การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
เมื่อเดินต่อไปภายหลังจากช่วงขาดสตินี้แล้ว ใจก็เริ่มเบา สบาย และมีความรู้สึกตัว อยู่เป็นขณะๆ คือ ในขณะเดินแต่ละก้าวนั้น ใจรับรู้ถึงการเดินของร่างกาย และเมื่อเกิดความคิดขึ้นก็ดูความคิดที่เกิดขึ้น และในบางครั้งที่ผมเผลอลืมตัวหลงเพลินไปกับความคิด ผมก็จะนึกถึงคำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ว่า “ให้ดูมันคิด แต่อย่าไปในความคิด” หรือ หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ท่านสอนว่า “เห็นมันคิด อย่าไปเป็นผู้คิด”
ผมเดินอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายและสังเกตแล้วใจตัวเอง ที่เคลื่อนไหว ไหลไปไหลมา เดี๋ยวก็รู้ที่กาย เดี๋ยวก็รู้ที่ความรู้สึก นึกคิด สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้น ตามความเป็นจริง
ผ่านไปชั่วขณะที่ผมกำลังเดินจงกรมอยู่ ระหว่างทางเดินที่ดงไผ่ ได้มีกิ้งกือตัวหนึ่ง เดินผ่านมา ใกล้ๆ ทำให้ผมสามารถมองเห็นตัวกิ้งกือได้ชัดเจนมาก ผมหยุดเดินชั่วครู่และมองไปยังกิ้งกือตัวนั้น และก็แอบคิดในใจว่ากิ้งกือคงจะมาเป็นเพื่อนเดินจงกรมด้วยแน่ๆ เพราะบริเวณที่ผมเดินอยู่นี้ มีผมเดินเพียงลำพัง
ผมมองกิ้งกือเดินลัดเลาะไปตามผืนดิน สังเกตขานับหลายร้อยหลายพัน ที่ค่อยเดินไปแต่ละขณะ แล้วก็เห็นว่าเวลาก้าวเท้าเดินไปข้างหน้า ขาของกิ้งกือจะเป็นเหมือนคลื่น ที่พัดมาเป็นระลอกๆ จากด้านหลังไปทางด้านหน้าและคลื่นนั้นก็หายไป มีคลื่นใหม่ๆ เกิดขึ้น สลับกัน ยิ่งมองก็ยิ่งเป็นจังหวะ
คำถามหนึ่ง เกิดขึ้นในใจของผมว่า “คลื่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร” และ “เริ่มต้นตรงไหนไปจบลงตรงไหน” และในอีกใจหนึ่งก็แวบขึ้นมาว่า “คลื่นนี้จะเกิดมายังไง ก็อย่าไปถามเลย มัวสงสัยก็ปวดหัวคิดมาก” ไปเดินต่อดีกว่า ไม่ต้องมัวเสียเวลาหาคำตอบ
ในชั่วครู่ที่จะหันหลังกลับไปเดินจงกรมต่อนั้น ก็มีอีกความคิดหนึ่งผุดขึ้นมาว่า “ไม่ว่าคลื่นขาของกิ่งกือจะเป็นอย่างไร แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นมาได้ ก็คือมีเหตุเกิดขึ้นมา และเมื่อมันหายไป แสดงว่ามันหมดเหตุของมันแล้ว” ความรู้สึกที่สงสัยจนจะกลายเป็นความคิดมากได้ผ่อนเบาลง และกลับมาใคร่ครวญพิจารณาในธรรมที่ได้จากการมาเยือนของกิ่งกือนี้ พบว่า การเดินจงกรมแม้จะเกิดสติหรือไม่เกิดสติ ก็เหมือนคลื่นขาของกิ้งกือที่มีเหตุก็มี และเมื่อหมดเลยก็ไม่มี แต่เราก็รู้ว่าความเป็นจริงคือทุกสิ่งมีที่มาและมีที่ไป โดยเราเพียงเห็นมันตามที่มันเป็น ด้วยความเป็นจริง ไม่ว่าเราจะคิด จะเพ่ง จะตั้งใจ หรืออย่างไรก็ตาม เพียงแค่เราเห็นแล้วก็จะเกิดปัญญาเกิดขึ้น
นึกย้อนถึงชีวิตประจำวันของใครหลายคน แม้บางครั้งที่เกิดความทุกข์ใจจากความคิดมาก เกิดความเสียใจจากความคาดหวังมากเกินไป เกิดความโกรธจากการถูกต่อว่าดุด่า หรือเป็นความรู้สึกสุขใจที่ได้พบกับสิ่งที่ชอบ มีความสบายใจที่ได้อยู่กับคนที่รัก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น และเมื่อหมดซึ่งเหตุปัจจัยแล้วความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ก็หายไป แปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น
ฉะนั้นแล้วแทนที่เราจะมัวตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องทุกข์ใจ ทำไมเราต้องเสียใจ ทำไมเราต้องโกรธ เราอาจจะกลับมาโอบอุ้มกับความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น รู้ถึงความทุกข์ใจ รู้ถึงความเสียใจ รู้ถึงความโกรธ และเห็นสิ่งเหล่านี้ แต่ไม่ไปเป็นมัน หรือกล่าวอีกอย่างคือ เห็นความทุกข์ใจ แต่ไม่ไปเป็นผู้ทุกข์ใจ เห็นความเสียใจ แต่ไม่ไปเป็นผู้เสียใจ เห็นความโกรธ แต่ไม่ไปเป็นผู้โกรธ ขณะเดียวกันที่เห็นความสุขใจ ก็ไม่ไปเป็นผู้สุขใจ เห็นความสบายใจแต่ไม่ไปเป็นผู้สบายใจ หรือแม้แต่เกิดสติรู้สึกตัว ก็เพียงแค่เห็นความมีสติ แต่ไม่ไปเป็นผู้มีสติ
การเห็นความจริง เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ จะทำให้เราเรียนรู้ความจริงต่างๆ ที่เข้ามาว่า เมื่อมีเหตุความจริงนี้ก็เกิด เมื่อหมดเหตุความจริงนี้ก็ดับ เรามีหน้าที่เพียงเห็นและรับรู้อยู่ซื่อๆ ก็พอ และสำหรับผมแล้วรู้สึกดีใจกับการมาเยือนของกิ้งกือ และทำให้ได้เรียนรู้ธรรมเพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง ผมจึงกลับไปเดินจงกรมต่อด้วยการเห็นร่างกายเคลื่อนไหวและเห็นจิตใจทำงานต่อไป