Skip to main content

1.

ฤดูหนาว...
เชื่อว่าใครหลายคนคงรู้สึกชื่นชอบฤดูกาลนี้กันเป็นพิเศษ
บางคนชื่นชอบเพราะชีวิตได้สัมผัสกับไอหนาว หมอกขาว ตะวันอุ่น...
หลายคนอาจหลงรักดอกไม้ที่พากันแข่งชูช่อเบ่งบานล้อลมหนาวกันดื่นดาษ
บางคนอาจชื่นชอบ เพราะเป็นฤดูกาลแห่งการถวิลหาความหลัง
ที่ครั้งหนึ่งนั้นมีหัวใจที่เคยระรื่นชื่นสุข
บางคนอาจชื่นชอบเพราะความสะอาดสดของอากาศของฤดูหนาว

ทว่าเมื่อหันไปมองคนอีกกลุ่มหนึ่งบนดอยสูง ในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกล...
ฤดูหนาวกลับกลายเป็นความทารุณ โหดร้ายมากพอๆ กับความตายกันเลยทีเดียว
ใช่, ความหนาว
ทำให้หลายชีวิตต้องเผชิญกับความเป็นความตายมานับไม่ถ้วนแล้วหละ

นึกไปถึงร่างอันบอบบาง เนื้อตัวสั่นเทาของพ่อเฒ่าแม่เฒ่า
ที่นั่งงอเข่าอยู่ข้างเตาไฟในเพิงกระท่อมไม้ไผ่โย้เย้ใกล้ผุพัง

คิดถึงเธอ เด็กๆ บนดอยภู ที่เนื้อตัวผ่ายผอมมอมแมม สวมเสื้อเก่าบางและฉีกขาด
นั่งล้อมวงผิงไฟอยู่ข้างกองไฟที่ใกล้จะมอดดับในคืนหนาวเหน็บ

หรือว่าความหนาว
คือสิ่งที่โลกได้บรรจุเอาไว้ในหลักสูตรแห่งการต่อสู้
และเรียนรู้ ชะตากรรม
ว่าชีวิตเอย...จงผจญ อดทน
และฝ่าฟันเพื่ออยู่รอดให้ถึงวันพรุ่ง...

2.

1

2

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมกลับจาก อ.ฝาง
มาพร้อมกับภาพถ่ายและความต้องการของชีวิตคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง
ทางการไทยและคนไทย เรียกพวกเขาว่า “ปะหล่อง”
ในขณะที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ดาระอั้ง”
พวกเขาคือเผ่าพันธุ์พื้นเมืองที่ไม่ชอบความรุนแรง
ต้องระเหเร่ร่อนหนีตายจากสงครามความขัดแย้งในเขตพม่า
กระทั่งพาครอบครัวหอบลูกหนีถอยร่นข้ามมายังฝั่งไทย
ทุกวันนี้ เขาได้มาขออาศัยสร้างกระท่อมไม้ไผ่อยู่บนเนินเขา
ในเขต อ.ฝาง ไม่ไกลนักจากรอยตะเข็บชายแดน

3

4

แหละนี่คือถ้อยคำขอความเมตตาส่งผ่านมา...

“บนดอยเล็กๆ ทางไปหน่วยจัดการต้นน้ำแม่เผอะ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
มีชาวปะหล่อง (ดาระอั้ง) ซึ่งอพยพมาบ้าง ตั้งถิ่นฐานแถบนี้มาแต่เดิมบ้าง
อยู่กันเป็นชุมชนเล็กๆ อาศัยการรับจ้างและปลูกข้าวไร่ ทำมาหากินไปตามประสา
หนาวปีนี้อุณหภูมิต่ำ และลดลงรวดเร็วจนน่ากลัว วันสองวันที่ผ่านมา
เช้าๆ บนดอยแห่งนี้อุณหภูมิราว 6-8 องศา
เด็กๆ และผู้หญิง รวมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ เจ็บป่วยกันมาก
หากใครมีผ้าห่มเก่า หรือผ้าห่มสภาพที่พอใช้งานได้ กับเสื้อกันหนาว
เสื้อวอร์ม กางเกงวอร์ม หมวกไหมพรม ถุงมือ ถุงเท้า ฯลฯ ทุกขนาด...
สามารถส่งไปร่วมทำบุญได้ที่ี่
มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ตู้ ปณ.53 อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 50110
หรือติดต่อ คุณน้อย อาภาวดี งามขำ 0867575156
โปรดอภัย ที่บางเวลาสัญญาณไม่ค่อยดี
(เจ้าหน้าที่มูลนิธิจะรวบรวมแล้วนำไปให้กับพี่น้องปะหล่องเหล่านั้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้...
และขอความกรุณางดบริจาคเป็นเงิน
เพราะเป็นการเพิ่มภาระในการจัดซื้อจัดหาแก่คนทำงานมูลนิธิเล็กๆ แห่งนั้น)”



3.

“อ้าย...ช่วยขอบริจาคเสื้อกันหนาว ผ้าห่มให้หน่อย...”
เสียงของน้องสาวอีกคนหนึ่งแว่วมาทางโทรศัพท์ไร้สาย
เธอเป็นคนเชียงดาวแต่ขึ้นไปเป็นครูดอยอยู่บนดอยสูงแถบ อ.อมก๋อม จ.เชียงใหม่
บอกว่าบนดอยตอนนี้หนาวมากๆ
"เอ็นดูละอ่อน บ่มีผ้าห่ม เสื้อกันหนาวกันเลย..." น้ำเสียงเธอวิงวอน

ล่าสุด, ผมนัดพบเธอข้างล่าง เธอเอารูปถ่ายบรรยากาศของเด็กๆ ชนเผ่าปว่าเก่อญอ หรือกะเหรี่ยงโปว์ รวมทั้งภาพศูนย์การเรียนฯ (น่าจะเป็นเพิงพัก หรือโรงนามากกว่า) มาให้ ก่อนบอกย้ำว่า อยากได้ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว อุปกรณ์สำหรับเด็กนักเรียน รวมทั้งทุนที่จะนำไปจัดในกิจกรรมวันเด็กดอย ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 12 มกรา 51 นี้...

5

6

เธอบอกเล่าให้ฟังว่า..ที่ตั้งของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านห้วยลอก ตั้งอยู่ภายในชุมชนบ้านห้วยลอก ซึ่งเป็นชุมชนชาวปว่าเก่อญอ อยู่กัน 64 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 316 คน หมู่ที่ 18 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อำเภอที่ว่ากันว่าทุรกันดารห่างไกลที่สุดของ จ.เชียงใหม่

ระยะทางอยู่ห่างจากตัวอำเภออมก๋อยถึง 50 กิโลเมตร บนถนนลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ ขรุขระและสูงชัน หน้าแล้งต้องใช้เวลาเดินทางลงไปตัวอำเภอกว่า 3 ชั่วโมง

ส่วนหน้าฝนไม่ต้องพูดถึง หมู่บ้านแทบถูกตัดขาดจากโลกถายนอก ถนนปิด รถยนต์เข้าออกไม่ได้ ต้องอาศัยมอเตอร์ไซค์วิบาก ซึ่งต้องต้องใช้เวลาปีนป่ายขึ้นไปเป็นวันเลยทีเดียว

แน่นอน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงใช้การเดินเท้า เมื่อจำเป็นต้องลงมาติดต่อกับเมืองข้างล่าง

7

8

และเมื่อถึงยามหน้าหนาวครั้งใด...ทุกคนก็อยู่กับความหนาวเหน็บ เนื่องจากบนดอยสูง อากาศเย็นมาก ผู้คนจะคลายหนาวด้วยกองไฟ บางหลังคาเรือนก็ไม่มีผ้าห่มที่จะเพียงพอต่อสมาชิกในบ้าน จะซื้อก็ไม่เงินซื้อ เพราะชาวบ้านที่นั่นยากจน เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำในการทำการเกษตร ต้องทำไร่ได้เฉพาะในหน้าฝนเท่านั้น

ผมฟังเธอเล่าแล้วก็อดคิดไปต่างๆ นานา ไม่ได้...
คิดไปถึงเมื่อครั้งที่ผมเคยเป็นครูดอย แล้วมานั่งมองน้องสาวคนนี้
ผ่านไปเป็นสิบปี เหตุการณ์บนดอยก็ยังเหมือนเดิม...
และยังมองเห็นความแปลกแยก ความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนซุกอยู่ในดงดอยอยู่เช่นเดิม เมื่อหันมามอง เปรียบเทียบกับหลายๆ ชีวิตในเมืองใหญ่

น่าสนใจ น่าเห็นใจและสงสารเธอ...
เมื่อรู้ว่าเธอ ครูผู้หญิงคนเดียว แต่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเองเพียงลำพัง
สอนหนังสือดูแลเด็กในหมู่บ้านทั้งหมดถึง 82 คน
(ซึ่งเมื่อนึกถึงตอนที่ตัวเองเคยสอนในช่วงนั้น ผมรับผิดชอบเด็กทั้งหมด 50กว่าคน นั่นก็ถือว่าเยอะมากแล้ว)

"เด็กบางคนไม่มีเสื้อกันหนาว ไม่มีรองเท้าใส่เลยนะอ้าย..." เธอเล่าให้ฟังในวันนั้น

9

10

11

12


4.

มาถึงตรงนี้...ผมรับปากว่า จะช่วยเป็นธุระประชาสัมพันธ์เชิญชวนมิ่งมิตรผู้มีจิตเมตตา ช่วยบริจาคผ้าห่ม เสื้อกันหนาว หมวกไหมพรม...รวมทั้งทุนสำหรับเด็กดอยและพี่น้องชนเผ่าปะหล่อง ซึ่งทุกท่านสามารถส่งเป็นพัสดุทางไปรษณีย์ เพื่อง่ายต่อการรับ

ได้ที่

องอาจ เดชา
เลขที่ 159/34 ถนนเจ็ดยอด ซอย 7
ต.ช้างเผือก อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
50300

หรือจะส่งไปให้พี่น้องชนเผ่าปะหล่อง (ดาระอั้ง) โดยตรงที่
มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์
ตู้ ปณ.53 อ.ฝาง
จ.เชียงใหม่ 50110

และเมื่อรวบรวมได้มากพอแล้ว ก็จะได้นำขนส่งไปยังพื้นที่ต่อไปครับ

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ผมกลับมานั่งในบ้านปีกไม้ในหุบผาแดง นิ่งมองภาพเก่าๆ ของพ้อเลป่า สลับกับภาพครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
ภู เชียงดาว
เดาะ บื่อ แหว่ ควา สี่ จื้อ เนอ มู้ โข่ ลอ ปก้อ เฉาะ ถ่อ เจอพี่น้องประสานนิ้วมือฟ้าถล่มช่วยกันค้ำไว้ โถ่ ศรี ซี้ เล้อ แหม่จอ ป่า ซี้ ด่า แคนกยูงตายเพราะขนหางขุนนางตายเพราะเชื่อคนยุยง
ภู เชียงดาว
  ที่มาภาพ : www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105เมื่อเราพูดถึงเรื่อง การพัฒนาและความเจริญ ที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปทางนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา และมันกำลังรุกคืบคลานเข้ามาในวิถีบนบ้านป่าบ้านดอยอย่างต่อเนื่อง
ภู เชียงดาว
ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง ‘พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก ‘หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า ‘พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...
ภู เชียงดาว
                          (๑) หอมกลิ่นภูเขาล่องลอยโชยมาในห้วงยามเย็นฉันยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านปล่อยให้สายแดดสีทองส่องสาดกายมองไปเบื้องล่าง- -ท้องทุ่งแห่งชีวิตยังเคลื่อนไหวไปมา ไม่หยุดนิ่งในความหม่นมัว ในความบดเบลอฉันมองเห็นภาพซ้อนแจ่มชัด แล้วเลือนราง
ภู เชียงดาว
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองนั้นคงเหน็ดหน่ายและเหนื่อยหนักจากการงาน ชีวิตหลายชีวิตอาจถูกทับถมด้วยภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ยังไม่นับนานาปัญหาที่เข้ารุมสุมแน่นหนาอีกหลายชั้น จนดูเหมือนว่าชั่วชีวิตนี้คงยากจะสลัดให้หลุดพ้นไปได้ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะครั้งหนึ่งตัวผมเองเคยเอาชีวิตไปวางไว้อยู่ในเมืองนานหลายปี แน่นอน ใครหลายคนในสังคมเมืองจึงชอบเอา ‘การเดินทาง' เป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นออกจากกงล้อแห่งการงานนั้นได้ และมักเอาช่วงสิ้นปีหรือวันปีใหม่ เป็นวันแห่งการปลดปล่อย ในขณะที่ตัวผมนั้น กลับไม่ได้เดินทางไปไหนเลย ยังมีชีวิตแบบวันต่อวัน อยู่กับปัจจุบันขณะ ในหุบเขาผาแดงแห่งนี้
ภู เชียงดาว
ผมไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา จะมีสักกี่คนสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้กี่ครั้งกี่หนกันแน่นอน ความฝันใครบางคนอาจเกลื่อนกล่น ความฝันใครหลายคนอาจหล่นหาย ใครหลายใครอาจมองว่าความฝันคือความเพ้อฝัน ไกลจากความจริง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คน ไม่เคยละทิ้งความฝันพยายามฟูมฟักความฝัน กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู แม้บ่อยครั้งอาจอาจเหนื่อยหนัก เหน็ดหน่าย กว่าจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริงได้...เหมือนชายคนนี้...ที่ทำให้ฝันหนึ่งนั้นกลายเป็น ความงาม และความจริง... ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือน เวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งผมเคยบันทึกไว้ว่า เป็นดินแดนหุบเขาที่มีชีวิต…
ภู เชียงดาว
ผมรู้แล้วว่า วิถีคนสวนกับคนเขียนกวีนั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ต้องฝึก ทดลอง เรียนรู้ ลงมือทำ ทุกวัน ทุกวัน และแน่นอนว่า เมื่อลงมือทำแล้ว เราจำเป็นต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เติมความรักความเอาใจใส่ลงไปอย่างต่อเนื่อง (ถ้าไม่อย่างนั้น พันธ์พืชที่เราหว่านลงไปอาจเฉาเหี่ยวแห้งไป หรือไม่ผืนดินอันอุดมก็อาจแข็งด้านดินดานไปหมด) หลังจากนั้น เรายังต้องอดทนและรอคอยให้มันออกดอกออกผล กระทั่งเราสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตที่งอกเงยในบั้นปลายได้ ทุกวันนี้ ผมยังถือว่าตนเองเป็นเพียงคนสวนมือใหม่ และเป็นคนฝึกเขียนบทกวีอยู่เสมอ ทุกวัน หลังจากพักงานสวน ผมจะลงมือเขียนบทกวี โดยเฉพาะในยามนี้…