Skip to main content

 Adorno pop art

ที่ผ่านมาผมพูดถึงการที่ดนตรีไม่ได้ทำให้ใครกลายเป็นปัจเจกเทียมก็แล้ว พูดถึงโลกอันหลากหลายหลังปี 1970 ก็แล้ว พูดถึงการที่ตัวดนตรี Serious Music หรือ Popular Music ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการ Liberate อะไรโดยตรง (เว้นแต่วัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วย จะว่าไป หากนับวัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วย Popular Music น่ะ ช่วย “ปลดปล่อย” ผู้คนได้มากกว่าด้วยซ้ำ) ก็แล้ว

สำหรับในบทนี้ก็จะมาพูดถึงสิ่งที่อดอร์โนทำผิดพลาดมากที่สุด นั่นคือการปฏิเสธดนตรีป็อบโดยสิ้นเชิง ไม่ร่วมสังฆกรรมใด ๆ กับมันอีก เพราะเขาได้ตีกรอบมาแล้วว่าดนตรีป็อบมันย่อมเป็นอะไรที่ถูกทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน (Standardize) และความที่มันมีมาตรฐานเดียวกันนี่เอง จึงไม่จำเป็นต้องไปตีความหรือวิจารณ์อะไรมันให้ยุ่งยาก เพราะมันล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตแบบโรงงานที่สร้างมาเพื่อบริโภคแล้วก็รับทุกอย่างไปเท่านั้น

ขอย้ำอีกครั้งว่า นี่คือความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดสำหรับอดอร์โน

ผมเชื่ออยู่ระดับหนึ่งว่า ศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหน ป็อบหรือไม่ป็อบยังไงก็ตามแต่ มันมีส่วนในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ อยู่ทั้งนั้น แต่ไม่ถึงขั้นล้างสมองหรือทำให้ผู้คนเกิดยึดถือในมาตรฐานเดียวกันไปหมดได้

การจะทำให้ผู้คนยึดถือมาตรฐานเดียวกันหมด (Standardization) มันเกิดจากการเรียนรู้ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับคน ๆ นั้นก็มีส่วนในตรงนี้

พิธีกรรมยืนเคารพธงชาติ การยืนในสถานการณ์อื่น ๆ ข่าวที่มาเวลาเดิมทุกวัน ภาพ เพลง และชุดสีเดียวซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะถ่ายโอนลงในหัวใครได้ทันทีทันใดแบบการโหลดไฟล์ลงคอมพิวเตอร์ แต่มันเป็นเหมือนไวรัสที่ค่อย ๆ แอบครอบครองพื้นที่ความคิดของเราอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอย่างแนบเนียน

แต่กระนั้นก็น่าสงสัยว่าสิ่งที่ผมเพิ่งกล่าวถึงข้างต้น (และไม่ควรกล่าวถึงบ่อย ๆ หากยังรักตัวกลัวตีน) น่าจะเรียกว่าเป็น 'วัฒนธรรมป็อบ' ได้จริงหรือไม่

เพลงของแกรมมี่ อาร์เอส เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์มันได้ในที่แจ้ง อาจจะต้องระแวดระวังแฟนคลับแบบสุดโต่งสักเล็กน้อย (แฟนคลับที่ดี ๆ น่าคบหามันก็มี) และถึงแม้ว่าเราจะถูกคุกคามทำร้ายเพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์เพลงป็อบที่คนส่วนใหญ่ชอบ กฏหมายก็พร้อมจะคุ้มครองเรา

แต่กับสิ่งที่ผมได้กล่าวถึงไป (และไม่ควรกล่าวถึงบ่อย ๆ หากยังไม่อยากถูกยัดข้อหา) นั้น วิพากษ์วิจารณ์ในที่แจ้งแทบไม่ได้ และหากเราถูกคุกคามทำร้ายเพราะวิพากษ์วิจารณ์ “…” ล่ะก็ กฏหมายในปัจจุบันก็คงไม่ปราณีเราแน่

น่าสงสัยว่า สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้นั้น ควรจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมป็อบ (หรือวัฒนธรรมมวลชน) จริง ๆ หรือ เพราะดนตรีที่เป็นวัฒนธรรมมวลชนจริง ๆ นั้น ไม่ว่ามันจะถูกผลิตมาจาก นายทุนใหญ่ (อาเฮีย อากู๋ ฯลฯ) หรือ นายทุนน้อย (อินด้ง อินดี้) มันก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้คน 'เลือก' เข้าถึงมันได้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความเชื่อหรือทัศนคติแบบใด ไม่จำเป็นต้อง “ยัดเยียด” เปิดตามระบบขนส่งมวลชนที่ล้ำสมัยขัดกับเนื้อหาเพลง

พูดแบบทุนนิยมกระแสหลักเลยก็ได้ ว่าเพลงของ Pink Floyd สำหรับบางคน (รวมถึงผมเอง) อาจกลายเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะทั้งรูปแบบทางดนตรีที่ถูกจริตและเนื้อหาที่ “ตอบสนอง” ความรู้สึกพวกเขาได้ แต่นั่นเป็นเพราะเขาถูกยัดเยียดหรือเปล่า หรือว่าเขาได้ “เลือก” มันเองกันแน่

ขณะเดียวกัน Pink Floyd สำหรับบางคนอาจเป็นแค่ดนตรีที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ (น่าจะใช้คำว่า “ไม่อิน” จะถูกกว่า) แต่ก็เป็นเพียงเพราะมัน “ตอบสนอง” คนบางกลุ่มไม่ได้ คนกลุ่มนี้ไม่ได้ดีหรือเลว โง่หรือฉลาดกว่าใคร และหากเขาไม่ต้องการสิ่งที่ตอบสนองเขาไม่ได้ เขาก็แค่ “ไม่เลือก” มันเท่านั้นเอง

ความเชื่อหรือทัศนคติที่แตกต่างกันจะนำมาซึ่งการวิจารณ์ และการสามารถวิจารณ์ได้อย่างไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เป็นคุณสมบัติที่มีค่ายิ่งของวัฒนธรรมป็อบ การวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็นโต้ตอบได้นี่แหละ ทำให้มันเป็นศิลปะ เป็นวัฒนธรรมของ “มวลชน” เป็นสิ่งที่ “สาธารณะ” อย่างแท้จริง

Pop culture conception and perception


เพลง “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ของ โลโซ อาจทำให้ใครบางคนเปลี่ยนทัศนคติมามอง วิน-มอเตอร์ไซค์ในแง่ดีขึ้น ขณะที่บางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ร้าย ๆ จากคนทำอาชีพนี้มาก่อน เลยรู้สึกว่าเพลงนี้ไม่น่าเชื่อถือ แม้ทั้งคู่จะเห็นอะไรต่างกันในเพลง ๆ เดียว แต่หากพวกเขาแสดงความคิดเห็นกับมันร่วมกันได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี

คนเราย่อมมีวิจารณญาณของตนเอง และการที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ มันยังทำให้เกิดการโต้ตอบกับเพลง ๆ นั้น แล้วเรายังสามารถเอาไปถกเถียงกับคนอื่น ๆ ที่ฟังเพลงเดียวกันได้ ทำให้ผู้ที่ฟังเพลงนี้ล้วนแต่เป็นผู้บริโภคที่แอคทีฟ ไม่ได้เป็นแค่ผู้บริโภคแบบสมยอมรับความคิดมาโดยไม่มีการคัดคานแบบที่อดอร์โนว่ามา ไอ่สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้นี่สิ…น่ากลัว

การเมินเฉยโดยสิ้นเชิงต่อดนตรีป็อบซึ่งเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงเป็นวัฒนธรรมมวลชน จึงไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอน

หากในพื้นที่ของการเมืองมีเรื่องของระบบตรวจสอบจากแนวราบ มีเรื่องของประชาสังคมในการคัดค้านหรือผลักดันนโยบาย ในพื้นที่ของวัฒนธรรมก็มีการวิจารณ์ การแสดงความเห็น ไม่ว่าจะจาก So-Called professional อย่างนักวิจารณ์ , นักวิเคราะห์ , นักวิชาการ ฯลฯ หรือจากคนทั่วไป (แบบที่เรียกว่า Civil Report) ทั้งหลาย ซึ่งไม่ว่ามันจะผิดจะถูก จะฟังดูโง่หรือฟังดูฉลาดยังไง ก็เป็นเสียงที่มีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะอย่างน้อยมันก็มาจากประชาชน

ปัญหาต่อมาคือ เราจะทำยังไงให้เสียงของผู้คนเป็นที่รับฟังโดยเท่าเทียม ไม่ว่ามันจะมีอคติ จะชี้นำ จะมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือจะไปขัดใจใคร เพราะมนุษย์ปุถุชนทุกคนล้วนแต่ยังมีอคติ มีการชี้นำในแบบของตนเอง มีการใส่ใจเรื่องผลประโยชน์ (บางคนอาจสำคัญถึงขั้นเป็นเรื่องของปากท้อง การอยู่รอด) แต่ทั้งหลายเหล่านี้คือความเป็นมนุษย์ที่อยู่ภายใต้ท้องฟ้าผืนเดียวกัน ไม่ได้มีใครอยู่เหนือฟากฟ้าของใคร

งานเขียนของอดอร์โนรวมถึงบทความของผมเอง ก็ล้วนอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านี้ด้วย ทั้งผมและอดอร์โนต่างก็ชี้นำผู้อ่านอยู่ในแบบของตัวเอง แต่ผู้อ่านไม่ใช่หุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ ทั้งผมและอดอร์โนจึงไม่อาจป้อนข้อมูลชี้นำใครได้ 100% ทุกคนมีวิจารณญาณ มีทัศนคติดั้งเดิมที่ต่างกัน (จากการเรียนรู้ตั้งแต่กำเนิด) และมีเจตจำนงเสรีของตัวเอง

สิ่งที่ผมเพ้อฝันเอามาก ๆ คือจะทำอย่างไรให้คนยอมรับความต่างเหล่านี้ได้ โดยที่ไม่มีความต่างของใครลอยอยู่เหนือฟากฟ้า จนกลายเป็น “ความต่าง” ที่ดีกว่าของคนอื่น และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ อะไรก็ตามที่มันลอยอยู่เหนือฟากฟ้ามันก็จะสร้าง “ความเหมือน” ขึ้นมาให้ต้องยอมรับแต่โดยดี เพราะว่ามันวิจารณ์ไม่ได้ โต้ตอบไม่ได้ … ในที่แจ้ง

ขอขอบคุณทุกท่านที่ (ทน) อ่านการโต้แย้งอดอร์โน (แบบฝ่ายเดียว เอาเปรียบคนที่ตายไปแล้วน่าดู :P ) มาจนถึงตอนจบ

จะ “เห็นชอบ” หรือ “เห็นแย้ง” อย่างไร ประเด็นไหน

เชิญวิจารณ์ และระบาย ได้ตามสะดวก
;)

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…