เหน็บหนาวใช่ไหมหัวใจเจ้า
โศกเศร้าใช่ไหมหัวใจหวัง
ยามสายลมเลาะภูรับรู้-ดัง
แว่วฟังเหมือนดั่งเพลงร้าวราน
ใครบางคนสับสน บ่นถึงเจ้า
ไยวิถีจึงเหน็บหนาวแตกร้าวฉาน
ไม่มีแล้วหรือ...จิตวิญญาณ
ที่จะขับที่จะขานเพลงหวังดี
เหมือนบทเพลงเปลี่ยนท่วงทำนอง
หัวใจจำร่ำร้องในวิถี...
ก่อนเคยร่วมสอดประสานดวงชีวี
มี-ไม่มี เรามิพรั่นมิหวั่นกลัว
บัดนี้,ความฝันพลันหมองหมาง
ดุ่มเดินเคว้งคว้าง ทางสลัว
ยิ่งดั้นด้นค้นหา ยิ่งหม่นมัว
ดิ่งลึกท่ามความดี-ชั่ว ในตัวตน
\\/--break--\>
เหน็บหนาวใช่ไหมหัวใจเจ้า
หลายสิ่งรุมเร้าเศร้าสับสน
ชีวิตบนทางที่วกวน...
กี่คนกี่คน ล้วนถูกมัด-พันธนาการฯ
ลมหนาวมาเยือนอีกครั้ง ทำให้คุณนึกถึงบทกวีชิ้นนี้ขึ้นมาทันใด คุณเขียนไว้เมื่อครั้งยังทำงานกลางป่าเมื่อสิบกว่าปีก่อน เขียนให้กับตัวเองและมิ่งมิตรในยามสับสนอ่อนล้า นึกถึงผองเพื่อนหลายคน บ้างก่นด่าชะตากรรม อีกทั้งยอมแพ้ระหว่างทาง หันหลังคืนกลับ ก่อนเดินพลัดหายไปในเมืองแห่งความลวงและกลวงดังเดิม
จริงสิ, ชีวิตคนเรานั้นล้วนต่างประสบพบเจออะไรๆ มามากต่อมาก ผสานผสมปนเปกันไปอยู่อย่างนั้น ทั้งสุขทุกข์ สมหวัง พ่ายหวัง หัวเราะ ร่ำไห้ บาดเจ็บ เหน็บหนาว นุ่มนวล ดิบเถื่อน สลัด เกาะกุม ไขว่คว้า ได้มาสูญเสีย พรากจาก ฯลฯ ทว่าหลายต่อหลายครั้ง เหมือนเราถูกมือที่มองไม่เห็นจับกระชากเหวี่ยงลงไปในหุบเหวของความดำมืด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากที่สุดแล้ว เรากลับผุดโผล่ ฮึดสู้ และพร้อมเผชิญกับมันได้อย่างเหลือเชื่อ ก้าวพ้นออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ประหนึ่งว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ประเดประดังเข้ามา เป็นเพียงบททดสอบชีวิต ว่าเราจะก้าวข้ามและผ่านพ้นไปได้อีกบทหนึ่งหรือไม่เท่านั้นเอง
"ชีวิตคนเราจำเป็นต้องเกิดใหม่หลายๆ หน..."
คุณย้ำบอกตัวเองอย่างนี้ หลังจากใช้ชีวิตมาอย่างหน่วงหนักจนวัยใกล้เลขสี่แล้ว การเกิดใหม่ของคุณนั้นอาจหมายถึงการกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง แม้กระทั่งเรื่องของหน้าที่การงานหรือการใช้ชีวิต
เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบลำพัง...คุณชอบย้อนมองชีวิตที่ผันผ่านมา บางครั้งรู้สึกเศร้า บ้างอดหัวเราะให้กับตัวเองไม่ได้ เกือบสี่สิบปี วิถีผ่านพบและเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุดนิ่งเลยหรือนี่!? จากลูกชาวนายากจนคนหนึ่งที่มีโอกาสหลุดเข้าไปเรียนในเวียงแล้วเจอกับสังคมแปลกแยกแปลกใหม่ที่สนุกและเลวร้ายระยำ พลัดหลงเข้าไปอยู่ในฝูงเพื่อนเกเรและร้ายกาจ แต่คุณก็หลุดออกจากวงโคจรอุบาทว์นั้นมาได้ทัน ในขณะที่เพื่อนหลายคนนั้นเลือกทางเดินสายโจร และสิ้นสุดที่คุกตารางกับความตายไม่ต่ำกว่าสิบราย
คุณนั่งครุ่นคิด...บางทีอาจเป็นเพราะความจนทำให้คุณเห็นความจริง ทำให้คุณเล็ดลอดออกมาได้ ประกอบกับช่วงนั้น แม่ผู้ให้ความรัก ห่วงใย คอยเอาใจใส่คุณ พลันมาจากไปในห้วงนั้นด้วย จึงทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนและเลือกเดินไปอีกเส้นทางหนึ่ง...จำได้ว่า หลังแม่ตาย คุณเฝ้าถามตัวเองถี่มากขึ้นทุกวันๆ...เราเกิดมาทำไม เราอยู่เพื่ออะไร และจริงๆ แล้วในชีวิตคนเราต้องการอะไร!?
และแล้วชีวิตคุณก็ออกเดินทางไกลมากขึ้นทุกที...
จบมัธยมปลาย ก็เริ่มทำงานอยู่ร้านเหล็ก แบกเหล็ก พนักงานเก็บเงิน ครูอาสาสมัครเดินสอน ขายประกัน เป็นยามโรงแรมขณะเรียนวิทยาลัยครูอยู่พักหนึ่ง ก่อนไปเป็นลูกจ้างชั่วคราวให้กับโรงเรียนคนพิการทางสมอง และมาเป็นครูผลิตสื่อและครูพี่เลี้ยงกินนอนอยู่ร่วมกับเด็กพิการทางสายตา ในโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ
เด็กๆ ผู้พิการทางสายตานี่เองได้สอนคุณหลายอย่าง ในห้วงขณะชีวิตคุณกำลังทดท้อและมืดดำสับสน แต่พวกเขากลับมีส่วนกระตุกต่อมสำนึกคุณให้ฟื้นตื่น ให้ดวงจิตคุณสว่างวาบขึ้นมาได้
ใช่ พวกเขาและเธอสอนคุณให้รู้จักจินตนาการ ความฝันและความหวัง ซึ่งมีมากกว่าคนตาดีหลายเท่านัก จากนั้น คุณตัดสินใจขึ้นไปเป็นครูอาสาฯ บนดอยสูงติดกับชายแดนไทย-พม่า นานนับสิบปี แน่นอนว่า รายทางที่คุณแบกเป้ ดุ่มเดินลัดเลาะไปตามทุ่งนา ลำห้วย เนินเขา ป่าสน ไร่ข้าว ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพี่น้องชนเผ่ากลางป่าลึกนั้น ได้มีส่วนหนุนเสริมให้คุณรู้จักชีวิตตัวเองและชีวิตผู้อื่นมากขึ้น แน่นอน วิถีหมู่บ้านป่า อาจเปล่าเปลี่ยวและเหน็บหนาว แต่ที่นั่นทำให้คุณรู้จักกรุ่นอายความรักบริสุทธิ์ของเด็กๆและแววตาอาทรของพ่อเฒ่าแม่เฒ่า
บนดอยนั้น ยังทำให้คุณรู้จักความอดอยาก ความป่วยไข้ การเกิดและความตาย คุณยังจำภาพเด็กน้อยวัยสามขวบป่วยหนัก คุณใช้ผ้าขะม้าพัดรวบร่างทั้งคุณ พ่อและเธอจนแนบแน่น กันหลุดลื่นล้มระหว่างทางอันเละด้วยดินโคลน ก่อนพาซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ลงไปส่งโรงพยาบาลอำเภอเวียงแหง ในค่ำคืนมืดฝนพรำตลอดทาง ภาพนั้นยังติดตามคุณอยู่ไม่เคยเลือนหาย...ภาพพ่อของเด็กน้อยนั่งสะอื้นร้าวลึกอยู่ริมบันไดโรงพยาบาล เมื่อเราไม่อาจยื้อช่วยชีวิตเธอไว้ได้
บนดอยสูง ยังได้สอนคุณให้รู้จักภาวะดิ้นรน การเอาตัวรอดของผู้คน เห็นร่องรอยการข่มเหงกดขี่และความไม่เป็นธรรมกระจายไปทั่วหุบเขา แหละนั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้คุณตัดสินใจลาออกครู มาทำงานหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ‘ประชาไท' ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง ท่ามกลางความงุนงงของเพื่อนครูดอย บ้าหรือเปล่า...ลาออกทำไม เขากำลังจะบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว แต่งานสื่อมวลชนก็ได้สอนคุณให้รู้จักพลังของสื่อ และทำให้คุณมองเห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งชีวิต สิทธิ เสรีภาพไปทั่วทุกหนแห่ง งานสื่อทำให้คุณรู้จักทั้งด้านดีและด้านเลวร้ายของสังคมไปพร้อมๆ กัน ยิ่งเสาะค้น ยิ่งหมักหมม ยิ่งขุดคุ้ย ยิ่งเห็นความลึก กว้าง ทับซ้อน ทวีคูณ...
กระทั่งคุณตัดสินใจลาออกงานประจำได้ขวบปีกว่า มาใช้ชีวิตในสวนหุบผาแดง อันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด และคุณถือว่าตนเองกำลังเกิดใหม่อีกหน
"เป็นคนสวนและคนเขียนหนังสือ..."
"จน...แต่มีความสุข" คุณบอกใครต่อใครอย่างนั้น...และบอกกับตัวเองอยู่ย้ำๆ ว่า นับแต่นี้ ขอเลือกวิถีทางธรรมดา เรียบง่าย สงบ อยู่ร่วมกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เรียนรู้ว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร ในพื้นที่เล็กๆ ให้สมดุล สอดคล้อง อ่อนโยนกับโลกใบนี้ ที่สำคัญ...คุณพยายามสลัดทิ้งซึ่งพันธนาการที่ผูกมัดรัดรึงชีวิตและจิตวิญญาณให้หลุดออกไปให้มากที่สุด
จริงสิ, ชีวิตคนเราล้วนเคยถูกผูกมัดอยู่กับพันธนาการมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่ง หน้าที่การงาน ความรัก ครอบครัว กิเลส อำนาจ ความเห็นแก่ตัว ความละโมบ เงินตรา ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่า แม้ว่าเราจะสลัดพันธนาการหนึ่งออกไป แต่ก็ดูเหมือนว่ามีพันธนาการตัวใหม่เข้ามารัดรึงเราไว้อีก กระนั้นก็ตามเถอะ มาถึงตอนนี้ คุณรู้แล้วว่า จริงๆ แล้ว คนเราไม่ต้องสะสมอะไรให้มากนัก ยิ่งเหลือน้อยเท่าไร ยิ่งโปร่งโล่ง สบาย...
"แล้วอยู่ได้อย่างไร...ไม่มีเงินเดือน ไม่มีงานประจำ ไม่กลัวอดตายเหรอ" ใครคนหนึ่งเอ่ยถามคุณ คุณได้แต่ยิ้ม แล้วหันไปมองรอบๆ บ้านปีกไม้ สวนชีวิตของคุณกำลังรกครึ้มกลายเป็นป่า ทั้งไม้ผล ผักไม้ไซร้เครือ รวมทั้งดอกไม้กำลังงอกเงย งอกงาม แต่ถ้าใครถามคุณเช่นนั้นอีก คุณคงบอกได้แต่เพียงว่า- -อย่ากังวลถึงวันพรุ่ง...แต่จงใช้ชีวิตวันต่อวัน...เพียงเท่านั้น
คงเหมือนกับดวงตะวันยามเช้าที่โผล่พ้นยอดดอยผาแดงทางทิศตะวันออก และลับลงตรงเหลี่ยมดอยหลวงเชียงดาวทางทิศตะวันตกทุกย่ำเย็น.
* * * * *
หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน คอลัมน์ปลายทางเส้นนี้มีดอกไม้ วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 81 กันยายน-ธันวาคม 2552