Skip to main content
 

1.


"ถ้าเขารู้ว่าภายใต้ซากเน่าของกองฟางคือทองคำ เขาคงจัดการเก็บมันไว้ทุกเส้นฟาง เสียดายที่ไม่รู้ค่า..." พี่สาวคนหนึ่งที่พาตัวเองไปเป็นชาวไร่ชาวสวนในแถบอีสานแลกเปลี่ยนเรื่องฟางกับเขา

จริงสิ, ในขณะที่ชาวนาหลายคน หลายพื้นที่ เลือกเผาฟางข้าวให้ไหม้ไปอย่างไร้ค่า แต่ก็ยังมีชาวนาชาวไร่ ชาวสวน จำนวนหนึ่งพยายามขวนขวาย เสาะหาฟางมาไว้ในแปลงในสวนของตนให้มากเท่าที่จะทำได้

ใช่ พวกเขามองเหมือนกับว่า ฟางข้าวคือทองคำ

"พี่อาศัยที่เขาไม่เห็นค่า จ้างเด็กๆไปขนมาทิ้งไว้หน้าบ้านกองพะเรอเลย ใช้คลุมโคนต้นไม้เยอะแยะก็ยังเหลือ...บางคนเห็นราคา เพราะที่นี่อัดก้อนขายคนเลี้ยงวัวได้" พี่สาวชาวไร่บอก                            

เมื่อถามทุกข์สุขในวิถีชาวป่าชาวไร่  พี่สาวบอกว่า สนุกดี แม้จะเหนื่อย

"ความสุขมีทุกวัน หลังจากงานหนักผ่านไป เวลาไปเที่ยวป่า พี่มีความสุขทุกครั้งไป แม้จะไม่ใหญ่อลังการแบบป่าทางเหนือหรือป่าของธอโร..." เธอค้นหาความสุขหลังตรากตรำงานหนัก

ทำให้เขานึกไปคำบอกเล่าของมิ่งมิตรอีกคนหนึ่งที่อยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก ที่รู้ข่าวเรื่องชาวนาเผาฟางข้าว...

"น่าเสียดายฟางที่เผา ไม่น่าเผาเลย ฟางเอามาทำประโยชน์ได้มากมาย ผสมเป็นคอนกรีตสำหรับทำผนังบ้านก็ได้ ใช้คลุมดินสำหรับปลูกสตรอเบอร์รี่ก็ได้ แวะไปดูภาพสิครับ"

มิ่งมิตรจากแดนไกล ผู้ใช้นาม chedtha3 จากเยอรมันนี เชื้อเชิญเขาเข้าไปเยี่ยม ชมภาพสวรรค์บ้านนาชานเมืองมิวนิค เยอรมนีชม ผ่านทางโลกอินเทอร์เนท
http://www.oknation.net/blog/chedtha3/2009/06/15/entry-1

เขาจ้องมองดูภาพวิถีชาวนาชาวสวนของชาวเยอรมัน รู้สึกชอบ และรับรู้เลยว่า วิถีชาวนานั้นไม่แตกต่างกันนัก จะแตกต่างกันก็ตรงที่ว่า ชาวนาต่างชาติเขามีระบบคิด การจัดการ และการใช้เครื่องทุ่นแรง ในลักษณะฟาร์มที่เหมาะสมและสอดคล้องกว่าวิถีชาวนาไทยทั่วๆ ไป

ประมาณว่า ใช้มันสมองให้มาก ใช้แรงให้น้อยที่สุด(ใช้สัตว์เลี้ยง-เครื่องทุ่นแรงแทนแรงงาน)

ยกตัวอย่างเรื่อง ฟาง เห็นได้ชัดเลยว่า พวกเขามีการใช้วัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้อย่างไรให้มีคุณค่าและคุ้มค่ามากกว่า

นั่นเขาเห็นภาพชาวนาใช้ฟางคลุมแปลงสตอเบอรี่ และในโรงนาเขาเห็นชาวนาเยอรมันใช้ฟางข้าวสาลีอัดแท่งสี่เหลี่ยม เก็บไว้เต็มโรงเรือน เต็มคอกเลี้ยงสัตว์ เอาไว้ให้สัตว์เลี้ยงจำพวก ม้า ลา แพะ กินในหน้าแล้งได้ตลอดปี


ที่มาภาพ http://www.oknation.net/blog/chedtha3/2009/06/15/entry-1

2.

เมื่อหันมาดูวิถีชาวนาไทย เขาพอเห็นความหวังและความอยู่รอดของสังคมเกษตรกรรมอยู่บ้าง เมื่อยังมีอีกหลายกลุ่ม หลายองค์กรเครือข่าย ได้หันมาให้ความสำคัญกับกสิกรรมธรรมชาติกันมากขึ้น

ดูได้จากแนวคิดของครูอุดม ศรีเชียงสา ปราชญ์ชาวนาอีกคนของไทย ที่บอกย้ำเอาไว้นานแล้วว่า...ฟางนั้นมีค่ากว่าทองคำ                                                                      

"เคล็ดที่(ไม่)ลับบนความสำเร็จของการทำกสิกรรมธรรมชาติ ในยุคที่ประเทศไทย กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ฟางคือชิ้นส่วนของต้นข้าวที่ชาวนาเก็บเกี่ยว เอาเมล็ดข้าวเปลือกไปแล้ว ส่วนมากชาวนาเผาทิ้ง การเผาฟางทิ้ง เป็นการสูญเสียทรัพยากรในประเทศโดยเปล่าประโยชน์..."

ครูอุดม บอกว่า เคยมีผู้รู้ และผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง กล่าวเปรียบเปรยเอาไว้ว่า ผู้ใดเผาฟาง ผู้นั้นกำลังเผาธนบัตรฉบับละ 100 บาท ฉบับละ 500 บาทจำนวนมากของตนเองทิ้ง'


ที่มาภาพ : www.ku.ac.th/e-magazine/sep49/image/fan.jpg

"นาของผม ผมใช้สูตรเอาฟาง เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ก็โน้มฟางลงดิน แล้วปล่อยน้ำเข้าประมาณ 3 เดือน ฟางก็จะใส่เน่า นาของผมปีแรกได้ข้าว 100 กว่า ปีต่อมาได้ 200 เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แค่ผมมีฟาง..."

ครูอุดม บอกอีกว่า ฟางให้ธาตุฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ไนโตรเจน ฟางที่เน่าย่อยสลายอยู่กับดินไปเรื่อยๆมันจะไปปรับดินจากดินที่เค็มเป็นดินที่มีความสมดุล

"นาของผมเมื่อก่อนพ่อตาเผาฟาง ข้าวก็ไม่ดี ต่อมาผมบอกให้ทำอย่างที่ผมทำ เดี๋ยวนี้ได้ข้าว 200 กว่า ถ้าหากเราอยากให้มันดีต่อไปอีก เรามาดูพืชตระกูลถั่วทุกอย่าง ถั่วที่ดีที่สุดคือต้นก้ามปู ต้นจามจุรี ต้นบก ต้นอะไรก็ได้ที่เป็นฝัก เราพยายามปลูกไว้ตามไร่ตามนา มันจะให้แร่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม หากเรามีฟางและถั่วมันจะรวมกัน มันก็จะให้แร่ธาตุ NPK ซึ่งอยู่ในปุ๋ยเคมีที่เราไปซื้อตามท้องตลาด"

3.

เมื่อหันมามองสวนในหุบผาแดง ที่เป็นที่อยู่ที่กินของเขาในขณะนี้ ยังคงดำเนินไปอย่างเงียบๆ ช้าๆ ไม่เร่ง ไม่รีบ หลังจากเขาขนฟางข้าวมากองไว้ในสวน เขากลับไปจัดการหอบฟางไปคลี่ๆ คลุมรอบโคนต้นไม้ แล้วนำไปปูลงบนแปลงผักหลังบ้านของเขาอีกครั้ง ปูทับไปบนหญ้าที่เริ่มรกปกคลุมให้หนาเข้าไว้ เพียงไม่นานวัน หญ้าขาดแสง ขาดอากาศหายใจ เริ่มเหลือง แห้งตาย ในขณะฟางเริ่มเน่า และกลายเป็นปุ๋ยในที่สุด

หลังจากนั้น เขาหมั่นรดน้ำ หรือปล่อยให้น้ำฟ้าโปรยลงจนผืนดินทุกหนแห่งชุ่มชื้น เขาเฝ้ารอเมล็ดพืชเมล็ดผักที่หยอดหว่านไว้นั้นงอกเงย โผล่ขึ้นมาจากเศษฟางในแปลง ให้เขาได้เด็ดกินอีกรอบหนึ่ง.

หมายเหตุ : ข้อมูลประกอบ-อ่าน ฟางมีค่ากว่าทองคำ' ของครูอุดม ศรีเชียงสา ได้ที่...http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Dokya/D95/D95_64.html

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
        ผมมองเห็นพลังในตัวผู้ชายคนนี้ ตั้งแต่เขาเปิดประตูลงจากรถ หลังจากเรายืนทักทายกัน เขาเอื้อมไปหยิบกล้องถ่ายรูปขนาดกะทัดรัดที่วางบนเบาะหน้ารถ มากดเก็บภาพหลายมุมรอบๆ สวนและบ้านปีกไม้ ในขณะที่ผมกำลังถือไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดใบสักแห้งหล่นกองเต็มลานดินรอบโคนต้น ผมหอบใส่ตะกร้าไม้ไผ่ยัดๆ ไปเทไว้หลังบ้าน ตั้งใจไว้ว่าเมื่อเก็บเศษใบไม้ใบหญ้าได้มากพอ จะทำปุ๋ยหมักเก็บไว้ พอหันไปมองเขาอีกที ผมเห็นเขาจัดแจงลงมือทำในสิ่งที่รักและชอบเรียบร้อยแล้ว เขานั่งหลบมุมอยู่ระหว่างโรงรถกับต้นตะขบที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ข้างกายเขามีอุปกรณ์เขียนรูป กระดาษ กระดาน จาน สีน้ำ พู่กัน น้ำ…
ภู เชียงดาว
    เมื่อเอ่ยชื่อ...คนมากมายต่างรู้จักเขา… จริงสิ, ใครต่อใครบอกไว้ว่า เขากลายเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาว ของความรัก ความหวัง และความฝันของใครหลายคน กระทั่งมีคนให้สมญานามแด่เขา ‘เจ้าชายโรแมนติก’
ภู เชียงดาว
  กี่ครั้งที่เราทุกข์ กี่ครั้งที่เราล้ม กี่ครั้งที่เราจม อยู่ในท้องทะเลน้ำตา…
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ : www.oknation.net/blog/fontree/2008/08/20/     อีกคืนค่ำ,ผมถวิลหาคำปลอบโยนของอา “เป็นไงบ้าง อยู่ได้ไหม...ชีวิต” นั่นคือถ้อยคำของอาเคยไถ่ถาม น้ำเสียงยังกังวานหากอุ่นอ่อนโยน อาเหมือนดอกไม้กลางป่าอวลกลิ่นหอม อาคงรับรู้ว่างานข่าว งานเขียน มันยากหนักเพียงใด “ที่ถามเพราะอาเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน...” ผมได้แต่พยักหน้าบอกไป “อยู่ได้ครับอา...” ในขณะหัวใจผมตื้นตันในถ้อยคำห่วงใยนั้น
ภู เชียงดาว
ใกล้สิ้นปีทีไร เชื่อว่าหลายคนคงแอบบ่นกับตัวเองอยู่เงียบๆ ลำพัง “ชีวิตเราเดินทางมาไกลจังเลย” “ทำไมมันถึงหนักหนาสาหัสอย่างนี้” “แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป...” “สิ่งไหนเล่าที่เราต้องการ...” “แล้วอะไรคือความสุขที่แท้จริง...”
ภู เชียงดาว
เหน็บหนาวใช่ไหมหัวใจเจ้า             โศกเศร้าใช่ไหมหัวใจหวัง ยามสายลมเลาะภูรับรู้-ดัง               แว่วฟังเหมือนดั่งเพลงร้าวราน ใครบางคนสับสน บ่นถึงเจ้า   ไยวิถีจึงเหน็บหนาวแตกร้าวฉาน ไม่มีแล้วหรือ...จิตวิญญาณ                                        …
ภู เชียงดาว
        ที่มาภาพ : โอ ไม้จัตวา http://blogazine.prachatai.com/user/omaijattava/post/2171
ภู เชียงดาว
ยามหมอกขาวห่มคลุมดอย และลมหนาวพัดมาเยือนเมืองเหนือคราใด ทำให้ผมอดครุ่นคำนึงถึงวิถีเก่าๆ เมื่อครั้งเที่ยวท่องไปตามภูเขา ทุ่งไร่ สายน้ำ และชุมชนของพี่น้องชนเผ่านั้นไม่ได้ แน่ละ ในเส้นทางที่ย่ำไปนั้น มักเจอทั้งเรื่องราวมากมายให้เรียนรู้ พานพบ และหยุดทบทวนดูภาพผ่านในบางสิ่ง และละทิ้งภาพผ่านในบางอย่าง แต่โดยรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทุกข์สุข สดชื่นรื่นรมย์ หรือปวดปร่าในห้วงลึก เราไม่อาจเกลี่ยทิ้งไปได้ เพราะนั่นล้วนคือวิถีแห่งความจริงทั้งสิ้น...