Skip to main content

 

 

 

 

คือคนที่อยู่ป่า

 

ป่าทั้งป่าเหมือนกำลังร่ำร้องบทเพลงเศร้า

ลมหอบเอาความเคว้งคว้างมาสู่หัวใจเหงา

ช่างโศกวังเวงยามยินเสียงแมลงไพรกรีดครวญหวนไห้

หยาดน้ำจากตาข้ารินไหลอาบแก้มเกรอะกรัง

ข้าคุกเข่าอยู่ริมหลุมฝังศพพ่อ

บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านกลางป่าลึก

เถาวัลย์ทอดเลื้อยรกแผ่คลุมไปทั่ว

ดอกไม้ที่ข้าเคยปลูกไว้รายรอบนั้นเหี่ยวแห้งเฉา

 

ข้ารู้,ว่าพ่อคงเสียใจ

หากข้าไม่อาจยุดยื้ออำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาได้

แผ่นดินถิ่นเกิดที่เคยสงบ สันติ และอิสระ

พลันสั่นสะเทือนด้วยบทบัญญัติที่ถูกจำกัดสิทธิ์

สิ่งที่พี่น้องของข้าร่วมต่อสู้มาเนิ่นนาน

กลับกลายเป็นเพียงสัญญาความว่างเปล่า!?

เมื่อพวกท่านพูดด้วยเสียงอันดังว่า…ไม่ไว้ใจ!!

 

โอ.ข้ารู้,เพราะหัวใจท่านมิได้ถูกปลดปล่อย

ความคิดจึงคับแคบอยู่ในกรอบของความระแวงสงสัย

เพราะวิถีชีวิตท่านอยู่แต่ในเมืองแห่งอำนาจ

ท่านจึงมองเห็นคนป่าคนไพรคือตัวปัญหา

คือคนชายขอบที่พวกท่านมิอาจมองเห็น

ดวงตาท่านหลับสนิท หัวใจคุณมืดมิด

คิด-คิด-คิดอยู่ในความคิดของตัวเอง

 

ท่านไม่อาจตัดแยกวิญญาณของเราให้ขาดลงได้

แผ่นดิน ภูเขา ป่าไม้ สายน้ำ และชนเผ่า

เป็นเช่นดั่งญาติมิตรเกื้อกูลผูกพันกันแนบแน่น

ใครบ้างเล่า,ไม่รู้จักความเจ็บปวดรวดร้าว

เมื่อรู้ว่ามีมือที่มองไม่เห็นมาฉุดพรากลูกออกจากอ้อมอกแม่

 

วิญญาณพ่อข้า,จงรับรู้…

เถิด,พี่น้องของข้าจงยืนหยัด

จงจับมือกันให้มั่น อย่าหวาดหวั่นครั่นคร้าม

แม้ในห้วงยามนี้ ดวงตะวันยังส่องแสงมาไม่ถึง.

 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์สะพานรุ้ง สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับที่ 9 ปีที่49 2-9 ..2545

 

 

 

ผมค้นบทกวีเก่าๆ ที่เคยเขียนไว้เมื่อครั้งทำงานอยู่ร่วมกับพี่น้องชนเผ่าบนดอยสูงออกมาอ่านอีกครั้ง หลังจากอ่านบทความและความคิดเห็นของนักวิชาการ ของ ดร.ท่านหนึ่ง แล้วรู้สึกผะอืดผะอมเหมือนกับถูกบังคับให้กินของหวานตามด้วยของขม

 

บางความเห็นของ ดร.ท่านนั้นได้เอ่ยออกมาชัดเจนว่า- -ชาวเขาสมควรออกจากป่า!

 

...ชาวเขา เอาเขาทั้งเขานับหมื่น ๆไร่ไปบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัวของตนเอง 30 หลังคาเรือน แล้วมาอ้างว่าเป็นความมั่นคงทางอาหาร แย่จริง ๆ นี่คือการปล้นและปิดโอกาสให้คนอื่นได้ใช้ผืนป่ามากกว่า...” ดร.ท่านนั้นแสดงความเห็นเช่นนั้น

 

ทำให้ผมนึกไปถึงชุมชนปกากะญอแห่งหนึ่ง ที่อาศัยอยู่มานานหลายชั่วอายุคนขึ้นมาทันใด ชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาหลายรางวัล เป็นชุมชนที่หลายคนไปเยือนต่างกลับออกมาบอกให้สังคมและโลกรับรู้ว่า- -พวกเขา 30 หลังคาเรือน แต่สามารถดูแลป่าได้เป็นหมื่นๆไร่

 

แต่ ดร.ท่านนั้น กลับมองกลับข้าง เหมือนจะบอกว่า ทำไมคนแค่ 30 หลังคาเรือน ถึงครอบครองป่า เอาไปบำเรอสุขกันได้ตั้งหมื่นไร่

 

จนใครคนหนึ่งบอกกับ ดร.เหมือนอยากจะประชด ว่า “ดี งั้นก็อพยพพวกชาวเขาออกมาจากป่า ให้หมดเลย คงไม่ต่ำกว่าล้านคนแหล่ะ ให้ไปอยู่ที่ไหนดีล่ะ สร้างเกาะให้อยู่ใหม่ดี...หรือว่าสร้างคอนโดให้อยู่ในกรุงเทพดี จะได้มีงานทำ มีข้าวกิน...”

 

ดร.ท่านนั้น ตอบกลับทันใด…

 

ถ้าคิดว่าชาวเขาอยู่ลำบาก ก็มาอยู่ในเมือง รับจ้างซีครับ หรือไม่ก็ให้รัฐเลี้ยงให้อยู่เฉย ๆ อย่าไปเที่ยวทำลายป่า จับจองที่ดินของคนทั้งชาตินะครับ...” โห...ดร.คิดได้ไงนี่

 

แต่ผมรู้สึกชื่นชมกับผู้ที่บอกว่าเป็น ‘ศิษย์คนหนึ่ง’ ของ ดร.ท่านนั้น ที่ศิษย์กล้าวิพากษ์อาจารย์ตรงๆ

 

ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ ถ้าชาวเขามีอำนาจ เขาจะออกโฉนดพื้นที่ป่าเขาทั้งหมด เป็นทรัพย์สินของพวกเขา เป็นของบรรพชนของพวกเขา เป็นของพวกเขามีอยู่แต่เดิม...รัฐไทยต่างหากที่ไปรุกรานพวกเขา ยึดครองภูเขาของเขา(ที่บรรพบุรุษเขาเคยอยู่เคยใช้เป็นที่ทำกินมาตลอดประวัติศาสตร์ของชาวเขา)นายทุนไทยบุกรุกที่ดินในป่าเขาเพื่อสร้างรีสอร์ท บุกรุกป่าเขาเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศ(ทั้งนายทุน นักการเมือง ทหาร/หรือไม่ก็ทั้งสามอาชีพนี้คือคนๆเดียวกันกลุ่มเดียวกัน)...”

 

ศิษย์คนหนึ่ง’ ยังบอกตรงๆ อีกว่า “...เหตุผลของอาจารย์ บางครั้งก็เป็นเหตุผลของนักประเมินมูลค่าทรัพย์สิน อาจารย์ไม่เข้าใจความมั่นคงของชีวิตของชาวชนบท ที่เป็นคนชายขอบ เรื่องนี้มันเป็นมุมมองที่ต่างกัน ระหว่างชนชั้นนายทุน ชนชั้นผู้รับใช้นายทุน กับเจ้าของทรัพยากร เราเป็นผู้รุกราน ชาวปกากะญอ รุกรานผีตองเหลือง รุกรานชาวซาไก ซามัง กล่าวร้ายต่อพวกเขา ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาทำ เป็นวิถีชีวิต วนเวียนทำไร่ แต่เรากลับไปสร้างสนามกอล์ฟ เพียงเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง สร้างรีสอร์ทเพียงเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง ที่เปลี่ยนทรัพยากรของคนท้องถิ่น มาเป็นของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วใช้กฎหมาย พ...- ...มาบังคับใช้อ้างกฎหมาย อ้างรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ...”

ยัง...ยังไม่พอ ‘ศิษย์คนหนึ่ง’ ยังวิพากษ์อาจารย์ ดร.ท่านนั้นทิ้งท้ายอีกว่า...“ตอนแรกผมเชื่อว่าอาจารย์จะทรยศต่อชนชั้นของตัวเอง เพื่อประชาชนผู้ยากไร้ แต่แล้วอ่านไปนานๆ พบว่า...อาจารย์ก็มีจิตวิญญาณของผู้เป็นชนชั้นนายทุน มองการลงทุนคือกำไร มองกำไร...เป็นแค่เพียงตัวเงิน...”


ผมอ่านความคิดเห็นทั้งหมดในท้ายบทความชิ้นนี้ ซึ่งยังโต้เถียงกันไม่รู้จบ แล้วรู้สึกทอดถอนใจ...

 

เพื่อกันลืม- - ดร.ท่านนั้น คือ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กับบทความที่ชื่อ ‘โฉนดชุมชน เรื่องวิบัติที่ต้องคัดค้านอย่างถึงที่สุด’ เชิญชวนไปอ่านกันได้ที่...http://www.prachatai.com/journal/2009/09/25985

 

 

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
        ผมมองเห็นพลังในตัวผู้ชายคนนี้ ตั้งแต่เขาเปิดประตูลงจากรถ หลังจากเรายืนทักทายกัน เขาเอื้อมไปหยิบกล้องถ่ายรูปขนาดกะทัดรัดที่วางบนเบาะหน้ารถ มากดเก็บภาพหลายมุมรอบๆ สวนและบ้านปีกไม้ ในขณะที่ผมกำลังถือไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดใบสักแห้งหล่นกองเต็มลานดินรอบโคนต้น ผมหอบใส่ตะกร้าไม้ไผ่ยัดๆ ไปเทไว้หลังบ้าน ตั้งใจไว้ว่าเมื่อเก็บเศษใบไม้ใบหญ้าได้มากพอ จะทำปุ๋ยหมักเก็บไว้ พอหันไปมองเขาอีกที ผมเห็นเขาจัดแจงลงมือทำในสิ่งที่รักและชอบเรียบร้อยแล้ว เขานั่งหลบมุมอยู่ระหว่างโรงรถกับต้นตะขบที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา ข้างกายเขามีอุปกรณ์เขียนรูป กระดาษ กระดาน จาน สีน้ำ พู่กัน น้ำ…
ภู เชียงดาว
    เมื่อเอ่ยชื่อ...คนมากมายต่างรู้จักเขา… จริงสิ, ใครต่อใครบอกไว้ว่า เขากลายเป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาว ของความรัก ความหวัง และความฝันของใครหลายคน กระทั่งมีคนให้สมญานามแด่เขา ‘เจ้าชายโรแมนติก’
ภู เชียงดาว
  กี่ครั้งที่เราทุกข์ กี่ครั้งที่เราล้ม กี่ครั้งที่เราจม อยู่ในท้องทะเลน้ำตา…
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ : www.oknation.net/blog/fontree/2008/08/20/     อีกคืนค่ำ,ผมถวิลหาคำปลอบโยนของอา “เป็นไงบ้าง อยู่ได้ไหม...ชีวิต” นั่นคือถ้อยคำของอาเคยไถ่ถาม น้ำเสียงยังกังวานหากอุ่นอ่อนโยน อาเหมือนดอกไม้กลางป่าอวลกลิ่นหอม อาคงรับรู้ว่างานข่าว งานเขียน มันยากหนักเพียงใด “ที่ถามเพราะอาเคยผ่านจุดนั้นมาก่อน...” ผมได้แต่พยักหน้าบอกไป “อยู่ได้ครับอา...” ในขณะหัวใจผมตื้นตันในถ้อยคำห่วงใยนั้น
ภู เชียงดาว
ใกล้สิ้นปีทีไร เชื่อว่าหลายคนคงแอบบ่นกับตัวเองอยู่เงียบๆ ลำพัง “ชีวิตเราเดินทางมาไกลจังเลย” “ทำไมมันถึงหนักหนาสาหัสอย่างนี้” “แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป...” “สิ่งไหนเล่าที่เราต้องการ...” “แล้วอะไรคือความสุขที่แท้จริง...”
ภู เชียงดาว
เหน็บหนาวใช่ไหมหัวใจเจ้า             โศกเศร้าใช่ไหมหัวใจหวัง ยามสายลมเลาะภูรับรู้-ดัง               แว่วฟังเหมือนดั่งเพลงร้าวราน ใครบางคนสับสน บ่นถึงเจ้า   ไยวิถีจึงเหน็บหนาวแตกร้าวฉาน ไม่มีแล้วหรือ...จิตวิญญาณ                                        …
ภู เชียงดาว
        ที่มาภาพ : โอ ไม้จัตวา http://blogazine.prachatai.com/user/omaijattava/post/2171
ภู เชียงดาว
ยามหมอกขาวห่มคลุมดอย และลมหนาวพัดมาเยือนเมืองเหนือคราใด ทำให้ผมอดครุ่นคำนึงถึงวิถีเก่าๆ เมื่อครั้งเที่ยวท่องไปตามภูเขา ทุ่งไร่ สายน้ำ และชุมชนของพี่น้องชนเผ่านั้นไม่ได้ แน่ละ ในเส้นทางที่ย่ำไปนั้น มักเจอทั้งเรื่องราวมากมายให้เรียนรู้ พานพบ และหยุดทบทวนดูภาพผ่านในบางสิ่ง และละทิ้งภาพผ่านในบางอย่าง แต่โดยรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทุกข์สุข สดชื่นรื่นรมย์ หรือปวดปร่าในห้วงลึก เราไม่อาจเกลี่ยทิ้งไปได้ เพราะนั่นล้วนคือวิถีแห่งความจริงทั้งสิ้น...