ในการภาวนาบ่อยครั้งนักที่ผมมักจะได้ยินคนอื่นๆ มาเล่าให้ฟังทำนองว่า สถานที่นี้ไม่ดีเลย ไม่เหมาะที่จะภาวนาเลย เสียงก็ดัง คนก็เยอะ ไม่มีที่ ไม่มีทางเดินจงกรมหรือนั่งปฏิบัติเลย เพราะมองว่าการที่จะภาวนาได้นั้นจะต้องไปในสถานที่ที่มีรูปแบบ เช่น มีทางให้เดินจงกรม มีเบาะให้นั่งภาวนา เป็นต้น
การจะภาวนาแต่ไปติดตรงที่ว่าควรจะภาวนาในสถานที่อย่างไรนั้น อาจทำให้หลายๆ คนไม่สามารถที่จะภาวนาได้อย่างปัจจุบัน เพราะมักคิดถึงสถานที่ที่เอื้อต่อการภาวนา คือ ควรเป็นที่ที่สงบ สัปปายะ ไม่มีคนไปมาวุ่นวาย ไม่มีการปะทะสังสรรค์มากนัก เพราะการจะภาวนาต้องอยู่อย่างเงียบๆ สำรวมทั้งกาย วาจา
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบภาวนาในที่เงียบๆ สงบๆ โดยเฉพาะตามป่าเขา โดยเฉพาะตอนอยู่ที่ถ้ำผาปล่อง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ห่างไกลผู้คน และจะทำให้ได้มีโอกาสและเวลาที่จะอยู่กับตัวเองที่แท้จริง ทำให้ได้เห็นความคิด จิตใจของตนเองอย่างชัดเจน และหากต้องการความสงบในสมาธิ ก็เอื้ออย่างยิ่งให้เกิดจิตที่เป็นสมาธิ
ทว่าขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้เราจะผันตัวเองไปอยู่ที่เงียบๆ ตามวัด แต่จะมีสักไม่กี่วัน หรือ สักไม่กี่ชั่วโมง เพราะชีวิตของเราที่ดำเนินไปในแต่ละวัน ในระหว่างวัน ก็ถือว่าเวลามากกว่ากันหลายเท่านัก ฉะนั้นแล้วการภาวนาที่ช่วยให้เห็นความจริงของใจได้อย่างชัดเจนและนำมาใช้จริงได้นั้นก็คือการภาวนาในชีวิตประจำวัน ในแต่ละวันๆ ของเรา ไม่ว่าจะทำงาน เรียนหนังสือ พบปะสังสรรค์กับเพื่อน เป็นต้น
สถานที่ภายนอกอาจมีความสำคัญระดับหนึ่ง แต่การกลับมายัง “สถานที่ภายใน” คือ “ใจ” ของเรานั้น ก็เป็นส่วนที่เราควรน้อมกลับมาให้ความสำคัญและกลับมาสู่ตัวเอง มาเรียนรู้ภายในจิตใจของตัวเอง เพราะใจของเราเป็นเสมือน “บ้านที่แท้จริง” ที่เราควรจะกลับมาดูใจของตน พาใจกลับมายังบ้านที่แท้จริง และเรียนรู้ดูใจตามความเป็นจริงในระหว่างวัน
เมื่อเรามีใจไว้ภาวนาเพื่อรู้ใจของเราที่เปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหวไปมา และพยายามสังเกตจิตใจของตัวเองในแต่ละขณะๆ แล้วนั้น สถานที่ภายนอกจึงเป็นเพียงปัจจัยภายนอกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ภายในใจที่ไม่เอาสถานที่ภายนอกมาเป็นอุปสรรคในการภาวนา เพราะการภาวนานั้นสามารถฝึกสติรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ในชีวิตแต่ละที่ ไม่จำกัดกาลเวลา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดบรรยากาศ
กล่าวเพิ่มเติมคือ ไม่จำกัดกาลเวลา คือ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาเช้า กลางวัน เย็น ไม่จำกัดสถานที่ คือ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางในรถทัวร์โดยสาร รถไฟ เครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน ที่เที่ยวต่างๆ และไม่จำกัดบรรยากาศ คือ ไม่ว่ารอบตัวเราจะเสียงดัง จะมีกลิ่นเหม็น อยู่ในที่แออัดไปด้วยฝูงชน กินดื่มอาหาร อากาศหนาว ร้อน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็เป็นไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการภาวนา เพราะเราสามารถเราก็สามารถฝึกสติรู้สึกตัวได้ ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรในแต่ละวัน หลักสำคัญคือในแต่ละขณะเราสามารถมีสติรู้สึกตัวโดยมีใจดู เพื่อให้รู้ใจได้มากน้อยเพียงใด แค่เรารู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริงในชีวิตแต่ละขณะๆ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
หลวงพ่อรูปหนึ่งซึ่งผมและพี่ๆ ได้มีโอกาสนมัสการท่าน ในช่วงที่พวกเรามาอยู่ที่วัดถ้ำผาปล่อง ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร หลวงพ่อท่านนี้อยู่โดยลำพัง ณ กุฏินอกวัด ฉะนั้นเราจึง ต้องเดินออกมาหาท่านและได้มีโอกาสสนทนาธรรมจากท่านและฟังคำแนะนำในการปฏิบัติ
ท่านกล่าวย้ำว่าการภาวนาแท้ที่สุดแล้ว คือ การมีสติรู้เนื้อรู้ตัวอย่างซื่อๆ ณ ปัจจุบันขณะ โดยไม่ใช่การนั่งหลับตา หรืออยู่ในรูปแบบเพียงอย่างเดียว เพราะเราต้องดูใจของตนเองในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งท้ายแล้วก็มีอยู่สองสิ่งที่อยู่กับเรา คือ ตัวใจที่รู้และตัวสิ่งที่ถูกรู้ ท่านบอกว่าสิ่งต่างๆ ที่ใจไปเห็นนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งอาจจะเป็นกาย เวทนา หรือจิต เราก็แค่รู้ เมื่อรู้แล้วก็ทิ้งไป อย่าเอามาเก็บไว้ ท่านย้ำว่าเราภาวนาเพื่อรู้และละ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อรู้และเอา
แม้ว่าท่านจะเคยปฏิบัติด้วยความเพียรทั้งการอดหลับอดทน การนั่งสมาธิ เดินจงกรม ต่อเนื่องเป็นวันๆ หรือแม้แต่การอดหลับเป็นปีๆ หรือ การมีจิตที่เกิดฌานมีความสงบระดับลึก และน้อมใจไปเห็นภพภูมิต่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้เข้าใจในทุกข์และพ้นจากความทุกข์ ฉะนั้นท่านจึงทิ้งซึ่งต่างๆ เหล่านี้ และกลับมารู้กายรู้ใจในชีวิตระหว่างวัน ท่านบอกว่าเราต้องยอมทิ้งให้หมด ยอมเป็นคนโง่ที่รู้ซื่อๆ และเราจะพบกับความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในตัวเอง
ดังนั้นแล้ว ผมจึงค่อนข้างที่จะเข้าใจขึ้นมาอีกระดับหนึ่งว่า ขนาดท่านบำเพ็ญเพียรมากกว่าตัวเราตั้งหลายๆ เท่า เมื่อท่านบอกและเตือนพร้อมทั้งย้ำว่าการภาวนาแท้จริงแล้วคือการอยู่กับปัจจุบันและรู้เท่าทันความจริงที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ก็เป็นหลักใจได้ว่าพอจะมาทางที่ถูกที่ควร ฉะนั้นต่อไปจึงต้องอาศัยความเพียรอย่างพอควรและรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวัน มีใจเป็นผู้รู้ ผู้ดู และอยู่กับปัจจุบันก็เพียงพอแล้ว