ช่วงอาทิตย์กว่าที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่คนรอบข้างผมต้องเสียชีวิตไปมากกว่า 3 คน คนหนึ่งเสียชีวิตด้วยการยิงตัวตาย อีกคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และคนสุดท้ายเสียชีวิตดูความชรา
การจากไปของคนรู้จักเหล่านี้ แน่นอนว่านำมาซึ่งความเสียใจ ความเศร้าโศก และมันก็ทำให้ผมคิดถึง “ความตาย” อยู่ทุกๆ ขณะ เพราะความตายนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราจริงๆ ซึ่งมันเป็นการบอกย้ำธรรมชาติของชีวิตว่าชีวิตทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
ความไม่เที่ยงของชีวิต ที่เรารู้ว่าทุกคนเกิดมาต้องตาย ทุกชีวิตมีเกิดย่อมมีดับสิ้นไปเป็นของธรรมดา สิ่งเหล่านี้ได้รับการบอกต่อมานานหลายชั่วขณะ แต่ทำไมกันบางคนจึงไม่คิดถึงสิ่งเหล่านี้ แต่กลับไปใช้เวลากับเรื่องไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง หรือมัวแต่หลงเพลินไปกับกิเลสต่างๆ จนทำให้ใช้ชีวิตด้วยความประมาทและไม่ได้เตรียมตัวตายอย่างสงบ
ในหนังสือเกี่ยวกับการเตรียมตัวตายอย่างสงบของหลวงพ่อไพศาล วิสาโล เป็นงานที่ช่วยเราได้มาในการเตรียมตัวตาย ผมอ่านและลองมาทำกับตัวเองทุกๆ คืน คือ เวลาเข้านอนเราก็อ่านบทพิจารณาความตาย และแผ่เมตตาให้กับตัวเองและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก่อนที่จะค่อยๆ โน้มกายมาดูกายดูจิตค่อยๆ รู้สึกตัว รู้ถึงลมหายใจแผ่วเบา ลองทำไปทีละนิดๆ ก่อนนอน แล้วคืนนั้นก็นอนด้วยความอิ่มเอม ปราศจากความฝันหรือความคิดอันยุ่งเหยิงก่อกวน
เมื่อได้พิจารณาถึงความตายแล้ว ทำให้เห็นเลยว่าชีวิตตัวผมนี้ไม่เที่ยง สักวันหนึ่งต้องตายแน่นอน คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่าเราจะตายไปโดยไม่ได้พบธรรมะกระนั้นหรือ? เกิดมาพบหนทางแห่งการพ้นทุกข์แล้วทำไมเราไม่ตั้งใจ ตั้งมั่นปฏิบัติให้มากกว่านี้?
แน่นอนว่าการปฏิบัติธรรมนั้นอาจเป็นเรื่องที่ดูยากไปสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันของผม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำไม่ได้ เพราะการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันนั้นแหละคือการปฏิบัติธรรมจริงๆ การมีสติระลึกรู้กายและจิตในทุกๆขณะ อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่หลง ไม่เผลอไปตามแรงโน้มถ่วงของการปรุงแต่งต่างๆ
ในเมื่อชีวิตของคนเรามีเกิดและมีดับ สภาวะอารมณ์ต่างๆ ความคิด ความรู้สึก โลภ โกรธ หลง หรือไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ก็เป็นสิ่งที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กล่าวคือมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และที่สำคัญคือไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตนเราเขาที่จะสามารถบังคับได้
ฉะนั้นแล้วผมจึงพบว่าการมีสติระลึกรู้กายและจิตนี้ช่วยทำให้ผมจดจำสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดี ไม่ดี เป็นกุศลหรืออกุศล ต่างๆ ได้ด้วยใจเป็นกลาง ดังคำกล่าวของครูอาจารย์ที่ว่า “รู้ความปรุงแต่งโดยไม่ปรุงแต่ง” นั้นคือรู้ถึงสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น เห็นความไม่เที่ยง เห็นไตรลักษณ์ ซึ่งเพียงเท่านี้เราก็ได้ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันแล้ว
และอย่างที่ได้บอกไปเมื่อคราก่อนว่า เรามีหน้าที่ทำเหตุให้เกิด แต่ไม่ได้มุ่งไปหาผล เช่น เราอยากพ้นจากทุกข์ หรือไม่อยากเสียใจ ไม่อยากโกรธ ไม่อยากหลง แล้วเราไม่ได้ไปละหรือหนีความทุกข์ หนีความเสียใจ หรือหนีความโกรธ ความหลง เพราะนั้นเป็นการบังคับจิต ไปกดข่ม ซึ่งผิดกับหลักอนัตตา
สิ่งที่เราจะทำได้นั้นคือเอาใจมาดู มารู้กาย รู้จิต รู้ลงไปในปัจจุบันขณะ คือรู้ความโกรธ รู้ความเสียใจ รู้ความหลง แต่ไม่ใช่ปรุงแต่ว่าเรื่องที่โกรธคืออะไร เรื่องที่เสียใจคืออะไร อยู่อย่างนั้น ถ้ามัวไปคิดพิจารณาแล้วหาอะไรมาปรุงแต่งใจให้ดีขึ้น เช่น หาหนังสือมาอ่าน หาเพลงมาฟัง เพื่อให้หายโกรธ หายเสียใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความโกรธ ความเสียใจหายไปจริงๆ แต่กลับจะทำให้สภาวะเหล่านี้เก็บซ่อนไว้ในจิตใต้สำนึกและรอวันปะทุมาในอนาคต
มาถึงตรงนี้แล้ว .....หายใจออก หายใจเข้า ผมเริ่มตระหนักรู้ชัดว่าชีวิตไม่เที่ยง สภาวะต่างๆก็ไม่เที่ยง ไม่มีอะไรยั่งยืนยาวนานได้ มีเหตุ ปัจจัย ต่างกัน มีเกิด มีดับ เป็นของธรรมดา เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง
เรายังมีร่างกายและมีจิตใจในปัจจุบันขณะนี้ ถ้าได้เริ่มต้นสำรวจกายและใจของตัวเองก็คงจะเป็นต้นทุนชีวิต เป็นต้นทุนธรรมที่จะเอาไว้ติดประจำจิตไปทุกๆ ชาติ เมื่อตายไปแล้วจะได้ดีใจว่ายังตายไปด้วยใจที่มีธรรม......