Skip to main content

ภาสกร อินทุมาร

เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่คนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างน้อย ๒ กลุ่ม คือ จีนและมอญ  มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ผูกโยงอยู่กับ “อัตลักษณ์” (identity) ของชาติพันธุ์แห่งตน นั่นก็คือ “วันตรุษจีน” หรือการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ตามคติจีน ที่รวมถึงการรำลึกถึงบรรพชนของตน และ “วันรำลึกชนชาติมอญ” ที่คนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญจากหลายจังหวัดทั่วประเทศมารวมตัวเพื่อกันทำบุญให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ และร่วมกันจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม

คนจีนและคนมอญได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาบริเวณที่เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบันตั้งแต่ก่อนการสถาปนาความเป็น “รัฐชาติ” (nation state) มาเนิ่นนาน วัฒนธรรมของทั้งสองชาติพันธุ์ต่างดำรงอยู่ และได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย วันตรุษจีนได้กลายเป็น “เทศกาลตรุษจีน” ที่มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ในหลายจังหวัด เป็นการเฉลิมฉลองที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุน เพราะเทศกาลดังกล่าวนำมาซึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาร่วมชม และถึงแม้จะไม่มีเทศกาลตรุษจีนที่ยิ่งใหญ่เยี่ยงนั้น สังคมไทยก็คุ้นเคยกับอัตลักษณ์จีนมาเป็นเวลายาวนาน ดังเช่นการที่แทบจะไม่มีคนใดในกรุงเทพที่ไม่รู้จักเยาวราชอันเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์จีน และเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยร้านค้าที่มีป้ายทั้งภาษาไทยและภาษาจีนกำกับ ในกรุงเทพและอีกหลายๆ จังหวัดก็มีโรงเรียนจีนที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่สอนหนังสือจีนให้กับลูกหลานจีนในเมืองไทย ดังนี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์จีนยังคงดำรงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์แห่งตน และอัตลักษณ์นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

คนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ คนมอญได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คนมอญเหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทในการรับใช้ราชสำนักในฐานะกองกำลัง ศิลปวัฒนธรรมมอญก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมไทย ดังเช่นการที่ปี่พาทย์มอญก็ได้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าดนตรีไทย ข้าวแช่ ซึ่งเป็นการหุงข้าวเพื่อบูชาเทวดาในช่วงสงกรานต์ของมอญ ก็ได้กลายมาเป็นอาหารไทย เป็นต้น และที่สำคัญยิ่ง สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีเชื้อสายมอญ ราชสกุล และตระกูลต่างๆ ในสังคมไทยจำนวนไม่น้อย อาทิ ราชสกุลกฤดากร ราชสกุลกุญชร ราชสกุลทินกร ราชสกุลฉัตรชัย ตระกูลคชเสนี ตระกูล ณ บางช้าง ฯลฯ ต่างมีเชื้อสายมอญ

จะเห็นได้ว่าคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญดำรงอยู่ในสังคมไทยมานับหลายร้อยปี อัตลักษณ์มอญก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ไทยในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์จีน อย่างไรก็ดี “วันตรุษจีน” และ “วันรำลึกชนชาติมอญ” ในปีนี้ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดคำถามในเรื่อง “ท่าที” ของ “รัฐไทย” ที่มีต่ออัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายที่ดำรงอยู่ในสังคม

 

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061526.jpg
งานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ประจำปี ๒๕๕๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล สมุทรสาคร

ขณะที่วันตรุษจีนและเทศกาลตรุษจีนสามารถดำเนินไปได้โดยไม่มีการแทรกแซงจาก “เจ้าหน้าที่รัฐ” แต่งานวันรำลึกชนชาติมอญ ที่จัดขึ้นในวันที่ ๒-๓ กุมภาพันธ์ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร กลับถูกตรวจสอบและควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐของจังหวัดนั้น คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เพราะเหตุใดตัวแทนรัฐไทยในจังหวัดสมุทรสาคร จึงแทรกแซง ตรวจสอบ และควบคุมกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่จัดโดย “คนไทย” ในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ขณะที่ไม่กระทำเช่นนั้นต่อคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์จีน

งานวันรำลึกชนชาติมอญเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีโดย “ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ” ซึ่งเป็นชมรมที่ดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมของคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ร่วมกับชุมชนคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ โดยในปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ ๖๑ การจัดงานในแต่ละปีนั้น จะมีการเวียนไปจัดตามจังหวัดต่างๆ ที่มีชุมชนคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ โดยคนในชุมชนนั้นๆ จะทำหน้าที่ดั่งเจ้าภาพในการจัด ดังเช่น การจัดงานครั้งที่ ๖๐ ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ก็ได้จัดขึ้นที่วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โดยกิจกรรมที่มีในทุกครั้งก็คือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน และมีการแสดงทางวัฒนธรรม รวมทั้งชุมชนคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญจากทั่วประเทศจะได้ใช้โอกาสนี้ในการพบปะพูดคุยกัน และในการจัดงานแต่ละครั้ง ผู้ว่าราชการของจังหวัดนั้นๆ ก็จะให้เกียรติมาเป็นประธานในการเปิดงาน

แต่ในการจัดงานครั้งที่ ๖๑ นี้ นอกจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจะไม่รับเชิญมาเป็นประธานในการเปิดงานแล้วนั้น ยังได้สั่งการให้ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” (กอ.รมน.) ประจำจังหวัดสมุทรสาคร เข้ามาตรวจสอบด้วยท่าทีสงสัยและระแวง รวมทั้งมีหนังสือมายังวัดบ้านไร่เจริญผลซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน โดยระบุว่า สิ่งใดทำได้ สิ่งใด “ห้ามทำ” อาทิ การไม่ให้ใช้ชื่อชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพในการจัดงาน โดยระบุว่า ชมรมฯไม่มีสถานะทางกฎหมาย ทั้งๆ ที่การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ ประชาชนกลุ่มใดก็สามารถรวมตัวกันจัดได้ รวมทั้งมีการระบุให้ใช้เพียงภาษาไทย ไม่ให้ใช้ป้ายภาษามอญในงาน ทั้งๆ ที่ป้ายชื่อวัดเก่าแก่จำนวนมากในสมุทรสาครล้วนใช้ทั้งภาษาไทยและภาษามอญควบคู่กันมาเนิ่นนาน เพราะสมุทรสาครคือจังหวัดที่มีชุมชนคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญอาศัยอยู่มากว่า ๒๐๐ ปี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากทั้งจังหวัดมาตั้งด่านตรวจสอบผู้ที่จะมาร่วมงานในทุกเส้นทาง ตลอดจนกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณวัด

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061543.jpg
หัวใจของงานวันรำลึกชนชาติมอญคือการทำบุญอุทิศกุศลแด่บรรพชนมอญ

เหตุผลที่พอจะเป็นไปได้ในการอธิบายท่าทีดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็คือการที่จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากประเทศพม่า อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติชาติพันธุ์แล้วนั้น จะพบว่าแรงงานที่ถูกบอกว่าเป็นพม่านั้น ส่วนใหญ่คือคนในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ดังนั้น การจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญ จึงอาจทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเกิดความหวาดระแวงว่ากลุ่มชาติพันธุ์มอญจะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องแผ่นดินมอญคืนจากพม่า อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับรัฐพม่าในที่สุด และหากผู้ว่าราชการจังหวัดคิดเช่นนี้จริง ย่อมเท่ากับว่าไม่เข้าใจวิถีชีวิตของแรงงานมอญในสมุทรสาคร ไม่เข้าใจความเป็นไปในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061553.jpg
ป้ายชื่อวัดเขียนด้วยอักษรมอญ หน้าปากทางเข้าวัดปากบ่อ สมุทรสาคร ริมถนนพระราม ๒

ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งของวิธีคิดที่ซ้อนทับกันอยู่ในรัฐไทย กล่าวคือ จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่อาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านภาคอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก พลาสติก และอาหารสัตว์ รวมทั้งกิจการประมงและประมงต่อเนื่องเป็นหลัก โดยลักษณะของแรงงานในกิจการกลุ่มนี้ก็คือ การเป็นลูกเรือประมง การแกะกุ้ง เป็นต้น ลักษณะงานเช่นนี้เอง เป็นงานที่คนไทยไม่ทำ เป็นงานที่นักวิชาการด้านประชากรและแรงงานระบุว่าเป็นงานที่ สกปรก อันตราย และยากลำบาก (dirty, dangerous, difficult) ดังนั้นแรงงานต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์มอญ จึงมีความจำเป็นอย่างมากในจังหวัดสมุทรสาคร

แต่เมื่อแรงงานจำนวนมากเข้ามา รัฐไทยก็เกิดความหวาดระแวง ความระแวงเช่นนี้อาจมาจากฟังภาษาที่แรงงานพูดไม่เข้าใจ การไม่เข้าใจการแสดงออกทางวัฒนธรรม และรหัสทางวัฒนธรรม (cultural code) ของแรงงานที่เป็นคนต่างชาติพันธุ์ เมื่อไม่เข้าใจ ก็ไม่มีวิธีการจัดการเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือการเก็บกด ปิดกั้น ไม่ให้แรงงานเหล่านั้นแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตน ดังเช่นการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เคยมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาครในการห้ามมิให้แรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะ “พวกที่มาจากพม่า” มีกิจกรรมทางวัฒนธรรม และในที่สุดก็มีการเข้ามาตรวจสอบและควบคุมการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญดังที่กล่าว ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เห็นถึงความขัดแย้งของวิธีคิดที่ซ้อนทับกันอยู่ของรัฐไทย ซึ่งก็คือ รัฐไทยยังคงต้องการแรงงานต่างชาติเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของแรงงาน เพราะมองเห็นคนเหล่านี้เป็นเพียง “คนอื่น” (the other) และการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของแรงงานมอญ ก็คือการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่มีตัวตนและบทบาทในพื้นที่ที่เรียกว่าประเทศไทยมานับศตวรรษ เพราะคนทั้งสองกลุ่มนี้ โดยเนื้อแท้แล้วคือคนที่มีราก (root) เดียวกัน มีบรรพบุรุษเดียวกัน ทั้งนี้ การไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของผู้อื่น ก็คือการไม่ยอมรับว่าผู้อื่นมี “ความเป็นมนุษย์” เท่าเทียมกับตน

เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ที่ผ่านมา วัดเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการจัดงานสงกรานต์ที่มีการสรงน้ำพระแบบมอญ การสวดของพระก็เป็นการสวดแบบมอญ ในงานนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครก็ได้มาร่วมงาน และพยายามที่จะพูดว่าคนที่อยู่ที่นี่ไม่ใช่คนมอญ แต่เป็น “คนไทย” ที่มีเชื้อสายรามัญ ตนก็มีบรรพบุรุษเป็นคนไทยเชื้อสายรามัญเช่นกัน คำว่า “มอญ” ดูเหมือนจะกลายเป็นคำหยาบคายสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด และการพูดว่าคนที่นี่ไม่ใช่คนมอญ ก็คือความพยายามที่จะแบ่งแยกคนมอญเมืองไทยออกจากแรงงานมอญที่มาจากเมืองมอญ ทั้งๆที่คนทั้งสองกลุ่มคือคนที่มาจากต้นทางเดียวกัน นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยังอ้างอิงถึงการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญที่กล่าวถึงข้างต้นว่า เป็นการรวมตัวกันของ “เยาวชนมอญ” เพื่อตั้งกองกำลังกู้ชาติ

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061604.jpg
นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กับชุดโสร่งอีสาน ในงานสงกรานต์วัดเกาะ สมุทรสาคร

คำพูดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามายาคติเรื่องรัฐชาติแบบไทยๆ ได้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมองไม่เห็นแม้กระทั่งรากเหง้าของตน หลงเวียนวนอยู่กับคำว่า “ไทย” โดยที่หาความหมายที่ชัดเจนไม่ได้ รวมทั้งไม่เข้าใจการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่หลากหลาย และตีความไปเองว่าการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญคือการตั้งกองกำลังกู้ชาติ ทั้งๆ ที่ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้อธิบายตั้งแต่ต้นแล้วว่าตนคือใครและกำลังทำอะไร รวมทั้งมีการก่อตั้งมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเพื่อการจัดงานในปีนี้อย่างที่ผู้ว่าฯเข้าใจ

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061614.jpg
การสรงน้ำพระแบบมอญ ชาวบ้านจะเทน้ำสะอาดผ่านรางเข้าไปรดบนร่างพระสงฆ์ในโรงสรงน้ำที่มิดชิด

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061633.jpg
แหวนทองหัวพลอยแดงและห่อผ้าผีมอญต้นตระกูล 'มิเกล็ด' ตระกูลทางมารดาของนายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา

การกระทำของรัฐไทยที่ผ่านมาทางผู้ว่าราชการ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สามารถในการสร้างการจัดการทางสังคม (social management) ของรัฐไทย ความไม่สามารถนี้ล้วนเป็นผลผลิตของมายาคติ (myth) ว่าด้วย “รัฐชาติ” และ “ความมั่นคงแห่งรัฐ” ที่เข้าใจว่า “ความแตกต่างหลากหลาย” คือปัญหา คือสิ่งที่จะก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ดังนั้น สิ่งที่รัฐกระทำก็คือการใช้อำนาจในการปิดกั้น และควบคุม ซึ่งผลลัพธ์ของการเก็บกด ปิดกั้น และควบคุมความแตกต่างหลากหลายที่กระทำโดยรัฐไทย ก็ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่รัฐไทยก็ดูจะยังไม่เรียนรู้จากผลลัพธ์นั้น

* บทความนี้ปรับปรุงจากบทความชื่อเดียวกัน ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “มติชน” ฉบับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลวงพ่อสมาน วัดชนะสงคราม ที่เคยเลี้ยงดูส่งเสีย ข้าวแกงก้นบาตรราดรดหัวผมมาจนเรียนจบปริญญาตรีเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่านชอบเปรียบเปรยลูกศิษย์ลูกหาและใครต่อใครที่ลืมคุณคนด้วยสำนวนมอญที่ไม่พ้นไปจากเรื่องการกินการอยู่ เป็นต้นว่า "ใหญ่เหมือนช้าง ยาวเหมือนงู" (แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน)"กินผลฟันต้น เก็บร่มหักก้าน" (กินบนเรือนขี้บนหลังคา)"ข้าวแดงแกงร้อน" (สำนึก)"เสียข้าวสุก" (เนรคุณ)แต่ที่ผมเสียวแปลบไปถึงขั้วหัวใจทุกครั้งเมื่อถูกท่านเหน็บเอาว่า"ข้าวสุกไม่มียาง" (ก็เนรคุณอีก)
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน"มอญร้องไห้" ร้องทำไม ร้องเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือญาติเสีย...?ถูก...ญาติเสีย แต่ต้องระดับคนมีหลานเหลนแล้ว และเป็นที่เคารพรักของผู้คนเท่านั้น หากญาติที่เสียชีวิตอายุยังน้อย แม้จะเสียใจก็ร้องไห้กันไปตามมีตามเกิด ไม่มีการทำพิธีกรรมให้เป็นพิเศษแต่อย่างใดมอญร้องไห้ เป็นมีพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลาน ที่สำคัญเป็นการยกย่องและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตายที่เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต โดยมากแล้วผู้ร้องจะเป็นหญิงสูงอายุและเป็นเครือญาติกับผู้ตาย เนื้อหาที่ร้องพรรณนาออกมานั้นจะได้ออกมาจากใจ…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน สำนวนไทยที่กล่าวถึงการแย่งศพมอญ นั่นคือ “แย่งกันเป็นศพมอญ” หากพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่มีความหมายว่า ยื้อแย่งกัน ซึ่งใช้ในเชิงเปรียบเทียบ๑ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำนวนนี้มีที่มาจากประเพณีมอญแต่โบราณ และคำว่า “แย่ง” นั้นก็เป็นแต่อุบาย ที่หมายให้ผู้คนทั้งหลายหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีมอญหลายประการที่คนไทยยอมรับมาอย่างหน้าชื่นตาบาน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรน้ำผึ้ง ล้างเท้าพระ ดนตรีปี่พาทย์นาฏศิลป์ เหล่านี้เป็นหัวใจของไทยที่รับมาจากมอญ และทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นของตนอย่างกลมกลืน…
องค์ บรรจุน
“...ต้องการแม่ครัว (หรือพ่อครัวก็ได้) ๑ ตำแหน่งค่ะ ทำงานที่ระยองนี่ล่ะ...”“ชาวพม่าเอาไหมครับ ถ้าเอามีเยอะเลย ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ...”“พม่าทำกับข้าวอร่อยหรือเปล่าคะ”“…มีข่าวบ่อยๆ ว่า แรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ต่างดาว ฆ่านายจ้าง ระวังไว้นะ”“พม่าเอาแบบนุ่งกางเกงนะ ห้ามนุ่งโสร่ง เดี๋ยวจะเพิ่มเส้นให้มามากเกินไป...ง่ะ...๕๕๕++”ฯลฯข้อความโต้ตอบในกระดานสนทนาเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนเข้าไปพบโดยบังเอิญ เมื่อปลายปีที่แล้ว ข้อความโต้ตอบข้างต้นสะท้อนแง่คิดของคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อย่างแปรปรวนชวนสงสัย น่าแปลกที่คนไทยเรามีสายตาที่มองคนพม่าในแบบที่ทั้งหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ เป็นตัวตลก…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย   ปกติฉันทำงานที่ตึกประชาธิปก-รำไพพรรณี ซึ่งอยู่ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงมักจะไปทานอาหารที่โรงอาหารของคณะเศรษฐศาสตร์ ในช่วงแรกๆ ที่ฉันมาเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้ยินคนขายอาหารพูดกันเองว่า   “คนเก็บจานที่มาใหม่น่ะ พูดอังกฤษคล่องเชียว เป็นคนพม่า พูดไทยไม่ได้ เวลาจะให้ทำอะไรแกต้องสั่งเขาเป็นภาษาอังกฤษนะ” ฉันเลยรับรู้มาตั้งแต่นั้นว่า โรงอาหารแห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทำงานอยู่ (พอดีตอนนั้นเรียนเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติอยู่ด้วย) หลังจากนั้นก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานพม่ามาตลอด ว่าที่เราเข้าใจว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นได้ทั้งพม่า…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน เครื่องนุ่งห่มนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ เพื่อปกปิดร่างกายคุ้มภัยร้อนหนาวจากธรรมชาติ กันขวากหนามงูเงี้ยวเขี้ยวขอขบเกี่ยว และที่สำคัญ ปิดกายให้พ้นอาย รวมทั้งเสริมแต่งให้ชวนมอง ส่วนการตกแต่งร่างกายตามความเชื่อและลัทธิทางศาสนานั้นน่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลังสุดและมีความสำคัญรองลงมา การตกแต่งร่างกายนั้นเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ใช้เรียกความสนใจจากเพศตรงข้าม นำไปสู่การดำรงเผ่าพันธุ์ อันต่างจากสัตว์ที่เป็นไปตามสัญชาติญาณ และมีแรงดึงดูด (ฟีโรโมน) ในตัว สามารถส่งเสียง สร้างสี ส่องแสง แต่งกลิ่น ล่อเพศตรงข้าม แต่มนุษย์ไม่มีสิ่งเหล่านั้นจึงต้องสร้างขึ้น…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด งานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในฐานะกรรมการจัดงาน แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัส ถือเป็นงานใหญ่ที่คนมอญได้แสดงออกซึ่งขนบธรรมประเพณีอันดีงาม มิเสียชื่อที่เป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดธรรมเนียมมอญโบราณ และเป็นการถวายพระกุศลแด่พระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” กลอนภาษาไทยข้างต้นเป็นกลอนที่ฉันได้ยินมาแต่เด็ก เมื่อมาเขียนบทความนี้ก็พยายามหาว่าใครเป็นคนแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่ามาจากเชคเสปียร์ที่บอกว่า “Two folks look through same hole, one sees mud, one sees star” ส่วนผู้ที่ถอดเป็นภาษาไทยนั้น ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นคนถอดความและประพันธ์กลอนนี้ อย่างไรก็ตาม ฉันเข้าใจว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงการมองสรรพสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าต่างคนอาจมองได้ต่างกัน และเมื่อฉันโตขึ้น ฉันก็ได้เห็นประจักษ์ถึงความเป็นไปตามคำกล่าวนั้น…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน ผีที่คนมอญนับถือ มิใช่ผีต้นกล้วย ผีตะเคียน ผีตานี ผีจอมปลวก แต่เป็นผีบรรพชน ผีปู่ย่าตายายของเขา สิ่งที่รัดโยงและธำรงความเป็นมอญที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือ “การนับถือผี” ผีเป็นศาสนาแรกของทุกชาติทุกภาษา คนมอญนับถือผีควบคู่กับพุทธศาสนา เคารพยำเกรงไม่กล้าฝ่าฝืน การรำผีนอกจากเป็นการเซ่นไหว้ผีประจำตระกูลแล้ว ยังเป็นการรักษาโรคด้วย หากเทียบกับการรักษาโรคในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า เป็นจิตวิทยาการแพทย์ ในบรรดาการรักษาโรคที่หลากหลายของมอญ เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร การนวด คาถาอาคม และพิธีกรรม เช่น การทิ้งข้าว (เทาะฮะแนม) การเสียกบาล (เทาะฮะป่าน) ส่วนพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดคือ การรำผี (เล่ะฮ์กะนา…
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร ชลบุรีอาจจะเป็นจังหวัดที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีชุมชนคนมอญตั้งอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะมอญเกาะเกร็ดและมอญพระประแดงเท่านั้น... แต่ถึงอย่างไรก็ดี ชลบุรีก็ยังมีคนมอญอยู่ที่ “วัดบ้านเก่า” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “วัดบ้านมอญ” แห่งตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และความน่าสนใจของคนมอญของที่นี่ อยู่ที่ “พระ”   วัดบ้านเก่า (วัดบ้านมอญ) ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
องค์ บรรจุน
  สุกัญญา เบาเนิดในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังนิยมสวมในเสื้อเหลือง เสื้อฟ้า เสื้อชมพู (ประดับตราสัญลักษณ์) ด้วยความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกถึงความจงรักภักดี หรือจะด้วยความรู้สึกอื่นใด...ทำให้เรารับรู้ได้ว่าการมีเสื้อผ้าไม่ใช่มีไว้ห่อหุ้มร่างกายอย่างเดียว  แต่เสื้อผ้ายังแฝงไว้ด้วยความหมายหลายสิ่งอย่างอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นสี หรือ ลวดลาย  กล่าวกันว่าการกระทำของคนเรานั้นเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้นเสื้อผ้าก็เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารเรื่องราว เป็นตัวแทนความคิด และแทนความรู้สึกร่วมของคนในกลุ่ม  แรงงานมอญที่อพยพเข้างานทำงานในมหาชัย (จังหวัดสมุทรสาคร)…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย ตอนเล็กๆ ผู้เขียนมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้เรียกทฤษฎีความอลวน (Chaos Theory) กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจว่าทฤษฎีนี้มีเนื้อหาอย่างไร แต่ก็มีผู้อธิบายว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” นี้เป็นการอธิบายว่าการที่เราเริ่มทำสิ่งหนึ่งอาจส่งผลลัพธ์ไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ เพราะทุกสิ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเกินกว่าที่เราจะตระหนัก ตอนนี้ผู้เขียนเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดไฟ เปิดพัดลม การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดสิ่งใดในพื้นที่ที่ห่างออกไปได้หรือไม่ พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน…