Skip to main content

ภาพหลวงพ่อเทียน

ดูจิต...

ดูจิตคืออะไร? ข้าพเจ้ามักสงสัยตลอดเวลา เมื่อมีผู้ใหญ่ได้บอกสอนเรื่องการ “ดูจิต” บางคนถามว่าวันนี้ดูจิตเป็นยังไงบ้าง ดูจิตไปถึงไหนแล้ว แต่ละคำถามเกิดจากการติดตามผลของการปฏิบัติที่พี่ๆ แต่ละท่านต่างเฝ้าสอบถามด้วยความเป็นห่วง

วันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้พบกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือ ท่านได้ถามข้าพเจ้าว่าชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากที่ไม่ได้พบเจอกันมาเสียนาน ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องการปฏิบัติของข้าพเจ้าให้ผู้ใหญ่ท่านได้รับฟัง และเราก็ได้คุยถึงครูบาอาจารย์ที่สอนการวิปัสสนากรรมฐานแต่ละหนแห่ง

ผู้ใหญ่ท่านนี้ได้แนะนำ และชวนเชิญให้ข้าพเจ้าได้ลองปฏิบัติตามแนวทางของ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ซึ่งท่านบอกว่าวิถีของหลวงพ่อเป็นการเจริญวิปัสสนาที่เน้นการขยับเคลื่อนร่างกาย พิจารณาทางกาย หรือที่เรียกว่า “กายานุปัสสนา” หรือการพิจารณากายในกาย พิจารณาการเดิน นั่ง ยืน การเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งน่าจะเหมาะกับฆราวาสที่ไม่ได้มีเวลานั่งปฏิบัติอย่างจริงๆ จังๆ

ข้าพเจ้า ไม่เคยได้ยินชื่อของ หลวงพ่อเทียน มาก่อน จึงได้ลองหาข้อมูลในเว็บไซต์ และได้เข้ามาอ่านเรื่องการดูจิต ที่หลวงพ่อเทียนท่านได้เขียนไว้ มีความว่าดังนี้......

รูปกายนี้ มันเคลื่อนมันไหวอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง ตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ มันจะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ ผมเลยเอามาทำเป็นจังหวะ ทำจังหวะ : ยกมือเข้า เอามือออก ยกมือไป เอามือมา ฯลฯ เพื่อเป็นการเรียกร้องให้มีสติมั่นคงอยู่กับรูปกาย อย่างนี้ ตลอดไปถึงจิตใจคิดนึก สองอันนี้เป็นเชือกผูกสติเอาไว้ เมื่อความคิดเข้ามา เราเห็น-รู้ กำมือ เหยียดมือ ยกไป ยกมา นี้ก็รู้ แต่ไม่ต้องเอาสติมาจ้องตัวนี้ อย่าเอาสติมาคุมตัวนี้ ให้เอาสติไปคุมตัวความคิด คำว่า “ไปคุม” คือ ให้คอยดูมัน ดูไกลๆ ดูสบายๆ อย่าไปดูใกล้ๆ มันจะเป็นการเพ่ง ไม่เป็นมัชฌิมา จึงว่า - ทำใจไว้เป็นกลางๆ พอมันคิดปุ๊บ - ทิ้งไปเลย

เพียงดูความคิดนี่แหละ เพียงความเคลื่อนไหวนี่แหละ มันเป็นเอง ความเป็นเองมันมีอยู่แล้ว พร้อมแล้วที่จะปรากฏในคนทุกคนได้

พุทธะ จึงแปลว่า ผู้รู้ รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม รู้ธรรม ก็คือรู้ตัวเรา กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เข้าใจธรรม เมื่อรู้อันนี้แล้วก็เลยรู้บาป รู้บุญ บาปก็คือโง่นั่นเอง คือไม่รู้ คืออยู่ในถ้ำ มืดอยู่นั่นแหละ ถ้าเราออกจากถ้ำได้ เรามาอยู่ปากถ้ำ อยู่ข้างนอกถ้ำ เราก็สามารถมองเห็นอะไรได้ทุกอย่าง

พุทธศาสนาจริงๆ นั้นคือ ตัวสติ-ตัวสมาธิ-ตัวปัญญาที่ฝึกฝนทำดีแล้วนั่นแหละ ตัวพุทธศาสนามีในตัวคนทุกคน แล้วแต่บุคคลนั้นจะประพฤติปฏิบัติให้มันปรากฏขึ้นหรือเปล่า เป็นเรื่องของบุคคลนั้น

การรู้เฉยๆ นี้ยังไม่เห็นความคิด รู้เรื่องรูปนามนี่ยังไม่เห็นความคิด มันคิดจากไหนไม่รู้ มันคิดแล้วมันก็เข้าไปในความคิด รู้ไปเรื่อยๆ รู้แต่ดี ชั่วไม่รู้ อันนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนควรจำเอาไว้

ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป

การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม

การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึก การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ การเจริญสติ สมาธิ คือ การตั้งใจ ที่เราต้องการความสงบ หรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิต เมื่อมันคิดมาอย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน

ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้นเรียกว่า ความสงบ
ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นแก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจาก สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่ได้เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ที่นั่นแล้ว

การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี่ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น

ให้ลืมตาทำ เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้องบังคับให้มันหลับ ให้มันกะพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้ายแลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ

หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย  การที่เราเคลื่อนไหว แปลว่าปลุกตัวเราให้ตื่น เมื่อมันคิดให้มันรู้ ความรู้มันจะไปดับโทสะ โมหะ โลภะ จะดับความยึดมั่นถือมั่น แล้วจิตใจเราก็เป็นปกติ เมื่อเป็นปกติแล้วสิ่งใดมาถูกเรา เราจะรู้สึกทั้งหมด เมื่อรู้สึกแล้วเหมือนสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดออกจากกัน-คนไม่มี นี่แหละที่ว่าพระพุทธเจ้าฆ่าคนให้ตาย มีแต่ชีวิตของพระล้วนๆ ชีวิตของพระไม่มีเกิด ไม่มีตาย

วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใครๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็กๆ ก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้ ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง

วิปัสสนา คือ การเห็นแจ้งรู้จริง เห็นอะไร? ก็เห็นตัวเองนี่เอง กำลังนั่งอยู่ พูดอยู่ในขณะนี้ เห็นจิตใจมันนึกคิดอยู่เดี๋ยวนี้ อันนี้แหละเป็น "วิปัสสนา" จริงๆ

คำว่า "วิปัสสนา" นั้นเป็นเพียงชื่อเท่านั้นเอง แต่ตัวจริงของวิปัสสนานั้น ตามตัวหนังสือแปลว่า รู้แจ้ง-รู้จริง รู้แล้วต่างเก่าล่วงภาวะเดิม ว่าอย่างนั้น ถ้าหากรู้แจ้ง-รู้จริง เราจะไปเสียเวลาดูฤกษ์งามยามดีกันทำไม จะไปไหว้ผีไหว้เทวดากันทำไม ถ้าหากรู้แจ้งรู้จริงแล้วก็ไม่ต้องกลัวใครทั้งหมด

การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแส

ความคิดนี้มันไว ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ

การเห็นการรู้ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้ เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะคิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งในภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

การทำความรู้สึกตัวนั้น จึงมีอานิสงส์มาก ถ้าหากไม่รู้สึกตัวในขณะไหนเวลาใดแล้ว เรียกว่าคนหลงตน ลืมตัว หลงกายลืมใจ คล้ายๆ คือเราไม่มีชีวิตนี่เอง ให้ดูใจ เมื่อคิดขึ้นมา เห็น รู้เข้ามา ทำความเคลื่อนไหว มันจะวาง วางใจ มันจะมาอยู่กับความรู้สึก เมื่อมาอยู่กับความรู้สึกแล้วปัญญามันจะเกิด คนจะล่วงทุกข์ไปได้เพราะปัญญา

ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดไปถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด

แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่

หลักพุทธศาสนาจริงๆ สอนให้ละกิเลส คือความอยากนี้เอง แต่ตัวที่มันอยาก เรากลับไม่เห็น ไม่รู้ เราต้องดูจิตดูใจ ให้เข้าใจทันทีว่า เออ…กิเลสเกิดขึ้นแล้ว ต้องเห็นที่ตรงนี้

คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้น สอนให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อทำลายความหลงผิด ความหลงผิดเกิดขึ้นนั้น ท่านว่าเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเรามีความโกรธ ทุกข์เพราะเรามีความโลภ ทุกข์เพราะเรามีความหลง ถ้าเราไม่มีความโกรธ ความโลภ ความหลงแล้ว เราก็ไม่ต้องมีทุกข์ ทำการทำงานอะไรก็ต้องไม่มีทุกข์

..........

คำสอนเรื่องการดูจิต ของหลวงพ่อเทียน เป็นวิธีการหนึ่งที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น ซึ่งหากมองตามหลัก “มหาสติปัฏฐานสี่” แล้ว หากจะเปรียบเทียบการเจริญสติโดยการสร้างจังหวะของหลวงพ่อเทียนกับมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว วิธีสร้างจังหวะของหลวงพ่อนั้นจัดอยู่ใน “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ในลักษณะของ อิริยาปถบรรพ คือมีสติในอิริยาบทใหญ่ ในการยืน เดิน นั่ง นอน และสัมปชัญญบรรพ คือมีสติในอิริยาบทย่อย เช่น คู้ขา เหยียดแขน กลืนน้ำลาย กระพริบตา รวมไปถึงกลวิธีของการเคลื่อนไหวมือสร้างจังหวะ (หรือจงกรมด้วยมือนั่นเอง)

นอกจากนี้ ยังตกเข้าในลักษณะของ “เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ในแง่ที่ว่า เมื่อเกิดความรู้สึกตัวขึ้นในการเคลื่อนไหว นั่นคือรู้ในความรู้สึกที่เป็นกลางๆไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอุเบกขา แต่เป็นการรู้ซึ่งความปกติตามธรรมชาติที่แท้ของจิต เป็นความรู้สึกด้วยสภาพจิตที่แท้จริงจิตที่เป็นกลางซึ่งเป็นต้นตอของชีวิตจิตใจ เมื่อสร้างความรู้สึกตัวให้มีมากขึ้น สติจะทำหน้าที่ของมันเอง คือคอยจับการเคลื่อนไหวของจิตหรือคือความคิดนั่นเอง เข้าลักษณะของ “จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ให้รู้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงทางจิต เข้าสู่ “ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน” มีคนเล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อเทียน ท่านเน้นให้เห็นความคิด ซึ่งก็คือจิตและการเคลื่อนไหวของจิตนั่นเอง สุขทุกข์ล้วนเกิดจากจิต แต่จิตนั้นปราศจากรูปร่างหน้าตา

ฉะนี้แล้ว หนทางอันนำไปสู่การหลุดพ้นอย่างแท้จริงนั้น ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ หากเราได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าหนทางของหลวงพ่อเทียน นั้นเป็นหนทางหนึ่งที่อาจจะเหมาะสมแก่จริตของแต่ละคนที่แตกต่างกัน บางคนถนัดแบบของท่านโกเอ็นก้า บางคนถนัดแบบหลวงพ่อชา สุภัทโท บางคนถนัดแบบอุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง และครูบาอาจารย์วิปัสสนากรรมฐานอีกหลายๆ ท่าน

แต่หนทางที่จะไปถึงนั้นย่อมไม่ได้ห่างไกลจากการนิพพานหรือการหลุดพ้นอย่างแท้จริงเลยแม้แต่น้อย นั้นหมายความว่า หากเรายึดหลักหลักปฏิบัติได้ในแก่นแล้ว เราย่อมสามารถนำแนวทางของครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านมาประยุกต์ให้เหมาะกับแนวทาง จริต และบริบทชีวิตของตนได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนนั้น ผู้ใหญ่ท่านที่ได้คุยกับข้าพเจ้า ได้ชวนให้ไปร่วมปฏิบัติด้วยในช่วงเดือนเมษายน ปี 2551 ซึ่งหากผู้ใดสนใจ อาจติดต่อสอบถามข้าพเจ้าได้ในจดหมายอีเมล์ และอาจมีการนัดหมายกันอีกครา เมื่อเวลาใกล้จะมาถึง ทั้งนี้หากใครต้องการอ่านข้อมูลเกี่ยวกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.se-ed.net/theeranun นะครับ

ธรรมสวัสดี....

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
ผมคิดไว้มานานหลายเดือนแล้วว่า จะตั้งใจเขียน "บันทึกการเจริญสติ" ของตัวเองขึ้นมาเพราะคิดว่าคงจะดี ถ้าได้บันทึกไว้ เพื่อการเรียนรู้ของตัวเอง และคนอื่นๆ ที่สนใจ ก่อนที่จะบันทึกในกาลต่อไป ขอเล่าเรื่องการภาวนาของตัวเองก่อน....สำหรับผมแล้ว เริ่มต้นของการปฏิบัติคือเมื่อปลายปี 2549 ก็เกิดจากทุกข์ทางใจ เพราะงานเยอะ เครียด และตอนนั้นแฟนจะขอเลิก เขาเลยเสนอว่าให้ไปปฏิบัติธรรมเพื่อทำใจ จึงได้สมัครไปปฏิบัติของท่าน โกเอ็นก้า ที่ ธรรมอาภา จ.พิษณุโลก พอไปทำมา 10 วัน ก็ดีใจ ที่ทุกข์ครั้งนี้ทำให้ได้พบกับธรรมะ
พันธกุมภา
พันธกุมภาถึง มีนา ปลายปี 2551 นี้ ผมมีโปรแกรมไปเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตอีกครั้ง ภายหลังจากเมื่อสิ้นปี 2550 ที่ผ่านมาผมได้เดินทางไปที่วัดป่าสุคะโตแล้วและได้พบหลัก พบหนทาง หลายอย่างที่เหมาะสมกับตัวเองยิ่งนัก แต่การเดินทางไปครั้งนี้ไม่เหมือนปีก่อน....มีหลายเรื่องเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง ไปตามกาลเวลา สิ่งที่เข้ามารับรู้ทำให้อารมณ์ของผมเกิดขึ้นไปต่างๆ นานา และสิ่งที่เสียใจที่สุด ทำให้ใจหม่นหมองมาหลายวัน นั่นคือการมรณภาพของ "หลวงปู่" เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน
พันธกุมภา
พันธกุมภา ถึง มีนา เมื่อฉบับที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงโครงการ “ธรรมทานสู่โรงพยาบาล” ที่ผมและลูกปัดไข่มุก ร่วมกันทำในนามกลุ่ม “ธรรมะทำดี” – กลุ่มที่เราสองคนร่วมกันคิด ร่วมกันก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา เพื่อการเผยแพร่ธรรมะที่เราได้พบและเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ที่ผ่านมา พวกเราสองคนต้องขอบคุณพี่ๆ หลายๆ ท่านที่ได้ส่งหนังสือมาให้นะครับ ตอนนี้มีคนที่มอบหนังสือมาหลายเล่ม ทั้งนิตยสาร และหนังสือธรรมะ และก็มีบางส่วนที่เราไปหาซื้อแถวจตุจักร จากเงินเก็บของเราที่มีอยู่
พันธกุมภา
พันธกุมภา ถึง พี่มีนา  ผมหายจากหน้าจอไปนานเพราะมีงานให้ทำ จนฟกช้ำจิตใจไปทั่วเลย ไม่ค่อยมีเวลาได้พัก เพราะงานที่ผมรัก ทำให้ผมต้องใช้กำลังกายและความคิดมากเหลือล้น ผมจึงเป็นดั่งคนที่นำเอาพลังชีวิตในอนาคตมาใช้ ซึ่งตอนนี้ไม่รู้ว่าจะพอมีเรี่ยวแรงเหลือใช้หรือไม่ในกาลต่อไป เฮ้อ...แต่ที่จะเล่าให้พี่ฟังครานี้ก็คือ ช่วงที่ผ่านมาผมและ “ลูกปัดไข่มุก” ได้ไปจัดห้องสนทนาธรรมชื่อห้องว่า “ห้องธรรมตามใจ” เนื่องในงานเพศศึกษาวิชาการขององค์การแพธ แล้วมีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย ทว่าในฉบับนี้อยากเอาคำคมชวนคิดที่ “ลูกปัดไข่มุก” และผมได้ช่วยกันคิดและเขียนขึ้นมาบอกเล่าต่อ ดังนี้ครับ 1.…
พันธกุมภา
มีนา ถึง...น้อง พันธกุมภา ความขี้เกียจมันไม่เข้าใคร ออกใครจริงๆ ... แต่ตอนนี้ต้องเริ่มลุกขึ้นมาทำงานแล้ว เพราะคนที่อดทนไม่ได้เมื่อเราไม่ทำงานก็คือ “แม่” ของเราเอง แม่ของพี่ เป็นภาพสะท้อนของคนจีนในเมืองไทย รุ่นที่ 2 ที่ยังคง ลำบาก ทำงานหนัก และถือปรัชญาพุทธ “ขงจื๊อ” ในเรื่องการทำงานว่าต้องมี ความซื่อสัตย์ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ความขยัน อดทน และอดออม แม่มีทุกอย่างจริงๆ แต่พี่อาจจะไม่มีทุกอย่าง อย่างที่แม่มี เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่เรามีความเหมือนและความต่าง แม้เราจะเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่สอนให้เราเป็นคนค้าขาย เราอาจจะไม่ได้อยากค้าขาย ครอบครัวสอนให้เราทำงานหนัก…
พันธกุมภา
มีนาถึง พันธกุมภาช่วงนี้เป็นเวลาพักของพี่ ช่างเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากๆ ในความรู้สึก... แต่พี่อดคิดถึงน้องไม่ได้... แล้ววันหนึ่ง... โดยที่ไม่คาดคิด เราก็มาพบกันโดยที่มิได้คาดหมายหรือนัดกันไว้ก่อน พี่อดคิดไม่ได้ว่า ชีวิตคนเราช่างแปลกจริงๆ เราก็มาพบกันจนได้ เพราะความไม่สบายของพี่ชายเพื่อนของเรา ส่วนตัวพี่ไปบ้านนั้นเพราะต้องการไปดูแลตัวเองนอกจากได้ไปดูแลตัวเองและพบกับน้องแล้ว พี่ยังได้พบกับเพื่อนอีกหลายคน ที่ไม่ได้พบกันนานที่นั่น ใครหลายคนบอกว่า โลกมันช่างแคบ ถ้าเรารู้จักคนนี้ เราก็จะรู้จักคนนั้น แต่อาจจะไม่ใช่ในช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้นเองการพักผ่อนของพี่ ก็คงเหมือนกับคนทั่วๆ…
พันธกุมภา
มีนา ถึง...พันธกุมภา ตั้งแต่ตกงาน พี่ยังไม่ได้หยุดงานเลย พี่พบว่าโลกปัจจุบันมีงานอยู่หลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนิยามมันว่าเป็นงานอย่างไร สำหรับชีวิตพี่ตอนนี้ มีงานแบบที่ถูกให้คุณค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม และงานที่ไม่ได้ถูกให้ค่าเชิงเศรษฐกิจแต่จำเป็นต้องทำ อันนี้ยังไม่ได้นับรวมเรื่องทางธรรมที่พี่ไปพบมา คืองานที่ทำแล้วไม่มีคุณค่าทางโลกแต่ได้ “บุญ” คิดดูสิว่า... ในโลกเรามีงานมากมายขนาดไหน งานที่พี่ลาออกมาเพื่อขอพัก พี่ยังไม่ได้พักเลยจนกระทั่งบัดนี้ เพราะพี่ทำแต่งานที่ไม่ให้ค่าทางเศรษฐกิจ อย่าง การดูแลแม่ งานบ้าน และการดูแลบ้าน และยังงานอื่นๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับครอบครัว…
พันธกุมภา
พันธกุมภา ถึง มีนา ผมขอแสดงความดีกับพี่สาวของผมด้วยนะครับ ที่มีโอกาสได้พักผ่อน แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าการที่เราตกงานนั้นเปรียบเสมือนการพายเรือในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่เคว้งคว้างไม่รู้ว่าจะมีหนทางในงานใหม่อย่างไรได้อีก ผมทราบดีว่าพี่คงจะเหนื่อยจากการทำงานมิน้อยเลย และเชื่อว่าการได้รับมอบหมายงานเยอะคงไม่ใช่สาเหตุของการออกจากงานหรอกใช่ไหมครับ ผมรู้ว่าจดหมายหลายฉบับที่พี่ได้เขียนมาบอกเล่านั้นมันสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้กับวิถีชีวิตความเป็นคนในเมืองหลวง และรวมถึงการต้องสัมพันธ์กับคนมากหน้าหลายตา ที่มีตัวตนแตกต่างกันไป การที่เราทำงานที่เรารัก…
พันธกุมภา
มีนา  ถึง พันธกุมภา พี่กำลังจะเป็นคนตกงานค่ะ... ฉันกำลังจะเป็นคนตกงานค่ะ เดือนสิงหาคมนี้เป็นเดือนสุดท้ายสำหรับการทำงานอย่างเป็นทางการของฉัน ญาติพี่น้อง... เจ้านาย... เพื่อนร่วมงาน... เพื่อน... ต่างเป็นห่วงเป็นใยกลัวว่าพี่จะว่าง กลัวว่าฉันจะไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้ ตอนที่ฉันทำงาน พวกเขาต่างให้ความห่วง ความกังวล ว่าฉันทำงานหนักเกินไป  คนและสังคมสมัยนี้ให้คุณค่ากับการทำงานมากกว่าคุณค่าของความว่างงาน พี่เคยมีประสบการณ์การตกงานมาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้งนั้นพี่ยังไม่สามารถปล่อยวางเรื่องการว่างงานได้ แต่ครั้งนี้ พี่พยายามปล่อยวางเรื่องการงานในปัจจุบันเพื่อพบกับความว่าง …
พันธกุมภา
  พันธกุมภาถึง มีนาเมื่อฉบับที่แล้วพี่มีนาได้กล่าวถึงเรื่องการ "ปล่อยวาง" ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของการปฏิบัติธรรม เพราะหาไม่แล้วเราก็เป็นเพียงแค่ผู้เผชิญกับความสุขที่จิตใจเกิดขึ้นโดยที่หลงยึดติดอย่างไม่ทันรู้ตัวทั่วถ้วนสิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำในที่นี้ก็คือ เรื่องการปล่อยวาง หรือ การวางเฉย ซึ่งคล้ายกับภาษาธรรมที่เรียกว่า "อุเบกขา" นี้ ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง เพราะอย่างที่เราได้รู้กันมานั้นก็คือ ในการปฏิบัติธรรมนั้น ถือว่ามีด้วยกัน 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ การทำสมถะ และการทำวิปัสสนา เท่าที่รู้, การทำสมถะ คือ การทำให้จิตสงบ ทำให้จิตนิ่ง…
พันธกุมภา
มีนา สวัสดี พันธกุมภา รู้ว่าน้องสบายดี พี่ก็ยินดีไปด้วย การดำรงชีวิตอย่างมีสติไม่ใช่เรื่องง่าย พี่ก็ว่างบ้างไม่ว่างบ้าง เพียงแต่ช่วงเวลาที่น้องไม่ว่าง บังเอิญพี่ว่าง ซึ่งเป็นเรื่องดีที่เราจะมีจังหวะชีวิตที่แตกต่างกัน และทำให้การเขียนงานลงตัว พี่ยังคิดอยู่ว่า ถ้าไม่ว่างขึ้นมาพร้อมๆ กัน คงมีปัญหาแน่ๆ สำหรับพี่ ความแตกต่างจึงน่าสนใจ เช่นเดียวกับฤดูที่แตกต่าง ชีวิตที่ขึ้นๆ ลงๆ ช่วงสัปดาห์ที่น้องกำลังมีความสุขอยู่นั้น ชีวิตของพี่เหน็ดเหนื่อยและผจญกับความทุกข์ของคนอื่น แล้วยึดมาเป็นความทุกข์ของตนเอง ... บางทีพี่ก็คิดว่า ทำไมเราจึงเป็นคนอย่างนั้นไปได้ และทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่…
พันธกุมภา
พันธกุมภา ถึง มีนา สวัสดีครับพี่มีนา เป็นอะไรไปถึงไหนอย่างไรบ้างครับ หวังว่าพี่จะสบายดีมีสติในทุกๆ ความสนุกนะครับ อืม...จะว่าไปแล้วเราก็ไม่ได้ตอบรับจดหมายกันนานทีเดียว บางทีพี่ก็ว่างมากมายจนผมรู้สึกอิจฉาตาร้อน และผมเองบางทีก็ว่างนิดหน่อย พอมีเวลามานั่งขีดเขียน เวียนวนให้พี่ได้ยลได้ติดตามอยู่เนืองๆ ช่วงที่ผ่านมาวันเข้าพรรษา ผมพาตัวเองไปเข้าวัดมาครับ แถวๆ เกาะสีชัง ได้ไปกับคนที่รักและใช้ชีวิต “ดูจิต” สนทนาธรรมและดื่มด่ำบรรยากาศอบอุ่นจากไอทะเล ทำกับข้าวกินกันริมชายฝั่ง นั่งนับดาวยามราตรี มีเวลาก็ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวรอบเกาะ หาซื้อเงาะ ซื้อทุเรียนมานั่งกิน รินน้ำเปล่าชนกัน…