Skip to main content

องค์ บรรจุน

หลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า


"ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."

อาจเป็นไปได้ที่ว่าชาวบ้านหนองขาวนี้เป็นคนไทยแท้ ที่ไม่มีการผสมกลมกลืนทางสายเลือดกับคนชาติพันธุ์อื่น แม้ชุมชนแห่งนี้จะอยู่บนเส้นทางเดินทัพแต่โบราณระหว่างด่านเจดีย์สามองค์และกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าพม่าจะยกเข้าโจมตีไทย หรือไทยจะยกไปโจมตีกลับ หากในอดีตไม่มีทหารและเชลยศึกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกค้าง ไม่มีการเดินทางไปมาของพ่อค้าวานิช นักบวช รวมทั้งชาวบ้านตามแนวชายแดน คนบ้านหนองขาวก็คงจะยังธำรงความเป็นชาติพันธุ์บริสุทธ์เอาไว้ได้ แต่การที่ไม่เคยมีหลักฐานและเรื่องเล่าว่าบรรพชนเป็นใครมาจากไหน จึงต้องอนุโลมว่าชาวบ้านหนองขาวเป็นชาติพันธุ์ไทย แต่กระนั้นคนไทยแท้บ้านหนองขาวก็คงได้รับวัฒนธรรมของคนต่างอื่นๆ มาไว้ในวิถีชีวิตไม่น้อย เช่น ภาษา พุทธศาสนา ความเชื่อ การแต่งกาย และอาหารการกิน ซึ่งมาจากคนมอญ จีน อินเดีย พม่า ไทใหญ่ ไทยวน และลาว ดังที่ปรากฏให้เห็นในวิถีชีวิตทุกวันนี้


สภาพบ้านเรือนชุมชนบ้านหนองขาว

ความเป็นมาของบ้านหนองขาวนั้น มีเรื่องเล่าย้อนหลังไปถึงรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายในแผ่นดินอยุธยา เมื่อพม่ายกกองทัพเข้าโจมตีจนต้องเสียกรุงศรีอยุทธยาเป็นครั้งที่ ๒ ขุนนางนักปราชย์ราชบัณฑิตช่างศิลป์ไพร่บ้านพลเมืองถูกกวาดต้อนไปพม่าจำนวนมาก ในส่วนของชาวบ้านท้องถิ่นเขตเมืองกาญจนบุรีที่อยู่รายทางผ่านกองทัพพม่าต่างกระจัดกระจาย หลบหนีภัยข้าศึกหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา ขณะที่ข้าศึกเดินทัพผ่านมานั้น ชาวบ้านดงรัง และ บ้านดอนกระเดื่อง (ปัจจุบันทั้งสองหมู่บ้านได้รวมเป็นบ้านหนองขาว) รวมกำลังเข้าต่อสู้กับข้าศึก แต่ไม่สามารถต้านกำลังทัพพม่าได้ วัดวาอารามและบ้านเรือนถูกเผาผลาญทำลาย ดังปรากฏ คูรบ เป็นหลักฐานให้เห็นร่อยรอยการสู้รบในครั้งนั้น ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า ทุ่งคู มาจนถึงในราวปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ต่อมาชาวบ้านได้ขยายพื้นที่ทำนาเข้าไปครอบคลุมพื้นที่แนวคูรบ ปัจจุบันบริเวณคูรบดังกล่าวถูกไถแปรเป็นนาข้าวไปหมดแล้ว ส่วนทางทิศใต้ของบ้านหนองขาวปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านดงรังยังคงปรากฏซากปรักหักพังของเจดีย์ พระอุโบสถ พระพุทธรูป และแนวกำแพงแก้วใบเสมา ปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่)

ภายหลังเมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุขแล้ว ราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้าน ที่ออกจากการซ่อนตัวและเล็ดลอดจากการถูกกวาดต้อน ได้รวมกันตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ใกล้กับหนองน้ำใหญ่ เรียกกันว่า หนองหญ้าดอกขาว เนื่องจากมีหญ้าออกดอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำ ซึ่งชื่อหนองน้ำได้กลายเป็นชื่อของหมู่บ้านด้วย ต่อมาการเรียกกร่อนลงเหลือเพียง บ้านหนองขาว ทุกวันนี้ร่องรอยของหนองน้ำยังคงปรากฏอยู่ในหมู่ที่ ๓ หรือหนองคอกวัว แม้หนองจะถูกกลบถูกถมและกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือน แต่ก็ยังมีสภาพที่เป็นหนองน้ำอยู่ เพราะเมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง ก็จะปรากฏว่ามักมีน้ำเอ่อขังขึ้นมาอยู่เสมอ

บ้านหนองขาวเป็นหมู่บ้านใหญ่ ประชากรหนาแน่น จนมีคำกล่าวกันว่า "หมู่บ้านใหญ่ไก่บินไม่ตก" จึงมีสถานที่ราชการเข้าไปตั้งหลายแห่ง ได้แก่ สถานีอนามัย สถานีตำรวจ และโรงเรียนประถมขนาดใหญ่ มีถนนหลวงสายสุพรรณบุรี-กาญจนบุรีตัดผ่าน เป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ ราชการได้จัดแบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ตำบล คือ ตำบลบ้านกล้วย ตำบลบ้านดอนประดู่ และตำบลบ้านกรอกโพธิ์ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง โดยได้จัดตั้งบ้านหนองขาวขึ้นเป็นตำบลหนองขาว ประกอบด้วย ๑๒ หมู่บ้าน แบ่งเป็นการปกครองในเขตเทศบาล และปกครองโดยองค์การบริหารส่วนตำบล มีวัดเก่าแก่ประจำชุมชนคือ วัดอินทาราม ต่อมาได้บูรณะวัดร้างขึ้นอีกแห่งคือ วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่) วัดที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณปลายแดนตำบลหนองขาว คือ วัดโมกมันขันธาราม และ สำนักสงฆ์เขาสามเงา

บ้านหนองขาวเริ่มเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกทั่วไปเมื่อราว ๑๐ ปีที่แล้ว เมื่อคนต่างถิ่นเดินทางผ่านมาและพบเห็นเข้ากับขบวนแห่นาคของชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่ยาวสุดลูกหูลูกตา นาคแต่งกายแปลกตาตามแบบวัฒนธรรมบ้านหนองขาว ชาวบ้านในขบวนต่างสวมใส่เสื้อผ้าหลากสี ซึ่งขบวนลักษณะนี้ยังรวมไปถึงงานโกนจุก ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันจัดงานพร้อมเพรียงกัน แต่งกายลูกหลานที่เข้าพิธีอย่างสวยงาม และงานสงกรานต์ที่มีขบวนแห่เป็นเกวียนเทียมวัวนับ ๒๐ เล่ม สิ่งเหล่านี้เองได้นำมาซึ่งคณะทัวร์เข้าเยี่ยมชม และการเกิดขึ้นของโฮมสเตย์ การรวมกลุ่มทอผ้า (ผ้าขาวม้าร้อยสี) เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวเป็นที่ระลึก การจัดงานแสดงแสงสีเสียงและละครเพลง "ไอ้บุญทองบ้านหนองขาว" ละครเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านหนองขาว จากบทประพันธ์ของอดีตผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต ๑ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านหนองขาว เริ่มแสดงครั้งแรกในวันสงกรานต์เมื่อปี ๒๕๔๑ บนลานหน้าวัดอินทาราม ต่อมาในปี ๒๕๔๓ จึงมีการจัดสร้างบ้านเรือนไทย ๒ ชั้น บนลานหน้าวัด โรงละครกลางแจ้งแห่งนี้ ได้ชื่อว่า "บ้านไอ้บุญทอง" และการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน จำลองบรรยากาศครัวไทย การหุงต้มแบบโบราณ ห้องนอน เปลเด็ก และภาพถ่ายเก่าในอดีตของบ้านหนองขาว



ผ้าขาวม้าร้อยสี หัตถกรรมผ้าทอขึ้นชื่อ


งานเทศกาลสงกรานต์แบบดั้งเดิมและกิจกรรมสร้างสีสัน (นิทรรศการแสงสีเสียง) เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจอย่างเข้มแข็งของคนหนองขาวโดยมีหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นให้ความสนับสนุนอย่างที่ไม่พยายามลากจูง

สองสามเดือนก่อน ต่อเนื่องมาจนถึงงานสงกรานต์เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวและวนเวียนเก็บข้อมูลที่บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านดั้งเดิมที่นี่ยืนยันว่าตนเป็นคนไทยแท้ รวมทั้งผู้เขียนยังรู้อีกว่า ก่อนหน้านี้อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในนามมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ ได้เคยมาร่วมกิจกรรมจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้บ้านหนองขาวด้วย และได้รับการบอกเล่าความเป็นไทยแท้อย่างที่ผู้เขียนได้ฟังมาแล้ว จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ได้มีการถ่ายรูปคู่และกราบกันไปแล้วหรือยัง...?

"คนบ้านหนองขาวอยู่กันมาที่นี่แต่โบราณ สมัยปู่ย่าตายาย สมัยอยุธยาโน่นแหละ ไม่ได้อพยพมาจากไหน เป็นคนไทยแท้ ไม่มีเชื้อสายอื่นปนเลย ลาวไม่มี จีนก็ไม่มี คนจีนก็มีแต่ที่เข้ามาทีหลัง ดั้งเดิมมีแต่คนไทยแท้... เราเชื่อว่าสำเนียงพูดใกล้กับคนใต้มากกว่า แต่นักวิชาการเขาบอกกันว่าไม่น่าจะมีปน บางคนเขาก็บอกว่าคงจะมีเชื้อมอญ เพราะสำเนียงพูดเหน่อแปลกๆ และความเชื่อเรื่องหม้อยาย (ผีบรรพชน)..."

ชาวบ้านช่วยกันประดับเกวียนเพื่อร่วมแห่ในงานสงกรานต์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552


ตติยา นักเวช บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนเทศบาลตำบลหนองขาว เล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพระครูถาวรกาญจนนิมิต (จีระศักดิ์ แซ่อึ้ง - ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อึ้งตระกูล) เจ้าอาวาสวัดอินทารามรูปปัจจุบัน ที่กล่าวว่ามีนักวิชาการและบุคคลภายนอกสอบถามกันมากว่าชาวบ้านหนองขาวมีเชื้อชาติอะไร ท่านตอบในทำนองเดียวกันว่า เป็นคนพื้นถิ่นบ้านหนองขาวแต่โบราณ แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมนั้นอาจเป็นวัฒนธรรมมอญ เช่น การแต่งกายนาคก่อนบวช ความเชื่อเรื่อง "หม้อยาย" ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพชน แต่เนื่องจากไม่หลงเหลือภาษาพูด โบราณวัตถุโบราณสถาน และเรื่องเล่าของปู่ย่าตายายที่เกี่ยวกับมอญจึงไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน


ถึงวันนี้ ไม่ว่าคนบ้านหนองขาวจะมีเชื้อสายหรือชาติพันธุ์ใดก็คงไม่ใช่สิ่งสำคัญนัก เพราะหลักใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ว่าคนบ้านหนองขาวเลือกที่จะเป็นและอยู่ต่อไปอย่างไร โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของตน รวมทั้งไม่ชูวัฒนธรรมตนจนกดทับให้วัฒนธรรมของคนกลุ่มอื่นด้อยค่า ชุมชนกึ่งชนบทกึ่งเมืองของบ้านหนองขาวอย่างที่เห็นนี้ หากเทียบกับชุมชนรอบข้างที่กำลังเคลื่อนตัวเองเข้าสู่ความทันสมัยก็อาจมองว่าบ้านหนองขาวหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านหนองขาวต่างก็มีเหตุปัจจัยให้ต้องออกสู่สังคมภายนอกมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ แต่เลือกรับเพียงบางสิ่งบางอย่างเข้าสู่ชุมชน การดำเนินชีวิตอย่างมีสมดุลย์ระหว่างสังคมโลกาภิวัตน์กับรูปแบบชีวิตดั้งเดิมเช่นนี้ น่าจะเกิดจากความรู้สึกภูมิใจและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของตน ทุกวันนี้ปฏิทินของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุกิจกรรมทางวัฒนธรรมของคนบ้านหนองขาวเข้าไว้ด้วยแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองก็คือ ความอ่อนโยนโดยธรรมชาติที่เป็นความโดดเด่นของคนบ้านหนองขาว ชนิดที่คนทั่วไปสัมผัสได้อย่างไม่น่าเชื่อในวันนี้ หวังว่าการท่องเที่ยวจะไม่ทำให้ความอ่อนโยนของคนบ้านหนองขาวจางหายไป

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลวงพ่อสมาน วัดชนะสงคราม ที่เคยเลี้ยงดูส่งเสีย ข้าวแกงก้นบาตรราดรดหัวผมมาจนเรียนจบปริญญาตรีเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่านชอบเปรียบเปรยลูกศิษย์ลูกหาและใครต่อใครที่ลืมคุณคนด้วยสำนวนมอญที่ไม่พ้นไปจากเรื่องการกินการอยู่ เป็นต้นว่า "ใหญ่เหมือนช้าง ยาวเหมือนงู" (แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน)"กินผลฟันต้น เก็บร่มหักก้าน" (กินบนเรือนขี้บนหลังคา)"ข้าวแดงแกงร้อน" (สำนึก)"เสียข้าวสุก" (เนรคุณ)แต่ที่ผมเสียวแปลบไปถึงขั้วหัวใจทุกครั้งเมื่อถูกท่านเหน็บเอาว่า"ข้าวสุกไม่มียาง" (ก็เนรคุณอีก)
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน"มอญร้องไห้" ร้องทำไม ร้องเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือญาติเสีย...?ถูก...ญาติเสีย แต่ต้องระดับคนมีหลานเหลนแล้ว และเป็นที่เคารพรักของผู้คนเท่านั้น หากญาติที่เสียชีวิตอายุยังน้อย แม้จะเสียใจก็ร้องไห้กันไปตามมีตามเกิด ไม่มีการทำพิธีกรรมให้เป็นพิเศษแต่อย่างใดมอญร้องไห้ เป็นมีพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลาน ที่สำคัญเป็นการยกย่องและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตายที่เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต โดยมากแล้วผู้ร้องจะเป็นหญิงสูงอายุและเป็นเครือญาติกับผู้ตาย เนื้อหาที่ร้องพรรณนาออกมานั้นจะได้ออกมาจากใจ…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน สำนวนไทยที่กล่าวถึงการแย่งศพมอญ นั่นคือ “แย่งกันเป็นศพมอญ” หากพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่มีความหมายว่า ยื้อแย่งกัน ซึ่งใช้ในเชิงเปรียบเทียบ๑ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำนวนนี้มีที่มาจากประเพณีมอญแต่โบราณ และคำว่า “แย่ง” นั้นก็เป็นแต่อุบาย ที่หมายให้ผู้คนทั้งหลายหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีมอญหลายประการที่คนไทยยอมรับมาอย่างหน้าชื่นตาบาน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรน้ำผึ้ง ล้างเท้าพระ ดนตรีปี่พาทย์นาฏศิลป์ เหล่านี้เป็นหัวใจของไทยที่รับมาจากมอญ และทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นของตนอย่างกลมกลืน…
องค์ บรรจุน
“...ต้องการแม่ครัว (หรือพ่อครัวก็ได้) ๑ ตำแหน่งค่ะ ทำงานที่ระยองนี่ล่ะ...”“ชาวพม่าเอาไหมครับ ถ้าเอามีเยอะเลย ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ...”“พม่าทำกับข้าวอร่อยหรือเปล่าคะ”“…มีข่าวบ่อยๆ ว่า แรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ต่างดาว ฆ่านายจ้าง ระวังไว้นะ”“พม่าเอาแบบนุ่งกางเกงนะ ห้ามนุ่งโสร่ง เดี๋ยวจะเพิ่มเส้นให้มามากเกินไป...ง่ะ...๕๕๕++”ฯลฯข้อความโต้ตอบในกระดานสนทนาเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนเข้าไปพบโดยบังเอิญ เมื่อปลายปีที่แล้ว ข้อความโต้ตอบข้างต้นสะท้อนแง่คิดของคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อย่างแปรปรวนชวนสงสัย น่าแปลกที่คนไทยเรามีสายตาที่มองคนพม่าในแบบที่ทั้งหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ เป็นตัวตลก…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย   ปกติฉันทำงานที่ตึกประชาธิปก-รำไพพรรณี ซึ่งอยู่ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงมักจะไปทานอาหารที่โรงอาหารของคณะเศรษฐศาสตร์ ในช่วงแรกๆ ที่ฉันมาเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้ยินคนขายอาหารพูดกันเองว่า   “คนเก็บจานที่มาใหม่น่ะ พูดอังกฤษคล่องเชียว เป็นคนพม่า พูดไทยไม่ได้ เวลาจะให้ทำอะไรแกต้องสั่งเขาเป็นภาษาอังกฤษนะ” ฉันเลยรับรู้มาตั้งแต่นั้นว่า โรงอาหารแห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทำงานอยู่ (พอดีตอนนั้นเรียนเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติอยู่ด้วย) หลังจากนั้นก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานพม่ามาตลอด ว่าที่เราเข้าใจว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นได้ทั้งพม่า…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน เครื่องนุ่งห่มนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ เพื่อปกปิดร่างกายคุ้มภัยร้อนหนาวจากธรรมชาติ กันขวากหนามงูเงี้ยวเขี้ยวขอขบเกี่ยว และที่สำคัญ ปิดกายให้พ้นอาย รวมทั้งเสริมแต่งให้ชวนมอง ส่วนการตกแต่งร่างกายตามความเชื่อและลัทธิทางศาสนานั้นน่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลังสุดและมีความสำคัญรองลงมา การตกแต่งร่างกายนั้นเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ใช้เรียกความสนใจจากเพศตรงข้าม นำไปสู่การดำรงเผ่าพันธุ์ อันต่างจากสัตว์ที่เป็นไปตามสัญชาติญาณ และมีแรงดึงดูด (ฟีโรโมน) ในตัว สามารถส่งเสียง สร้างสี ส่องแสง แต่งกลิ่น ล่อเพศตรงข้าม แต่มนุษย์ไม่มีสิ่งเหล่านั้นจึงต้องสร้างขึ้น…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด งานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในฐานะกรรมการจัดงาน แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัส ถือเป็นงานใหญ่ที่คนมอญได้แสดงออกซึ่งขนบธรรมประเพณีอันดีงาม มิเสียชื่อที่เป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดธรรมเนียมมอญโบราณ และเป็นการถวายพระกุศลแด่พระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” กลอนภาษาไทยข้างต้นเป็นกลอนที่ฉันได้ยินมาแต่เด็ก เมื่อมาเขียนบทความนี้ก็พยายามหาว่าใครเป็นคนแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่ามาจากเชคเสปียร์ที่บอกว่า “Two folks look through same hole, one sees mud, one sees star” ส่วนผู้ที่ถอดเป็นภาษาไทยนั้น ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นคนถอดความและประพันธ์กลอนนี้ อย่างไรก็ตาม ฉันเข้าใจว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงการมองสรรพสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าต่างคนอาจมองได้ต่างกัน และเมื่อฉันโตขึ้น ฉันก็ได้เห็นประจักษ์ถึงความเป็นไปตามคำกล่าวนั้น…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน ผีที่คนมอญนับถือ มิใช่ผีต้นกล้วย ผีตะเคียน ผีตานี ผีจอมปลวก แต่เป็นผีบรรพชน ผีปู่ย่าตายายของเขา สิ่งที่รัดโยงและธำรงความเป็นมอญที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือ “การนับถือผี” ผีเป็นศาสนาแรกของทุกชาติทุกภาษา คนมอญนับถือผีควบคู่กับพุทธศาสนา เคารพยำเกรงไม่กล้าฝ่าฝืน การรำผีนอกจากเป็นการเซ่นไหว้ผีประจำตระกูลแล้ว ยังเป็นการรักษาโรคด้วย หากเทียบกับการรักษาโรคในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า เป็นจิตวิทยาการแพทย์ ในบรรดาการรักษาโรคที่หลากหลายของมอญ เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร การนวด คาถาอาคม และพิธีกรรม เช่น การทิ้งข้าว (เทาะฮะแนม) การเสียกบาล (เทาะฮะป่าน) ส่วนพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดคือ การรำผี (เล่ะฮ์กะนา…
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร ชลบุรีอาจจะเป็นจังหวัดที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีชุมชนคนมอญตั้งอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะมอญเกาะเกร็ดและมอญพระประแดงเท่านั้น... แต่ถึงอย่างไรก็ดี ชลบุรีก็ยังมีคนมอญอยู่ที่ “วัดบ้านเก่า” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “วัดบ้านมอญ” แห่งตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และความน่าสนใจของคนมอญของที่นี่ อยู่ที่ “พระ”   วัดบ้านเก่า (วัดบ้านมอญ) ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
องค์ บรรจุน
  สุกัญญา เบาเนิดในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังนิยมสวมในเสื้อเหลือง เสื้อฟ้า เสื้อชมพู (ประดับตราสัญลักษณ์) ด้วยความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกถึงความจงรักภักดี หรือจะด้วยความรู้สึกอื่นใด...ทำให้เรารับรู้ได้ว่าการมีเสื้อผ้าไม่ใช่มีไว้ห่อหุ้มร่างกายอย่างเดียว  แต่เสื้อผ้ายังแฝงไว้ด้วยความหมายหลายสิ่งอย่างอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นสี หรือ ลวดลาย  กล่าวกันว่าการกระทำของคนเรานั้นเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้นเสื้อผ้าก็เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารเรื่องราว เป็นตัวแทนความคิด และแทนความรู้สึกร่วมของคนในกลุ่ม  แรงงานมอญที่อพยพเข้างานทำงานในมหาชัย (จังหวัดสมุทรสาคร)…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย ตอนเล็กๆ ผู้เขียนมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้เรียกทฤษฎีความอลวน (Chaos Theory) กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจว่าทฤษฎีนี้มีเนื้อหาอย่างไร แต่ก็มีผู้อธิบายว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” นี้เป็นการอธิบายว่าการที่เราเริ่มทำสิ่งหนึ่งอาจส่งผลลัพธ์ไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ เพราะทุกสิ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเกินกว่าที่เราจะตระหนัก ตอนนี้ผู้เขียนเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดไฟ เปิดพัดลม การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดสิ่งใดในพื้นที่ที่ห่างออกไปได้หรือไม่ พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน…