Skip to main content

 

\\/--break--\>

 

 

 

 

ต้นเดือนเมษายน เขากับเพื่อนสนิทอดีตครูดอย ขับรถขึ้นมาจากใต้ พากันไปเยือนห้วยเสือเฒ่า ไม่ไกลนักจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน อันเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของพี่น้องชาวกะยัน หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในนามกะเหรี่ยงคอยาว ในความรู้สึกขณะนั่งอยู่ในรถตอนนั้น เขาบอกกับตัวเองว่า ไม่อยากไปเยือนในฐานะนักท่องเที่ยว หากอยากไปในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง เขาตั้งใจแวะไปเยี่ยมหาแม่เฒ่ามะโน ซึ่งก่อนหน้านั้นเพื่อนและน้องสาวคนหนึ่งเคยมากินนอนอยู่กับครอบครัวของแม่เฒ่า จนสนิทแนบแน่นกันเป็นดั่งเครือญาติผูกพัน

 

แม่เฒ่ามะโนดีใจใบหน้าเปื้อนยิ้ม ที่เห็นพวกเรามาเยี่ยม รีบกุลีกุจอขอตัวไปต้มน้ำ หากาแฟมาให้เรานั่งจิบกันในเพิงหน้ากระท่อม ใกล้ๆ กับแผงขายของที่ระลึก ใกล้เที่ยง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มทยอยกันเข้ามา ดูเหมือนว่าทุกคนที่มาเยือนห้วยเสือเฒ่าจะไม่สนใจอย่างอื่น นอกจากจ้องมองดูห่วงทองเหลืองบนคอของแม่หญิงชาวกะยัน ด้วยสายตาของความกระหายใคร่รู้ พร้อมขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก แม่เฒ่าบอกว่า ตอนนี้ใส่ห่วงทั้งหมด 24 ห่วง ยาวที่สุดในหมู่บ้าน ครั้นเมื่อสอบถามน้ำหนักของห่วงในร่างกายของแม่เฒ่า จึงรู้ว่าน้ำหนักห่วงบนคอ 5 กก.และที่สวมห่วงขาอีกข้างละ 1 กก.รวมเป็น 7 กก.ซึ่งหนักไม่ใช่เล่น

 

แต่แม่เฒ่ามะโนยังยิ้มอย่างภูมิใจกับห่วงทองเหลืองของแท้ที่เหลืออยู่...

 

แหละเมื่อพูดถึงชาวกะยัน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักรู้จักกันเพียงแค่กะเหรี่ยงสวมห่วงคอสีทอง ที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมเหมือนกับเป็นสวนสัตว์มนุษย์เพียงแค่นั้น แต่ไม่ค่อยมีใครรับรู้และสนใจว่า พวกเขาก็เป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์อิสระกลุ่มหนึ่งที่จำต้องเดินทางไกล ลี้ภัยจากการสู้รบในฟากฝั่งพม่า หนีจากโหดร้ายอดยาก มาอาศัยอยู่ในเมืองไทยนานกว่ายี่สิบปีแล้ว

 

ทำให้เขานึกไปถึงถ้อยคำของน้องสาวคนนั้น ที่ปัจจุบันไปเป็นสะใภ้ของแม่เฒ่ามะโน ได้บันทึกเอาไว้ให้เห็นภาพเป็นจริง ไม่ใช่เหมือนกับที่หลายๆ องค์กรหน่วยงานนั้นมองเห็น

 

เธอบอกว่า ชาวกะยันก็เหมือนนกพลัดถิ่น ที่จำต้องทิ้งรังเพื่อหาที่อยู่แห่งใหม่ ทว่าครั้นมาถึงดินแดนใหม่ กลับพบว่า ชีวิตนั้นอยู่รอด หากถูกมือที่มองไม่เห็นจับต้อนเข้ากรง แล้วป้อนข้าวป้อนน้ำให้พอประทังชีวิต

 

คงเหมือนกับที่เธอบอกเช่นนั้น...เขาครุ่นคิด นั่นทำให้เขารู้ว่า นกพลัดถิ่นฝูงนี้จึงไม่อาจจะโบยบินต่อไป ตราบใดที่อำนาจรัฐ อำนาจลับ และผลประโยชน์ ยังเข้าครอบครองและครอบงำพวกเขาอยู่

 

"ทุกวันนี้ ไม่มีบัตร ไปไหนไม่ได้ ไปได้แค่เมืองแม่ฮ่องสอนเท่านั้น" แม่เฒ่าเอ่ยออกมาเบาๆ

 

"แล้วถ้าเขาอนุญาตให้ไปได้ อยากไปไหนบ้างละ" เขาแหย่ถามเล่นๆ

 

"อยากไปเชียงใหม่ อยากไปกรุงเทพฯ อยากขี่เครื่องบิน อยากไปทะเล แม่มีเพื่อนเป็นฝรั่งด้วยนะ เขาอยู่แถวทะเล แต่ไปไม่ได้ ไม่มีบัตร..." แม่เฒ่าบอกเล่าความฝันเหมือนเด็กๆ

 

ภาพที่เขามองเห็นในวันนั้น ชาวกะยันยังคงอาศัยอยู่ในกระท่อมเก่าๆ เพิงพักหลังเล็กๆ ที่เบียดเสียดกันอยู่ในเนื้อที่อันจำกัดเช่นนั้น ไม่สามารถปลูกไร่ใส่สวนเหมือนคนทั่วไปได้ วิถีความเป็นอยู่จึงแร้นแค้นและจำยอม

 

กระนั้น พี่น้องชาวกะยันกลุ่มนี้ ยังคงฝันถึงดินแดนแห่งใหม่ แม้ว่าดินแดนนั้นจะไกลและนานเพียงใดก็ตาม ใช่ หลายคนที่นี่ยังหวังจะบินไกลเป็นครั้งสุดท้าย ตามโครงการของ UNDP โดยยึดหลักกติกาสากลของสหประชาชาติ ว่าผู้ลี้ภัยย่อมมีสิทธิที่จะเลือกไปอยู่ประเทศที่สาม เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

 

"ตอนนี้ลูกๆ เตรียมตัวไปประเทศที่สามกันแล้วหละ..." แม่เฒ่าเอ่ยออกมากลางความเงียบ

 

"ถ้าแม่มีโอกาสไปอยู่ประเทศที่สาม แม่อยากไปที่ไหน"

 

"อยากไปอเมริกา...แต่ถ้าไม่ใช่อเมริกา ก็จะไม่ไปไหน ขออยู่เมืองไทยที่นี่ดีกว่า"

 

"ทำไมถึงอยากไปอยู่อเมริกา" เขาแกล้งถาม

 

"ไม่รู้เหมือนกัน..."

 

แม่เฒ่ามะโนพูดซื่อๆ ไม่ได้อธิบายอะไรให้เราชัด จนเขาครุ่นคิดไปเองว่า อาจเป็นเพราะใครต่อใครพูดถึงประเทศสหรัฐอเมริกาให้แม่เฒ่าฟัง หรือไม่อาจได้ดูโทรทัศน์ ฟังข่าวที่พูดถึงอเมริกากันอยู่บ่อยๆ ว่าอเมริกานั้นมีเสรีภาพ

 

คำพูดของแม่เฒ่า ทำให้เขานึกไปถึงคำบอกเล่าของ ‘เดวิด ธอโร' ที่ว่าไว้ใน ‘วอลเดน'

 

‘...อเมริกาที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวนั้น คือประเทศที่คุณมีเสรีภาพ ที่จะใช้วิถีชีวิต ซึ่งสามารถจะทำให้คุณอยู่ได้, เป็นดินแดนซึ่งรัฐ ไม่พยายามที่จะบีบคั้นให้คุณรักษาไว้ซึ่งระบบทาส และสงคราม'

 

เขาหันไปมองแม่เฒ่ามะโนอีกครั้ง แม่เฒ่าอาจรู้สึกเช่นนั้น หากในห้วงเวลานี้ แม่เฒ่ายังยืนอยู่ที่เดิม ที่นี่...ดินแดนที่ไม่มีสงคราม หากเสรีภาพนั้นแหว่งหายไปนานแล้ว!

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนเขาและเพื่อนๆ จะขอตัวลากลับในวันนั้น แม่เฒ่าหยิบโปสการ์ดรูปวาดแม่เฒ่าแรเงาสีเทาให้คนละใบ ก่อนบอกย้ำว่า "หมั่นมาหากันนะ มาครั้งหน้ามานอนค้างที่นี่ซักคืน"

 

ในขณะที่ทุกคนยกมือไหว้ โอบกอดและร่ำลา เขามองเห็นดวงตาแม่เฒ่านั้นรื้นๆ ด้วยน้ำใสๆ

เป็นดวงตาของความโดดเดี่ยว แปลกแยก และเหงาเศร้า

จ้องมองเหม่อดูผู้คนที่เดินเข้ามาและเดินจากไปเงียบๆ

หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์คนคือการเดินทาง เสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พ.ค.2552

 

 

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
        ผมมองเห็นพลังในตัวผู้ชายคนนี้ ตั้งแต่เขาเปิดประตูลงจากรถ หลังจากเรายืนทักทายกัน เขาเอื้อมไปหยิบกล้องถ่ายรูปขนาดกะทัดรัดที่วางบนเบาะหน้ารถ มากดเก็บภาพหลายมุมรอบๆ สวนและบ้านปีกไม้ ในขณะที่ผมกำลังถือไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดใบสักแห้งหล่นกองเต็มลานดินรอบโคนต้น ผมหอบใส่ตะกร้าไม้ไผ่ยัดๆ ไปเทไว้หลังบ้าน ตั้งใจไว้ว่าเมื่อเก็บเศษใบไม้ใบหญ้าได้มากพอ จะทำปุ๋ยหมักเก็บไว้ พอหันไปมองเขาอีกที ผมเห็นเขาจัดแจงลงมือทำในสิ่งที่รักและชอบเรียบร้อยแล้ว เขานั่งหลบมุมอยู่ระหว่างโรงรถกับต้นตะขบที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ข้างกายเขามีอุปกรณ์เขียนรูป กระดาษ กระดาน จาน สีน้ำ พู่กัน น้ำ…
ภู เชียงดาว
    เมื่อเอ่ยชื่อ...คนมากมายต่างรู้จักเขา… จริงสิ, ใครต่อใครบอกไว้ว่า เขากลายเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาว ของความรัก ความหวัง และความฝันของใครหลายคน กระทั่งมีคนให้สมญานามแด่เขา ‘เจ้าชายโรแมนติก’
ภู เชียงดาว
  กี่ครั้งที่เราทุกข์ กี่ครั้งที่เราล้ม กี่ครั้งที่เราจม อยู่ในท้องทะเลน้ำตา…
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ : www.oknation.net/blog/fontree/2008/08/20/     อีกคืนค่ำ,ผมถวิลหาคำปลอบโยนของอา “เป็นไงบ้าง อยู่ได้ไหม...ชีวิต” นั่นคือถ้อยคำของอาเคยไถ่ถาม น้ำเสียงยังกังวานหากอุ่นอ่อนโยน อาเหมือนดอกไม้กลางป่าอวลกลิ่นหอม อาคงรับรู้ว่างานข่าว งานเขียน มันยากหนักเพียงใด “ที่ถามเพราะอาเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน...” ผมได้แต่พยักหน้าบอกไป “อยู่ได้ครับอา...” ในขณะหัวใจผมตื้นตันในถ้อยคำห่วงใยนั้น
ภู เชียงดาว
ใกล้สิ้นปีทีไร เชื่อว่าหลายคนคงแอบบ่นกับตัวเองอยู่เงียบๆ ลำพัง “ชีวิตเราเดินทางมาไกลจังเลย” “ทำไมมันถึงหนักหนาสาหัสอย่างนี้” “แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป...” “สิ่งไหนเล่าที่เราต้องการ...” “แล้วอะไรคือความสุขที่แท้จริง...”
ภู เชียงดาว
เหน็บหนาวใช่ไหมหัวใจเจ้า             โศกเศร้าใช่ไหมหัวใจหวัง ยามสายลมเลาะภูรับรู้-ดัง               แว่วฟังเหมือนดั่งเพลงร้าวราน ใครบางคนสับสน บ่นถึงเจ้า   ไยวิถีจึงเหน็บหนาวแตกร้าวฉาน ไม่มีแล้วหรือ...จิตวิญญาณ                                        …
ภู เชียงดาว
        ที่มาภาพ : โอ ไม้จัตวา http://blogazine.prachatai.com/user/omaijattava/post/2171
ภู เชียงดาว
ยามหมอกขาวห่มคลุมดอย และลมหนาวพัดมาเยือนเมืองเหนือคราใด ทำให้ผมอดครุ่นคำนึงถึงวิถีเก่าๆ เมื่อครั้งเที่ยวท่องไปตามภูเขา ทุ่งไร่ สายน้ำ และชุมชนของพี่น้องชนเผ่านั้นไม่ได้ แน่ละ ในเส้นทางที่ย่ำไปนั้น มักเจอทั้งเรื่องราวมากมายให้เรียนรู้ พานพบ และหยุดทบทวนดูภาพผ่านในบางสิ่ง และละทิ้งภาพผ่านในบางอย่าง แต่โดยรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทุกข์สุข สดชื่นรื่นรมย์ หรือปวดปร่าในห้วงลึก เราไม่อาจเกลี่ยทิ้งไปได้ เพราะนั่นล้วนคือวิถีแห่งความจริงทั้งสิ้น...