Skip to main content

องค์ บรรจุน

หลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า


"ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."

อาจเป็นไปได้ที่ว่าชาวบ้านหนองขาวนี้เป็นคนไทยแท้ ที่ไม่มีการผสมกลมกลืนทางสายเลือดกับคนชาติพันธุ์อื่น แม้ชุมชนแห่งนี้จะอยู่บนเส้นทางเดินทัพแต่โบราณระหว่างด่านเจดีย์สามองค์และกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าพม่าจะยกเข้าโจมตีไทย หรือไทยจะยกไปโจมตีกลับ หากในอดีตไม่มีทหารและเชลยศึกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกค้าง ไม่มีการเดินทางไปมาของพ่อค้าวานิช นักบวช รวมทั้งชาวบ้านตามแนวชายแดน คนบ้านหนองขาวก็คงจะยังธำรงความเป็นชาติพันธุ์บริสุทธ์เอาไว้ได้ แต่การที่ไม่เคยมีหลักฐานและเรื่องเล่าว่าบรรพชนเป็นใครมาจากไหน จึงต้องอนุโลมว่าชาวบ้านหนองขาวเป็นชาติพันธุ์ไทย แต่กระนั้นคนไทยแท้บ้านหนองขาวก็คงได้รับวัฒนธรรมของคนต่างอื่นๆ มาไว้ในวิถีชีวิตไม่น้อย เช่น ภาษา พุทธศาสนา ความเชื่อ การแต่งกาย และอาหารการกิน ซึ่งมาจากคนมอญ จีน อินเดีย พม่า ไทใหญ่ ไทยวน และลาว ดังที่ปรากฏให้เห็นในวิถีชีวิตทุกวันนี้


สภาพบ้านเรือนชุมชนบ้านหนองขาว

ความเป็นมาของบ้านหนองขาวนั้น มีเรื่องเล่าย้อนหลังไปถึงรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายในแผ่นดินอยุธยา เมื่อพม่ายกกองทัพเข้าโจมตีจนต้องเสียกรุงศรีอยุทธยาเป็นครั้งที่ ๒ ขุนนางนักปราชย์ราชบัณฑิตช่างศิลป์ไพร่บ้านพลเมืองถูกกวาดต้อนไปพม่าจำนวนมาก ในส่วนของชาวบ้านท้องถิ่นเขตเมืองกาญจนบุรีที่อยู่รายทางผ่านกองทัพพม่าต่างกระจัดกระจาย หลบหนีภัยข้าศึกหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา ขณะที่ข้าศึกเดินทัพผ่านมานั้น ชาวบ้านดงรัง และ บ้านดอนกระเดื่อง (ปัจจุบันทั้งสองหมู่บ้านได้รวมเป็นบ้านหนองขาว) รวมกำลังเข้าต่อสู้กับข้าศึก แต่ไม่สามารถต้านกำลังทัพพม่าได้ วัดวาอารามและบ้านเรือนถูกเผาผลาญทำลาย ดังปรากฏ คูรบ เป็นหลักฐานให้เห็นร่อยรอยการสู้รบในครั้งนั้น ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า ทุ่งคู มาจนถึงในราวปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ต่อมาชาวบ้านได้ขยายพื้นที่ทำนาเข้าไปครอบคลุมพื้นที่แนวคูรบ ปัจจุบันบริเวณคูรบดังกล่าวถูกไถแปรเป็นนาข้าวไปหมดแล้ว ส่วนทางทิศใต้ของบ้านหนองขาวปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านดงรังยังคงปรากฏซากปรักหักพังของเจดีย์ พระอุโบสถ พระพุทธรูป และแนวกำแพงแก้วใบเสมา ปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่)

ภายหลังเมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุขแล้ว ราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้าน ที่ออกจากการซ่อนตัวและเล็ดลอดจากการถูกกวาดต้อน ได้รวมกันตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ใกล้กับหนองน้ำใหญ่ เรียกกันว่า หนองหญ้าดอกขาว เนื่องจากมีหญ้าออกดอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำ ซึ่งชื่อหนองน้ำได้กลายเป็นชื่อของหมู่บ้านด้วย ต่อมาการเรียกกร่อนลงเหลือเพียง บ้านหนองขาว ทุกวันนี้ร่องรอยของหนองน้ำยังคงปรากฏอยู่ในหมู่ที่ ๓ หรือหนองคอกวัว แม้หนองจะถูกกลบถูกถมและกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือน แต่ก็ยังมีสภาพที่เป็นหนองน้ำอยู่ เพราะเมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง ก็จะปรากฏว่ามักมีน้ำเอ่อขังขึ้นมาอยู่เสมอ

บ้านหนองขาวเป็นหมู่บ้านใหญ่ ประชากรหนาแน่น จนมีคำกล่าวกันว่า "หมู่บ้านใหญ่ไก่บินไม่ตก" จึงมีสถานที่ราชการเข้าไปตั้งหลายแห่ง ได้แก่ สถานีอนามัย สถานีตำรวจ และโรงเรียนประถมขนาดใหญ่ มีถนนหลวงสายสุพรรณบุรี-กาญจนบุรีตัดผ่าน เป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ ราชการได้จัดแบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ตำบล คือ ตำบลบ้านกล้วย ตำบลบ้านดอนประดู่ และตำบลบ้านกรอกโพธิ์ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง โดยได้จัดตั้งบ้านหนองขาวขึ้นเป็นตำบลหนองขาว ประกอบด้วย ๑๒ หมู่บ้าน แบ่งเป็นการปกครองในเขตเทศบาล และปกครองโดยองค์การบริหารส่วนตำบล มีวัดเก่าแก่ประจำชุมชนคือ วัดอินทาราม ต่อมาได้บูรณะวัดร้างขึ้นอีกแห่งคือ วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่) วัดที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณปลายแดนตำบลหนองขาว คือ วัดโมกมันขันธาราม และ สำนักสงฆ์เขาสามเงา

บ้านหนองขาวเริ่มเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกทั่วไปเมื่อราว ๑๐ ปีที่แล้ว เมื่อคนต่างถิ่นเดินทางผ่านมาและพบเห็นเข้ากับขบวนแห่นาคของชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่ยาวสุดลูกหูลูกตา นาคแต่งกายแปลกตาตามแบบวัฒนธรรมบ้านหนองขาว ชาวบ้านในขบวนต่างสวมใส่เสื้อผ้าหลากสี ซึ่งขบวนลักษณะนี้ยังรวมไปถึงงานโกนจุก ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันจัดงานพร้อมเพรียงกัน แต่งกายลูกหลานที่เข้าพิธีอย่างสวยงาม และงานสงกรานต์ที่มีขบวนแห่เป็นเกวียนเทียมวัวนับ ๒๐ เล่ม สิ่งเหล่านี้เองได้นำมาซึ่งคณะทัวร์เข้าเยี่ยมชม และการเกิดขึ้นของโฮมสเตย์ การรวมกลุ่มทอผ้า (ผ้าขาวม้าร้อยสี) เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวเป็นที่ระลึก การจัดงานแสดงแสงสีเสียงและละครเพลง "ไอ้บุญทองบ้านหนองขาว" ละครเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านหนองขาว จากบทประพันธ์ของอดีตผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต ๑ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านหนองขาว เริ่มแสดงครั้งแรกในวันสงกรานต์เมื่อปี ๒๕๔๑ บนลานหน้าวัดอินทาราม ต่อมาในปี ๒๕๔๓ จึงมีการจัดสร้างบ้านเรือนไทย ๒ ชั้น บนลานหน้าวัด โรงละครกลางแจ้งแห่งนี้ ได้ชื่อว่า "บ้านไอ้บุญทอง" และการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน จำลองบรรยากาศครัวไทย การหุงต้มแบบโบราณ ห้องนอน เปลเด็ก และภาพถ่ายเก่าในอดีตของบ้านหนองขาว



ผ้าขาวม้าร้อยสี หัตถกรรมผ้าทอขึ้นชื่อ


งานเทศกาลสงกรานต์แบบดั้งเดิมและกิจกรรมสร้างสีสัน (นิทรรศการแสงสีเสียง) เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจอย่างเข้มแข็งของคนหนองขาวโดยมีหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นให้ความสนับสนุนอย่างที่ไม่พยายามลากจูง

สองสามเดือนก่อน ต่อเนื่องมาจนถึงงานสงกรานต์เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวและวนเวียนเก็บข้อมูลที่บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านดั้งเดิมที่นี่ยืนยันว่าตนเป็นคนไทยแท้ รวมทั้งผู้เขียนยังรู้อีกว่า ก่อนหน้านี้อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในนามมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ ได้เคยมาร่วมกิจกรรมจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้บ้านหนองขาวด้วย และได้รับการบอกเล่าความเป็นไทยแท้อย่างที่ผู้เขียนได้ฟังมาแล้ว จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ได้มีการถ่ายรูปคู่และกราบกันไปแล้วหรือยัง...?

"คนบ้านหนองขาวอยู่กันมาที่นี่แต่โบราณ สมัยปู่ย่าตายาย สมัยอยุธยาโน่นแหละ ไม่ได้อพยพมาจากไหน เป็นคนไทยแท้ ไม่มีเชื้อสายอื่นปนเลย ลาวไม่มี จีนก็ไม่มี คนจีนก็มีแต่ที่เข้ามาทีหลัง ดั้งเดิมมีแต่คนไทยแท้... เราเชื่อว่าสำเนียงพูดใกล้กับคนใต้มากกว่า แต่นักวิชาการเขาบอกกันว่าไม่น่าจะมีปน บางคนเขาก็บอกว่าคงจะมีเชื้อมอญ เพราะสำเนียงพูดเหน่อแปลกๆ และความเชื่อเรื่องหม้อยาย (ผีบรรพชน)..."

ชาวบ้านช่วยกันประดับเกวียนเพื่อร่วมแห่ในงานสงกรานต์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552


ตติยา นักเวช บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนเทศบาลตำบลหนองขาว เล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพระครูถาวรกาญจนนิมิต (จีระศักดิ์ แซ่อึ้ง - ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อึ้งตระกูล) เจ้าอาวาสวัดอินทารามรูปปัจจุบัน ที่กล่าวว่ามีนักวิชาการและบุคคลภายนอกสอบถามกันมากว่าชาวบ้านหนองขาวมีเชื้อชาติอะไร ท่านตอบในทำนองเดียวกันว่า เป็นคนพื้นถิ่นบ้านหนองขาวแต่โบราณ แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมนั้นอาจเป็นวัฒนธรรมมอญ เช่น การแต่งกายนาคก่อนบวช ความเชื่อเรื่อง "หม้อยาย" ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพชน แต่เนื่องจากไม่หลงเหลือภาษาพูด โบราณวัตถุโบราณสถาน และเรื่องเล่าของปู่ย่าตายายที่เกี่ยวกับมอญจึงไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน


ถึงวันนี้ ไม่ว่าคนบ้านหนองขาวจะมีเชื้อสายหรือชาติพันธุ์ใดก็คงไม่ใช่สิ่งสำคัญนัก เพราะหลักใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ว่าคนบ้านหนองขาวเลือกที่จะเป็นและอยู่ต่อไปอย่างไร โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของตน รวมทั้งไม่ชูวัฒนธรรมตนจนกดทับให้วัฒนธรรมของคนกลุ่มอื่นด้อยค่า ชุมชนกึ่งชนบทกึ่งเมืองของบ้านหนองขาวอย่างที่เห็นนี้ หากเทียบกับชุมชนรอบข้างที่กำลังเคลื่อนตัวเองเข้าสู่ความทันสมัยก็อาจมองว่าบ้านหนองขาวหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านหนองขาวต่างก็มีเหตุปัจจัยให้ต้องออกสู่สังคมภายนอกมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ แต่เลือกรับเพียงบางสิ่งบางอย่างเข้าสู่ชุมชน การดำเนินชีวิตอย่างมีสมดุลย์ระหว่างสังคมโลกาภิวัตน์กับรูปแบบชีวิตดั้งเดิมเช่นนี้ น่าจะเกิดจากความรู้สึกภูมิใจและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของตน ทุกวันนี้ปฏิทินของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุกิจกรรมทางวัฒนธรรมของคนบ้านหนองขาวเข้าไว้ด้วยแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองก็คือ ความอ่อนโยนโดยธรรมชาติที่เป็นความโดดเด่นของคนบ้านหนองขาว ชนิดที่คนทั่วไปสัมผัสได้อย่างไม่น่าเชื่อในวันนี้ หวังว่าการท่องเที่ยวจะไม่ทำให้ความอ่อนโยนของคนบ้านหนองขาวจางหายไป

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าวัดชนะสงครามเป็นวัดมอญ ใช่ว่าคนสนใจประวัติศาสตร์จึงได้รู้ความเป็นมาของวัด แต่เป็นเพราะหน้าวัดมีป้ายโลหะสีน้ำตาลที่ทางการชอบปักไว้หน้าสถานที่ท่องเที่ยว ความระบุประวัติไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดของพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ (มอญ) แต่ก็ไม่แน่ใจนัก คนสมัยนี้อาจเข้าใจว่ามอญเป็นชื่อต้นไม้จำพวกเห็ดราปรสิตชนิดหนึ่งก็ได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความหมายจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดการตอบสนอง นับแต่โบราณกาลมีตั้งแต่การสุมไฟให้เกิดควัน นกพิราบสื่อสาร ปัจจุบันการสื่อสารมีหลายวิธีรวดเร็วทันใจมากขึ้น อาจเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม ระบบโทรคมนาคม หรือการสื่อสารระบบเครือข่ายที่อาศัยดาวเทียมและสายเคเบิลใยแก้ว ที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต ก็ได้ ส่วนภาษาที่มาพร้อมกับวิธีการสื่อสารเหล่านั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง มีการหยิบยืมคำในภาษาอื่น เปลี่ยนรูปแบบและความหมายตลอดเวลา…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการหาที่เก็บของเก่าก็ตาม แต่จากประสบการณ์ที่ว่านี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังคิดทำพิพิธภัณฑ์ว่าจะใช้เก็บของเก่าหรือใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเริ่มเห็นคุณค่าท้องถิ่นของตน การตัดสินใจเกี่ยวกับท้องถิ่นจึงควรมาจากท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน     หญ้าขัดมอญ เป็นพืชล้มลุก ทรงพุ่มเตี้ย ตระกูลเดียวกับชบา ขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ต้องปลูกและดูแลรักษา คนในสังคมเมืองคงไม่คุ้นชื่อคุ้นต้นไม้ชนิดนี้ หลายคนเห็นเป็นวัชพืชอย่างหนึ่งที่ต้องกำจัด นอกจากบางคนที่ช่างสังเกตธรรมชาติรอบตัวก็อาจจะพบว่า หญ้าขัดมอญ เป็นไม้พุ่มเตี้ยแตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบเล็กเรียวเขียวเข้ม ยิ่งเวลาออกดอก สีเหลืองอ่อนหวานพราวพรายรายเรียงอยู่ทั่วทุกช่อใบ ชวนมองไม่น้อย แถมมีประโยชน์ในครัวเรือนหลายอย่าง ทั้งด้านการใช้สอยและสรรพคุณทางสมุนไพร
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการนำการเสนอโครงการวิจัย ชุด "โครงการประเทศพม่าศึกษา" ชื่อหัวข้อวิจัย คือ "มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐพม่าบนพื้นที่สื่อรัฐบาลทหาร" ที่ผ่านการอนุมัติจากสกว.
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน ๗ กรกฏาคม ที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา รุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษา วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เมื่อมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ผู้คนจึงออกต่างจังหวัดกันมาก ถนนช่วงนั้นจึงโล่งอย่างเทศกาลใหญ่ๆ ทุกครั้ง เปิดทีวีมีแต่ข่าวขบวนแห่เทียนเข้าพรรษากันทัวประเทศ ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ แปลกเท่าไหร่ยิ่งดี บางจังหวัดไม่เคยจัดก็สู้อุตส่าห์ซื้อช่างแกะเทียนค่าตัวแพงลิบมาจากอุบลราชธานี กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนทำเทียนเข้าพรรษาเพื่อขายการท่องเที่ยว ไม่ได้ถวายให้พระใช้งานจริงขณะนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. ผมนั่งอยู่โคนต้นอโศกอินเดียภายในวัดชนะสงคราม ความคลุกคลีกับวัดวามานานจึงพาลห่างวัด…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนบทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาตั้งชื่อเลียน "ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ" เพราะในภาพยนตร์นั้น เจ้าของกล้องกดชัตเตอร์ติดวิญญาณผีที่เขาขับรถชนและหนีไป ทว่าในที่สุดวิญญาณก็ตามทวงเอาชีวิต ซึ่งต่างจากบทความนี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก เจ้าของกล้องถ่ายภาพนับร้อยที่กดชัตเตอร์ใส่ผีตนหนึ่ง คล้ายมหรสพที่นักการเมืองจัดให้ชาวบ้านในฤดูหาเสียง แต่ที่ร้ายก็คือ อำนาจของชัตเตอร์กลับสะกดให้ผีตกอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์อย่างที่ผีไม่สามารถเอาคืนได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน แค่อ่านชื่อเรื่องหลายคนคงรู้จักคุ้นเคยกันดีว่านี่คือเนื้อเพลง “สยามเมืองยิ้ม” สำหรับคนที่เป็นคอลูกทุ่งยิ่งต้องรู้ว่า เพลงนี้ขับร้องโดยราชินีเพลงลูกทุ่งผู้ล่วงลับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ส่วนผู้ประพันธ์เนื้อเพลงเป็นครูเพลงคู่บุญของเธอ ลพ บุรีรัตน์ 
ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในความเป็นชาติ รู้สึกทันทีว่าไพเราะกินใจ ซาบซึ้งไปกับบทเพลง ยิ่งฟังยิ่งเพราะ ขนาดที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยส่งเทปจัดรายการเพลงไปประกวดดีเจทางคลื่น “สไมล์เรดิโอ” ใช้เพลง “สยามเมืองยิ้ม” เป็นเพลงปิดรายการ ได้เข้ารอบแรกเสียด้วยแต่ตกรอบ ๒๐ คนสุดท้าย เพื่อนๆ ที่รอฟังและตามลุ้นพูดเหมือนกันว่า “สมควรแล้ว…
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน คนทั่วไปสับสนเกี่ยวกับลักษณะสายพันธุ์และชื่อเรียกของ "กระเจี๊ยบ" ว่าเป็นอย่างไรและเรียกว่าอะไรกันแน่ จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงที่มาและคุณค่ามากมายมหาศาลของกระเจี๊ยบบ้านมอญในชนบทหลายแห่งเคยมีต้นกระเจี๊ยบริมรั้ว ริมคลองหนองบึง สำรับกับข้าวเคยมีแกงกระเจี๊ยบไม่ขาด แต่ทุกวันนี้ "กระเจี๊ยบ" เริ่มเลือนหายไปจากชีวิต ชนิดที่ไม่มีใครอาลัยอาวรณ์นัก แม้แต่จะนึกถึงความหลังที่แกงกระเจี๊ยบเคยอยู่คู่ครัวมาแต่อ้อนแต่ออก
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า "ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."
องค์ บรรจุน
 องค์ บรรจุนธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ "ใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" หัวเรื่องที่จั่วไว้ด้านบนบทความนี้ ถือเป็นคุณสมบัติอันน่าภาคภูมิของคนไทยอย่างหนึ่ง คนไทยทั้งผองเชื่อกันว่าคนไทยมีข้อดีงามหลายอย่าง เป็นต้นว่า โอบอ้อมอารีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต ยิ้มสยาม หรือแม้แต่ "รักสามัคคี" และ "ไทยนี้รักสงบ..." ล้วนเป็นความดีเด่นประจำชนชาติไทยตามลัทธิอัตตานิยม "คนไทยดีที่สุดในโลก" ดังนั้นเมื่อหมอดูทำนายคนไทยหน้าไหนก็ตามว่าเป็นคนดีดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีใครปฏิเสธว่าหมอดูไม่แม่น
องค์ บรรจุน
ถุงผ้าไม่ได้ลดโลกร้อน เพราะการใช้ถุงผ้าตามกระแสโดยเข้าไม่ถึงหลักใหญ่ใจความ ขณะที่ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกยังคงเดิม คงไม่ต้องไปดูไหนไกลอื่น แค่เพียงเราสำรวจดูที่บ้านว่าเรามีถุงผ้าอยู่ในครอบครองกี่ใบ แต่ละวันที่เราออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือเวลาที่ตั้งใจไปจ่ายตลาด มีใครสักกี่คนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วย และในบรรดาคนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วยนั้น จะมีใครบ้างไหมที่ปฏิเสธแม่ค้าว่าไม่เอาถุงพลาสติก โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดสด "ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกชั่งน้ำหนักแล้วเทลงถุงผ้าเลย" อย่างน้อยการซื้อแกงถุงกลับบ้าน นอกจากถุงร้อนที่ใส่แกงแล้ว ยังมีถุงหูหิ้วสวมทับอีก ๑ ใบด้วยหรือไม่