลยขวัญต้องออกไปหากินไกลๆ ไปเจออะไรตกอกตกใจ (ขวัญหนีดีฝ่อ) หรืออาจหลงทางไป (ขวัญหาย) เราก็จะไม่สบาย..."

ตอนผู้เขียนเป็นเด็กเชื่อฟังและทำตามคำแม่ไม่เคยฝืน บ่อยครั้งถามแม่ว่าเพราะอะไรก็มักได้รับคำตอบว่า
"คนโบราณเขาว่ากันมาอย่างนี้" จึงเท่ากับว่าไม่เคยมีคำอธิบายใดๆ ที่ชัดเจนไปกว่านี้ แต่ก็ทำตามกันมาและเลิกคิดที่จะถาม เมื่อโตขึ้นจึงเข้าใจไปเองว่า คนโบราณเขาคงคิดห่วงญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือคนเดินทางไกลซึ่งอาจหลงทางหรือมาถึงเอาค่ำมืดดึกดื่นจะได้มีข้าวปลาคลายหิว ครั้นจะหุงใหม่ก็อาจช้าไม่ทันกิน ซึ่งการจะปล่อยให้เหลือไว้ก็ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไร เช้าขึ้นมายังไม่บูดเน่าผัดน้ำมันกับกระเทียมเสียหน่อยก็กินได้อร่อย หนักหนานักก็เทให้ไอ้ด่างกิน

ที่เล่ามาเสียยืดยาว เกิดจากความประทับใจที่ได้ไปนั่งกินอาหารปักษ์ใต้ที่นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลอด ๕ วันที่ท่องไปในสองเมืองนี้ ไม่ว่าจะเข้าร้านอาหารเพิงหมาแหงนริมทาง ตึกแถวในปั๊มน้ำมัน หรือตามโรงแรม ก็มีธรรมเนียมรับลูกค้าทุกคนเท่าเทียมกัน ทันทีที่แขกนั่งลง เจ้าของหรือเด็กในร้านจะเสิร์พด้วยน้ำเย็นก่อน ตามด้วยจานหรือถาดผักเหนาะ (ผักกินกับน้ำพริกหรือแกงเผ็ด) สดล้นพูน พร้อมน้ำพริกกะปิวางตรงหน้า ก่อนจะรอจดรายการอาหารหรือตะโกนถามว่าต้องการอะไรบ้าง มีหลายอย่างที่รสชาติเฉพาะแบบแกงใต้ แนะนำสักหน่อยก็ได้ เช่น แกงไตปลา แกงเหลืองปลากระพง คั่วกลิ้ง แกงคั่วกระดูกหมูอ่อน สะตอผัดกุ้ง แต่ละชามกลิ่นรสร้อนแรงขึ้นจมูก

 

ผักเหนาะนับ ๑๐ ชนิด หน้าตาแปลกฟังชื่อไม่คุ้นหูหลายอย่าง ผักมันปู ผักหมุย ผักเหลียง ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมะกอก สะตอ ลูกเนียง ขมิ้นชันอ่อน ผักกูด หน้าตาน่ากิน ลองหยิบใส่ปาก กรอบ บางชนิดมัน บางชนิดออกเฝื่อนขมปลายลิ้นแต่กินได้ทุกชนิด กินกับน้ำพริกกะปิรสจัดหอมฉุย ไม่ต้องสั่งกับข้าวอื่นเลยยังได้ จากการตระเวนไปหลายวันทำให้ได้ความรู้เพิ่มเติมว่า ยิ่งออกไกลจากตัวเมืองยิ่งได้กินน้ำพริกดีรสดั้งเดิม แต่หากยิ่งเข้าใกล้ตัวเมืองรสน้ำพริกยิ่งหวานมากขึ้นเท่านั้น คาดว่าคนตำน้ำพริกคงเตรียมรอท่านักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ที่ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้เพราะคนปักษ์ใต้นั้นไม่กิน (กับข้าว) หวาน เอาเข้าจริงแล้วรอบบ้านเรา จีนอินเดียลาวพม่ากัมพูชามาเลเซีย ในบ้านเราเอง ภาคเหนืออีสานใต้กลางออกตกก็ไม่มีใครกินหวาน บางคนจึงสงสัยว่าอาจเป็นค่านิยมที่มาจากในรั้วในวัง จนชาววังบางคนต้องออกมาแก้ตัวว่าไม่ใช่ แล้วใครกันที่กินหวานจนกลายเป็นค่านิยมที่แสนเลี่ยนของคนกรุงเทพฯทุกวันนี้ จนบางครั้งแยกไม่ออกว่า ชามไหนอาหารหวาน ชามไหนอาหารคาว



หลังกลับมาจากปักษ์ใต้เที่ยวนี้ลองถามเพื่อนชาวใต้ ได้ความว่าส่วนใหญ่ธรรมเนียมการรับรองลูกค้าด้วยน้ำพริกผักสดนี้มีตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไป เหนือขึ้นมาไม่ค่อยพบนัก ความอร่อยของน้ำพริกกะปินี้ไม่ได้เอามาวางพอเป็นพิธีแบบขอไปที หากแต่ตั้งใจคัดสรรส่วนผสมและบรรจงตำจนได้รสชาติอย่างดี จนในมื้อหนึ่งเพื่อนร่วมโต๊ะถึงกับแกล้งเย้าว่า มื้อหน้าเห็นทีเราสั่งแต่ข้าวเปล่ารอกินกับผักสดจิ้มน้ำพริกอย่างเดียวก็น่าจะพอแล้ว อร่อย แถมประหยัดสตางค์อีกด้วย ผู้เขียนคิดว่าคนขายอาจจะไม่ว่าอะไร เพราะไม่เคยเจอมาก่อนจนคิดคำที่จะต่อว่าไม่ทัน แต่เราเองนี่แหละจะนั่งกินและกลืนลงคอหรือเปล่าต่างหาก

เรื่องนี้บังเอิญไปสะกิดความทรงจำอันแสนประทับใจที่เคยพบเห็นมาในเมืองพม่าเมื่อสองสามปีก่อน ทุกครั้งที่ไปสั่งข้าวตามร้านอาหารจะมีธรรมเนียมเหมือนกับที่พบในร้านอาหารปักษ์ใต้นี้ เห็นได้ชัดถึงความมีน้ำจิตน้ำใจของผู้คนในสังคมแบบดั้งเดิม ที่อยู่กันแบบมิตรจิตมิตรใจมากกว่าหวังผลกำไรทางการค้า ลูกค้าชาวพม่าบางคนแต่งกายซอมซ่อแบบบ้านนอกเข้ากรุง พ่อแม่ลูกมากันสามสี่คน สั่งกับข้าวราคาถูกเพียงถ้วยเดียว กินข้าวสวยกับปลาร้าหลนแนมกับผักสดที่วางอยู่บนโต๊ะเป็นหลัก ไม่เคยเห็นเจ้าของร้านคนไหนต่อว่าลูกค้าสักราย มีแต่เติมข้าวสุก ผักสด และปลาร้าหลนให้กินกันจนอิ่ม จ่ายกันไม่กี่จ๊าต

ในเมืองพม่าและปักษ์ใต้บ้านเรา เมืองที่อารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมานับนาน ถือเป็นเมืองที่ผู้คนมีความเจริญด้านจิตใจเป็นรากฐานอย่างต่อเนื่องยาวนานมาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน มุมที่งดงามแบบนี้จึงยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไปหากเรามีเวลามองดูอย่างสนใจ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในกรุงเทพฯเมืองหลวงของเราในวันนี้ เมืองที่มีรากฐานมาจากการเข่นฆ่าแก่งแย่งช่วงชิงให้ได้มาซึ่งอำนาจ ทรัพยากรมนุษย์ และวัตถุมีค่า วันนี้เมืองใหญ่ของเราทั้งหลายจึงเจริญก้าวหน้าแต่ทางด้านวัตถุ ท่ามกลางผู้คนที่มีสภาพจิตวูบไหว กอบโกย นึกคิดแต่ตัวเอง และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน

รอว่าเมื่อไหร่หนอ ...คนเราจะคิดเพื่อตัวเองและคนอื่นพร้อมกันเสียที

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลวงพ่อสมาน วัดชนะสงคราม ที่เคยเลี้ยงดูส่งเสีย ข้าวแกงก้นบาตรราดรดหัวผมมาจนเรียนจบปริญญาตรีเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่านชอบเปรียบเปรยลูกศิษย์ลูกหาและใครต่อใครที่ลืมคุณคนด้วยสำนวนมอญที่ไม่พ้นไปจากเรื่องการกินการอยู่ เป็นต้นว่า "ใหญ่เหมือนช้าง ยาวเหมือนงู" (แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน)"กินผลฟันต้น เก็บร่มหักก้าน" (กินบนเรือนขี้บนหลังคา)"ข้าวแดงแกงร้อน" (สำนึก)"เสียข้าวสุก" (เนรคุณ)แต่ที่ผมเสียวแปลบไปถึงขั้วหัวใจทุกครั้งเมื่อถูกท่านเหน็บเอาว่า"ข้าวสุกไม่มียาง" (ก็เนรคุณอีก)
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน"มอญร้องไห้" ร้องทำไม ร้องเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือญาติเสีย...?ถูก...ญาติเสีย แต่ต้องระดับคนมีหลานเหลนแล้ว และเป็นที่เคารพรักของผู้คนเท่านั้น หากญาติที่เสียชีวิตอายุยังน้อย แม้จะเสียใจก็ร้องไห้กันไปตามมีตามเกิด ไม่มีการทำพิธีกรรมให้เป็นพิเศษแต่อย่างใดมอญร้องไห้ เป็นมีพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลาน ที่สำคัญเป็นการยกย่องและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตายที่เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต โดยมากแล้วผู้ร้องจะเป็นหญิงสูงอายุและเป็นเครือญาติกับผู้ตาย เนื้อหาที่ร้องพรรณนาออกมานั้นจะได้ออกมาจากใจ…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน สำนวนไทยที่กล่าวถึงการแย่งศพมอญ นั่นคือ “แย่งกันเป็นศพมอญ” หากพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่มีความหมายว่า ยื้อแย่งกัน ซึ่งใช้ในเชิงเปรียบเทียบ๑ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำนวนนี้มีที่มาจากประเพณีมอญแต่โบราณ และคำว่า “แย่ง” นั้นก็เป็นแต่อุบาย ที่หมายให้ผู้คนทั้งหลายหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีมอญหลายประการที่คนไทยยอมรับมาอย่างหน้าชื่นตาบาน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรน้ำผึ้ง ล้างเท้าพระ ดนตรีปี่พาทย์นาฏศิลป์ เหล่านี้เป็นหัวใจของไทยที่รับมาจากมอญ และทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นของตนอย่างกลมกลืน…
องค์ บรรจุน
“...ต้องการแม่ครัว (หรือพ่อครัวก็ได้) ๑ ตำแหน่งค่ะ ทำงานที่ระยองนี่ล่ะ...”“ชาวพม่าเอาไหมครับ ถ้าเอามีเยอะเลย ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ...”“พม่าทำกับข้าวอร่อยหรือเปล่าคะ”“…มีข่าวบ่อยๆ ว่า แรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ต่างดาว ฆ่านายจ้าง ระวังไว้นะ”“พม่าเอาแบบนุ่งกางเกงนะ ห้ามนุ่งโสร่ง เดี๋ยวจะเพิ่มเส้นให้มามากเกินไป...ง่ะ...๕๕๕++”ฯลฯข้อความโต้ตอบในกระดานสนทนาเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนเข้าไปพบโดยบังเอิญ เมื่อปลายปีที่แล้ว ข้อความโต้ตอบข้างต้นสะท้อนแง่คิดของคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อย่างแปรปรวนชวนสงสัย น่าแปลกที่คนไทยเรามีสายตาที่มองคนพม่าในแบบที่ทั้งหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ เป็นตัวตลก…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย   ปกติฉันทำงานที่ตึกประชาธิปก-รำไพพรรณี ซึ่งอยู่ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงมักจะไปทานอาหารที่โรงอาหารของคณะเศรษฐศาสตร์ ในช่วงแรกๆ ที่ฉันมาเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้ยินคนขายอาหารพูดกันเองว่า   “คนเก็บจานที่มาใหม่น่ะ พูดอังกฤษคล่องเชียว เป็นคนพม่า พูดไทยไม่ได้ เวลาจะให้ทำอะไรแกต้องสั่งเขาเป็นภาษาอังกฤษนะ” ฉันเลยรับรู้มาตั้งแต่นั้นว่า โรงอาหารแห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทำงานอยู่ (พอดีตอนนั้นเรียนเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติอยู่ด้วย) หลังจากนั้นก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานพม่ามาตลอด ว่าที่เราเข้าใจว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นได้ทั้งพม่า…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน เครื่องนุ่งห่มนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ เพื่อปกปิดร่างกายคุ้มภัยร้อนหนาวจากธรรมชาติ กันขวากหนามงูเงี้ยวเขี้ยวขอขบเกี่ยว และที่สำคัญ ปิดกายให้พ้นอาย รวมทั้งเสริมแต่งให้ชวนมอง ส่วนการตกแต่งร่างกายตามความเชื่อและลัทธิทางศาสนานั้นน่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลังสุดและมีความสำคัญรองลงมา การตกแต่งร่างกายนั้นเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ใช้เรียกความสนใจจากเพศตรงข้าม นำไปสู่การดำรงเผ่าพันธุ์ อันต่างจากสัตว์ที่เป็นไปตามสัญชาติญาณ และมีแรงดึงดูด (ฟีโรโมน) ในตัว สามารถส่งเสียง สร้างสี ส่องแสง แต่งกลิ่น ล่อเพศตรงข้าม แต่มนุษย์ไม่มีสิ่งเหล่านั้นจึงต้องสร้างขึ้น…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด งานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในฐานะกรรมการจัดงาน แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัส ถือเป็นงานใหญ่ที่คนมอญได้แสดงออกซึ่งขนบธรรมประเพณีอันดีงาม มิเสียชื่อที่เป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดธรรมเนียมมอญโบราณ และเป็นการถวายพระกุศลแด่พระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” กลอนภาษาไทยข้างต้นเป็นกลอนที่ฉันได้ยินมาแต่เด็ก เมื่อมาเขียนบทความนี้ก็พยายามหาว่าใครเป็นคนแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่ามาจากเชคเสปียร์ที่บอกว่า “Two folks look through same hole, one sees mud, one sees star” ส่วนผู้ที่ถอดเป็นภาษาไทยนั้น ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นคนถอดความและประพันธ์กลอนนี้ อย่างไรก็ตาม ฉันเข้าใจว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงการมองสรรพสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าต่างคนอาจมองได้ต่างกัน และเมื่อฉันโตขึ้น ฉันก็ได้เห็นประจักษ์ถึงความเป็นไปตามคำกล่าวนั้น…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน ผีที่คนมอญนับถือ มิใช่ผีต้นกล้วย ผีตะเคียน ผีตานี ผีจอมปลวก แต่เป็นผีบรรพชน ผีปู่ย่าตายายของเขา สิ่งที่รัดโยงและธำรงความเป็นมอญที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือ “การนับถือผี” ผีเป็นศาสนาแรกของทุกชาติทุกภาษา คนมอญนับถือผีควบคู่กับพุทธศาสนา เคารพยำเกรงไม่กล้าฝ่าฝืน การรำผีนอกจากเป็นการเซ่นไหว้ผีประจำตระกูลแล้ว ยังเป็นการรักษาโรคด้วย หากเทียบกับการรักษาโรคในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า เป็นจิตวิทยาการแพทย์ ในบรรดาการรักษาโรคที่หลากหลายของมอญ เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร การนวด คาถาอาคม และพิธีกรรม เช่น การทิ้งข้าว (เทาะฮะแนม) การเสียกบาล (เทาะฮะป่าน) ส่วนพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดคือ การรำผี (เล่ะฮ์กะนา…
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร ชลบุรีอาจจะเป็นจังหวัดที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีชุมชนคนมอญตั้งอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะมอญเกาะเกร็ดและมอญพระประแดงเท่านั้น... แต่ถึงอย่างไรก็ดี ชลบุรีก็ยังมีคนมอญอยู่ที่ “วัดบ้านเก่า” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “วัดบ้านมอญ” แห่งตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และความน่าสนใจของคนมอญของที่นี่ อยู่ที่ “พระ”   วัดบ้านเก่า (วัดบ้านมอญ) ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
องค์ บรรจุน
  สุกัญญา เบาเนิดในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังนิยมสวมในเสื้อเหลือง เสื้อฟ้า เสื้อชมพู (ประดับตราสัญลักษณ์) ด้วยความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกถึงความจงรักภักดี หรือจะด้วยความรู้สึกอื่นใด...ทำให้เรารับรู้ได้ว่าการมีเสื้อผ้าไม่ใช่มีไว้ห่อหุ้มร่างกายอย่างเดียว  แต่เสื้อผ้ายังแฝงไว้ด้วยความหมายหลายสิ่งอย่างอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นสี หรือ ลวดลาย  กล่าวกันว่าการกระทำของคนเรานั้นเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้นเสื้อผ้าก็เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารเรื่องราว เป็นตัวแทนความคิด และแทนความรู้สึกร่วมของคนในกลุ่ม  แรงงานมอญที่อพยพเข้างานทำงานในมหาชัย (จังหวัดสมุทรสาคร)…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย ตอนเล็กๆ ผู้เขียนมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้เรียกทฤษฎีความอลวน (Chaos Theory) กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจว่าทฤษฎีนี้มีเนื้อหาอย่างไร แต่ก็มีผู้อธิบายว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” นี้เป็นการอธิบายว่าการที่เราเริ่มทำสิ่งหนึ่งอาจส่งผลลัพธ์ไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ เพราะทุกสิ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเกินกว่าที่เราจะตระหนัก ตอนนี้ผู้เขียนเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดไฟ เปิดพัดลม การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดสิ่งใดในพื้นที่ที่ห่างออกไปได้หรือไม่ พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน…