Skip to main content

สุกัญญา เบาเนิด

ในช่วงเวลาของการแสวงประสบการณ์ ผู้เขียนมีความใฝ่ฝันมานานแล้วว่าครั้งหนึ่งในชีวิตขอให้ได้มีโอกาสทำงานโบราณคดีในภาคเหนือสักครั้ง  ดังนั้น เมื่อราวกลางปีพ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้เขียนจึงเดินทางขึ้นเหนือและ เริ่มต้นงานแรกที่จังหวัดลำปาง คืองานบูรณะซ่อมแซมวิหารจามเทวี วัดปงยางคก ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง จากนั้นอีกไม่กี่เดือนเมื่องานที่ลำปางเสร็จสิ้นลง ก็เดินทางต่อมาที่เชียงใหม่ เพื่อทำการขุดศึกษาทางโบราณคดีที่เจดีย์เหลี่ยม หรือ กู่คำ เจดีย์สำคัญของเวียงกุมกาม ตลอดเวลาที่มองเห็นซากปรักหักพังของวัดร้างในเวียงกุมกาม น่าแปลกใจที่ตอนนั้นยังไม่ได้มีความคิดเกี่ยวกับมอญเท่าไรนัก  จวบจนวันนี้ที่ต้องทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องมอญในมิติโบราณคดีประวัติศาสตร์ ตามที่ท่านผู้อ่านได้ประจักษ์ในวารสารเสียงรามัญผ่านมาหลายฉบับ  โดยเฉพาะฉบับนี้จะบอกเล่าเรื่องมอญในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ผู้เขียนต้องรื้อฟื้นบางสิ่งบางอย่างในการสืบค้นอดีตเกี่ยวกับมอญให้ประจักษ์แจ้ง  โดยขอตามรอยอดีตอารยธรรมมอญจากแคว้นหริภุญไชยสู่เวียงกุมกามราชธานีเริ่มแรกของอาณาจักรล้านนา

นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ : ความหมายของมอญไม่เคยเลือนหาย

ในสมัยโบราณดินแดนล้านนาปรากฏแว่นแคว้น ๒ แห่ง คือ บริเวณแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำกก สาย อิง และโขง(เชียงราย- เชียงแสน) มีแคว้นหิรัญนครเงินยางแห่งราชวงศ์ลวจักราช (ลัวะ) และบริเวณแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง (เชียงใหม่-ลำพูน) มีแคว้นหริภุญชัยแห่งราชวงศ์จามเทวี (มอญ)   อาจกล่าวได้ว่าอาณาจักรล้านนากำเนิดขึ้นจากการผนวกรวมของสองดินแดน ผู้คน และวัฒนธรรม โดยพญามังรายสถาปนาเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง   

เมืองเชียงใหม่ หรือ ตำนานเขียนว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ชื่อนี้มีความหมายและที่มาคำว่า เชียง  ตามพงศาวดารไทใหญ่และพงศาวดารไทอาหม (อาหมบุราญจี) หมายถึงชุมชนหรือหมู่บ้าน ส่วนคำว่า เวียง ตามความหมายของพงศาวดารไทอาหม แปลว่าค่ายและเมืองมีกำแพงล้อมรอบ มักเป็นที่ตั้งขององค์กรทางการปกครอง (๑)  คำว่า  นพบุรี  (นพ แปลว่าเก้า หรือ แก้วอัญมณี  บุรี แปลว่า เมือง ) ตำนานสุวรรณคำแดงเขียนเล่าเป็นนิทานว่าบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่อยู่ของชาวลัวะ ๙ ตระกูล  (๒) คำว่านครพิงค์ มาจากชื่อแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ ภาษาบาลีเขียนว่า พิงค์  หรือ ระมิง มีความหมายว่า “แม่น้ำของชาวรามัญ” (๓) สอดคล้องจามเทวีวงศ์เรียกชาวลุ่มน้ำปิงว่า “เมงคบุตร” (๔)  ดังนั้น แม่น้ำปิง หรือ แม่ระมิง คือ แม่น้ำที่ชาวมอญหรือเมงอาศัยอยู่นั่นเอง

ดังนั้น ชื่อเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่จึงแฝงความหมายสื่อถึงถิ่นที่อยู่ของชาวลัวะบริเวณเชิงดอยสุเทพ และชาวมอญในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง เป็นกลุ่มคนเจ้าของถิ่นเดิมที่อยู่มาก่อนการสถาปนาอาณาจักรล้านนา  ถ้าจะกล่าวว่าทั้งลัวะและมอญเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมล้านนาในสมัยต่อมาก็คงไม่ผิดนัก  ดังเช่นความเชื่อดั้งเดิมที่ตกทอดจากอดีตเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษของชาวเชียงใหม่ปัจจุบัน ยังคงมีพิธีไหว้ผีปู่แสะย่าแสะ” คือ ผีบรรพบุรษของชาวลัวะและพิธีฟ้อนผีมดผีเม็ง คือ ผีบรรพบุรุษของชาวมอญ ตราบทุกวันนี้    

เวียงกุมกาม  : รากฐานจากวัฒนธรรมมอญ

เป็นที่ยอมรับกันว่าในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ นั้นเป็นยุคทองของหริภุญชัย ในช่วงนี้อารยธรรมมอญ-ทวารวดีปรากฏเด่นชัดที่สุด ซึ่งสะท้อนออกมาทางด้านศิลปวิทยาการ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ ซึ่งยังคงหลงเหลือร่องรอยในปัจจุบันอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่เหล่าบรรดาศิลาจารึกจำนวน  ๗ หลักที่พบในจังหวัดลำพูน ซึ่งจารึกด้วยอักษรมอญเป็นภาษามอญ และอักษรมอญภาษาบาลีซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๙   ในเวลาต่อมาพญามังราย ผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ลวจักราช แห่งเมืองหิรัญนครเงินยางบ้านเมืองในแอ่งที่ราบเชียงราย-เชียงแสน ได้เข้ายึดครองผนวกรวมเมืองหริภุญชัย ตามหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.๑๘๒๔   พญามังรายประทับอยู่ที่หริภุญชัยเป็น เวลา ๒ ปี  แล้วจึงสร้างเวียงแห่งใหม่ คือ เวียงกุมกาม ขึ้นในปีพ.ศ.๑๘๒๙  (๕)  เมืองหริภุญชัยจึงถูกลดบทบาทลงเป็นเมืองหน้าด่านแต่ยังคงเป็นศูนย์กลางของพระศาสนาและศิลปวิทยาการ

เวียงกุมกาม หรือ เวียงกุ๋มก๋วม  ตั้งอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำปิงไหลผ่านทางด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออก และคาดว่ามีการขุดคูเวียง ๓ ด้านให้แม่น้ำปิงเป็นคูธรรมชาติทางด้านทิศเหนือ ก่อกำแพง ๔ ด้าน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง ๖๐๐ เมตร ยาว ๘๕๐ เมตร อาจด้วยเหตุว่าเวียงกุมกามตั้งอยู่ที่ราบลุ่มบริเวณคุ้งน้ำ จึงมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เป็นเหตุให้พญามังรายสร้างเวียงใหม่ในบริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพ ซึ่งมีชัยภูมิเหมาะสม  พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ในปีพ.ศ.๑๘๓๙  แต่เวียงกุมกามก็ไม่ได้ร้างไปทันที ยังคงได้รับทำนุบำรุงอยู่เสมอมาอีกหลายร้อยปี จนกระทั่งร่วงโรยจากเหตุอุทกภัยเนื่องจากแม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดินจากที่เคยจะไหลผ่านทางด้านทิศเหนือและตะวันออก มาเป็นด้านทิศตะวันตกอย่างทุกวันนี้ จากอุทกภัยน้อยใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า ได้พัดตะกอนดิน ทราย กรวดทับถมเป็นชั้นหนาหลายเมตร   เวียงกุมกามในปัจจุบันจึงมีสภาพเสมือนเมืองโบราณใต้ดิน  ซึ่งหายไปจากความทรงจำและหน้าประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ในสมัยอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ตองอู  (พ.ศ.๒๑๐๑-๒๓๑๗)  จนกระทั่งสมัยต้นรัตนโกสินทร์พระเจ้ากาวิละได้ทำการฟื้นฟูบ้านเมืองหลังจากปลดแอกจากการปกครองของพม่ามาหลายร้อยปี มีการใช้นโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ทำให้ผู้คนกลับเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่มากขึ้นรวมทั้งบริเวณเวียงกุมกามด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕   มีบันทึกชัดเจนว่ามีผู้คนเข้าไปก่อตั้งเป็นชุมชนขนาดเล็กที่ “บ้านช้างค้ำท่าวังตาล” (๖)

เวียงกุมกามได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังจากมีการค้นพบในปีพ.ศ.๒๕๒๗ เป็นต้นมา กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจ ขุดค้น บูรณะแซมโบราณสถานหลายสิบแห่ง ทำให้ซากสิ่งก่อสร้างที่จมอยู่ใต้ดินมานานปรากฏขึ้นอีกครั้ง ปัจจุบันเวียงกุมกาม อยู่ในเขตปกครองตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่มาทางทิศใต้ประมาณ ๕ กิโลเมตร

จากการดำเนินงานที่ผ่านมามีโบราณสถานจำนวน  ๒๗  แห่ง  ที่ได้รับการขุดศึกษาแล้ว ได้แก่ วัดอีค่าง (วัดอีก้าง) วัดหัวหนอง วัดหนานช้าง  วัดพันเลา วัดพญามังราย  วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดปู่เปี้ย วัดบ่อน้ำทิพย์ วัดโบสถ์ วัดธาตุน้อย วัดธาตุขาว  วัดเจดีย์  วัดกานโถม (ช้างค้ำ) วัดเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ)  วัดกู่อ้ายหลาน วัดกู่อ้ายสี วัดกู่ริดไม้ วัดกู่ไม้ซ้ง  วัดกู่มะเกลือ วัดกู่ป้าด้อม วัดกู่จ๊อกป๊อก วัดกู่ขาว วัดกุมกามทีปราม วัดกุมกามทีปรามหมายเลข ๑  วัดกุมกาม  วัดกุมกามหมายเลข ๑ วัดกอมะม่วงเขียว(๗) ซึ่งส่วนมากมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑  แต่จากศึกษาทางโบราณคดีทำให้ทราบว่าบริเวณเวียงกุมกามนั้นเคยเป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัยมาก่อน คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗  ร่วมสมัยกับเมืองโบราณในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง เช่นเวียงท่ากาน เวียงมโน เวียงเถาะ รวมทั้งเวียงเจ็ดลินบริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพด้วย

ong_20080408-035722.jpg
เจดีย์ประธานวัดกานโถม (ช้างค้ำ) เวียงกุมกาม
จากหนังสือโบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกามของสำนักศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ กรมศิลปากร

เวียงกุมกามในสมัยหริภุญชัย หลักฐานอยู่ที่ วัดกานโถม (ช้างคำ)  ได้ค้นพบพระพิมพ์ดินเผาสกุลช่างหริภุญชัย ได้แก่ พระสาม พระคง พระแปด พระสิบสอง ฯลฯ และภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย และที่สำคัญได้ค้นพบชิ้นส่วนของจารึกภาษามอญโบราณที่คล้ายไปทางอักษรมอญที่พบในเมืองหริภุญชัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘


จารึกภาษามอญโบราณเวียงกูมกาม (จารึกวัดกานโถม ชิ้นที่ ๓)

3
จารึกภาษามอญโบราณเวียงกูมกาม(จารึกวัดกานโถม ชิ้นที่ ๕)

ชิ้นส่วนศิลาจารึกวัดกานโถม (ช้างค้ำ) ได้จากการขุดค้นซากวิหารกานโถมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗   จำนวน ๕ ชิ้น สลักบนหินทรายสีแดง เดิมคงเป็นจารึกอยู่ในหลักเดียวกัน จารึกอยู่ทั้ง ๓ ด้าน หรือ ๔ ด้าน และจารึกในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน   ข้อความในจารึกกล่าวถึงอุโบสถ  พระพุทธรูป  คนที่ให้เฝ้าพระพุทธรูป และคำอธิษฐาน จากการศึกษาชิ้นส่วนของจารึกทั้ง ๕ ชิ้น โดย ดร. ฮันส์ เพนธ์(๘) พบว่ามีลักษณะอักษร อยู่ ๓ ชนิด คือ

๑. อักษรมอญและภาษามอญ ซึ่งเป็นอักษรที่เก่าที่สุดประมาณว่าจารึกขึ้นในราว พ.ศ. ๑๗๕๐ - ๑๘๕๐   (จารึกวัดกานโถมชิ้นที่ ๕ )
๒. อักษรที่มีลักษณะระหว่างอักษรมอญกับอักษรไทย   คืออักษรมีลักษณะของอักษรมอญและอักษรสุโขทัยอยู่รวมกัน  ถือได้ว่าเป็นอักษรไทยยุคต้นนับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นแรกที่ยังไม่เคยพบที่แห่งใดมาก่อนที่แสดงวิวัฒนาการของอักษรไทย ประมาณว่าคงจารึกในราว พ.ศ. ๑๘๒๐ -  ๑๘๖๐  ( จารึกวัดกานโถม ชิ้นที่ ๓)
๓. อักษรสุโขทัย และอักษรฝักขามรุ่นแรก อยู่รวมกัน  เป็นจารึกครั้งหลังสุดก่อนประมาณ พ.ศ. ๑๙๔๐


วิหารวัดกานโถม (ช้างค้ำ) เวียงกุมกาม บริเวณที่ค้นพบจารึกภาษามอญโบราณ
จากหนังสือโบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกามของสำนักศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ กรมศิลปากร

นอกจากหลักฐานด้านจารึกภาษามอญแล้ว รูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบหริภุญชัยก็แสดงให้เห็นที่ เจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) โดยถ่ายแบบมาจากเจดีย์ประธานของวัดจามเทวี (กู่กุด) จังหวัดลำพูน  นอกจากเวียงกุมกามจะได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมมอญโดยตรงจากหริภุญชัยแล้ว ยังได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมมอญผ่านพม่าด้วย  ดังมีหลักฐานว่า หลังจากพญามังรายเข้ายึดครองหริภุญชัยได้ไม่นาน ต่อมาก็ได้ยกทัพไปเมืองหงสาวดีและเมืองอังวะ ซึ่งขณะนั้นกำลังอ่อนแอจากการถูกโจมตีจากกองทัพมองโกล เจ้าเมืองทั้งสองยอมอ่อนน้อมขอเป็นไมตรี และถวายพระธิดา และข้าทาสรวมทั้งช่างฝีมือจำนวนกลับมาอยู่ที่เวียงกุมกาม(๙)  เหตุที่ผู้เขียนกล่าวว่าศิลปะและสถาปัตยกรรมของเวียงกุมกามนั้นรับอิทธิพลวัฒนธรรมมอญผ่านพม่านั้น เนื่องจากศิลปวิทยาการต่างๆของพม่าเองก็รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมอญแทบทั้งสิ้น  ในสมัยนั้นทั้งมอญและพม่ามีการผสมกลมกลืนกันจนยากที่จะแยกแยะ อาจกล่าวว่าศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่เวียงกุมกามเป็นผลงานของฝีมือช่างแบบมอญ หรือ ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมมอญก็คงจะได้เช่นกัน

เจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) : ศิลปกรรมมอญเมื่อแรกสร้างจนกระทั่งซ่อมแซม

5
เจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ)

เจดีย์เหลี่ยมหรือ กู่คำ  (๑๐) ตั้งอยู่ภายในวัดเจดีย์เหลี่ยม ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียงกุมกาม เจดีย์เหลี่ยมนั้นเป็นเจดีย์องค์แรกที่พญามังรายสร้างขึ้นเมื่อย้ายจากเมืองจากหริภุญชัยมาสร้างเวียงกุมกาม

เมื่อแรกที่ผู้เขียนเข้ามาทำงาน องค์เจดีย์เหลี่ยมมีสภาพชำรุดทรุดโทรม สภาพโดยรวมคร่ำคร่าหม่นหมอง ปูนฉาบก็เสื่อมสภาพ ปูนปั้นก็หลุดร่วง แถมยังถูกตะไคร่น้ำคุกคาม ฉัตรใหญ่ยอดเจดีย์ ถูกกัดกร่อนด้วยสนิม  ฉัตรเล็กประดับสถูปประจำมุมหักหายไป  แต่ทว่าภายใต้ความชำรุดทรุดโทรม ก็ยังคงส่อเค้าความสง่างามทางสถาปัตยกรรม  เอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับได้กล่าวถึงการสร้างเจดีย์เหลี่ยม อันได้แก่ พงศาวดารโยนก ปรากฏข้อความเกี่ยวกับการเจดียเหลี่ยม(กู่คำ) ว่า
“ลุศักราช ๖๕๐ ปีชวด สัมฤทธิศก เจ้ามังรายให้เอาดินที่ขุดต่างหนองต่างมาทำอิฐก่อเจดีย์กู่คำไว้ในเวียงกุมกามให้เปนที่บูชาแก่ชาวเมืองทั้งหลาย”

ตำนานมูลศาสนา ก็กล่าวไว้ตอนหนึ่งเมื่อพญามังรายตีเอาเมืองลำพูนได้แล้ว ว่า
“ถัดนั้นพระยามังรายออกมาตั้งที่เวียงกุมกามแปงบ้านอยู่ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งชื่อว่าบ้านกลาง แห่งหนึ่งชื่อว่าบ้านแหม นั้นก็อยู่เสวยสมบัติในที่นั้น ท่านยินดีในศาสนาพุทธเจ้า จังใครกระทำบุญอันใหญ่เป็นต้นว่าการสร้างเจดีย์นั้น จึงให้อามาตย์ทั้งหลายเอาหินมาแล้วก่อเป็นเหลี่ยมแต่ละด้านให้มีพระพุทธเจ้า ๑๔ องค์ แล้วใส่คำแต่ยอดลงมาดูงามนัก ใส่ชื่อว่ากู่คำ และให้ฉลองถวายมหาทาน กับตั้งเครื่องอัฐบริขาร แก่พระสงฆ์เจ้ามากนักแล”

นอกจากนี้ยังปรากฏประวัติกล่าวถึงในโครงนิราศหริภุญชัย จารึกวัดศรีอุโมงค์คำ เป็นต้น ในปัจจุบันยังคงถกเกถียงกันในหมู่นักวิชาการ ว่า เจดีย์เหลี่ยม(กู่คำ) เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด บางท่านก็เชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญ แต่บางท่านก็เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสาริกธาตุของพระพุทธเจ้า (กระดูกมือข้างขวา)  

หลังจากนั้นเอกสารกล่าวถึงเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕  ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ระบุว่าเจดีย์เหลี่ยมได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดยหลวงโยนการวิจิตร (มองปันโหย่ อุปโยคิน) หรือ ที่เรียกกันทั่วไป ว่า “พระยาตะก่า” คหบดีชาวมอญ ที่เข้ามาค้าขายอยู่ภายในเมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าอินทวิ ไชยานนท์จนได้รับพระกรุณาแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงได้มีศรัทธาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์เหลี่ยมด้วยการใส่ฉัตรใหญ่ ฉัตรเล็ก ก่อซุ้ม พระนั่งประจำทิศที่ฐานทั้งสี่ด้าน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นก่อปิดทางเข้าอุโมงค์ของเจดีย์ เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายหรือขโมยเข้าไปหลบซ่อนอาศัย นอกจากนี้ยังมีการซ่อมแซมลวดลายปูนปั้นที่ประดับองค์เจดีย์ใหม่โดยฝีมือช่างมอญ (พม่า)

ในปีพ.ศ.๒๕๓๘-๒๕๓๙ เกิดน้ำท่วมขังเจดีย์เหลี่ยมและเวียงกุมกาม ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก กรมศิลปากรจึงได้ทำการขุดค้นศึกษาและบูรณะเสริมความมั่นคงเจดีย์เหลี่ยมอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ผู้เขียนในฐานะนักโบราณคดีได้ทำการขุดค้นศึกษาเพื่อศึกษาประวัติการก่อสร้าง และรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ดังนี้

ลักษณะทางสถาปัยกรรม เจดีย์เหลี่ยม(กู่คำ)มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีฐานเขียงกว้างด้านละ ๑๗.๔๕ เมตร มีความสูงจากส่วนล่างของฐานเขียงจรดปลียอด ๓๐.๗๐ เมตร เจดีย์มีลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆหลดหลั่นกัน ๕ ชั้น แต่ละชั้นที่ซ้อนกันเรียกว่าเรือนธาตุ ในชั้นเรือนธาตุแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ ๓  องค์  รวมพระพุทธรูป ๖๐ องค์และเพิ่มเป็น ๔ องค์ เป็น พระนั่งประจำทิศที่ฐานทั้งสี่ด้านในสมัยหลวงโยนการวิจิตร  เรือนธาตุชั้นที่ ๕ เป็นส่วนปลียอดประดับฉัตรยอดเจดีย์  บริเวณมุมเรือนธาตุทุกชั้นประดับสถูปจำลองยอดฉัตร  ที่มุมฐานเขียงประดับสิงห์ (สิงห์ประจำมุม)  จากการขุดค้นทำให้ทราบว่าบริเวณลานประทักษิณและกำแพงแก้วมีการก่อสร้างทับซ้อนกัน ๗ ครั้ง ซึ่งการก่อสร้างครั้งที่ ๖ เป็นการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ในสมัยหลวงโยนการวิจิตร (พระยาตะก่า)

6
พระพุทธรูปภายในซุ้มจระนำ ซ่อมแซมสมัยหลวงโยนการวิจิตร

7
พระพุทธรูปภายในซุ้มจระนำที่เหลือเพียงองค์เดียวที่มีเค้าพระพักตร์เช่นเดียวกับพระพุทธรูปในซุ้มจระนำเจดีย์กู่กุด จ.ลำพูน

จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน ประกอบกับหลักฐานทางเอกสาร ได้แก่ ตำนาน พงศาวดาร และจารึก ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมมอญหริภุญชัย เมื่อพญามังรายตีเมืองลำพูนได้สำเร็จ พระองค์ได้สร้างเวียงกุมกาม และรับอิทธิพลวัฒนธรรมมาด้วย อันได้แก่ ศาสนา  อักษรศาสตร์ ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรม โดยรูปทรงและลักษณะของเจดีย์เหลี่ยมเป็นการถ่ายแบบมาจากเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน และจากการขุดค้นได้พบโบราณวัตถุ เช่น เศษภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย เครื่องถ้วยจีน ภาชนะดินเผาจากเตาสันกำแพง เตาศรีสัชนาลัย ตะปูจีน กระเบื้องมุงหลังคา สำหรับชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมเช่น  ปูนปั้นลวดลายช่อกนก ชิ้นส่วนพระพักตร์พระพุทธรูปปูนปั้น และพระพุทธรูปในซุ้มจรนำของเรือนธาตุชั้นที่ ๑ ด้านตะวันออกของเจดีย์เหลี่ยม ซึ่งเหลืออยู่เพียงองค์เดียวที่มีเค้าพระพักตร์คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำของเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี  อาจกล่าวได้ว่าเจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ) ได้รับต้นแบบจากเจดีย์กู่กุดทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมมอญจากหริภุญชัยมาพร้อมกัน

8
สิงห์ประจำมุมเจดีย์ (ระหว่างการบูรณะ ปี พ.ศ.๒๕๓๙)

ปัจจุบันศิลปะดั้งเดิมเมื่อแรกสร้างเจดีย์ได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องด้วยมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยหลวงโยนการวิจิตร มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบศิลปะ เช่นลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มจระนำ พระพุทธรูป การประดับฉัตร การสร้างสิงห์ประจำมุมและซุ้มพระประจำทิศ  เนื่องจากหลวงโยนการวิจิตรท่านเป็นชาวมอญรูปแบบทางศิลปกรรมในการปฏิสังขรณ์จึงเป็นแบบมอญด้วย   แต่ที่ผ่านมานักวิชาการมักใช้ว่าศิลปะพม่า ซึ่งแท้จริงแล้วด้วยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของพม่าเองนั้นได้รับการถ่ายทอดจากมอญอีกต่อหนึ่ง  ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้เคยอธิบายไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่า  ในการศึกษาวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะนั้นมิใคร่จะมีนักวิชาการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญกับศิลปะมอญเท่าที่ควร  ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดแบบรัฐชาติมีอิทธิพลต่อการกำหนดแบบอย่างของศิลปกรรม เช่น ศิลปะพม่า ศิลปะชวา (อินโดนีเซีย)  ศิลปะขอม (กัมพูชา) รวมทั้งศิลปะจีนและอินเดียด้วย  ราวกับว่าศิลปะใดๆก็ตามต้องอิงกับความเป็นรัฐชาติ ซึ่งมอญไม่มีประเทศหรือไม่มีความเป็นรัฐชาติคำว่า “ศิลปะมอญ”   มักจะถูกนำไปผนวกรวมกับศิลปะพม่าเสมอ  ดังนั้นศิลปะมอญกับศิลปะพม่าคือแบบอย่างเดียวกันตามการรับรู้ของคนทั่วไป ในประเด็นนี้สำคัญอยู่ที่ว่าจะเลือกมองจากมุมไหนเท่านั้นเอง
 
พระยาตะก่าคหบดีชาวมอญผู้ปฏิสังขรณ์เจดีย์เหลี่ยม (กู่คำ)

หลวงโยนการวิจิตร (มองปันโหย่ อุปโยคิน) หรือ พระยาตะก่า  (๑๑)  เดินทางเข้ามาเมืองเชียงใหม่เมื่ออายุ ๓๐ ปี ประกอบอาชีพครั้งแรกเป็น “หมอนวด” อยู่ในคุ้มของเจ้าอินทวิไชยยานนท์ เป็นที่โปรดปราน เพราะเป็นคนดีมีความประพฤติเรียบร้อย ขยันขันแข็ง และมีลักษณะดี จึงทำให้เจ้าอินทวิไชยยานนท์ และเจ้าหญิงอุบลวรรณสนับสนุนให้ทำสัมปทานป่าไม้ โดยบริษัทบอมเบย์ ที่มารับสัมปทานผูกขาดทำอยู่ในป่าแม่แจ่ม หลังจากหมดสัญญากับบริษัทบอมเบย์ แล้วจึงมารับทำงานป่าไม้ของเจ้าอินทวิไชยยานนท์ที่อำเภอแม่สะเรียง จากนั้นจึงมารับช่วงสัมปทานป่าไม้จากบริษัทบอเนียวทำป่าไม้ในเขตท้องที่อำเภอฝาง กิจการเจริญรุ่งเรืองจากความสามารถของตนเอง และแรงสนับสนุนจากเจ้านทวิไชยยานนท์ และพระธิดา จนมีช้างทำงานถึง ๓๐๐ เชือก ซึ่งถือว่าผู้ที่มีความสามารถและมีกำลังทรัพย์เท่านั้นถึงจะมีได้ กิจการขยายตัวออกไปอีกมาก คือการ ขอสัมปทานป่าของเจ้าบุญวาทย์ วงศ์มานิต เจ้านครลำปาง และได้สัมปทานป่าแม่ต้าน เขตเมืองลอง (จังหวัดแพร่ปัจจุบัน) ชื่อเสียงของหลวงโยนการวิจิตร จึงแพร่หลายไปทั่วภาคเหนือไม่เพียงแต่เศรษฐีป่าไม้ด้วยกันเท่านั้น แต่ก็รู้จักกันทั่วไปทั้งหมู่บ้าน ข้าราชการใหญ่น้อย ประชาชนชาวเมือง ตลอดถึงชาวป่าชาวเขา ลูกจ้าง คนงานป่าไม้ทั่วไปด้วย

หลวงโยนการวิจิตรยังเป็นที่นับถือในหมู่ชาวมอญ พม่า เงี้ยว ฯลฯ ที่อยู่ในบังคับกงสุลอังกฤษ เห็นได้จากในเวลาต่อมามิสเตอร์แบร๊กเกต (บิดาของ ยอห์น แบร๊กเกต นายช่างผู้เชี่ยวชาญทางเครื่องยนต์ดีเซล) กงสุลใหญ่อังกฤษสมัยนั้น  เสนอให้หลวงโยนการวิจิตร มีตำแหน่งเฮดแมนหรือผู้แทนชุมชนชาวพม่าในเชียงใหม่ ได้รับพระราชทานขันน้ำพานรองทองคำเป็นเกียรติยศ เมื่อเริ่มมีทรัพย์สินเงินทองมากขึ้น หลวงโยนการวิจิตร จึงทำกุศลโดยบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆและสร้างสาธารณูปโภคเป็นทาน และให้การสนับสนุนทางราชการ โดยเฉพาะเมื่อคราวเกิดจลาจล พวกเงี้ยวที่เมืองแพร่ (พ.ศ.๒๔๕๔)  ได้ช่วยเหลือทางการเงิน และให้ช้างเป็นพาหนะขนส่งเครื่องยุทโธปกรณ์ของราชการอย่างเต็มกำลัง  

เมื่อเสร็จสิ้นจากการปราบปรามกบฏเงี้ยว พระยาสุรสีห์ ข้าหลวงมณฑลพายัพ จึงกราบบังคมทูลความดีความชอบต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงแต่งตั้งเป็นหลวงโยนการวิจิตร รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ต่อมาอีก ๓ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๕๓ ก็ได้รับพระราชทาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกเป็นเกียรติยศ

หลวงโยนการวิจิตรมีภรรยา ๓ คน คือ คุณแม่แก้ว คุณแม่จิ้น และคุณแม่หน้อย มีบุตรธิดาจากภรรยาทั้ง ๓ คน ทั้งหมด ๑๔ คน และได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “อุปโยคิน” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙   

หลวงโยนการวิจิตรถึงแก่กรรมด้วยโรคชราเมื่ออายุ ๘๔ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ หลังจากได้เฝ้าถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือไม่กี่วัน และนอกจากวัดเจดีย์เหลี่ยม(กู่คำ)แล้ว หลวงโยนการวิจิตรได้สร้างบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายวัดในเชียงใหม่ เช่น วัดชัยมงคล วัดแสนฝาง และวัดอุปคุต (พม่า) เป็นต้น

รายการอ้างอิง
(๑) รณนี เลิศเลื่อมใส , ฟ้า-ขวัญ-เมือง จักรวาลทัศน์ดั้งเดิมของไท : ศึกษาจากคัมภีร์โบราณไทอาหม.โครงการประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมชนชาติไทย, ม.ป.พ.๒๕๔๑, หน้า ๒๐๔ อ้างถึงใน คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ , วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ ,กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔ หน้า ๒๗-๒๘.
(๒) สงวน โชติสุรัตน์ , ตำนานสุวรรณคำแดง ในประชุมตำนานล้านนาไทย เล่มที่ ๑ , กรุงเทพฯ : ป.พิศนาคะ, ๒๕๑๕ หน้า ๑๔๘.อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๘.
(๓)วินัย พงษ์ศรีเพียร, (บรรณาธิการ) , ปาไป่สีฟู ปาเตี้ยน, กรุงเทพฯ: รุ่งแสงการพิมพ์, ๒๕๓๙.หน้า ๓๕. อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๘.
 (๔)พระยาปริยัติธรรมธาดา (แปล) , จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย.เชียงใหม่ : นครพิงค์การพิมพ์,๒๕๓๐ หน้า ๓. อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๙.
 (๕)พระยาประกิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ,พงสาวดารโยนก,กรุงเทพ,๒๕๑๕,หน้า ๒๙๘. อ้างถึงใน กรมศิลปากร, เวียงกุมกาม, (รายงานการขุดแต่งศึกษาและบูรณะโบราณสถาน หน่วยศิลปากรที่ ๔ เชียงใหม่ กองโบราณคดี พ.ศ. ๒๕๓๑-๒๕๓๒)  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์,๒๕๓๔,หน้า ๒๓.
 (๖)“ เวียงกุมกาม : ราชธานีเริ่มแรกของล้านนา”   http:// dvthai5.tripod.com/old-town2.htm   วันที่  ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑ และ” แว่นแค้นแห่งลุ่มน้ำแม่ระมิงค์” http://www.thai-tour.com/thai-tour/North/Chiangmai/data/pic_vieng-kumkam.htm วันที่ ๒๕ มีนาคม  ๒๕๕๑.
 (๗) กรมศิลปากร, โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม, กรุงเทพฯ: ถาวรกิจกรพิมพ์,๒๕๔๘ หน้า ๕๐- ๑๐๕.
 (๘)ฮัน เพนธ์ ,จารึกวัดกานโถม (ช้างค้ำ) เชียงใหม่.นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๓  (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๓๒) หน้า ๔๑-๔๘. และดูเพิ่มเติมใน ก่องแก้ว วีระประจักษ์,ศิลาจารึกพบใหม่ที่เจดีย์เหลี่ยม และการศึกษาวิเคราะห์จารึกเวียงกุมกาม ใน กรมศิลปากร,  โบราณคดีล้านนา, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์,๒๕๔๐ หน้า ๒๗๑-๒๙๓
 (๙)เวียงกุมกาม : ราชธานีเริ่มแรกของล้านนา”   http:// dvthai5.tripod.com/old-town2.htm   วันที่  ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๑
 (๑๐) สุกัญญา เบาเนิด, “เจดีย์เหลี่ยมนอกเวียงกุมกาม” นิตยสารศิลปากรฉบับที่ ๔๑ ฉบับที่ ๓ (พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๔๑) หน้า ๗-๒๑.
 (๑๑) กรมศิลปากร , โบราณคดีล้านนา, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์, ๒๕๔๐ หน้า ๑๗๘-๑๗๙.


ขอขอบคุณ
คุณวัชรี ชมพู ภัณฑารักษ์ ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ที่อนุเคราะห์ข้อมูล และภาพถ่ายจารึกวัดกานโถม(ช้างค้ำ) เวียงกุมกาม
คุณชินณวุฒิ วิลยาลัย  นักโบราณคดี ที่แนะนำและให้ความเห็นเกี่ยวกับโบราณคดีประวัติศาสตร์ล้านนา

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์