Skip to main content

องค์ บรรจุน

"มอญร้องไห้" ร้องทำไม ร้องเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือญาติเสีย...?


ถูก...ญาติเสีย แต่ต้องระดับคนมีหลานเหลนแล้ว และเป็นที่เคารพรักของผู้คนเท่านั้น หากญาติที่เสียชีวิตอายุยังน้อย แม้จะเสียใจก็ร้องไห้กันไปตามมีตามเกิด ไม่มีการทำพิธีกรรมให้เป็นพิเศษแต่อย่างใด


มอญร้องไห้ เป็นมีพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลาน ที่สำคัญเป็นการยกย่องและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตายที่เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต โดยมากแล้วผู้ร้องจะเป็นหญิงสูงอายุและเป็นเครือญาติกับผู้ตาย เนื้อหาที่ร้องพรรณนาออกมานั้นจะได้ออกมาจากใจ เพราะเคยสัมผัสคลุกคลีมาก่อนเมื่อตอนยังมีลมหายใจ โดยผู้ร้องจะร้องเป็นภาษามอญ และต้องใช้ปฏิภาณกวี คิดคำรำพันคล้องจองให้สัมผัสลงตามทำนองดั้งเดิม เนื้อหาที่ร้องนั้นจึงไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตายเป็นใคร เคยประกอบคุณงามความดีอะไรเอาไว้บ้าง รูปแบบมอญร้องไห้ของแท้นั้นเรียบง่าย แต่กินใจ ได้เนื้อความเฉพาะผู้ตายเป็นรายๆ ไป ต่างจากมอญร้องไห้ของกรมศิลป์ที่ประยุกต์เสียใหม่ รูปแบบหรูหราอลังการ สะเทือนอารมณ์รุนแรง (ออกแนวผู้ดีเสียของรักอยู่สักหน่อย) ทว่าติดกับดัก "มาตรฐาน" จะฟังกี่งานๆ เนื้อหาก็เหมือนกันเป๊ะ


ประวัติความเป็นมาของมอญร้องไห้นั้นมีผู้กล่าวไว้หลายแห่ง เช่น เสถียรโกเศศ กล่าวถึงใน ประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิต ตอนที่เกี่ยวกับความตายไว้ว่า ต้นเหตุมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทรงปาฏิหารย์ให้พระบาททะลุออกมานอกโลง เพื่อให้พระมหากัสสป ศิษย์เอก เคารพบูชา ฝ่ายพุทธบริษัทที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ผลต่างร้องไห้กันระงม จึงเป็นประเพณีสืบต่อมา


บ้างก็ว่าเป็นการสืบเนื่องมาจากนางมัลลิกาที่กรรแสงคร่ำครวญ ต่อพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งชาวมอญนั้นนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด จึงได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาสำหรับกระทำต่อภิกษุสงฆ์จนถึงฆราวาสที่มีผู้เคารพนพไหว้



มอญร้องไห้ สดุดีเทิดพระเกียรติ งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
เมื่อ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๗ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง


ที่มาอีกประการคือเป็นเรื่องกุศโลบายในการสงครามสมัยพระเจ้าราชาธิราช กษัตริย์มอญผู้ขับเคี่ยวกับกษัตริย์พม่าในอดีต สืบเนื่องจาก พระยาเกียรติ บุตรของพระเจ้าราชาธิราช ถูกกองทัพพม่าเข้าล้อมเมืองโดยไม่รู้ตัว กำลังทหารรักษาเมืองก็น้อยไม่สามารถสู้รบกับทหารพม่าที่มีกำลังมากกว่าได้ พยายามส่งข่าวไปให้พระราชบิดามาช่วยก็ไม่สามารถส่งสาส์นเล็ดลอดไปได้ ทว่ามีทหารชื่อ สมิงอายมนทยา อาสาออกไปส่งข่าวด้วยการนำอุบาย "นอนตาย" ไปบนแพหยวกกล้วย โดยใช้น้ำผึ้งทาตามตัว ข้างกายมีหม้อปลาเน่า ส่งกลิ่นเหม็น และมีแมลงวันตอมเหมือนตายจริงๆ ขณะเดียวกันในระหว่างที่เดินออกมาก็ให้หญิงสาวโกนหัวเดินร้องไห้โหยหวน พลางรำพึงรำพันถึงคุณงามความดีของสามีที่นอนตายบนแพหยวกกล้วยนั้น ฝ่ายทหารพม่าไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็นกลลวง ปล่อยให้ขบวนศพผ่านไป จนสามารถนำทัพหลวงมาช่วยได้สำเร็จ จึงเกิดเป็นประเพณี "มอญร้องไห้" ไว้อาลัยสืบต่อจากนั้นมา


มอญร้องไห้แบบดั้งเดิมของมอญนั้น นิยมทำกันในช่วงดึกสงัดระหว่างการตั้งศพบำเพ็ญกุศลและช่วงก่อนรุ่งสาง อีกช่วงก็คือหลังชักศพขึ้นกองฟอนหรือเมรุเตรียมฌาปนกิจ การร้องไห้นี้เป็นการร้องที่ไม่มีน้ำตา ได้แต่พรรณนาคุณความดีของผู้ตาย พลางสะอื้นน้อยๆ เป็นระยะ มิได้ฟูมฟายตีอกชกหัว อย่างที่คนยุคหลังนำมาดัดแปลง บางแห่งเป็นสาวประเภทสอง แต่งกายเป็นสาวมอญ ร้องไห้พลางกลิ้งตัวลงมาจากเมรุชั้นสูงสุด เพื่อเรียกอารมณ์สะเทือนใจจากแขกที่มาร่วมงาน และสิ่งที่ไม่น่าดูอย่างยิ่งก็คือ เมื่อผ้าผ่อนท่อนสไบของหล่อนเปิดเปิง (หากเป็นหญิงยังน่าอภิรมณ์)


เดิมนั้นหากผู้ตายมีฐานะดี ลูกหลานมักหาปี่พาทย์มอญมาบรรเลง และให้ญาติผู้หญิงที่มีความสามารถร้อง "มอญร้องไห้" ประกอบ พรรณนาคุณงามความดีของผู้ตายด้วยความอาลัยถึง ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องขยายเสียงนั้น โดยเฉพาะในช่วงรุ่งสาง บรรยากาศเงียบสนิท เสียงร้องนั้นโหยหวล พลอยทำให้ผู้ที่ได้ยินที่แม้ไม่ใช่ญาติก็อดสะเทือนใจจนร้องไห้ตามไม่ได้


ธรรมเนียม "มอญร้องไห้" ได้มีอิทธิพลแพร่เข้าไปยังราชสำนักไทย จะต้องมีนางร้องไห้ทุกครั้งที่สูญเสียบุคคลในราชตระกูล ธรรมเนียมนางร้องไห้ในวังนี้คาดว่ามีมาแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ มาเลิกไปสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ไม่ทรงโปรดฯ ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ ไม่จริงใจ ร้องไปคนตายก็ไม่ฟื้นขึ้นมาได้ จึงรับสั่งให้เลิกไป แต่ในชั้นหลังในหมู่สามัญชนทั่วไปโดยเฉพาะชาวมอญยังคงรักษาประเพณีนี้ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง


มาระยะหลังครูเพลงไทยเดิมของกรมศิลป์ได้ประยุกต์มอญร้องไห้ ใส่บทร้อง และบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์มอญ เรียกกันว่า แบบตลาด ส่วนเนื้อเพลงนำมาจากเรื่อง "ราชาธิราช" ตอนสมิงพระรามหนีเมีย ขอเล่าเท้าความเกี่ยวกับเรื่อง ราชาธิราช ให้ฟังพอเป็นสังเขป ดังนี้คือ ราชาธิราช เป็นวรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างพม่ากับมอญ กรมศิลปากรนิยมนำมาแสดงเป็นละครพันทาง


ทีนี้มาเข้าเรื่องสมิงพระราม ทหารเอกของพระเจ้าราชาธิราช ถูกพม่าจับไปเป็นเชลยศึกที่กรุงอังวะ ขณะนั้นกรุงอังวะมีศึกติดพันกับพระเจ้ากรุงจีน ได้มีพระราชสาส์นมาท้าพนันให้หาทหารมือดีรำเพลงทวนต่อสู้กันตัวต่อตัว ถ้าฝ่ายอังวะแพ้ จะถูกริบเมือง แต่ถ้าฝ่ายพระเจ้ากรุงจีนแพ้ก็จะยอมถอยทัพกลับไป


เมื่อสมิงพระราม ทราบเรื่องจึงอาสาออกรบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกันศึกไม่ให้ลุกลามไปถึงกรุงหงสาวดี หลังจากที่สมิงพระรามมีชัยชนะ สามารถฆ่า กามะนี ทหารของพระเจ้ากรุงจีนลงได้ พระเจ้ากรุงอังวะได้พระราชทานธิดาให้อภิเษกสมรส สมิงพระรามจำใจรับด้วยเกรงจะเสียสัตย์ แต่ขอพระราชทานคำสัญญาไว้ ๒ ข้อ คือ

๑. ห้ามใครก็แล้วแต่เรียกตนว่า เชลย

๒. ถ้าเกิดสงครามระหว่างกรุงหงสาวดีกับกรุงอังวะ ตนขอไม่สู้รบด้วย เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนมีพระคุณกับตน


ต่อมาธิดาพระเจ้ากรุงอังวะ ให้กำเนิดพระโอรสองค์หนึ่ง มีความซุกซนประสาเด็ก พระเจ้ากรุงอังวะรักและหลงมาก วันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่บนพระเพลาเสด็จตา นัดดาองค์น้อยก็ลุกขึ้นปีนป่ายขึ้นที่สูง พระเจ้ากรุงอังวะหันมาเห็นก็หลุดปากว่า "ลูกอ้ายเชลยนี้กล้าหาญนัก นานไปเห็นจะองอาจแทนมังรายกะยอชวาได้..." สมิงพระรามได้ยินเข้าจึงน้อยใจ และคิดหนีกลับเมืองมอญ ก่อนกลับได้เข้าไปดูหน้าลูกเมียเป็นครั้งสุดท้าย เขียนจดหมายสอดไว้ใต้หมอน เนื้อหาในจดหมายก็เป็นดังที่ได้ยินได้ฟังกันโดยทั่วไป ผู้ที่ร้องเพลงนี้เอาไว้เป็นท่านแรก คือ ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ถือเป็นแม่แบบของเพลงมอญร้องไห้มาจนปัจจุบัน เนื้อความมีดังนี้ คือ


     "หยิบกระดาษวาดอักษรชะอ้อนสั่ง        น้ำตาหลั่งไหลหยดรดอักษร

แล้วสอดไว้ใต้เขนยที่นางนอน                   พิศพักตร์ทอดถอนหฤทัย
    
ค่อยตระโบมโลมลูบจูบสั่งลา                นางจะรู้กายาก็หาไม่

หักจิตออกนอกห้องทันใด                         ขึ้นม้าควบหนีไปมิได้ช้า..."

 

 

มอญร้องไห้ สดุดีเทิดพระเกียรติ งานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

 

ปัจจุบัน มอญร้องไห้ที่คนทั่วไปรู้จักก็คือ มอญร้องไห้แบบกรมศิลปากร ร้องไปก็สะอื้นไห้เสียจนปากเบี้ยว ยิ่งแบบที่สาวประเภทสองนำมาดัดแปลงออกรับงานแสดงตามงานวัดด้วยแล้ว ตีอกชกหัว หกคะเมนตีลังกา แหกปากฟูมฟาย ได้ชมได้ฟังครั้งใดสะเทือนอารมณ์จนสุดจะบรรยาย แต่ขอโทษ แบบนั้นมอญผู้ดีเขาไม่ทำกัน ของแท้เขาต้องนิ่งแสดงออกแต่พองาม เศร้าน่ะเศร้าอยู่หรอก ก็ญาติตายทั้งคน แต่มันก็ควรเก็บอาการ ต้อง "แอ๊บ" กันบ้าง น้ำตาคลอน้อยๆ สะอื้นในคอหน่อยๆ หากดัดจริตมากเสียจนน้ำตาท่วมเบ้า เสลดพันคอ ร้องไม่เป็นภาษา ดูหน้าหรือทั้งแป้งพอกหน้าสีป้ายเปลือกตาละลาย คนมางานศพคงตกใจนึกว่าคนที่นอนในโลงออกมานั่งร้องเสียเอง


บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์