Skip to main content

 

 

 

 

คือคนที่อยู่ป่า

 

ป่าทั้งป่าเหมือนกำลังร่ำร้องบทเพลงเศร้า

ลมหอบเอาความเคว้งคว้างมาสู่หัวใจเหงา

ช่างโศกวังเวงยามยินเสียงแมลงไพรกรีดครวญหวนไห้

หยาดน้ำจากตาข้ารินไหลอาบแก้มเกรอะกรัง

ข้าคุกเข่าอยู่ริมหลุมฝังศพพ่อ

บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านกลางป่าลึก

เถาวัลย์ทอดเลื้อยรกแผ่คลุมไปทั่ว

ดอกไม้ที่ข้าเคยปลูกไว้รายรอบนั้นเหี่ยวแห้งเฉา

 

ข้ารู้,ว่าพ่อคงเสียใจ

หากข้าไม่อาจยุดยื้ออำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาได้

แผ่นดินถิ่นเกิดที่เคยสงบ สันติ และอิสระ

พลันสั่นสะเทือนด้วยบทบัญญัติที่ถูกจำกัดสิทธิ์

สิ่งที่พี่น้องของข้าร่วมต่อสู้มาเนิ่นนาน

กลับกลายเป็นเพียงสัญญาความว่างเปล่า!?

เมื่อพวกท่านพูดด้วยเสียงอันดังว่า…ไม่ไว้ใจ!!

 

โอ.ข้ารู้,เพราะหัวใจท่านมิได้ถูกปลดปล่อย

ความคิดจึงคับแคบอยู่ในกรอบของความระแวงสงสัย

เพราะวิถีชีวิตท่านอยู่แต่ในเมืองแห่งอำนาจ

ท่านจึงมองเห็นคนป่าคนไพรคือตัวปัญหา

คือคนชายขอบที่พวกท่านมิอาจมองเห็น

ดวงตาท่านหลับสนิท หัวใจคุณมืดมิด

คิด-คิด-คิดอยู่ในความคิดของตัวเอง

 

ท่านไม่อาจตัดแยกวิญญาณของเราให้ขาดลงได้

แผ่นดิน ภูเขา ป่าไม้ สายน้ำ และชนเผ่า

เป็นเช่นดั่งญาติมิตรเกื้อกูลผูกพันกันแนบแน่น

ใครบ้างเล่า,ไม่รู้จักความเจ็บปวดรวดร้าว

เมื่อรู้ว่ามีมือที่มองไม่เห็นมาฉุดพรากลูกออกจากอ้อมอกแม่

 

วิญญาณพ่อข้า,จงรับรู้…

เถิด,พี่น้องของข้าจงยืนหยัด

จงจับมือกันให้มั่น อย่าหวาดหวั่นครั่นคร้าม

แม้ในห้วงยามนี้ ดวงตะวันยังส่องแสงมาไม่ถึง.

 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์สะพานรุ้ง สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับที่ 9 ปีที่49 2-9 ..2545

 

 

 

ผมค้นบทกวีเก่าๆ ที่เคยเขียนไว้เมื่อครั้งทำงานอยู่ร่วมกับพี่น้องชนเผ่าบนดอยสูงออกมาอ่านอีกครั้ง หลังจากอ่านบทความและความคิดเห็นของนักวิชาการ ของ ดร.ท่านหนึ่ง แล้วรู้สึกผะอืดผะอมเหมือนกับถูกบังคับให้กินของหวานตามด้วยของขม

 

บางความเห็นของ ดร.ท่านนั้นได้เอ่ยออกมาชัดเจนว่า- -ชาวเขาสมควรออกจากป่า!

 

...ชาวเขา เอาเขาทั้งเขานับหมื่น ๆไร่ไปบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัวของตนเอง 30 หลังคาเรือน แล้วมาอ้างว่าเป็นความมั่นคงทางอาหาร แย่จริง ๆ นี่คือการปล้นและปิดโอกาสให้คนอื่นได้ใช้ผืนป่ามากกว่า...” ดร.ท่านนั้นแสดงความเห็นเช่นนั้น

 

ทำให้ผมนึกไปถึงชุมชนปกากะญอแห่งหนึ่ง ที่อาศัยอยู่มานานหลายชั่วอายุคนขึ้นมาทันใด ชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาหลายรางวัล เป็นชุมชนที่หลายคนไปเยือนต่างกลับออกมาบอกให้สังคมและโลกรับรู้ว่า- -พวกเขา 30 หลังคาเรือน แต่สามารถดูแลป่าได้เป็นหมื่นๆไร่

 

แต่ ดร.ท่านนั้น กลับมองกลับข้าง เหมือนจะบอกว่า ทำไมคนแค่ 30 หลังคาเรือน ถึงครอบครองป่า เอาไปบำเรอสุขกันได้ตั้งหมื่นไร่

 

จนใครคนหนึ่งบอกกับ ดร.เหมือนอยากจะประชด ว่า “ดี งั้นก็อพยพพวกชาวเขาออกมาจากป่า ให้หมดเลย คงไม่ต่ำกว่าล้านคนแหล่ะ ให้ไปอยู่ที่ไหนดีล่ะ สร้างเกาะให้อยู่ใหม่ดี...หรือว่าสร้างคอนโดให้อยู่ในกรุงเทพดี จะได้มีงานทำ มีข้าวกิน...”

 

ดร.ท่านนั้น ตอบกลับทันใด…

 

ถ้าคิดว่าชาวเขาอยู่ลำบาก ก็มาอยู่ในเมือง รับจ้างซีครับ หรือไม่ก็ให้รัฐเลี้ยงให้อยู่เฉย ๆ อย่าไปเที่ยวทำลายป่า จับจองที่ดินของคนทั้งชาตินะครับ...” โห...ดร.คิดได้ไงนี่

 

แต่ผมรู้สึกชื่นชมกับผู้ที่บอกว่าเป็น ‘ศิษย์คนหนึ่ง’ ของ ดร.ท่านนั้น ที่ศิษย์กล้าวิพากษ์อาจารย์ตรงๆ

 

ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ ถ้าชาวเขามีอำนาจ เขาจะออกโฉนดพื้นที่ป่าเขาทั้งหมด เป็นทรัพย์สินของพวกเขา เป็นของบรรพชนของพวกเขา เป็นของพวกเขามีอยู่แต่เดิม...รัฐไทยต่างหากที่ไปรุกรานพวกเขา ยึดครองภูเขาของเขา(ที่บรรพบุรุษเขาเคยอยู่เคยใช้เป็นที่ทำกินมาตลอดประวัติศาสตร์ของชาวเขา)นายทุนไทยบุกรุกที่ดินในป่าเขาเพื่อสร้างรีสอร์ท บุกรุกป่าเขาเพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศ(ทั้งนายทุน นักการเมือง ทหาร/หรือไม่ก็ทั้งสามอาชีพนี้คือคนๆเดียวกันกลุ่มเดียวกัน)...”

 

ศิษย์คนหนึ่ง’ ยังบอกตรงๆ อีกว่า “...เหตุผลของอาจารย์ บางครั้งก็เป็นเหตุผลของนักประเมินมูลค่าทรัพย์สิน อาจารย์ไม่เข้าใจความมั่นคงของชีวิตของชาวชนบท ที่เป็นคนชายขอบ เรื่องนี้มันเป็นมุมมองที่ต่างกัน ระหว่างชนชั้นนายทุน ชนชั้นผู้รับใช้นายทุน กับเจ้าของทรัพยากร เราเป็นผู้รุกราน ชาวปกากะญอ รุกรานผีตองเหลือง รุกรานชาวซาไก ซามัง กล่าวร้ายต่อพวกเขา ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาทำ เป็นวิถีชีวิต วนเวียนทำไร่ แต่เรากลับไปสร้างสนามกอล์ฟ เพียงเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง สร้างรีสอร์ทเพียงเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง ที่เปลี่ยนทรัพยากรของคนท้องถิ่น มาเป็นของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วใช้กฎหมาย พ...- ...มาบังคับใช้อ้างกฎหมาย อ้างรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ผมไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ...”

ยัง...ยังไม่พอ ‘ศิษย์คนหนึ่ง’ ยังวิพากษ์อาจารย์ ดร.ท่านนั้นทิ้งท้ายอีกว่า...“ตอนแรกผมเชื่อว่าอาจารย์จะทรยศต่อชนชั้นของตัวเอง เพื่อประชาชนผู้ยากไร้ แต่แล้วอ่านไปนานๆ พบว่า...อาจารย์ก็มีจิตวิญญาณของผู้เป็นชนชั้นนายทุน มองการลงทุนคือกำไร มองกำไร...เป็นแค่เพียงตัวเงิน...”


ผมอ่านความคิดเห็นทั้งหมดในท้ายบทความชิ้นนี้ ซึ่งยังโต้เถียงกันไม่รู้จบ แล้วรู้สึกทอดถอนใจ...

 

เพื่อกันลืม- - ดร.ท่านนั้น คือ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กับบทความที่ชื่อ ‘โฉนดชุมชน เรื่องวิบัติที่ต้องคัดค้านอย่างถึงที่สุด’ เชิญชวนไปอ่านกันได้ที่...http://www.prachatai.com/journal/2009/09/25985

 

 

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ผมกลับมานั่งในบ้านปีกไม้ในหุบผาแดง นิ่งมองภาพเก่าๆ ของพ้อเลป่า สลับกับภาพครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
ภู เชียงดาว
เดาะ บื่อ แหว่ ควา สี่ จื้อ เนอ มู้ โข่ ลอ ปก้อ เฉาะ ถ่อ เจอพี่น้องประสานนิ้วมือฟ้าถล่มช่วยกันค้ำไว้ โถ่ ศรี ซี้ เล้อ แหม่จอ ป่า ซี้ ด่า แคนกยูงตายเพราะขนหางขุนนางตายเพราะเชื่อคนยุยง
ภู เชียงดาว
  ที่มาภาพ : www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105เมื่อเราพูดถึงเรื่อง การพัฒนาและความเจริญ ที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปทางนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา และมันกำลังรุกคืบคลานเข้ามาในวิถีบนบ้านป่าบ้านดอยอย่างต่อเนื่อง
ภู เชียงดาว
ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง ‘พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก ‘หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า ‘พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...
ภู เชียงดาว
                          (๑) หอมกลิ่นภูเขาล่องลอยโชยมาในห้วงยามเย็นฉันยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านปล่อยให้สายแดดสีทองส่องสาดกายมองไปเบื้องล่าง- -ท้องทุ่งแห่งชีวิตยังเคลื่อนไหวไปมา ไม่หยุดนิ่งในความหม่นมัว ในความบดเบลอฉันมองเห็นภาพซ้อนแจ่มชัด แล้วเลือนราง
ภู เชียงดาว
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองนั้นคงเหน็ดหน่ายและเหนื่อยหนักจากการงาน ชีวิตหลายชีวิตอาจถูกทับถมด้วยภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ยังไม่นับนานาปัญหาที่เข้ารุมสุมแน่นหนาอีกหลายชั้น จนดูเหมือนว่าชั่วชีวิตนี้คงยากจะสลัดให้หลุดพ้นไปได้ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะครั้งหนึ่งตัวผมเองเคยเอาชีวิตไปวางไว้อยู่ในเมืองนานหลายปี แน่นอน ใครหลายคนในสังคมเมืองจึงชอบเอา ‘การเดินทาง' เป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นออกจากกงล้อแห่งการงานนั้นได้ และมักเอาช่วงสิ้นปีหรือวันปีใหม่ เป็นวันแห่งการปลดปล่อย ในขณะที่ตัวผมนั้น กลับไม่ได้เดินทางไปไหนเลย ยังมีชีวิตแบบวันต่อวัน อยู่กับปัจจุบันขณะ ในหุบเขาผาแดงแห่งนี้
ภู เชียงดาว
ผมไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา จะมีสักกี่คนสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้กี่ครั้งกี่หนกันแน่นอน ความฝันใครบางคนอาจเกลื่อนกล่น ความฝันใครหลายคนอาจหล่นหาย ใครหลายใครอาจมองว่าความฝันคือความเพ้อฝัน ไกลจากความจริง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คน ไม่เคยละทิ้งความฝันพยายามฟูมฟักความฝัน กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู แม้บ่อยครั้งอาจอาจเหนื่อยหนัก เหน็ดหน่าย กว่าจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริงได้...เหมือนชายคนนี้...ที่ทำให้ฝันหนึ่งนั้นกลายเป็น ความงาม และความจริง... ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือน เวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งผมเคยบันทึกไว้ว่า เป็นดินแดนหุบเขาที่มีชีวิต…
ภู เชียงดาว
ผมรู้แล้วว่า วิถีคนสวนกับคนเขียนกวีนั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ต้องฝึก ทดลอง เรียนรู้ ลงมือทำ ทุกวัน ทุกวัน และแน่นอนว่า เมื่อลงมือทำแล้ว เราจำเป็นต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เติมความรักความเอาใจใส่ลงไปอย่างต่อเนื่อง (ถ้าไม่อย่างนั้น พันธ์พืชที่เราหว่านลงไปอาจเฉาเหี่ยวแห้งไป หรือไม่ผืนดินอันอุดมก็อาจแข็งด้านดินดานไปหมด) หลังจากนั้น เรายังต้องอดทนและรอคอยให้มันออกดอกออกผล กระทั่งเราสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตที่งอกเงยในบั้นปลายได้ ทุกวันนี้ ผมยังถือว่าตนเองเป็นเพียงคนสวนมือใหม่ และเป็นคนฝึกเขียนบทกวีอยู่เสมอ ทุกวัน หลังจากพักงานสวน ผมจะลงมือเขียนบทกวี โดยเฉพาะในยามนี้…