Skip to main content
 

  

In The Flesh?

"Tell me is something eluding you sunshine?
Is this not what you expected to see?
If you'd like to find out what's behind these cold eyes
You'll just have to claw your way through this disguise"

จากเพลง ‘In The Flesh?'
ของ Pink Floyd

อดอร์โน...ผมศึกษาและเขียนแย้งแนวคิดของคุณในเรื่องป็อบปูล่าร์มิวสิคมาพอสมควร แต่สิ่งที่ผมค้นพบได้จากตัวคุณมันมีแต่เรื่องเกี่ยวกับความคิดทฤษฎีทั้งนั้น

บางขณะที่ผมเคาะแป้นคีย์บอร์ดถกเถียงกับทฤษฎีของคุณ ผมก็ไพล่นึกไปว่า ในช่วงที่คุณมีชีวิตอยู่นั้น อะไรที่ทำให้คุณบันเทิงใจกับดนตรีที่มีซาวด์แบบ Atonal จนคุณถึงกับเขียนชมมันเป็นวรรคเป็นเวรขนาดนี้ (ไม่หรอก ผมยังไม่เชื่ออยู่ดีว่า Atonal music มันจะ Liberate อะไรใครได้ แต่ผมรู้ว่าคุณชอบมัน แบบเดียวกับที่ผมชอบวงร็อคหลายๆ วง) แล้วในแวดวงสังคมที่คุณอยู่ เขายอมรับกับความชอบ ยอมรับกับรสนิยมของคุณขนาดไหน?

อะไรกันที่ทำให้คุณมองดนตรีแจ๊สแบบลบๆ การที่ใครจะมองอะไรแบบลบๆ มีความเป็นไปได้ว่าเขาจะถูกกระทำจากสิ่งนั้นมาก่อน การนำทฤษฎีมาจับในแง่หนึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ได้มองอะไรจากเหตุผล จากตรรกะ มากกว่าจากอารมณ์หรือความรู้สึก แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็คือการ sublime ทำให้การแสดงทัศนะทางลบต่ออะไรอย่างหนึ่งยอมรับได้ อย่างน้อยก็ในวงวิชาการที่รับได้กับการใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์

เท่าที่ผมรู้มาจากชีวประวัติของคุณ คุณมีโอกาสได้สัมผัสเปียโนตั้งแต่ยังเยาว์วัย แล้วมันก็ทำให้คุณปิติกับเสียงของมัน กับฝีมือเปียโนที่ก้าวหน้าของตัวเอง คุณเป็นนักเรียนที่หลงรักความรู้และตัวหนังสือ เรียนจบออกมาด้วยระดับท็อปและพ่วงเอามิตรทางวิชาการออกมาด้วย

ตอนที่คุณอายุเท่าๆ กับผมในตอนนี้ ช่วงอายุที่คนเรากำลังหาทิศทางก้าวย่างไปสู่วัยทำงานนั้น คุณคิดอยากจะใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเอามาใช้วิจารณ์ดนตรีมาก แล้วคุณก็ได้เขียนงานวิจารณ์ที่คุณอยากเขียนสมใจ (เช่นเดียวกับผมที่ได้เขียนถึงคุณในตอนนี้) ก่อนที่คุณจะได้พบกับ คนอย่าง Alban Berg และ Arnold Schoenberg โดยเฉพาะคนหลังนี้เป็นผู้ที่นำพาให้คุณได้ค้นพบกับความมหัศจรรย์ของดนตรีแบบ Atonality

ใช่ ! ด้วยความมาดมั่นของคนหนุ่มแน่น คุณจึงเอาความรู้ที่คุณสะสมมาจากการศึกษาบวกกับความคิดคุณเอง มาอธิบายความน่าชื่นชมของดนตรีที่คุณชอบ แต่ดูเหมือนตา Schoenberg เองก็เฉยๆ ไม่ยี่หระกับการที่คุณเอาปรัชญามาจับกับดนตรีของเขาเสียเท่าไหร่ แม้คุณอยากจะพรรณนาถึงความปลาบปลื้มที่คุณมีต่อเพลงๆ หนึ่งอย่างไร มันก็ดูจะเปล่าประโยชน์ในสายตาของศิลปินอีโก้แรงเหล่านั้น คุณถึงหันมาเอาดีทางด้านงานทางสังคมและวิชาการ

กระนั้นผมก็นึกถึงภาพของคุณที่โดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชน ท่ามกลางงานเลี้ยงสวมหน้ากากของดนตรีแจ๊ส ตัวดนตรีเองมันไม่ได้ผิดบาปอะไรหรอก แต่กลุ่มชนที่เชยชมมัน ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจจะแค่อยากเข้าสังคม อยากสวมหน้ากากเพื่อให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานเลี้ยงนั่นต่างหากใช่ไหม ที่ทำให้คุณรู้สึกแย่

แต่ถ้าคิดในอีกทาง คุณอาจจะแค่สวมหน้ากากได้ไม่เก่งเท่าผมก็ได้...

One of the few

"...make them me, make them you,
make them do what you want them to
make them laugh, make them cry,
make them lie down and die"

- จากเพลง "One of the few"
ของ Pink Floyd

ผมเป็นคนที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ฐานะการงานครอบครัวกระท่อนกระแท่นบ้าง แต่ก็เรียกได้ว่ามีอันจะกิน และคงเหมือนๆ กับครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไปที่ได้ยินเพลงป็อบตามยุคสมัยจนชินชา โรงเรียนจะจับผมไปเต้นเพลงพี่เบิร์ด ธงไชย ในงานวันเด็ก คอนเสิร์ตในทีวีวันเสาร์อาทิตย์ก็มีนักร้องของค่ายใหญ่สลับกันมาออกทีวีให้ดู ผมตามดูรายการมิวสิควีดิโอของวัยรุ่น (ที่แบ่งค่ายกันชัดเจน) เพื่อที่จะได้มีเรื่องคุยกับเพื่อนตอนไปโรงเรียน

จนกระทั่งพอผมโตขึ้นอีกหน่อย พอจะรู้สึกถึงคำว่า เบื่อ' ผมเริ่มเบื่อเพลงป็อบตลาดแบบเดิมๆ ที่คนพากันพูดถึงซ้ำๆ เพลงที่ฉายในรายการก็แบบเดิมๆ ทำให้รู้สึกอยากค้นหาอะไรใหม่ๆ เพราะเพลงรักเนื้อหาซ้ำๆ เหล่านั้น ไม่ได้ให้คำตอบอะไรกับผมอีกต่อไป แต่ก็มองไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีกว่า

พอดีว่าในช่วงหนึ่งที่ครอบครัวต้องย้ายบ้าน ผมได้ไปค้นพบเทปเพลงแปลกๆ เข้า เป็นเทปเพลงที่ไม่มีป้ายแปะบอกว่าเป็นเพลงของใคร

เมื่อความอยากรู้อยากเห็นทำให้ผมเอาเทปม้วนนั้นมาใส่ในเครื่องแล้วกดปุ่มเพลย์ ทันใดนั้นเครื่องเล่นก็แว่วเสียงกีต้าร์โปร่งละมุนหูออกมา มีเสียงนักร้องเหมือนกำลังขับขานออกมาจากดินแดนที่ห่างไกล เนื้อร้องของมันเป็นภาษาอังกฤษที่ผมฟังไม่เข้าใจ แต่กลับทำให้ความรู้สึกปิติเอ่อล้นออกมาอย่างอธิบายไม่ถูก ผมมารู้จากแม่หลังว่านี่เป็นเพลงคันทรี่สมัยก่อนที่เคยชอบฟัง ซึ่งโลกใบเล็กๆ ของผมในตอนนั้นทำให้ผมมองว่าไอ่เทปนี่เป็น "ของแปลก" สำหรับผมไปแล้ว (ซึ่งต่อมาก็จะรู้ว่า โลกนี้มันช่างกว้างขวาง และมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ กว่านี้อีกหลายเท่านัก)

  

สิ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญกับรสนิยม พื้นฐาน การฟังเพลงของแต่ละคน มันมาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และสื่อฯ

คนที่อยู่ในสังคมเมืองอย่างผม อิทธิพลที่สำคัญคงไม่พ้นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งผมเองก็ได้รับรู้มาเท่าที่สื่อเหล่านี้เสนอมาให้ เพื่อนๆ ที่คุยกันในโรงเรียนก็คือคนที่เสพย์สื่ออันเดียวกับเรานั่นแหละ อาจจะเว้นให้คนที่มีอภิสิทธิ์หน่อยคือคนที่มีเคเบิลทีวี ที่จะคอยเอาวัฒนธรรมป็อบแบบ MTV มากึ่งอวดกึ่งเผยแพร่ ...ยุคสมัยที่ผมเติบโตมาเป็นเช่นนี้จริงๆ จึงไม่แปลกหากเขาจะไม่รู้จักเพลงคันทรี่ และเพลงเก่าอื่นๆ ที่ผมบังเอิญค้นพบจากเทปนิรนาม

ยุคสมัยของผมในเวลาต่อมายังมีการคาบเกี่ยวของยุคบอยแบนด์กับอัลเตอร์เนทีฟ ความทรงจำของทั้งวงบอยแบนด์และอัลเตอร์เนทีฟนั้นมีอยู่แน่ๆ แต่ไม่กระจ่างชัดเท่าวงร็อคเก่าๆ หลายวงที่ผมค่อยๆ ทำความรู้จักมัน ผมจึงรู้จัก Take That, Boyzone ดีพอๆ กับที่รู้จัก Scorpions, The Eagles หรือ Pink Floyd เหมือนผมบิดนาฬิกาย้อนเวลากลับอยู่คนเดียว ขณะที่คนอื่นๆ แห่แหนไปกับอะไรอย่างหนึ่ง ไม่ว่ามันจะมีชื่อว่าอะไรก็ตาม

คุณลองนึกถึงภาพผมในตอนที่ยังเป็นเด็กหนุ่มสวมกางเกงขาสั้นที่สวมหน้ากาก ทำตัวกลมกลืนไปกับกลุ่มคนที่เชยชมอะไรทั้งหลาย ทั้งที่ในใจผมไม่ได้รู้สึกเชยชมไปกับสิ่งเหล่านั้นด้วยจริงๆ เลย ผมจะเดินตัวลีบเวลาที่นึกถึงอารมณ์อันบรรเจิดของเพลง Bohemian Rhapsody (เพลงจากวง Queen) ความเกรี้ยวกราดในเพลงของ Nirvana แต่ไม่สามารถพูดให้ใครฟังได้ มวลชนอันแปลกหน้าเหล่านั้นต่างสวมหน้ากากของสัตว์ประหลาด...หน้ากากอันเดียวกับที่ผมสวมไว้ด้วย

ผมได้แต่ซ่อนความรู้สึกเหน็ดหน่ายไว้ใต้หน้ากากนั่น รู้สึกอยากจะก่นด่าไอ่เพลงมองโลกในแง่ดีตอหลดตอแหล จากวงที่เขาไม่สนว่ามันจะมาจากค่ายเพลงกระแสหลัก หรือ So-Called อินดี้ (คำว่า "อินดี้" ในวงการเพลงไทยสำหรับผมมันไม่มีความหมายอะไรเท่าไหร่ หลายๆ วงที่เรียกตัวเองว่าเป็นอินดี้ก็มีดนตรีธรรมดาๆ ไม่ค่อยต่างจากในกระแสหลัก นานๆ ทีจะเจอที่แหวกๆ ออกมา หรืออีกนัยหนึ่งคือคำๆ นี้ถูกบิดเบือนไปสู่การค้าในรูปแบบที่เนียนและดูมีระดับกว่าเท่านั้น) ใจจะขาด หากแต่กระแสมวลชนสวมหน้ากากพวกนั้นคงกลืนกินเสียงของผมไปหมด

หน้ากากสัตว์ประหลาดที่เขาสวมนั้น มันช่างคับ (แคบ), หนัก, หนา และวันหนึ่งก็จะทำให้ผมเจ็บปวดกับมันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

โชคร้ายที่อดอร์โนอยู่ได้ไม่ถึงยุคของอินเตอร์เน็ต และโชคดีที่อินเตอร์เน็ตทำให้ผมได้พบกับคนที่เรียกได้ว่าเป็น "พวกเดียวกัน" ในทางรสนิยม ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอีกต่อไป

การที่ผมเขียนแย้งอดอร์โนเรื่องป็อบปูล่าร์มิวสิคนั้น ไม่ได้หมายความว่าอะไรที่เป็นกระแสนิยมมันคือสิ่งที่ดีและน่าชื่นชมเสมอไป ผมอยากให้รู้ไว้ว่า คนที่รู้สึกถูกกระทำจากวัฒนธรรมกระแสนิยมมันก็มีอยู่ และอย่าได้เอาชนชั้นล่าง เอาคนจนมาอ้างเลย ผมจะบอกให้ก็ได้ว่าผู้นำเทรนด์กระแสหลักจริงๆ มันก็คือชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อนี่แหละ

ผมอยากจะบอกอีกว่า ไอ่วัฒนธรรมกระแสรองทั้งหลายส่วนหนึ่งมันมีที่มาจากคนที่รู้สึกถูกกระทำจากกระแสหลักนั่นแหละ แล้วชนชั้นกลางที่พวกคุณชอบด่าๆ กันมันก็มีหลายจำพวก เพราะฉะนั้นการที่เอะอะอะไรก็ด่าวัฒนธรรมกระแสรองแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่แยกแยะ มันก็ฟังดูตื้นเขินและเหมารวม ไม่ต่างกับที่อดอร์โนด่าเพลงป็อบเลย

In The Flesh

"...And they sent us along as a surrogate band
We're gonna find out where you folks really stand"

- จากเพลง "In The Flesh" 
ของ Pink Floyd

อดอร์โน...ผมเชื่อว่าทั้งผมและคุณต่างเคยมีความเจ็บปวดอันเดียวกัน มีความเกลียดชังคล้ายๆ กัน ผมอาจจะเขียนแย้งคุณ แต่ผมไม่ได้ปฏิเสธความคิดของคุณไปหมดทุกอย่าง ในแง่การพยายามเชื่อมโยงเรื่องดนตรีกับการปลดปล่อยตัวเองและสังคมอะไรของคุณนั่นมันฟังดูลักลั่นก็จริง แต่ในแง่วัฒนธรรมคุณมีส่วนถูก

การผลิตซ้ำของมายาคติในเนื้อหา มันช่วยตอกย้ำภาพของอะไรบางอย่าง ไม่ว่าภาพอันนั้นมันจะบิดเบือนไปจากความเข้าใจที่แท้จริงของคนสักเพียงใดก็ตาม เพลง "ฤดูที่แตกต่าง" อาจทำให้ใครหลายคนเชื่อเอาเองว่าคนเรามันมีทุกข์ต้องมีสุข เราจงได้แต่รอคอย' ไอ่ความสุขนั้นมาเองเหมือนแสงแดดในฤดูร้อนแล้วกันนะ ซึ่งคนที่เชื่อในเนื้อหาเพลงนี้บางคนเอาความเชื่อนี้ไปตัดสินคนที่เรียกร้องหาความสุข ว่าทำไมไม่รู้จักมองโลกในแง่ดี ทั้งที่ไม่เคยรู้เลยว่า อีกหลายๆ คนในโลกมีฝนตกอยู่ตรงที่เขาตลอดเวลา และไม่เคยพบไอ่ ฟ้าสว่าง' ที่ว่าเลยแม้แต่น้อย

แต่ขณะเดียวกันก็น่าสงสัยว่า เพลงที่พูดถึงความเจ็บปวดจากคนระดับล่างในสังคมบางเพลง มันก็เป็นการตอกย้ำความต้อยต่ำของพวกเขาหรือไม่ หรือว่าจริงๆ แล้วมันเป็นแค่การช่วย "สะท้อน" ภาพหรือความรู้สึกของพวกเขาออกมาได้เท่านั้นเอง

แต่ก็นะ...อดอร์โน...ศิลปะหรือวัฒนธรรม มันไม่ใช่อะไรแข็งๆ หรือตรงทื่อแบบที่จะใช้อธิบายเหมารวมแบบโต้งๆ ได้ ถึงผมจะเชื่อว่าสื่อสาธารณ์ ป็อบปูล่าร์มิวสิค อะไรพวกนี้มันมีส่วนในการปรับเปลี่ยน บิดเบือน การรับรู้และความเชื่อ ของผู้คน แต่การปฏิเสธศิลปะหรือสื่อสาธารณ์โดยสิ้นเชิงมันคงไม่ใช่ทางออกที่ดี 

 แล้วทางออกของพวกเราคืออะไรน่ะหรือ?

คราวหน้าผมจะมาบอกคุณ...

 

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…