Skip to main content

สุกัญญา เบาเนิด


งานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในฐานะกรรมการจัดงาน แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัส ถือเป็นงานใหญ่ที่คนมอญได้แสดงออกซึ่งขนบธรรมประเพณีอันดีงาม มิเสียชื่อที่เป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดธรรมเนียมมอญโบราณ และเป็นการถวายพระกุศลแด่พระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงจัดให้มีพิธีสำคัญ ได้แก่ พิธีเทาะอะโย่งกย้าจก์ หรือพิธีสมโภชพระพุทธรูป พิธีรำสามถาด พิธีมอญร้องไห้ และมอญรำ พิธีการและพิธีกรรมได้ดำเนินไปตลอดทั้งวัน


ในงานสิ่งที่สะดุดตาเห็นจะเป็นอื่นไปไม่ได้นั่นคือการแต่งกายของผู้ที่มาร่วมงานนับพันคน ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะแต่งขาวดำเป็นหลัก และส่วนน้อยจะเป็น “ชุดประจำชาติ” (โสร่ง/ผ้าถุงแดงเสื้อขาว) ของพี่น้องชาวมอญเมืองมอญซึ่งก็โดดเด่นไม่แพ้กัน แต่น่าเสียดายว่าชุดการแต่งกายแบบนี้จะเคยถูกดูหมิ่นและรังเกียจว่าเป็นการแต่งกายของแรงงานต่างด้าว เช่นที่มหาชัยก็เคยถูกห้ามสวมใส่มาแล้ว แต่อย่างน้อยในงานนี้อาจทำคนในสังคมไทยได้เข้าใจ และมองเห็นความเป็นมอญได้อย่างเต็มตาเต็มใจมากยิ่งขึ้น


การแต่งกายของชาวมอญนั้นมีหลากหลาย ซึ่งความแตกต่างเกิดจากต่างพื้นที่ต่างชุมชนซึ่งล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ทั้งสีสันและลวดลาย ได้สะท้อนวิธีคิดและโลกทัศน์ของคนมอญ อย่างเช่นสมัยก่อนเมื่อไปงานศพการแต่งสีเป็นเรื่องปกติ เพราะถือว่าคนตายนั้นไปสบายจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี มากกว่าเป็นเรื่องเศร้าโศกจึงสะท้อนมาที่การใช้เสื้อผ้าที่มีสีสัน แต่ปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมเนียมนิยมที่เน้นการแต่งขาวดำเพื่อไว้ทุกข์ คนมอญก็รับธรรมเนียมนิยมนี้มาเช่นกัน ยิ่งเป็นงานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชที่จัดในพระบรมมหาราชวังด้วยแล้ว การแต่งสีก็อาจจะดูขัดเขินสำหรับคนมอญ ถึงแม้ว่าทางสำนักพระราชวังจะอนุญาตให้แต่งกายตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธุ์ตนก็ตาม


ในขั้นเตรียมงานนอกจากรายละเอียดของพิธีการ การแต่งกายก็เป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงด้วย ท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ให้ “แต่งกายตามประเพณีไม่จำกัดสี” แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ สีที่ถูกเลือกใช้ก็ยังคงแต่งขาวดำเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นเช่นนี้ แล้วอะไรที่พอจะบอกถึงเอกลักษณ์ของมอญได้อย่างชัดเด่นชัด ดังนั้นหากการแต่งกายตามประเพณีนั้นน่าจะหมายถึงผู้ชายนุ่งโสร่ง เสื้อผ่าหน้ากระดุมเชือก หรือ ผู้หญิง เกล้าผมมวย นุ่งผ้าถุง เสื้อแขนกระบอกคอกลมและห่มสไบ หากเปรียบกันแล้ว ก็ดูเหมือนว่าฝ่ายหญิงจะยังคงเอกลักษณ์เอาได้มาก ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางอย่างอย่างจะขาดหายไปบ้าง เช่น การเกล้ามวยแบบมอญ ซึ่งทุกวันนี้ก็หากดูได้ยากขึ้นทุกที แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การห่มสไบของบรรดาสาวมอญทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ เนื่องจากการใช้สไบสำหรับออกงานสำคัญ และถือเป็นการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย



สไบมอญแบบผู้หญิงมอญหงสาวดี (เมืองมอญ ประเทศพม่า)


สไบมอญที่พลิ้วไหวในพระบรมมหาราชวัง จึงละลานตาด้วยลวดลายสีสันงดงามแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะสไบมอญที่เรียกว่า “หญาดฮะเหริ่มโตะ” หรือ “หญาดหมินโตะ” ของชาวมอญสมุทรสาคร หรือ ชุมชนที่อพยพไปจากสมุทรสาคร เช่น บางกระดี่ คลองสิบสี่ บางเลน ลาดกระบัง ไทรน้อย ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นงานฝีมือที่ขอบสไบปักเป็นลายดอกพิกุล ส่วนกลางผืนปักเป็นลายดอกมะเขือ (ดอกไม้ ๕ กลีบ) สอดสลับสีตัดกับพื้นของสไบอย่างงดงาม ซึ่งมีสีที่นิยม เช่น สีบานเย็น สีตอง (เขียวอ่อน) สีจำปา (ส้ม) สีเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้บางชุมชนก็นิยมห่มสไบสีพื้น หรือ ผ้าลูกไม้ อีกด้วย


 

 

สไบมอญแบบมอญเมืองไทยส่วนใหญ่ที่มาร่วมงาน


เนื่องด้วยเป็นงานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สไบมอญที่ถูกนำมาใช้จึงเป็นสีขาวและดำเป็นหลัก แต่ก็ปักลวดลายหลากสี ส่วนสไบสีก็มีให้เห็นไม่น้อย ทำให้การแต่งกายของผู้หญิงมอญที่มาในงานงดงามแปลกตา เป็นการผสมผสานการแต่งกายขาวดำตามธรรมเนียมนิยม กับการแต่งสีตามธรรมเนียมมอญ



สไบมอญแบบดั้งเดิมที่ผสมผสานแนวคิด รูปแบบ สีสัน ปัจจุบันและอดีตเข้าด้วยกัน


มีคนเคยกล่าวว่า “คนมอญเก่าๆ นั้น เวลาจะออกจากบ้าน โดยเฉพาะยามที่ต้องเข้าวัดเข้าวา แทบจะเรียกได้ว่าสไบมอญ นั้นเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่จะขาดเสียมิได้เลย” ทำให้นึกถึงแม่ของผู้เขียน ในยามที่รีบร้อนคว้าสไบไม่ทัน ผ้าขนหนูเก่าๆ แม่ก็เคยนำมาใช้แทนผ้าสไบมาแล้วเพื่อให้ทันพระที่มารอบิณฑบาตรอยู่ที่หน้าบ้าน ผ้าสไบกับผู้หญิงมอญช่างเป็นของคู่กันแท้ๆ


ผู้เขียนเองก็ต้องขอสารภาพว่าต้องอดหลับอดนอนหลายวันหลายคืนก่อนวันงาน เพราะต้องเร่งปักสไบด้วยการเลียนแบบสไบของแม่ เพราะในสายตาของผู้เขียนแล้ว ผ้าสไบของแม่นั้นสวยที่สุด เป็นผ้าสไบพื้นสีดำปักลวดลายสอดสลับกันทั้งหมด ๗ สี เป็นความตั้งใจเพื่อใช้แทนความหมาย “แสงหนึ่งคือรุ้งงาม” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน และน้อมส่งดวงพระวิญญาณสู่สรรคาลัยในครั้งนี้


เอกสารอ้างอิง

องค์ บรรจุน สไบมอญ (หญาดฮะเหริ่มโตะ) www.monstudies.com (วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๐.๒๐ น.)


บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์