Skip to main content

องค์ บรรจุน

บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการนำการเสนอโครงการวิจัย ชุด "โครงการประเทศพม่าศึกษา" ชื่อหัวข้อวิจัย คือ "มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐพม่าบนพื้นที่สื่อรัฐบาลทหาร" ที่ผ่านการอนุมัติจากสกว.

"ที่ผ่านมา ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองพม่านั้น สังคมไทยมักอาศัยข้อมูลข่าวสารทุติยภูมิ และบทวิเคราะห์ที่มีทัศนะเชิงลบต่อรัฐบาลพม่า แต่จากการที่ไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาพม่าในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านพลังงาน แรงงาน วัตถุดิบ การค้า ฯลฯ ดังนั้นความสัมพันธ์ในระดับปกติจึงถือเป็นภาวะจำเป็นที่สุด กระนั้น ก็ถือว่ายังเป็นเรื่องยากด้วยมีเงื่อนไขในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ซับซ้อนเหนือความคาดหมายของรัฐไทย ขณะเดียวกัน รัฐพม่าก็มิได้มองไทยเป็นเพื่อนบ้านที่จริงใจ อันเนื่องจากปัญหาสืบเนื่องจากการเมืองและความมั่นคงของรัฐพม่า ดังนั้นการรับรู้เกี่ยวกับการเมืองพม่าจึงต้องปรับมิติสู่การเข้าถึงข้อมูลปฐมภูมิให้มากขึ้น ข้อเสนอของโครงการวิจัยนี้ จึงต้องการเปิดพื้นที่การรับรู้เกี่ยวกับพม่าในมิติภายในและมิติลึก เพื่อทำความเข้าใจมโนทัศน์ (โครงสร้างทางความคิด) ทางการเมืองของรัฐพม่าที่อยู่ภายใต้กลไกและการควบคุมของรัฐบาลทหาร โดยจะเผยให้เห็นโครงสร้างส่วนบนที่เป็นวัฒนธรรมการเมืองของพม่า ส่วนฐานข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยนั้น จะได้แก่ ตัวบทและภาคปฏิบัติ ที่สามารถค้นคว้าได้จากชุดประวัติศาสตร์กองทัพพม่า พื้นที่สื่อทางการของรัฐ และนาฏกรรมทางการเมือง โดยคาดหมายว่าโครงการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพม่าอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ"

ข้างต้นเป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการที่โครงการดังกล่าวผ่านการอนุมัติ นั่นยอมแสดงว่า จุดยืนของศูนย์พม่าศึกษา ที่ต้องการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับการประทับตราจากสกว. แต่ข้อชวนสงสัยก็คือ สกว.ในฐานะหน่วยงานที่ทำการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย
"เพื่อเรียนรู้และเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน" ได้อนุมัติโครงการด้วยความเข้าใจ ที่เป็นไปเพื่อการเรียนรู้บนพื้นฐานความเข้าใจหรือไม่ เกรงว่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อ "ล้วงตับ" อย่างที่สกว.ได้แสดงให้เห็นในเวทีนำเสนอความก้าวหน้าและนำเสนอโครงการวิจัยใหม่ ณ ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อ ๙ กรกฏาคม ที่ผ่านมา

ศูนย์พม่าศึกษา (Myanmar Studies Center) มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก มีเค้าลางเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นการร่วมคิดร่วมสร้างโดยบุคคล ๒ ท่าน คือ ผศ.อรนุช นิยมธรรม และผศ.วิรัช นิยมธรรม ขณะนั้นรับราชการอยู่ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท (ชื่อในขณะนั้น) มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับพม่า ประเทศเพื่อนบ้านที่แสนห่างเหินและเย็นชาต่อกัน ทั้งสองท่านได้เรียบเรียงพจนานุกรมพม่าขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย ต่อมาในปี ๒๕๓๙ ได้รับการติดต่อจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรที่สนใจศึกษาเรื่องพม่า เนื่องจากทราบว่าอาจารย์ทั้งสองท่านมีความสนใจเรื่องพม่าเป็นพื้น เมื่อความสนใจตรงกันอาจารย์ทั้งสองจึงย้ายไปรับราชการที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และก่อตั้งศูนย์พม่าศึกษาขึ้น

กิจกรรมเริ่มแรกของศูนย์ฯคือการเผยแพร่จุลสาร "รู้จักพม่า" ระหว่างที่การดำเนินการยังไม่ก้าวหน้าอย่างที่เป็น ผศ.วิรัช จึงไปใช้ชีวิตอยู่ในพม่าเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ๒ ปี ในปี ๒๕๔๐ จัดนิทรรศการในหัวข้อ "รู้จักพม่า: เพื่อนบ้านของเรา" และร่วมมือกับกรมวิเทศสหการ ในโครงการความร่วมมือทางการศึกษาไทย-พม่า เพื่อพัฒนาหลักสูตรภาษาไทย และผลิตครูภาษาไทยให้กับมหาวิทยาลัยในพม่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ปัจจุบันศูนย์พม่าศึกษาได้ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ เช่น รายการวิทยุ สอนภาษา จัดทำพจนานุกรม แบบเรียน สารานุกรม และศูนย์แปลเอกสารพม่า เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพม่าศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งเริ่มเปิดรับนิสิตตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๔ เป็นต้นมา มี ผศ.วิรัช นิยมธรรม เป็นผู้อำนวยการ และ ผศ.อรนุช นิยมธรรม เป็นหัวหน้าสำนักงาน

เป้าหมายของศูนย์พม่าศึกษา คือ เพื่อศึกษาสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของประเทศพม่า พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศพม่า เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเทศพม่า จัดประชุมทางวิชาการและการอบรม ประสานความร่วมมือทางการศึกษากับประเทศพม่า

นับได้ว่าศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นสถาบันที่ศึกษาเรื่องพม่าอย่างจริงจังนอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสถาบัน ที่มีข้อมูลองค์ความรู้พม่าศึกษาอยู่มาก คือ วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สถาบันพม่าศึกษา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๐ ซึ่งนับได้ว่ามีความเหมาะสมทั้งด้านภูมิศาสตร์และการเชื่อมโยงในความเป็นท้องถิ่น มีเป้าหมายไม่ต่างจากศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวคือ เพื่อทำวิจัยและเปิดหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พม่าศึกษา) โดยเปิดสอนที่วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และที่กรุงเทพฯ เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องพม่าและภาษาพม่าอย่างเป็นระบบ

พันธกิจของศูนย์พม่าศึกษาและสถาบันพม่าศึกษานั้น มีความใกล้เคียงกัน ด้วยเห็นว่า "พม่าศึกษา" เป็นเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีรั้วบ้านติดกัน พรมแดนติดต่อกันถึงราว ๒,๔๐๐ กิโลเมตร ควรจะศึกษาเรียนรู้กันอย่างจริงจัง และต้องเรียนรู้ทุกๆ ด้านเพื่อสานไมตรีความร่วมมือระหว่างกัน จำเป็นที่จะต้องคบหากันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ที่ผ่านมาคงต้องยอมรับว่า ไทยเรารู้จักพม่าน้อยกว่าที่พม่ารู้จักไทย เหตุเพราะพม่าเป็นสังคมที่ค่อนข้างปิด ส่วนไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้างกว่า เรื่องราวข่าวสารของไทยจึงเป็นที่รับรู้ของพม่า แต่ไทยเรารับรู้เรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับพม่าน้อยมาก ในยุคข้อมูลข่าวสารที่ทำให้โลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน จำเป็นที่ไทยควรทำความรู้จักพม่าให้มากขึ้น ก้าวข้ามอคติและปล่อยวางประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีต เปิดใจกว้างเพื่อเรียนรู้พม่า

สกว.ชี้แจงต่อนักวิจัยว่า งานวิจัยที่มีสิทธิได้รับการอุดหนุนทุนวิจัยนั้น จะต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน (USER) ที่ต้องมองเห็นสัมผัสได้ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการทหาร เท่านั้น หากเป็นองค์ความรู้ เพื่อการเรียนรู้และเพื่อความเข้าใจ ไม่ว่าด้านสังคมศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์นั้น ไม่อยู่ในหมวดงบประมาณที่พึงจะได้รับการอุดหนุน คล้ายกับว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับพม่านั้น มี ผู้ใช้งาน (USER) เพียง ๒ คน คือ พ่อค้า และทหาร ที่ สกว.เลือกเชิญมาแสดงทัศนะและประเมินงานวิจัย

ชวนให้สงสัยว่า เพียงแค่การเริ่มต้นที่จะเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจพม่า ก็แสดงออกอย่างโจ๋งครึ่มแล้วกับความไม่จริงใจ แล้วเราจะหวังให้พม่ามอบความจริงใจตอบแทนอย่างไร ขนาดญี่ปุ่นจะผลิตรถยนต์มาขายให้ประเทศแถบนี้ เขายังทุ่มงบประมาณทำการวิจัยไม่รู้กี่หมื่นกี่พันล้าน ตั้งแต่เรียนรู้สภาพดินฟ้าอากาศ ทัศนคติ นิสัยใจคอ รสนิยม ลัทธิความเชื่อ ศาสนา ฯลฯ กว่าจะเป็นรถยนต์ส่งมาขาย จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ประสาอะไรกับการอยากรู้จักพม่าของไทย ที่ควรสร้างความไว้วางใจ ในการจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งความร่วมมือที่จะขจัดความหวาดระแวงต่อกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างที่ตัวแทนสกว.ถ่ายทอดนโยบายให้ฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่สนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์ นิสัยใจคอ วัฒนธรรม หรือรสนิยมอะไรทั้งนั้น มุ่งแต่จะ "ล้วงตับ" ประเภท นโยบายต่อชนกลุ่มน้อย ที่ตั้งหน่วยทหาร คลังแสง ขีดความสามารถในการผลิตนิวเคลียร์ หรือแหล่งทรัพยากรที่ไทยจะสูบขึ้นมาใช้ได้ ว่ากันตรงๆ เลยทีเดียว

เคยได้ยินมาว่า หน่วยสืบราชการลับของพม่า อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ล่าสุดเมื่อโครงการขุดอุโมงค์ของพม่าถูกเปิดเผย มีปลายอุโมงค์ที่ขุดจากศูนย์กลางที่เมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า เป็นเครือข่ายไยแมงมุม เชื่อมโยงไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อลำเลียงพลและยุทธปัจจัย มีปลายอุโมงค์มาจ่อติดแนวชายแดนไทยถึง ๕ จุด ยิ่งแสดงให้เห็นว่าพม่าไม่เคยไว้ใจไทย และค่อนข้างจะรู้ยุทธศาสตร์ไทยดี ในขณะที่ไทยเราทำกระโตกกระตาก อยากรู้จักพม่าแบบออกนอกหน้า อยากรู้จักพม่า แต่หวังเพียงแค่ขายของ ขุดทอง และสูบก๊าซ สนใจใคร่รู้ข้อมูลทางการทหาร "เพื่อความมั่นคง" ในขณะเดียวกันก็หวาดระแวงพม่าอยู่ตลอดเวลา

คิดหรือว่าพม่ารู้ไม่เท่าทัน กับเพื่อนบ้านอย่างไทยที่เห็นพม่าทุกคนเป็นแรงงานชั้นต่ำ ตัวแพร่เชื้อโรค เป็นผู้ร้ายเผาเมือง จนบัดนี้ผ่านไปกว่า ๒๐๐ ปี เพลิงไฟผลาญกรุงศรีอยุธยาในใจคนไทยยังไม่เคยดับ ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องคบเพื่อนบ้านอย่างจริงใจ เรียนรู้ซึ่งกันและกันในทุกแง่มุม เพื่อการอยู่ร่วมกันฉันมิตร สร้างสันติภาพให้เกิดระหว่างเพื่อนบ้านใกล้ชิด แล้วค่อยขยายไปสู่สังคมโลก อันเป็นเป้าหมายสูงสุดซึ่งนานาชาติตั้งตารอ

  

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์