Skip to main content

องค์ บรรจุน

บทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาตั้งชื่อเลียน "ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ" เพราะในภาพยนตร์นั้น เจ้าของกล้องกดชัตเตอร์ติดวิญญาณผีที่เขาขับรถชนและหนีไป ทว่าในที่สุดวิญญาณก็ตามทวงเอาชีวิต ซึ่งต่างจากบทความนี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก เจ้าของกล้องถ่ายภาพนับร้อยที่กดชัตเตอร์ใส่ผีตนหนึ่ง คล้ายมหรสพที่นักการเมืองจัดให้ชาวบ้านในฤดูหาเสียง แต่ที่ร้ายก็คือ อำนาจของชัตเตอร์กลับสะกดให้ผีตกอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์อย่างที่ผีไม่สามารถเอาคืนได้

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์พิธี "เลี้ยงดง" หรือ "เลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ" พิธีกรรมเก่าแก่ของชาวเชียงใหม่ ที่บ้านแม่เหียะใต้ เชิงดอยคำ หลังสถานีวิจัยเกษตรแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านย่านนั้นพร้อมใจกันจัดขึ้นทุกปี แต่ที่ไม่ทราบแน่ชัดก็คือ นักการเมืองท้องถิ่นได้เข้าไปดำเนินการจัดตั้ง "ปู่แสะย่าแสะ" ให้เป็นหัวคะแนนตั้งแต่เมื่อใด

ตำนานความเป็นมาของพิธีเลี้ยงดง กล่าวโดยย่อคือ ในอดีตย่านนี้เป็นเมืองของชาวลัวะชื่อว่า "บุรพนคร" ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและดอยอ้อยช้าง (อุจฉุคีรี) ชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนจากยักษ์พ่อแม่ลูก ๓ ตน ที่มาจับชาวเมืองไปกินทุกวัน จนชาวเมืองต้องพากันอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น

กล่าวถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับรู้ด้วยพระสัมมาสัมโพธิญาณ เห็นความเดือดร้อนของชาวเมืองบุพนครที่เกิดจากยักษ์พ่อแม่ลูก ๓ ตน พระองค์พร้อมด้วยเหล่าสาวกจึงได้เสด็จมาประทับที่ดอยใต้ ได้มีชาวลัวะ ๔ คน เข้าเฝ้าและเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ จึงถวายอาหารที่นำติดตัวมา พระองค์ทรงอนุโมทนาและเทศนาโปรดจนชาวลัวะทั้ง ๔ รู้แจ้งเห็นสัจธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ได้ทำนายว่า ในอนาคตเมืองของชาวลัวะแห่งนี้จะได้ชื่อว่า "เมืองชีใหม่" (ต่อมาเพี้ยนเป็น "เชียงใหม่") โดยเรียกตามเหตุการณ์ที่ชาวลัวะบวชใหม่ (ในอดีตเรียกพระว่า ชี) จากนั้นพระพุทธเจ้าได้สนทนากับพระลัวะทั้ง ๔ รูป จนรับรู้ความเดือดร้อนของชาวเมือง จึงรับสั่งให้พระอานนท์ไปตามยักษ์ทั้ง ๓ ตน มาพบ ทรงแสดงอภินิหารให้ยักษ์เห็น และแสดงธรรมให้ฟัง จนยักษ์เกิดความเลื่อมใส พระพุทธองค์ได้ให้ยักษ์ทั้ง ๓ สมาทานศีลห้า

ต่อมายักษ์นึกขึ้นได้ว่า ตนเองเป็นยักษ์จำเป็นต้องกินเนื้อเป็นอาหาร จึงทูลขอควายกินวันละตัว พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ยักษ์จึงทูลขอควายกินเดือนละตัว พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ที่สุดยักษ์จึงทูลขอควายกินปีละตัว พระพุทธองค์ไม่ตอบ ยักษ์จึงขอกับเจ้าเมือง และตกลงให้กินปีละตัว โดยยักษ์ปู่แสะขอกินควายเผือกเขาคำ ยักษ์ย่าแสะขอกินควายดำกลีบเผิ้ง (ควายหนุ่มเขาเสมอหู) โดยฆ่าควายแล้วชำแหละไปให้ พร้อมกับมีข้อแม้ว่า "ยักษ์ต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ ๕,๐๐๐ ปี ตลอดจนปกปักรักษาชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วย"


ปู่แสะย่าแสะ (เสื้อแดงมุมซ้ายล่างของภาพ) กินเนื้อควายสดๆ


ส่วนลูกยักษ์ได้บวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาลาสิกขาออกมาถือเพศเป็นฤๅษี มีนามว่า "สุเทพฤๅษี" ส่วนดอยช้าง หรือ ดอยเหนือ ต่อมาเรียกว่า ดอยสุเทพ ตามชื่อฤๅษีสุเทพซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำฤๅษีหลังดอยสุเทพ ดอยคำ และดอยเหล็ก (ปัจจุบันปรากฏร่องรอยบ่อน้ำอยู่ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ่อฤๅษี)...

จากตำนานดังกล่าวข้างต้น ยังคงสืบทอดความเชื่อต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ภายหลังการเสียชีวิตของปู่แสะย่าแสะแล้ว ชาวบ้านชาวเมืองยังคงเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์ และต้องการให้วิญญาณปู่แสะย่าแสะช่วยรักษาพระศาสนา และปกป้องคุ้มครองชาวเมือง จึงจัดให้มีพิธีเซ่นสรวง ที่เรียกกันว่า "เลี้ยงดง" เป็นประจำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ (เป็งเดือนเก้า) สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ชาวเชียงใหม่ (คนเมือง) นับถือผีมาช้านาน ทั้งผีบรรพชน และเทวดาอารักษ์ เช่นเดียวกับผู้คนทุกเชื้อชาติในภูมิภาคแถบนี้ มีการยอมรับนับถือพุทธศาสนามาช้านานตั้งแต่ก่อนการสร้างเมืองเชียงใหม่ โดยการนำความเชื่อดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับความเชื่อใหม่ที่ได้รับ เป็นการน้อมนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิตของตน

จากตำนานพื้นเมืองเชื่อกันว่า ปู่แสะย่าแสะ เป็นผีบรรพชนของพวกลัวะ ซึ่งส่วนหนึ่งได้สืบเชื้อสายมาเป็นชาวเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีหน้าที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นเจ้าเมือง เสนาอำมาตย์ และราษฎร จะต้องร่วมกันทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ คนโบราณเชื่อว่า หากไม่ทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติ ดังในสมัยพระเจ้าแม่กุ ที่มีการห้ามชาวบ้านทำพิธี เป็นเหตุให้เมืองเชียงใหม่ต้องเสียเอกราช ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า

พิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะทำสืบต่อกันมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ทางราชการได้สั่งห้ามจัดพิธีดังกล่าว (กรณีเดียวกับที่ได้มีการห้ามจัดพิธีรำผีมอญที่พระประแดง เพราะทางการเกรงว่าจะมีการทำนายทายทักในทางร้ายทำให้ชาวบ้านตื่นกลัว) จนถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งแต่ให้ทำพิธีทางทิศตะวันออกของเชิงดอยคำ โดยมีชาวบ้านเชิงดอยสุเทพและบ้านแม่เหียะเป็นผู้ทำพิธี ซึ่งข้อกำหนดอย่างหนึ่งของการเป็นร่างทรง (ม้าขี่) ก็คือ บุคคลหนึ่งห้ามเป็นร่างทรงติดต่อกันเกิน ๓ ปี


ปู่แสะย่าแสะเดินกินเครื่องเซ่นในศาลบูชา ช่างภาพร้อยเศษตามประกบ


โดยรอบบริเวณพิธีเป็นป่าไม้ค่อนข้างสมบูรณ์ ล้วนแต่ไม้ขนาดใหญ่ทั้งสิ้น เช้านั้นฝนโปรยปรายลงมาแต่เช้า ยอดหญ้าฉ่ำน้ำ ผืนดินนุ่มไร้ฝุ่น ท้องฟ้าก็ครึ้มด้วยเมฆขาวหม่น บรรยากาศขรึมขลังชวนศรัทธา จะขัดความรู้สึกบ้างก็ตรงที่เมื่อเดินทางมาถึงเชิงเขา ได้ยินแต่เสียงล้อบดถนนและแตรรถกลบเสียงวงกลอง (ปี่พาทย์) รถนานาชนิดจอดเรียงรายยาวเหยียด รวมทั้งรถตู้นักท่องเที่ยวหลากสัญชาติ เมื่อถึงปากทางมองเห็นผาม (ปะรำพิธี) แต่ไกลกลางลานโล่ง สองรายทางเต็มไปด้วยร้านค้าขายนาชนิด (รวมทั้งเหล้าตอง แต่ปีหน้าคงจะไม่มี หากหน่วยงานเกี่ยวกับสุขภาพ จะเข้าไปสนับสนุนกิจกรรมชาวบ้าน และอาจจะรวมไปถึงการนำควายมาต้มก่อนเซ่นสรวงปู่แสะย่าแสะ) ด้านขวาเกือบสุดทางเดินก่อนถึงผาม เป็นอาสนสงฆ์ ด้านซ้ายเป็นเต้นท์กองอำนวยการ มีเสียงประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและผลงานของนักการเมืองท้องถิ่น และโฆษณาขายผืนผ้าพระบฏจำลอง


ปู่แสะย่าแสะไหว้สาภาพพระบฏ


ขณะที่ผู้เขียนไปถึงนั้นหีบพระบฎ (ภาพเขียนพระพุทธเจ้า) วางอยู่ใต้ร่มไม้ พระบฏในหีบถูกขึงไว้กับยอดไม้สูงเหนือหัวแล้ว พิธีกรรมต่อจากนั้นเริ่มจาก ร่างทรง (ม้าขี่) ของปู่แสะย่าแสะ ขึ้นไปทำพิธีบนผาม เปลี่ยนชุดตามแบบโบราณ เน้นผ้านุ่งผ้าห่มสีแดง ทำพิธีเซ่นสรวงเชิญวิญญาณปู่แสะย่าแสะเข้าร่าง วิญญาณในร่างทรงรับหมากมาเคี้ยวปากแดง สูบบุหรี่มอญมวนใหญ่ กระโจนลงจากผาม เดินมุ่งไปหาซากควายที่ชำแหละวางไว้ทั้งเนื้อ หนัง หัว และเขาควายครบทุกชิ้นส่วนกลางลาน ปู่แสะย่าแสะขึ้นขี่บนหลังควาย เกลือกร่างไปบนซากควาย ฉีกเนื้อกินสดๆ มือวักเลือดในภาชนะขึ้นดื่ม หิ้วเนื้อควายติดตัวไปบางส่วน เดินตรวจตราดูศาลบูชาขนาดเล็กที่ตั้งอยู่โดยรอบลานพิธี ทั้ง ๑๒ ศาล ตามจำนวนปู่แสะย่าแสะ ลูก หลาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของเมือง ภายในศาลวางกระทงใบตองตึง ใส่เครื่องเซ่นคาวหวานนานาชนิด หลังปู่แสะย่าแสะรับเครื่องเซ่นแล้วก็เกิดเหตุอัศจรรย์ภาพพระบฏแกว่งไกว ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นปาฏิหารย์ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกปี โดยไม่มีลมพัดต้องแม้แต่น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้ปู่แสะย่าแสะรับรู้ กลับเข้าไปในผาม เปลี่ยนชุดใหม่ เน้นสีขาวบริสุทธิ์ เข้าไปไหว้สาพระบฏ อันเป็นสัญลักษ์ตัวแทนของพระพุทธเจ้า จากนั้นปู่แสะย่าแสะก็จะเดินเยี่ยมเยียนชาวบ้าน ที่สำคัญยังมีการปลูกฝังสั่งสอนชาวบ้าน เป็นต้นว่า มีการเข้าทรง "เจ้านาย" เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง การบอกกล่าวฝากฝังต่อผู้นำชุมชนเกี่ยวกับการรักษาป่าไม้ ที่มีผู้คนทำลายบุกรุกทำลาย ให้ชาวบ้านสามัคคีช่วยกันแก้ไขปัญหา สาปแช่งคนบุกรุกทำรายให้มีอันเป็นไป เป็นต้น (โชคดีที่ป่าผืนนั้นเป็นเขตทหาร คำสาปแช่งของปู่แสะย่าแสะจึงคงยังศักดิ์สิทธิ์ไปอีกนาน)

นอกจากตำนานจะกล่าวถึงชนพื้นเมือง คือ ชาวลัวะ ว่าเป็นชนดั้งเดิมของเมืองเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นการผสานความเชื่อเรื่องผีของชนพื้นเมืองที่มีมาแต่เดิม เข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลัง ให้ดำเนินคู่กันไปอย่างกลมกลืน เท่ากับว่าตำนานและพิธีกรรมในอดีตมีส่วนสำคัญในการร้อยเรียงผู้คนต่างชาติพันธุ์ ต่างความเชื่อ และลัทธิทางศาสนาให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีกติกาที่ชุมชนเป็นผู้ตกลงร่วมกัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวบ้านกลับตกอยู่ภายใต้การชี้นำของทุนนิยม ปัจจัยภายนอกส่งอิทธิพลต่อรูปแบบการดำรงชีวิตของผู้คนที่ต้องอาศัยเครื่องประดับกาย และเครื่องประดับเกียรติ หนทางหนึ่งนั้น คือ "การเมือง" ระบบซึ่งพรากความกลมเกลียวไปจากชุมชน และยัดเยียดความแตกแยกทิ้งไว้ให้ชุมชน ผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้กระทำทุกวิถีทางเพื่อขึ้นสู่อำนาจ แม้แต่การเบียดบังพื้นที่ของผีบรรพชน


นักการเมือง กับ ปู่แสะย่าแสะ

อำนาจ "ชัตเตอร์" รุกล้ำประชิดถึงปลายคางโหนกคิ้วของผี เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามในสายตาของช่างภาพ ในยุคดิจิตัล มือถือถ่ายภาพได้ราคาถูกหาซื้อได้ง่าย ไม่นับรวมนักเลงกล้องมืออาชีพ กล้องวีดีโอจากนักท่องเที่ยวหลายชาติ นักข่าวหลายช่อง นับด้วยตาคร่าวๆ ไม่ต่ำกว่าร้อย รั้วไม้หยาบๆ กั้นชาวบ้านให้นั่งดูเรื่องที่เป็นจิตวิญญาณของตนได้เท่านั้น แต่รั้วไม่สามารถกั้นช่างภาพและนักการเมืองให้เข้าไปเกาะติดผีได้ ไม่มีการนิยามถึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีการเคารพตำนานและตัวตนการมีอยู่ของความเชื่อเรื่องปู่แสะย่าแสะ ผู้เขียนไม่อาจรู้ได้ว่าพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่นั่งราบอยู่กับพื้นพนมมือด้วยศรัทธาจะปวดร้าวใจเพียงใด เมื่อได้ยินช่างภาพและนักการเมืองท้องถิ่นพูดกับปู่แสะย่าแสะที่พวกเขาเคารพศรัทธา
"อย่าเพิ่งลุกๆ นั่งต่อแป๊บนึง กัดเนื้อควายค้างไว้ ขอมุมสวยๆ อีกภาพ..."

หรือคำที่ผู้ชมกล่าวถึงด้วยความ...
"ปีก่อนๆ กว่าจะขึ้นต้นไม้ได้ต้องดันกันแล้วดันกันอีก ปีนี้นักท่องเที่ยวเยอะ กล้องทีวีก็เยอะ นายกเทศบาลมาเองด้วย ร่างทรงกระโดดปลิวขึ้นต้นไม้ไปเลย... ปีนขึ้นไปสูงซะด้วย..."

แน่นอนว่าในแต่ละขั้นตอน ภาพนักการเมืองจะต้องไม่หลุดเฟรม นั่นคือการอยู่ให้ไกล้ร่างทรงที่สุด กระทั่งเกาะกุมลากจูงมือร่างทรง แบบที่ไม่เคยมีในอดีต ผู้เขียนบอกไม่ได้ว่าผีมีจริงหรือไม่ แต่เท่าที่ผ่านมามนุษย์ใช้งานผีด้วยความเคารพ ลำพังนักการเมืองไม่เข้ามาอิงแอบบารมีผีใช้เป็นฐานคะแนน ผีทั้งหลายก็มีที่อยู่ที่ยืนน้อยลงทุกทีเพราะความเชื่อเก่าถูกท้าทายลงทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งมาถึงทุกวันนี้ ภาพผีที่ถูกชี้นิ้วสั่ง ฉุดลากไปมาตรงหน้า อย่างที่นักการเมืองท้องถิ่นต้องการ ศรัทธาของคนรุ่นใหม่ย่อมไม่เกิด ศรัทธาของคนรุ่นเก่าก็ยิ่งเหือดแห้งลงทุกขณะ

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์