Skip to main content

สิ่งดี ๆ ในชีวิต

พ่อค้าแวะมาหาคนสวนที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ตรงหน้ากระท่อม
“สวัสดีครับคนสวน” พ่อค้าทักทาย “ผมมีข้อเสนอดีๆ มาให้ คุณคงสนใจเป็นแน่”
และเมื่อเห็นทีท่าเฉยเมยของคนสวน พ่อค้าก็เริ่มพูดธุระที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งคนสวนจะต้องขยายพื้นที่ปลูกกุหลาบเพิ่มขึ้นและพ่อค้าจะเป็นคนเอาไปขายในเมือง
“คนสวน ด้วยความชำนาญของคุณ กุหลาบของเราจะสวยงามที่สุดในเมือง” พ่อค้าสรุปด้วยท่าทีกระหยิ่มยิ้มย่อง
“ขอบคุณแต่เราไม่สนใจ” คนสวนตอบพร้อมยิ้มอย่างเคย
“แต่คุณจะได้เงินเยอะ...” พ่อค้าว่า ท่าทางแปลกใจ
“ผมไม่สนใจเงินทองหรอก”
“ใครๆ ก็อยากได้เงินกันทั้งนั้น...”
“แต่ไม่ใช่ผม”
“คุณพูดเช่นนั้นได้ยังไง เงินเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต...”
“ไม่รู้สิ! ผมกินอิ่มนอนหลับทุกวัน ผมมีเสื้อผ้าใส่ มีกระท่อมไว้พักพิง ยามค่ำคืนอันหนาวเย็น”  คนสวนตอบอย่างสงบ
พ่อค้าไม่อยากจะเชื่อว่าคนสวนปฏิเสธข้อเสนอของเขา
“และอีกอย่าง...” เขาไม่ยอมแพ้ “คุณจะได้ทำงานที่คุณชอบนะ คนสวน”
“ผมทำงานที่ผมชอบอยู่แล้ว”
คนสวนลุกหนีไป ทิ้งให้พ่อค้าอ้าปากค้าง เขาหุบปาก ลุกขึ้นแล้วออกไปจากสวน พลางบ่นพึมพำว่า “ฉันไม่เข้าใจคนดื้อรั้นพวกนี้เลย ยอมอยู่อย่างยากจน แต่ไม่สนใจสิ่งดีๆ ในชีวิต”
คนสวนใช้เวลาช่วงบ่ายนั้น สดับเสียงเพลงของนกและเฝ้ามองความงามของอาทิตย์อัสดงที่ธรรมชาติดลบันดาล.
จากหนังสือ “สวนแห่งชีวิต”

Grain เขียน, ภารณี วนะภูติ แปล
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง

 

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2

ภาพที่ 3

ผมอ่านงานชิ้นนี้แล้ว ทำให้ครุ่นนึกไปถึงชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ ที่ผมเคยเดินทางไปเยือน ไปนั่งพูดคุย เฝ้าถาม เรียนรู้ ถึงวิถีความเป็นอยู่ของชีวิตของคนทำนา ทำสวน ทำไร่ กลางทุ่งนาป่าเขา

นึกไปถึงความเรียบง่ายของพ่อเฒ่าชาวปวาเก่อญอบ้านแม่คองซ้าย ซึ่งตั้งอยู่ฉากหลังของดอยหลวงเชียงดาว จำได้วันนั้น “พะตีศรี” พาพวกเราลัดเลาะทุ่งนา ลำห้วย ไปตึดแค เอาเศษไม้ใบหญ้า ดินเหนียวโปะกั้นทางน้ำอีกสายให้แห้ง ก่อนลุยโคลน ก้มงมจับปลา ปู กุ้ง ส่วนหมู่แม่หญิงปวาเก่อญอช่วยกันก้มเก็บเด็ดยอดผักกูด ผักไม้ไซร้เครือริมห้วย อีกกลุ่มหนึ่งช่วยกันก่อไฟ หลามปลาด้วยกระบอกไม้ไผ่ ใส่ยอดผักกูด เติมพริก ใส่เกลือ เพียงเท่านั้น ก็ได้อาหารมื้อเที่ยงที่แสนเอร็ดอร่อย

นึกไปถึงใบหน้าของ “พ่อปรีชา ศิริ” ปราชญ์ปกาเกอะญอ ผู้นำธรรมชาติแห่งบ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเปี่ยมสุข อารมณ์ดี

“ทุกวันนี้ เฮาถือว่าหมู่บ้านของเฮานั้นร่ำรวยแล้ว แต่ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง แต่ร่ำรวยธรรมชาติ เฮามีทุกอย่าง มีดิน น้ำ ป่า มีอากาศให้หายใจ มีอาหาร ยาสมุนไพร เฮาอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ต้องดิ้นรนเหมือนคนข้างนอก...”

ใช่, ในหลายๆ พื้นที่ หลายหุบเขา หลายดงดอย ที่พี่น้องชนเผ่าอาศัยอยู่กัน ต่างมีวิถีที่คล้ายคลึงกัน ในทุ่งนา ทุ่งไร่ พวกเขาไม่ได้เพียงแค่ปลูกข้าวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังใช้พื้นที่นาปลูกพืชผัก เก็บกินได้ตลอดปี ไม่ว่า แตงกวา หัวเผือก หัวมัน ผักกาด งา ฟักทอง ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ฯลฯ จนพูดได้เต็มปากเลยว่า ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพาตลาดข้างนอก เพราะเอาทุ่งนาเอาไร่หมุนเวียนเป็นตลาดสด คนที่นี่จึงไม่เคยอดตาย

และทำให้นึกไปถึงคำพูดของ “ป๊ะป่า” ชาวบ้านลาหู่บ้านก็อตป่าบง ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว ที่บอกย้ำกับผมในวันที่พาผมเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟ กลางไร่ข้าวโพด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ผมว่าอยู่แบบพออยู่กิน ไม่ต้องรวยก็ดีเหมือนกัน รวยแล้วเป็นทุกข์ เห็นทักษิณมั้ย รวยแต่ไม่ได้อยู่บ้าน...”

จริงสิ, บางที... “สิ่งดี ๆ ในชีวิต” คงไม่ใช่วัดกันที่ความร่ำรวยหรือคนรวย แต่สิ่งดี ๆ ในชีวิต อาจเป็นเพียงการใช้ชีวิตอยู่กับความเรียบง่ายธรรมดา อยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้และรักษา เฝ้าดูทะนุถนอม ด้วยความรักและความเข้าใจ.

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ผมกลับมานั่งในบ้านปีกไม้ในหุบผาแดง นิ่งมองภาพเก่าๆ ของพ้อเลป่า สลับกับภาพครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
ภู เชียงดาว
เดาะ บื่อ แหว่ ควา สี่ จื้อ เนอ มู้ โข่ ลอ ปก้อ เฉาะ ถ่อ เจอพี่น้องประสานนิ้วมือฟ้าถล่มช่วยกันค้ำไว้ โถ่ ศรี ซี้ เล้อ แหม่จอ ป่า ซี้ ด่า แคนกยูงตายเพราะขนหางขุนนางตายเพราะเชื่อคนยุยง
ภู เชียงดาว
  ที่มาภาพ : www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105เมื่อเราพูดถึงเรื่อง การพัฒนาและความเจริญ ที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปทางนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา และมันกำลังรุกคืบคลานเข้ามาในวิถีบนบ้านป่าบ้านดอยอย่างต่อเนื่อง
ภู เชียงดาว
ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง ‘พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก ‘หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า ‘พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...
ภู เชียงดาว
                          (๑) หอมกลิ่นภูเขาล่องลอยโชยมาในห้วงยามเย็นฉันยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านปล่อยให้สายแดดสีทองส่องสาดกายมองไปเบื้องล่าง- -ท้องทุ่งแห่งชีวิตยังเคลื่อนไหวไปมา ไม่หยุดนิ่งในความหม่นมัว ในความบดเบลอฉันมองเห็นภาพซ้อนแจ่มชัด แล้วเลือนราง
ภู เชียงดาว
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองนั้นคงเหน็ดหน่ายและเหนื่อยหนักจากการงาน ชีวิตหลายชีวิตอาจถูกทับถมด้วยภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ยังไม่นับนานาปัญหาที่เข้ารุมสุมแน่นหนาอีกหลายชั้น จนดูเหมือนว่าชั่วชีวิตนี้คงยากจะสลัดให้หลุดพ้นไปได้ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะครั้งหนึ่งตัวผมเองเคยเอาชีวิตไปวางไว้อยู่ในเมืองนานหลายปี แน่นอน ใครหลายคนในสังคมเมืองจึงชอบเอา ‘การเดินทาง' เป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นออกจากกงล้อแห่งการงานนั้นได้ และมักเอาช่วงสิ้นปีหรือวันปีใหม่ เป็นวันแห่งการปลดปล่อย ในขณะที่ตัวผมนั้น กลับไม่ได้เดินทางไปไหนเลย ยังมีชีวิตแบบวันต่อวัน อยู่กับปัจจุบันขณะ ในหุบเขาผาแดงแห่งนี้
ภู เชียงดาว
ผมไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา จะมีสักกี่คนสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้กี่ครั้งกี่หนกันแน่นอน ความฝันใครบางคนอาจเกลื่อนกล่น ความฝันใครหลายคนอาจหล่นหาย ใครหลายใครอาจมองว่าความฝันคือความเพ้อฝัน ไกลจากความจริง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คน ไม่เคยละทิ้งความฝันพยายามฟูมฟักความฝัน กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู แม้บ่อยครั้งอาจอาจเหนื่อยหนัก เหน็ดหน่าย กว่าจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริงได้...เหมือนชายคนนี้...ที่ทำให้ฝันหนึ่งนั้นกลายเป็น ความงาม และความจริง... ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือน เวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งผมเคยบันทึกไว้ว่า เป็นดินแดนหุบเขาที่มีชีวิต…
ภู เชียงดาว
ผมรู้แล้วว่า วิถีคนสวนกับคนเขียนกวีนั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ต้องฝึก ทดลอง เรียนรู้ ลงมือทำ ทุกวัน ทุกวัน และแน่นอนว่า เมื่อลงมือทำแล้ว เราจำเป็นต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เติมความรักความเอาใจใส่ลงไปอย่างต่อเนื่อง (ถ้าไม่อย่างนั้น พันธ์พืชที่เราหว่านลงไปอาจเฉาเหี่ยวแห้งไป หรือไม่ผืนดินอันอุดมก็อาจแข็งด้านดินดานไปหมด) หลังจากนั้น เรายังต้องอดทนและรอคอยให้มันออกดอกออกผล กระทั่งเราสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตที่งอกเงยในบั้นปลายได้ ทุกวันนี้ ผมยังถือว่าตนเองเป็นเพียงคนสวนมือใหม่ และเป็นคนฝึกเขียนบทกวีอยู่เสมอ ทุกวัน หลังจากพักงานสวน ผมจะลงมือเขียนบทกวี โดยเฉพาะในยามนี้…