Skip to main content

องค์ บรรจุน

บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการนำการเสนอโครงการวิจัย ชุด "โครงการประเทศพม่าศึกษา" ชื่อหัวข้อวิจัย คือ "มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐพม่าบนพื้นที่สื่อรัฐบาลทหาร" ที่ผ่านการอนุมัติจากสกว.

"ที่ผ่านมา ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองพม่านั้น สังคมไทยมักอาศัยข้อมูลข่าวสารทุติยภูมิ และบทวิเคราะห์ที่มีทัศนะเชิงลบต่อรัฐบาลพม่า แต่จากการที่ไทยมีความจำเป็นต้องพึ่งพาพม่าในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านพลังงาน แรงงาน วัตถุดิบ การค้า ฯลฯ ดังนั้นความสัมพันธ์ในระดับปกติจึงถือเป็นภาวะจำเป็นที่สุด กระนั้น ก็ถือว่ายังเป็นเรื่องยากด้วยมีเงื่อนไขในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ซับซ้อนเหนือความคาดหมายของรัฐไทย ขณะเดียวกัน รัฐพม่าก็มิได้มองไทยเป็นเพื่อนบ้านที่จริงใจ อันเนื่องจากปัญหาสืบเนื่องจากการเมืองและความมั่นคงของรัฐพม่า ดังนั้นการรับรู้เกี่ยวกับการเมืองพม่าจึงต้องปรับมิติสู่การเข้าถึงข้อมูลปฐมภูมิให้มากขึ้น ข้อเสนอของโครงการวิจัยนี้ จึงต้องการเปิดพื้นที่การรับรู้เกี่ยวกับพม่าในมิติภายในและมิติลึก เพื่อทำความเข้าใจมโนทัศน์ (โครงสร้างทางความคิด) ทางการเมืองของรัฐพม่าที่อยู่ภายใต้กลไกและการควบคุมของรัฐบาลทหาร โดยจะเผยให้เห็นโครงสร้างส่วนบนที่เป็นวัฒนธรรมการเมืองของพม่า ส่วนฐานข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยนั้น จะได้แก่ ตัวบทและภาคปฏิบัติ ที่สามารถค้นคว้าได้จากชุดประวัติศาสตร์กองทัพพม่า พื้นที่สื่อทางการของรัฐ และนาฏกรรมทางการเมือง โดยคาดหมายว่าโครงการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพม่าอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ"

ข้างต้นเป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการที่โครงการดังกล่าวผ่านการอนุมัติ นั่นยอมแสดงว่า จุดยืนของศูนย์พม่าศึกษา ที่ต้องการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับการประทับตราจากสกว. แต่ข้อชวนสงสัยก็คือ สกว.ในฐานะหน่วยงานที่ทำการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย
"เพื่อเรียนรู้และเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน" ได้อนุมัติโครงการด้วยความเข้าใจ ที่เป็นไปเพื่อการเรียนรู้บนพื้นฐานความเข้าใจหรือไม่ เกรงว่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อ "ล้วงตับ" อย่างที่สกว.ได้แสดงให้เห็นในเวทีนำเสนอความก้าวหน้าและนำเสนอโครงการวิจัยใหม่ ณ ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อ ๙ กรกฏาคม ที่ผ่านมา

ศูนย์พม่าศึกษา (Myanmar Studies Center) มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก มีเค้าลางเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นการร่วมคิดร่วมสร้างโดยบุคคล ๒ ท่าน คือ ผศ.อรนุช นิยมธรรม และผศ.วิรัช นิยมธรรม ขณะนั้นรับราชการอยู่ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท (ชื่อในขณะนั้น) มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับพม่า ประเทศเพื่อนบ้านที่แสนห่างเหินและเย็นชาต่อกัน ทั้งสองท่านได้เรียบเรียงพจนานุกรมพม่าขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย ต่อมาในปี ๒๕๓๙ ได้รับการติดต่อจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรที่สนใจศึกษาเรื่องพม่า เนื่องจากทราบว่าอาจารย์ทั้งสองท่านมีความสนใจเรื่องพม่าเป็นพื้น เมื่อความสนใจตรงกันอาจารย์ทั้งสองจึงย้ายไปรับราชการที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และก่อตั้งศูนย์พม่าศึกษาขึ้น

กิจกรรมเริ่มแรกของศูนย์ฯคือการเผยแพร่จุลสาร "รู้จักพม่า" ระหว่างที่การดำเนินการยังไม่ก้าวหน้าอย่างที่เป็น ผศ.วิรัช จึงไปใช้ชีวิตอยู่ในพม่าเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ๒ ปี ในปี ๒๕๔๐ จัดนิทรรศการในหัวข้อ "รู้จักพม่า: เพื่อนบ้านของเรา" และร่วมมือกับกรมวิเทศสหการ ในโครงการความร่วมมือทางการศึกษาไทย-พม่า เพื่อพัฒนาหลักสูตรภาษาไทย และผลิตครูภาษาไทยให้กับมหาวิทยาลัยในพม่า ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ปัจจุบันศูนย์พม่าศึกษาได้ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ เช่น รายการวิทยุ สอนภาษา จัดทำพจนานุกรม แบบเรียน สารานุกรม และศูนย์แปลเอกสารพม่า เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาพม่าศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งเริ่มเปิดรับนิสิตตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๔ เป็นต้นมา มี ผศ.วิรัช นิยมธรรม เป็นผู้อำนวยการ และ ผศ.อรนุช นิยมธรรม เป็นหัวหน้าสำนักงาน

เป้าหมายของศูนย์พม่าศึกษา คือ เพื่อศึกษาสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของประเทศพม่า พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศพม่า เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเทศพม่า จัดประชุมทางวิชาการและการอบรม ประสานความร่วมมือทางการศึกษากับประเทศพม่า

นับได้ว่าศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นสถาบันที่ศึกษาเรื่องพม่าอย่างจริงจังนอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสถาบัน ที่มีข้อมูลองค์ความรู้พม่าศึกษาอยู่มาก คือ วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สถาบันพม่าศึกษา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๐ ซึ่งนับได้ว่ามีความเหมาะสมทั้งด้านภูมิศาสตร์และการเชื่อมโยงในความเป็นท้องถิ่น มีเป้าหมายไม่ต่างจากศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวคือ เพื่อทำวิจัยและเปิดหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พม่าศึกษา) โดยเปิดสอนที่วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และที่กรุงเทพฯ เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องพม่าและภาษาพม่าอย่างเป็นระบบ

พันธกิจของศูนย์พม่าศึกษาและสถาบันพม่าศึกษานั้น มีความใกล้เคียงกัน ด้วยเห็นว่า "พม่าศึกษา" เป็นเรื่องหนึ่งที่ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีรั้วบ้านติดกัน พรมแดนติดต่อกันถึงราว ๒,๔๐๐ กิโลเมตร ควรจะศึกษาเรียนรู้กันอย่างจริงจัง และต้องเรียนรู้ทุกๆ ด้านเพื่อสานไมตรีความร่วมมือระหว่างกัน จำเป็นที่จะต้องคบหากันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ที่ผ่านมาคงต้องยอมรับว่า ไทยเรารู้จักพม่าน้อยกว่าที่พม่ารู้จักไทย เหตุเพราะพม่าเป็นสังคมที่ค่อนข้างปิด ส่วนไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้างกว่า เรื่องราวข่าวสารของไทยจึงเป็นที่รับรู้ของพม่า แต่ไทยเรารับรู้เรื่องราวข่าวสารเกี่ยวกับพม่าน้อยมาก ในยุคข้อมูลข่าวสารที่ทำให้โลกไร้พรมแดนในปัจจุบัน จำเป็นที่ไทยควรทำความรู้จักพม่าให้มากขึ้น ก้าวข้ามอคติและปล่อยวางประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีต เปิดใจกว้างเพื่อเรียนรู้พม่า

สกว.ชี้แจงต่อนักวิจัยว่า งานวิจัยที่มีสิทธิได้รับการอุดหนุนทุนวิจัยนั้น จะต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน (USER) ที่ต้องมองเห็นสัมผัสได้ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการทหาร เท่านั้น หากเป็นองค์ความรู้ เพื่อการเรียนรู้และเพื่อความเข้าใจ ไม่ว่าด้านสังคมศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์นั้น ไม่อยู่ในหมวดงบประมาณที่พึงจะได้รับการอุดหนุน คล้ายกับว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับพม่านั้น มี ผู้ใช้งาน (USER) เพียง ๒ คน คือ พ่อค้า และทหาร ที่ สกว.เลือกเชิญมาแสดงทัศนะและประเมินงานวิจัย

ชวนให้สงสัยว่า เพียงแค่การเริ่มต้นที่จะเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจพม่า ก็แสดงออกอย่างโจ๋งครึ่มแล้วกับความไม่จริงใจ แล้วเราจะหวังให้พม่ามอบความจริงใจตอบแทนอย่างไร ขนาดญี่ปุ่นจะผลิตรถยนต์มาขายให้ประเทศแถบนี้ เขายังทุ่มงบประมาณทำการวิจัยไม่รู้กี่หมื่นกี่พันล้าน ตั้งแต่เรียนรู้สภาพดินฟ้าอากาศ ทัศนคติ นิสัยใจคอ รสนิยม ลัทธิความเชื่อ ศาสนา ฯลฯ กว่าจะเป็นรถยนต์ส่งมาขาย จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ประสาอะไรกับการอยากรู้จักพม่าของไทย ที่ควรสร้างความไว้วางใจ ในการจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งความร่วมมือที่จะขจัดความหวาดระแวงต่อกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างที่ตัวแทนสกว.ถ่ายทอดนโยบายให้ฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่สนใจเรียนรู้ประวัติศาสตร์ นิสัยใจคอ วัฒนธรรม หรือรสนิยมอะไรทั้งนั้น มุ่งแต่จะ "ล้วงตับ" ประเภท นโยบายต่อชนกลุ่มน้อย ที่ตั้งหน่วยทหาร คลังแสง ขีดความสามารถในการผลิตนิวเคลียร์ หรือแหล่งทรัพยากรที่ไทยจะสูบขึ้นมาใช้ได้ ว่ากันตรงๆ เลยทีเดียว

เคยได้ยินมาว่า หน่วยสืบราชการลับของพม่า อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ล่าสุดเมื่อโครงการขุดอุโมงค์ของพม่าถูกเปิดเผย มีปลายอุโมงค์ที่ขุดจากศูนย์กลางที่เมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของพม่า เป็นเครือข่ายไยแมงมุม เชื่อมโยงไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อลำเลียงพลและยุทธปัจจัย มีปลายอุโมงค์มาจ่อติดแนวชายแดนไทยถึง ๕ จุด ยิ่งแสดงให้เห็นว่าพม่าไม่เคยไว้ใจไทย และค่อนข้างจะรู้ยุทธศาสตร์ไทยดี ในขณะที่ไทยเราทำกระโตกกระตาก อยากรู้จักพม่าแบบออกนอกหน้า อยากรู้จักพม่า แต่หวังเพียงแค่ขายของ ขุดทอง และสูบก๊าซ สนใจใคร่รู้ข้อมูลทางการทหาร "เพื่อความมั่นคง" ในขณะเดียวกันก็หวาดระแวงพม่าอยู่ตลอดเวลา

คิดหรือว่าพม่ารู้ไม่เท่าทัน กับเพื่อนบ้านอย่างไทยที่เห็นพม่าทุกคนเป็นแรงงานชั้นต่ำ ตัวแพร่เชื้อโรค เป็นผู้ร้ายเผาเมือง จนบัดนี้ผ่านไปกว่า ๒๐๐ ปี เพลิงไฟผลาญกรุงศรีอยุธยาในใจคนไทยยังไม่เคยดับ ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องคบเพื่อนบ้านอย่างจริงใจ เรียนรู้ซึ่งกันและกันในทุกแง่มุม เพื่อการอยู่ร่วมกันฉันมิตร สร้างสันติภาพให้เกิดระหว่างเพื่อนบ้านใกล้ชิด แล้วค่อยขยายไปสู่สังคมโลก อันเป็นเป้าหมายสูงสุดซึ่งนานาชาติตั้งตารอ

  

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าวัดชนะสงครามเป็นวัดมอญ ใช่ว่าคนสนใจประวัติศาสตร์จึงได้รู้ความเป็นมาของวัด แต่เป็นเพราะหน้าวัดมีป้ายโลหะสีน้ำตาลที่ทางการชอบปักไว้หน้าสถานที่ท่องเที่ยว ความระบุประวัติไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดของพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ (มอญ) แต่ก็ไม่แน่ใจนัก คนสมัยนี้อาจเข้าใจว่ามอญเป็นชื่อต้นไม้จำพวกเห็ดราปรสิตชนิดหนึ่งก็ได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความหมายจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดการตอบสนอง นับแต่โบราณกาลมีตั้งแต่การสุมไฟให้เกิดควัน นกพิราบสื่อสาร ปัจจุบันการสื่อสารมีหลายวิธีรวดเร็วทันใจมากขึ้น อาจเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม ระบบโทรคมนาคม หรือการสื่อสารระบบเครือข่ายที่อาศัยดาวเทียมและสายเคเบิลใยแก้ว ที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต ก็ได้ ส่วนภาษาที่มาพร้อมกับวิธีการสื่อสารเหล่านั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง มีการหยิบยืมคำในภาษาอื่น เปลี่ยนรูปแบบและความหมายตลอดเวลา…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการหาที่เก็บของเก่าก็ตาม แต่จากประสบการณ์ที่ว่านี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังคิดทำพิพิธภัณฑ์ว่าจะใช้เก็บของเก่าหรือใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเริ่มเห็นคุณค่าท้องถิ่นของตน การตัดสินใจเกี่ยวกับท้องถิ่นจึงควรมาจากท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน     หญ้าขัดมอญ เป็นพืชล้มลุก ทรงพุ่มเตี้ย ตระกูลเดียวกับชบา ขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ต้องปลูกและดูแลรักษา คนในสังคมเมืองคงไม่คุ้นชื่อคุ้นต้นไม้ชนิดนี้ หลายคนเห็นเป็นวัชพืชอย่างหนึ่งที่ต้องกำจัด นอกจากบางคนที่ช่างสังเกตธรรมชาติรอบตัวก็อาจจะพบว่า หญ้าขัดมอญ เป็นไม้พุ่มเตี้ยแตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบเล็กเรียวเขียวเข้ม ยิ่งเวลาออกดอก สีเหลืองอ่อนหวานพราวพรายรายเรียงอยู่ทั่วทุกช่อใบ ชวนมองไม่น้อย แถมมีประโยชน์ในครัวเรือนหลายอย่าง ทั้งด้านการใช้สอยและสรรพคุณทางสมุนไพร
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการนำการเสนอโครงการวิจัย ชุด "โครงการประเทศพม่าศึกษา" ชื่อหัวข้อวิจัย คือ "มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐพม่าบนพื้นที่สื่อรัฐบาลทหาร" ที่ผ่านการอนุมัติจากสกว.
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน ๗ กรกฏาคม ที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา รุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษา วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เมื่อมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ผู้คนจึงออกต่างจังหวัดกันมาก ถนนช่วงนั้นจึงโล่งอย่างเทศกาลใหญ่ๆ ทุกครั้ง เปิดทีวีมีแต่ข่าวขบวนแห่เทียนเข้าพรรษากันทัวประเทศ ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ แปลกเท่าไหร่ยิ่งดี บางจังหวัดไม่เคยจัดก็สู้อุตส่าห์ซื้อช่างแกะเทียนค่าตัวแพงลิบมาจากอุบลราชธานี กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนทำเทียนเข้าพรรษาเพื่อขายการท่องเที่ยว ไม่ได้ถวายให้พระใช้งานจริงขณะนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. ผมนั่งอยู่โคนต้นอโศกอินเดียภายในวัดชนะสงคราม ความคลุกคลีกับวัดวามานานจึงพาลห่างวัด…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนบทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาตั้งชื่อเลียน "ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ" เพราะในภาพยนตร์นั้น เจ้าของกล้องกดชัตเตอร์ติดวิญญาณผีที่เขาขับรถชนและหนีไป ทว่าในที่สุดวิญญาณก็ตามทวงเอาชีวิต ซึ่งต่างจากบทความนี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก เจ้าของกล้องถ่ายภาพนับร้อยที่กดชัตเตอร์ใส่ผีตนหนึ่ง คล้ายมหรสพที่นักการเมืองจัดให้ชาวบ้านในฤดูหาเสียง แต่ที่ร้ายก็คือ อำนาจของชัตเตอร์กลับสะกดให้ผีตกอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์อย่างที่ผีไม่สามารถเอาคืนได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน แค่อ่านชื่อเรื่องหลายคนคงรู้จักคุ้นเคยกันดีว่านี่คือเนื้อเพลง “สยามเมืองยิ้ม” สำหรับคนที่เป็นคอลูกทุ่งยิ่งต้องรู้ว่า เพลงนี้ขับร้องโดยราชินีเพลงลูกทุ่งผู้ล่วงลับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ส่วนผู้ประพันธ์เนื้อเพลงเป็นครูเพลงคู่บุญของเธอ ลพ บุรีรัตน์ 
ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในความเป็นชาติ รู้สึกทันทีว่าไพเราะกินใจ ซาบซึ้งไปกับบทเพลง ยิ่งฟังยิ่งเพราะ ขนาดที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยส่งเทปจัดรายการเพลงไปประกวดดีเจทางคลื่น “สไมล์เรดิโอ” ใช้เพลง “สยามเมืองยิ้ม” เป็นเพลงปิดรายการ ได้เข้ารอบแรกเสียด้วยแต่ตกรอบ ๒๐ คนสุดท้าย เพื่อนๆ ที่รอฟังและตามลุ้นพูดเหมือนกันว่า “สมควรแล้ว…
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน คนทั่วไปสับสนเกี่ยวกับลักษณะสายพันธุ์และชื่อเรียกของ "กระเจี๊ยบ" ว่าเป็นอย่างไรและเรียกว่าอะไรกันแน่ จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงที่มาและคุณค่ามากมายมหาศาลของกระเจี๊ยบบ้านมอญในชนบทหลายแห่งเคยมีต้นกระเจี๊ยบริมรั้ว ริมคลองหนองบึง สำรับกับข้าวเคยมีแกงกระเจี๊ยบไม่ขาด แต่ทุกวันนี้ "กระเจี๊ยบ" เริ่มเลือนหายไปจากชีวิต ชนิดที่ไม่มีใครอาลัยอาวรณ์นัก แม้แต่จะนึกถึงความหลังที่แกงกระเจี๊ยบเคยอยู่คู่ครัวมาแต่อ้อนแต่ออก
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า "ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."
องค์ บรรจุน
 องค์ บรรจุนธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ "ใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" หัวเรื่องที่จั่วไว้ด้านบนบทความนี้ ถือเป็นคุณสมบัติอันน่าภาคภูมิของคนไทยอย่างหนึ่ง คนไทยทั้งผองเชื่อกันว่าคนไทยมีข้อดีงามหลายอย่าง เป็นต้นว่า โอบอ้อมอารีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต ยิ้มสยาม หรือแม้แต่ "รักสามัคคี" และ "ไทยนี้รักสงบ..." ล้วนเป็นความดีเด่นประจำชนชาติไทยตามลัทธิอัตตานิยม "คนไทยดีที่สุดในโลก" ดังนั้นเมื่อหมอดูทำนายคนไทยหน้าไหนก็ตามว่าเป็นคนดีดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีใครปฏิเสธว่าหมอดูไม่แม่น
องค์ บรรจุน
ถุงผ้าไม่ได้ลดโลกร้อน เพราะการใช้ถุงผ้าตามกระแสโดยเข้าไม่ถึงหลักใหญ่ใจความ ขณะที่ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกยังคงเดิม คงไม่ต้องไปดูไหนไกลอื่น แค่เพียงเราสำรวจดูที่บ้านว่าเรามีถุงผ้าอยู่ในครอบครองกี่ใบ แต่ละวันที่เราออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือเวลาที่ตั้งใจไปจ่ายตลาด มีใครสักกี่คนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วย และในบรรดาคนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วยนั้น จะมีใครบ้างไหมที่ปฏิเสธแม่ค้าว่าไม่เอาถุงพลาสติก โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดสด "ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกชั่งน้ำหนักแล้วเทลงถุงผ้าเลย" อย่างน้อยการซื้อแกงถุงกลับบ้าน นอกจากถุงร้อนที่ใส่แกงแล้ว ยังมีถุงหูหิ้วสวมทับอีก ๑ ใบด้วยหรือไม่