องค์ บรรจุน
หลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า"ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."
อาจเป็นไปได้ที่ว่าชาวบ้านหนองขาวนี้เป็นคนไทยแท้ ที่ไม่มีการผสมกลมกลืนทางสายเลือดกับคนชาติพันธุ์อื่น แม้ชุมชนแห่งนี้จะอยู่บนเส้นทางเดินทัพแต่โบราณระหว่างด่านเจดีย์สามองค์และกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าพม่าจะยกเข้าโจมตีไทย หรือไทยจะยกไปโจมตีกลับ หากในอดีตไม่มีทหารและเชลยศึกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกค้าง ไม่มีการเดินทางไปมาของพ่อค้าวานิช นักบวช รวมทั้งชาวบ้านตามแนวชายแดน คนบ้านหนองขาวก็คงจะยังธำรงความเป็นชาติพันธุ์บริสุทธ์เอาไว้ได้ แต่การที่ไม่เคยมีหลักฐานและเรื่องเล่าว่าบรรพชนเป็นใครมาจากไหน จึงต้องอนุโลมว่าชาวบ้านหนองขาวเป็นชาติพันธุ์ไทย แต่กระนั้นคนไทยแท้บ้านหนองขาวก็คงได้รับวัฒนธรรมของคนต่างอื่นๆ มาไว้ในวิถีชีวิตไม่น้อย เช่น ภาษา พุทธศาสนา ความเชื่อ การแต่งกาย และอาหารการกิน ซึ่งมาจากคนมอญ จีน อินเดีย พม่า ไทใหญ่ ไทยวน และลาว ดังที่ปรากฏให้เห็นในวิถีชีวิตทุกวันนี้
สภาพบ้านเรือนชุมชนบ้านหนองขาว
ความเป็นมาของบ้านหนองขาวนั้น มีเรื่องเล่าย้อนหลังไปถึงรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายในแผ่นดินอยุธยา เมื่อพม่ายกกองทัพเข้าโจมตีจนต้องเสียกรุงศรีอยุทธยาเป็นครั้งที่ ๒ ขุนนางนักปราชย์ราชบัณฑิตช่างศิลป์ไพร่บ้านพลเมืองถูกกวาดต้อนไปพม่าจำนวนมาก ในส่วนของชาวบ้านท้องถิ่นเขตเมืองกาญจนบุรีที่อยู่รายทางผ่านกองทัพพม่าต่างกระจัดกระจาย หลบหนีภัยข้าศึกหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา ขณะที่ข้าศึกเดินทัพผ่านมานั้น ชาวบ้านดงรัง และ บ้านดอนกระเดื่อง (ปัจจุบันทั้งสองหมู่บ้านได้รวมเป็นบ้านหนองขาว) รวมกำลังเข้าต่อสู้กับข้าศึก แต่ไม่สามารถต้านกำลังทัพพม่าได้ วัดวาอารามและบ้านเรือนถูกเผาผลาญทำลาย ดังปรากฏ คูรบ เป็นหลักฐานให้เห็นร่อยรอยการสู้รบในครั้งนั้น ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า ทุ่งคู มาจนถึงในราวปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ต่อมาชาวบ้านได้ขยายพื้นที่ทำนาเข้าไปครอบคลุมพื้นที่แนวคูรบ ปัจจุบันบริเวณคูรบดังกล่าวถูกไถแปรเป็นนาข้าวไปหมดแล้ว ส่วนทางทิศใต้ของบ้านหนองขาวปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านดงรังยังคงปรากฏซากปรักหักพังของเจดีย์ พระอุโบสถ พระพุทธรูป และแนวกำแพงแก้วใบเสมา ปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่)
ภายหลังเมื่อบ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุขแล้ว ราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้าน ที่ออกจากการซ่อนตัวและเล็ดลอดจากการถูกกวาดต้อน ได้รวมกันตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ใกล้กับหนองน้ำใหญ่ เรียกกันว่า หนองหญ้าดอกขาว เนื่องจากมีหญ้าออกดอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำ ซึ่งชื่อหนองน้ำได้กลายเป็นชื่อของหมู่บ้านด้วย ต่อมาการเรียกกร่อนลงเหลือเพียง บ้านหนองขาว ทุกวันนี้ร่องรอยของหนองน้ำยังคงปรากฏอยู่ในหมู่ที่ ๓ หรือหนองคอกวัว แม้หนองจะถูกกลบถูกถมและกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือน แต่ก็ยังมีสภาพที่เป็นหนองน้ำอยู่ เพราะเมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง ก็จะปรากฏว่ามักมีน้ำเอ่อขังขึ้นมาอยู่เสมอ
บ้านหนองขาวเป็นหมู่บ้านใหญ่ ประชากรหนาแน่น จนมีคำกล่าวกันว่า "หมู่บ้านใหญ่ไก่บินไม่ตก" จึงมีสถานที่ราชการเข้าไปตั้งหลายแห่ง ได้แก่ สถานีอนามัย สถานีตำรวจ และโรงเรียนประถมขนาดใหญ่ มีถนนหลวงสายสุพรรณบุรี-กาญจนบุรีตัดผ่าน เป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ ราชการได้จัดแบ่งการปกครองออกเป็น ๓ ตำบล คือ ตำบลบ้านกล้วย ตำบลบ้านดอนประดู่ และตำบลบ้านกรอกโพธิ์ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง โดยได้จัดตั้งบ้านหนองขาวขึ้นเป็นตำบลหนองขาว ประกอบด้วย ๑๒ หมู่บ้าน แบ่งเป็นการปกครองในเขตเทศบาล และปกครองโดยองค์การบริหารส่วนตำบล มีวัดเก่าแก่ประจำชุมชนคือ วัดอินทาราม ต่อมาได้บูรณะวัดร้างขึ้นอีกแห่งคือ วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่) วัดที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณปลายแดนตำบลหนองขาว คือ วัดโมกมันขันธาราม และ สำนักสงฆ์เขาสามเงา
บ้านหนองขาวเริ่มเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกทั่วไปเมื่อราว ๑๐ ปีที่แล้ว เมื่อคนต่างถิ่นเดินทางผ่านมาและพบเห็นเข้ากับขบวนแห่นาคของชาวบ้านที่ยิ่งใหญ่ยาวสุดลูกหูลูกตา นาคแต่งกายแปลกตาตามแบบวัฒนธรรมบ้านหนองขาว ชาวบ้านในขบวนต่างสวมใส่เสื้อผ้าหลากสี ซึ่งขบวนลักษณะนี้ยังรวมไปถึงงานโกนจุก ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันจัดงานพร้อมเพรียงกัน แต่งกายลูกหลานที่เข้าพิธีอย่างสวยงาม และงานสงกรานต์ที่มีขบวนแห่เป็นเกวียนเทียมวัวนับ ๒๐ เล่ม สิ่งเหล่านี้เองได้นำมาซึ่งคณะทัวร์เข้าเยี่ยมชม และการเกิดขึ้นของโฮมสเตย์ การรวมกลุ่มทอผ้า (ผ้าขาวม้าร้อยสี) เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวเป็นที่ระลึก การจัดงานแสดงแสงสีเสียงและละครเพลง "ไอ้บุญทองบ้านหนองขาว" ละครเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านหนองขาว จากบทประพันธ์ของอดีตผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต ๑ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวหมู่บ้านวัฒนธรรมบ้านหนองขาว เริ่มแสดงครั้งแรกในวันสงกรานต์เมื่อปี ๒๕๔๑ บนลานหน้าวัดอินทาราม ต่อมาในปี ๒๕๔๓ จึงมีการจัดสร้างบ้านเรือนไทย ๒ ชั้น บนลานหน้าวัด โรงละครกลางแจ้งแห่งนี้ ได้ชื่อว่า "บ้านไอ้บุญทอง" และการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน จำลองบรรยากาศครัวไทย การหุงต้มแบบโบราณ ห้องนอน เปลเด็ก และภาพถ่ายเก่าในอดีตของบ้านหนองขาว
ผ้าขาวม้าร้อยสี หัตถกรรมผ้าทอขึ้นชื่อ
งานเทศกาลสงกรานต์แบบดั้งเดิมและกิจกรรมสร้างสีสัน (นิทรรศการแสงสีเสียง) เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจอย่างเข้มแข็งของคนหนองขาวโดยมีหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นให้ความสนับสนุนอย่างที่ไม่พยายามลากจูง
สองสามเดือนก่อน ต่อเนื่องมาจนถึงงานสงกรานต์เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมามีโอกาสไปเที่ยวและวนเวียนเก็บข้อมูลที่บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านดั้งเดิมที่นี่ยืนยันว่าตนเป็นคนไทยแท้ รวมทั้งผู้เขียนยังรู้อีกว่า ก่อนหน้านี้อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในนามมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ ได้เคยมาร่วมกิจกรรมจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนให้บ้านหนองขาวด้วย และได้รับการบอกเล่าความเป็นไทยแท้อย่างที่ผู้เขียนได้ฟังมาแล้ว จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ได้มีการถ่ายรูปคู่และกราบกันไปแล้วหรือยัง...?
"คนบ้านหนองขาวอยู่กันมาที่นี่แต่โบราณ สมัยปู่ย่าตายาย สมัยอยุธยาโน่นแหละ ไม่ได้อพยพมาจากไหน เป็นคนไทยแท้ ไม่มีเชื้อสายอื่นปนเลย ลาวไม่มี จีนก็ไม่มี คนจีนก็มีแต่ที่เข้ามาทีหลัง ดั้งเดิมมีแต่คนไทยแท้... เราเชื่อว่าสำเนียงพูดใกล้กับคนใต้มากกว่า แต่นักวิชาการเขาบอกกันว่าไม่น่าจะมีปน บางคนเขาก็บอกว่าคงจะมีเชื้อมอญ เพราะสำเนียงพูดเหน่อแปลกๆ และความเชื่อเรื่องหม้อยาย (ผีบรรพชน)..."ชาวบ้านช่วยกันประดับเกวียนเพื่อร่วมแห่ในงานสงกรานต์ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2552
ตติยา นักเวช บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนเทศบาลตำบลหนองขาว เล่าให้ผู้เขียนฟัง ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพระครูถาวรกาญจนนิมิต (จีระศักดิ์ แซ่อึ้ง - ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อึ้งตระกูล) เจ้าอาวาสวัดอินทารามรูปปัจจุบัน ที่กล่าวว่ามีนักวิชาการและบุคคลภายนอกสอบถามกันมากว่าชาวบ้านหนองขาวมีเชื้อชาติอะไร ท่านตอบในทำนองเดียวกันว่า เป็นคนพื้นถิ่นบ้านหนองขาวแต่โบราณ แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมนั้นอาจเป็นวัฒนธรรมมอญ เช่น การแต่งกายนาคก่อนบวช ความเชื่อเรื่อง "หม้อยาย" ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพชน แต่เนื่องจากไม่หลงเหลือภาษาพูด โบราณวัตถุโบราณสถาน และเรื่องเล่าของปู่ย่าตายายที่เกี่ยวกับมอญจึงไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน
ถึงวันนี้ ไม่ว่าคนบ้านหนองขาวจะมีเชื้อสายหรือชาติพันธุ์ใดก็คงไม่ใช่สิ่งสำคัญนัก เพราะหลักใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ว่าคนบ้านหนองขาวเลือกที่จะเป็นและอยู่ต่อไปอย่างไร โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของตน รวมทั้งไม่ชูวัฒนธรรมตนจนกดทับให้วัฒนธรรมของคนกลุ่มอื่นด้อยค่า ชุมชนกึ่งชนบทกึ่งเมืองของบ้านหนองขาวอย่างที่เห็นนี้ หากเทียบกับชุมชนรอบข้างที่กำลังเคลื่อนตัวเองเข้าสู่ความทันสมัยก็อาจมองว่าบ้านหนองขาวหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านหนองขาวต่างก็มีเหตุปัจจัยให้ต้องออกสู่สังคมภายนอกมากขึ้น ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ แต่เลือกรับเพียงบางสิ่งบางอย่างเข้าสู่ชุมชน การดำเนินชีวิตอย่างมีสมดุลย์ระหว่างสังคมโลกาภิวัตน์กับรูปแบบชีวิตดั้งเดิมเช่นนี้ น่าจะเกิดจากความรู้สึกภูมิใจและหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของตน ทุกวันนี้ปฏิทินของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้บรรจุกิจกรรมทางวัฒนธรรมของคนบ้านหนองขาวเข้าไว้ด้วยแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองก็คือ ความอ่อนโยนโดยธรรมชาติที่เป็นความโดดเด่นของคนบ้านหนองขาว ชนิดที่คนทั่วไปสัมผัสได้อย่างไม่น่าเชื่อในวันนี้ หวังว่าการท่องเที่ยวจะไม่ทำให้ความอ่อนโยนของคนบ้านหนองขาวจางหายไป