Skip to main content

ตรุษจีนปีนี้ผมไม่ได้กลับบ้าน คงอยู่เงียบๆ เหมือนเคย แต่บรรยากาศของตรุษจีนของชาวจีนโพ้นทะเลไม่ว่าที่ไหนๆ ก็จะต้องมีเสียงของเติ้งน้อยเป็นเพลงประกอบราวกับเพลงบังคับของเทศกาล อดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงความเก่าความหลังที่ชีวิตวกวนพาไปเดินเล่นไกลถึงนิวยอร์ค

ต่อไปนี้คือเงาของความหลังจากบทนำวิภาษาฉบับที่ 22 

เติ้งลี่จวินสะกดผู้ฟังด้วยน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ เหมือนหัวร่อทั้งน้ำตา แฝงไปด้วยพลังที่เข้มแข็ง สามารถเข้าถึงและสะกดผู้ฟังได้อย่างตราตรึงใจ ว่ากันว่าที่ไหนมีคนจีนที่นั่นต้องมีเพลงของเติ้งลี่จวิน  ผลก็คือไม่ว่าที่ไหนก็จะได้ยินเสียงแว่วหวานของเธอเสมอ คงไม่กล่าวเกินเลยไปนักหากจะเชื่อตามที่กล่าวกันว่าน้ำเสียงของเธอมีความหวานอยู่เจ็ดส่วน และแฝงด้วยน้ำตาอีกสามส่วน สัดส่วนที่ลงตัวนี้ทำให้เพลงของเธอสะกดคนฟังได้แน่นิ่งและงดงาม

แม้จะประสบความสำเร็จในชีวิตนักร้องอย่างมาก แต่เติ้งลี่จวินจากไปด้วยอายุเพียง 42 ปี เธอเสียชีวิตอย่างเดียวดายที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ งานศพของเธอได้รับการจัดแบบรัฐพิธีสะท้อนความยิ่งใหญ่ของเติ้งน้อยคนนี้

ทุกวันนี้ร่างของเธอถูกฝังที่ไต้หวัน หลุมศพของเธอมีคีย์เปียโนไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สามารถเหยียบและเล่นได้จริง มีแฟนเพลงไปเยี่ยมคารวะเธอทุกวัน ซึ่งผิดแผกไปจากธรรมเนียมการเยี่ยมเคารพหลุมศพของชาวจีนอย่างมาก

หนังเรื่องเถียนมีมี่ หรือ Comrades, Almost A Love Story (1996) ของปีเตอร์ ชาน (Peter Chan) เป็นหนังที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1996 ก่อนฮ่องกงจะคืนกลับสู่จีนเพียงหนึ่งปี เถียนมีมี่หรือยิ้มน้อยๆ เป็นชื่อเพลงยอดนิยมเพลงหนึ่งของเติ้งลี่จวิน (รวมไปถึงเพลงพระจันทร์แทนใจ Moon Represents My Heart) เพลงนี้ถูกใช้สื่อความหมายมากมายในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคารวะยกย่องเติ้งลี่จวิน (ที่ผู้คนเรียกเธอว่าเสี่ยวเติ้งหรือเติ้งน้อย) หรือกล่าวถึงตัวละครเอกคือเสี่ยวจุน (หลี่หมิง) ที่อพยพมาหาชีวิตที่ดีกว่าในฮ่องกง เสี่ยวจุนได้พบกับอาเจียว (จางมั่นอวี้) ที่ฉวยโอกาสกับเขาได้บ่อยๆ ดูเหมือนเขาจะยอมอาเจียวไปเสียทุกอย่าง ความใกล้ชิดทำให้ทั้งคู่ตกหลุมรักกัน แต่เสี่ยวจุนก็มีคู่รักจากบ้านเกิดรอสมทบอยู่ ชีวิตของทั้งคู่เปลี่ยนไปตามความผันผวนทางเศรษฐกิจ อาเจียวต้องหนีไปนิวยอร์คกับคู่รักมาเฟีย ทิ้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไว้ข้างหลัง ขณะที่เสี่ยวจุนก็ต้องไปอยู่นิวยอร์คหลังชีวิตครอบครัวล่มสลาย

วันหนึ่งบนท้องถนนของนิวยอร์ค ร้านขายเครื่องไฟฟ้าย่านไชน่าทาวน์แพร่ภาพข่าวการเสียชีวิตของเติ้งลี่จวินและเปิดเพลงของเธอ ทั้งสองคนที่ถูกชะตากรรมเล่นตลกก็ถูกพัดพาก็ได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง

หลายคนคงคิดไม่ถึงว่าการพบพานและพลัดพรากแบบละครจะเกิดขึ้นจริง แต่วิกฤติเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1997 ก็สร้างความเสียหายและสะเทือนชีวิตคนในทุกระดับ และเกิดขึ้นในเวลาไล่เรี่ยกับพิธีการที่อังกฤษส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนสู่แผ่นดินแม่เป็นอารมณ์ที่ยากบรรยาย เพราะเติ้งเสี่ยวผิงผู้หวังจะเห็นฮ่องกงคืนสู่จีนถึงแก่อสัญกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ก่อนจะมีพิธีส่งมอบ

หนังเรื่องเถียนมีมี่ยังมีรายละเอียดที่ซ่อนลึกและเปิดทางให้คนได้คิดถึงความหลัง ไม่ว่าจะเป็นในชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล ชาวจีนพลัดถิ่น กระทั่งเชื่อมโยงได้กับประสบการณ์ของคนรุ่นที่สองหรือสามของชาวจีนโพ้นทะเล เถียนมีมี่จึงได้รับความนิยมและรางวัลอย่างล้นหลาม

การพบพานและพลัดพรากจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเล็กคนน้อยจะเผชิญ ดังที่ Nevzat Soguk เรียกโอกาสที่จะพบพานนี้ว่า transversality

ผมเปิดเพลงของเธอใน youtube หลายเพลง บางเพลงเป็นการแสดงสดตามที่ต่างๆ เมื่อเธอเดินผ่านผู้ฟังบางคนเพียงจับมือเธอ บางคนยืนและร้องไห้ เติ้งลี่จวินจับมือผู้ฟังสูงวัยท่านนั้นอย่างอ่อนโยนและปลอบขวัญด้วยน้ำเสียงของเธอ ช่างเป็นภาพที่งดงามมาก

ข้อมูลใน wikipedia บอกว่า “เติ้งเสี่ยวผิงปกครองจีนในยามกลางวัน แต่เติ้งน้อย (เติ้งลี่จวิน) ครองจีนในยามค่ำคืน”

อิทธิพลของ “หวานเจ็ดน้ำตาสาม” ในน้ำเสียงของเติ้งน้อยผู้นี้นับว่ายืนยาวจริงๆ

          (ข้อมูลบางส่วนจาก wikipedia และความจำของผม ผมจำได้ว่าคุณเรืองรอง รุ่งรัศมี เขียนบทความชุดเกี่ยวกับเติ้งลี่จวินและหนังเรื่องเถียนมีมี่ได้ลึกซึ้งมาก ท่านผู้อ่านอาจติดตามอ่านได้จากแหล่งอื่นๆ บทความนี้เป็นการรำลึกถึงคราวที่ได้ไปเดินบนท้องถนนในมหานครนิวยอร์คย่านไชน่าทาวน์เมื่อปีก่อน ในเวลาที่มาบรรจบหนึ่งปีเตือนให้คิดถึงอะไรมากมาย ไม่แพ้คราวที่ได้นั่งใกล้ๆ กับจางมั่นอวี้ในโรงหนังที่ฮาวายอิ ขอบอกว่าเธอสวยเด่นจริงๆ)

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ตรุษจีนปีนี้ผมไม่ได้กลับบ้าน คงอยู่เงียบๆ เหมือนเคย แต่บรรยากาศของตรุษจีนของชาวจีนโพ้นทะเลไม่ว่าที่ไหนๆ ก็จะต้องมีเสียงของเติ้งน้อยเป็นเพลงประกอบราวกับเพลงบังคับของเทศกาล อดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงความเก่าความหลังที่ชีวิตวกวนพาไปเดินเล่นไกลถึงนิวยอร์ค
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมเคยเขียนงานชุด จริยธรรมของการพบพาน (The Ethics of Encounter) เอาไว้เมื่อหลายปีก่อน เพื่อนำเสนอสิ่งที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ของการเชิญหน้า ว่าในการปะทะสังสรรค์กันของมนุษย์กับคนแปลกหน้าย่อมเกิดภาวะพิเศษ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามหรือสันติภาพก็ได้ หลายปีมานี้ผมพบว่าปัญหาหนึ่งของสังคมไทยก็คือการปะทะกั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
v\:* {behavior:url(#default#VML);} o\:* {behavior:url(#default#VML);} w\:* {behavior:url(#default#VML);} .shape {behavior:url(#default#VML);}
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมได้รับชวนจากมิตรสหายท่านหนึ่งให้เข้ามาเขียนบล็อกที่นี่ หลังจากไปโพสต์ต่อท้ายข่าวซุปเปอร์แมนลาออกจากเดลี่เทเลกราฟไปเขียนบล็อก ผมบ่นไปทำนองว่า อยากออกไปทำงานอย่างอื่นบ้าง มิตรสหายท่านนั้นเลยยื่นข้อเสนอที่ยากปฏิเสธ เพราะผมอ่านข่าวในประชาไทอยู่นานแล้ว ก็อยากมีส่วนร่วมด้วย ประการหนึ่ง