บ่อยครั้งที่การเจริญสติของใครหลายคนติดอยู่กับอารมณ์คือหลงไปแช่อยู่กับอารมณ์นานจึงทำให้เกิดการเผลอยึดมั่นในอารมณ์นั้น กลายเป็นติดหลุม เผลอลงไปแช่ จะรู้สึกมัวๆ หรือเผลอไปแทรกแซง จนยากยิ่งนักที่จะรู้สึกตัวทัน ทั้งนี้ครูบาอาจารย์ท่านแนะไว้ว่าอาจเป็นเพราะจิตยังไม่ถึงฐานหรือจิตยังไม่ตั้งมั่น
สำหรับผมแล้วเหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อเผลอไปกับอารมณ์ราคะ ทำให้ใจไม่สามารถหลุดจากสภาวะนี้ได้ เผลอไปแช่อยู่เป็นเวลานาน และรู้สึกมัวๆ นัวๆ เห็นไม่ชัด ตัดไม่ได้ หรือแม้ว่าความโกรธจะเป็นตัวที่หยาบใหญ่ที่เห็นได้ชัดแต่บางครั้งก็จะรู้สึกว่าใจจะติดยึดไปเหมือนกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่มีแรงของสมาธิมาช่วย
เพราะคิดว่าการเจริญสติในชีวิตประจำวันก็น่าจะพอให้รู้กายรู้ใจตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับผมจะยาก เพราะในแต่ละวัน ต้องทำงานพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในที่ทำงาน ห้องประชุม ค่ายจัดกิจกรรมต่างๆ ก็มักจะเผลอไปคิดอยู่นานกว่าจะรู้สึกตัว และเมื่อมาดูกายดูใจตัวเองก็จะพบว่ามันมีลักษณะมัวๆ เห็นไม่ชัด และใจจะแห้งๆ ไม่ค่อยรู้ ตื่น เบิกบานเท่าใดนัก
สิ่งที่ช่วยทำให้ใจตั่งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เพื่อช่วยให้จิตสามารถเห็นอารมณ์ทางกายและใจได้อย่างรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่เผลอไปแทรกแซงหรอืบังคับใจ ก็มีเหตุอยู่หลักๆ เช่น การทำสมถะภาวนา โดยการทำใจให้สงบตั้งมั่นในอารมณ์ สำหรับผมใช้อานาปานสติ บางครั้งก็บริกรรม บางครั้งก็ไม่บริกรรม แล้วแต่ว่าจิตตอนนั้นพึงใจหรือชอบแบบไหน แล้วก็ได้ทำสมถะภาวนาโดยการมีสติทุกๆ ลมหายใจเข้าออก และรู้สึกตัวไปเฉยๆ ให้ใจอยู่กับอารมณ์ที่เกิดในแต่ละขณะๆ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการพักจิตและเสริมกำลังให้จิตตั้งมั่น ถอนออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูก็พอ หรืออีกแบบหนึ่งคือ หากใจรู้ไม่ชัด ก็ให้ดูจิตลงไปเลยว่ารู้ไม่ชัด หากรู้มัวๆ ก็แค่รู้ไปว่ารู้มัวๆ เพียงเท่านี้ใจก็จะเกิดสมาธิตั้งมั่นชั่วขณะ ซึ่งสมาธิชั่วขณะนี้เองจะช่วยให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
สำหรับผมมักจะใช้วิธีแรกในการภาวนาในรูปแบบตอนก่อนนอนและตอนตื่นเช้า ขณะที่วิธีหลังจะใช้ในขณะระหว่างวันของตนเอง ทั้งนี้เพราะไม่สามารถแยกได้ว่าอย่างใดดีกว่ากัน เลยทำทั้งสองอย่างไปตามเหตุเงื่อนไขที่มีของชีวิต เมื่อใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว หากใจเผลอไปคิด หรือ เกิดอารมณ์ อาการต่างๆ ขึ้น ก็จะมีสติรู้สึกตัวเท่าทันและวางอารมณ์อาการนั้นๆ ได้ ทำให้เกิดสติเป็นขณะๆ
ทั้งนี้หากใจตั้งมั่นด้วยการทำสมถะแล้วเมื่อถอนจากสมาธิออกมาอยู่กับอารมณ์ปกติตรงจุดเปลี่ยนนี้เองจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของจิตได้ชัดเจนมากทำให้เห็นความไม่เที่ยงและเป็นอนัตตาของจิต หรือใช้จิตที่ตั้งมั่นนี้ดูรูปที่เคลื่อนไหว จุดตรงนี้ถือเป็นนาทีสำคัญในการดูสภาวะที่สามารถเห็นไตรลักษณ์ของรูปและนามที่แปรเปลี่ยนอย่างชัดเจน
ครูบาอาจารย์มักเตือนว่า การภาวนาทั้งสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเป็นของที่ต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน ไม่ควรทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง (และบางครั้งจิตก็ไหลไปเป็นสมถะและเป็นวิปัสสนาโดยที่เราเองก็ไม่สามารถบังคับควบคุมจิตได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา) สองสิ่งนี้เป็นเสมือนที่พึ่งพิงอาศัยหนุนเสริมแรงของกันและกันเพื่อให้เกิดใจที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูและเกิดปัญญารู้แจ้งในความจริงของกายและใจและคลายความยึดมั่นถือมั่นในอวิชชา ตัณหา อุปาทาน จนเข้าถึงความจริงสูงสุดในเบื้องปลาย.....