Skip to main content

องค์ บรรจุน

แค่อ่านชื่อเรื่องหลายคนคงรู้จักคุ้นเคยกันดีว่านี่คือเนื้อเพลง “สยามเมืองยิ้ม” สำหรับคนที่เป็นคอลูกทุ่งยิ่งต้องรู้ว่า เพลงนี้ขับร้องโดยราชินีเพลงลูกทุ่งผู้ล่วงลับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ส่วนผู้ประพันธ์เนื้อเพลงเป็นครูเพลงคู่บุญของเธอ ลพ บุรีรัตน์


ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในความเป็นชาติ รู้สึกทันทีว่าไพเราะกินใจ ซาบซึ้งไปกับบทเพลง ยิ่งฟังยิ่งเพราะ ขนาดที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยส่งเทปจัดรายการเพลงไปประกวดดีเจทางคลื่น “สไมล์เรดิโอ” ใช้เพลง “สยามเมืองยิ้ม” เป็นเพลงปิดรายการ ได้เข้ารอบแรกเสียด้วยแต่ตกรอบ ๒๐ คนสุดท้าย เพื่อนๆ ที่รอฟังและตามลุ้นพูดเหมือนกันว่า “สมควรแล้ว จัดรายการเพลงเพื่อชีวิตแต่เสือกเอาเพลงลูกทุ่งปิดรายการ...”

ถึงตรงนี้คงยังมีใครหลายคนจำเนื้อเพลงได้ หลายคนที่ไม่ได้เป็นคอลูกทุ่ง แม้แต่คอลูกทุ่งก็เถอะถ้าเกิดหลังปี ๒๕๓๐ ก็คงจำไม่ได้หรือไม่เคยได้ยิน เรามาดูเนื้อเพลงไปด้วยกัน

“จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย มิเป็นทาสใคร และมีน้ำใจล้นปริ่ม ทั่วโลกกล่าวขาน ขนานนาม ให้ว่าสยามเมืองยิ้ม เราควรกระหยิ่มถึงความดีงาม คนเย็นใจซื่อได้ชื่อว่าไทย ร้อนมาจากไหน ชาติไทยไม่เคยหวงห้าม ข้ามเขตข้ามโขงถิ่นน้ำขุ่น มาพึ่งใบบุญเมืองสยาม เรายิ้มรับตามที่ท่านต้องการ เลื่องชื่อลือนาม สยามมีแต่น้ำใจ ขอเตือนท่านผู้อาศัย อย่าทำอะไรให้ไทยร้าวราน คนไทยใจซื่อ เขาถือแต่โบราณกาล แค่เพียงข้าวสุกหนึ่งจาน ใครลืมของท่านนั้นเนรคุณ คนไทยรักชาติแหละศาสนา เทิดองค์เจ้าฟ้า ผู้ทรงเปี่ยมเนื้อนาบุญ ถ้าท่านเคารพสิทธิ์ของไทย ท่านอยู่ต่อได้อีกนานคุณ สยามใจบุญ ยังยิ้มเสมอ”

เป็นยังไงครับ ลองอ่านเนื้อเพลง สำหรับผู้เขียนไม่ว่าจะฟังเพลงนี้กี่ครั้งก็ยังรู้สึกเพราะจับใจเหมือนเดิม หากแต่ว่าเมื่อได้ลองเก็บรายละเอียดตีความเนื้อเพลงไปทีละคำ อ่านความหมายระหว่างบรรทัดด้วยแล้ว (ไม่แน่ใจว่าผู้แต่งเจตนาหรืออารมณ์กลอนพาไป) พบว่าเพลงนี้ช่างเป็นเพลงที่เลือกใช้ประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนมากดทับคนรากหญ้าชนิดไม่ให้โงหัว ลองมาตีความไปด้วยกันกันทีละวรรคดังนี้ครับ


“จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย มิเป็นทาสใคร”
แค่วรรคแรกก็หลอกตัวเองแล้ว เพราะโดยรากศัพท์โบราณมีแต่คำว่า ไท หมายถึงชนชาติตระกูลไท-ลาว (Tai) คำว่าไทยที่มี ย ยักษ์นั้นรัฐบาลเขาสร้างใหม่ ให้คำจำกัดความว่า อิสระ นัยว่าไม่เคยเป็นทาสใคร คงทำนองว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ที่ไหนได้ หากไม่นับสงครามคราวเสียกรุงสองครั้งเพราะถือว่าพม่ามาเผาและกวาดต้อนผู้คนทรัพย์สิน ไม่ได้อยู่ปกครองแต่แต่งตั้งคนไทยให้ปกครองกันเอง จึงไม่ถือว่าตกเป็นเมืองขึ้น เอาละ ถ้าคิดอย่างนั้นแล้วสบายใจก็คิดต่อไป แล้วเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ญี่ปุ่นบุกไทยใช้เป็นทางผ่านไปพม่ามาเลเซีย การที่สหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพที่อุดรธานีทำสงครามเวียดนาม จนมีลูกครึ่งจีไอเป็นดาราเต็มบ้านเต็มเมือง การต้องทำตามคำสั่งไอเอ็มเอฟอย่างเคร่งครัดเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง วัยรุ่นไทยแต่งตัวตัดผมทรงเกาหลีญี่ปุ่นไปถือป้ายภาษาเกาหลีญี่ปุ่นยืนกรี้ดรอรับนักร้องเกาหลีญี่ปุ่นที่สนามบิน สิ่งเหล่านี้มันก็ดูคล้ายๆ จะเป็น “ทาสใคร” อยู่เหมือนกัน

“และมีน้ำใจล้นปริ่ม ทั่วโลกกล่าวขาน ขนานนาม ให้ว่าสยามเมืองยิ้ม เราควรกระหยิ่มถึงความดีงาม”
การพูดในทำนองคนไทยมีน้ำใจ คนไทยรักสงบ คนไทยยิ้มง่าย อย่างนี้มันเป็นการเหมารวมยกเข่ง ชนชาติใดในโลกเขาก็มีคุณสมบัติเหล่านี้กันทั้งนั้น แต่ใช่ว่าทุกคนมีน้ำใจ ใช่ว่าทุกคนรักสงบ ใช่ว่าทุกคนชอบยิ้ม มากน้อยต่างกัน ทีนี้พอมีคนมาตั้งฉายาให้ว่า “สยามเมืองยิ้ม” คนสยามก็เลยต้องยิ้มกันบ้าไปเลย วันๆ ไม่ทำอะไร เห็นต่างชาติเดินมายิ้มลูกเดียว ถามอะไรก็ไม่ตอบเพราะพูดภาษาเขาไม่ได้ คนที่ไม่ชอบยิ้มก็อาจถูกเพื่อนตั้งคำถามว่า “คนไทยหรือเปล่า”

“คนเย็นใจซื่อได้ชื่อว่าไทย ร้อนมาจากไหน ชาติไทยไม่เคยหวงห้าม ข้ามเขตข้ามโขงถิ่นน้ำขุ่น มาพึ่งใบบุญเมืองสยาม เรายิ้มรับตามที่ท่านต้องการ”
วรรคนี้แหละที่มีปัญหาในวิธีคิด อวดตัวว่า “คนเย็นใจซื่อได้ชื่อว่าไทย” คนใจเย็นคนใจซื่อเป็นไทยทุกคน คนชาติอื่นใจร้อนใจคด ส่วนที่ถามว่า “ร้อนมาจากไหน” ใครกันที่ร้อน คนที่ร้อนมากๆ คงมีจีน มอญ และญวนบางส่วน เพราะบ้านตัวเองร้อนจึงหนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่ต้องไม่ลืมว่ามีมอญและญวนบางส่วนที่ถูกกวาดต้อนมาในสงครามแย่งชิงพลเมืองในอดีตหลายครั้ง ส่วนคนที่ “ข้ามเขตข้ามโขงถิ่นน้ำขุ่น” ก็คงไม่พ้น ลาวพวน ลาวครั่ง ลาวโซ่ง (ไททรงดำ) เขมร เวียดนาม คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ “มาพึ่งใบบุญเมืองสยาม” เพราะบรรพบุรุษ (ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) ของคนไทยไปเผาบ้านเผาเมืองกวาดต้อนเขามา “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง”


ขออวดตัวอีกนิด
“เลื่องชื่อลือนาม สยามมีแต่น้ำใจ ขอเตือนท่านผู้อาศัย อย่าทำอะไรให้ไทยร้าวราน”
หลังอวดตัวว่าเป็นคนมีน้ำใจแล้ว ถือโอกาส “เตือนท่านผู้อาศัย อย่าทำอะไรให้ไทยร้าวราน” เขาเหล่านี้ (ที่ข้ามโขงมา) ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้อาศัยอย่างที่บอกไปแล้วว่าไปกวาดต้อนบรรพชนเขามา เขาก็เลยต้องอยู่ และก็ไม่ได้อยู่อย่าง “ผู้อาศัย” เขาอยู่ในฐานะเจ้าของแผ่นดิน บรรพชนเขาต่างช่วนกันสร้างชาติรักษาแผ่นดินผืนนี้มาด้วยเลือดเนื้อเหมือนเราท่านทั้งหลาย

“คนไทยใจซื่อ เขาถือแต่โบราณกาล แค่เพียงข้าวสุกหนึ่งจาน ใครลืมของท่านนั้นเนรคุณ”
อวดตัวอีกว่าเป็นคนใจซื่อ แล้วก็ยกเอาโวหารมาอ้างเพื่อ “ทวงบุญคุณ” ข้าวแดงแกงร้อน ด่ากันถึงขนาด “เนรคุณ” ซึ่งพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่เป็นผู้นำสารของครูลพมาเผยแพร่ หรือแม้แต่ครูลพจะได้รับออเดอร์จากใครให้แต่งเพลงนี้ ก็ไม่มีสิทธิ์ทวงบุญคุณคนเหล่านี้ เพราะกว่าที่คุณจะเทข้าวสุกให้เขาหนึ่งจานนั้น คุณเผาบ้านเผาเมือง เอาดาบจี้คอหอย หวายร้อยขื่อคา กวาดต้อนเขามา เมื่อถึงแผ่นดินสยามก็ให้เขาตั้งบ้านเรือนอยู่รายรอบเมืองหลวงเพื่อป้องกันดูแลคนในกำแพง ยามมีข้าศึกศัตรูมาประชิดก็เกณฑ์กำลังไปรบล้มตายนับไม่ถ้วน ยามบ้านเมืองสงบก็ปล่อยให้ทำไร่ไถนาเรียกเก็บภาษี เก็บแม้กระทั่งภาษีผักชี

“คนไทยรักชาติแหละศาสนา เทิดองค์เจ้าฟ้า ผู้ทรงเปี่ยมเนื้อนาบุญ ถ้าท่านเคารพสิทธิ์ของไทย ท่านอยู่ต่อได้อีกนานคุณ สยามใจบุญ ยังยิ้มเสมอ”
แน่นอนว่าทุกคน “รักชาติแหละศาสนา เทิดองค์เจ้าฟ้า ผู้ทรงเปี่ยมเนื้อนาบุญ” ด้วยกันทั้งนั้น ที่ร้ายเหลือเมื่อมีการพูดถึง “สิทธิ์” บอกให้เขาเคารพสิทธิ แล้วคุณล่ะเคยคิดถึงสิทธิของเขา เคารพสิทธิของเขาแค่ไหน... จบท้ายด้วยการฝากให้คิด (พูดตรงๆ ก็คือ จำใส่กะลาหัว) ถ้าเคารพสิทธิ์กันก็สามารถ “อยู่ต่อได้อีกนาน” แสดงว่าถ้าทำอะไรที่คุณเข้าใจว่าไม่เคารพกัน ไม่พอใจกัน คุณก็จะไล่เขาออกไปจากแผ่นดินไทยเลยหรือ เจ้าของประเทศคนไหนเป็นคนไล่ จะให้เขาไปอยู่ไหน ในเมื่อที่นี่เป็นแผ่นดินเกิดที่เขามีส่วนสร้างมาด้วยเช่นกัน และไอ้ที่หน้าด้านสุดๆ ก็ตรงทิ้งท้ายว่า “สยามใจบุญ” ทำกันขนาดนี้ยังมีหน้ามาทวงบุญคุณ มิหนำซ้ำยังยกหางตัวเองว่าใจบุญ ช่างไม่ละอายเอาเสียจริง

ทั้งหมดทั้งมวลที่กระทำต่อคนรากหญ้าสารพัดสารเพนี้นอกจากไม่สำเหนียกในความผิดของตนแล้ว ยังกล้าออกปากทวงบุญคุณ กล้าถือสิทธิ์ขับไล่ไสส่งให้เขาไปอยู่ที่อื่น ขณะเดียวกันก็ปั้นหน้า “ยังยิ้มเสมอ” หลอกลวงชาวโลกต่อไป

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์