เพื่อนคนหนึ่งที่ไปอยู่อเมริกามานับยี่สิบปีเล่าให้ฟังเรื่องเพื่อนของเธอ ซึ่งเป็นแม่ลูกหนึ่งว่า คุณแม่ท่านนี้ใช้ภาษาอังกฤษได้ในเกณฑ์ปานกลาง สื่อสารในเรื่องทั่ว ๆ ไปได้ไม่มีปัญหา และสื่อสารกับสามีชาวอเมริกันด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก เมื่อเธอมีลูกชาย เธอและสามีเลือกพูดแต่ภาษาอังกฤษกับลูก คงเป็นเพราะเข้าใจว่าลูกเกิดและเติบโตในสังคมอเมริกันที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักนั่นเอง เธอจึงไม่เคยใช้ภาษาไทยของตัวเองสื่อสารกับลูกเลย
เมื่อลูกโตขึ้น ภาษาอังกฤษของลูกก็พัฒนาได้ดียิ่งขึ้น เพราะทุกคนที่อยู่แวดล้อมต่างก็สื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษ สื่อต่าง ๆ รอบตัวก็ล้วนแต่เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น ในขณะที่ภาษาอังกฤษระดับปานกลางของแม่เริ่มใช้สื่อสารกับลูกได้ไม่ค่อยดีนัก เพราะถึงแม้ว่าแม่จะไปอยู่ในสังคมอเมริกัน และใช้ภาษาอังกฤษอยู่เสมอ แต่ความที่เธอมีเพื่อนเป็นคนไทยหลายคน การสนทนากับเพื่อน ๆ คนไทยจึงดึงความสนใจจากการศึกษาภาษาอังกฤษขั้นสูงไปอย่างน่าเสียดาย ภาษาอังกฤษที่แม่คนไทยท่านนี้ใช้ได้ จึงเป็นเพียงระดับปานกลางที่พอสื่อสารเบื้องต้นในเรื่องทั่ว ๆ ไปได้เท่านั้น สื่อสารในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา จิตวิทยา หรือเสนอความคิดเห็นที่ต้องใช้การวิเคราะห์วิจารณ์ไม่ค่อยได้นัก
เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ปัญหาเรื่องการสื่อสารกับลูกไม่ได้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะนอกจากเธอจะพูดกับลูกวัยรุ่นด้วยภาษาอังกฤษระดับปานกลางของตัวเองไม่รู้เรื่องแล้ว เธอยังมีภาวะเครียดเรื่องสุขภาพของตัวเองด้วย และดูเหมือนว่าความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ คนไทยด้วยกัน ก็อยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยดีนัก เธอจึงเลือกการเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่บ้านเป็นหลัก
จนเมื่ออาการป่วยไข้ของตัวเองหนักหนามากขึ้นนั่นเอง เธอจึงต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนคนไทยที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีกว่า เพราะเธอไม่สามารถสื่อสารบอกอาการความเจ็บป่วยของตัวเองกับทั้งสามีและลูกเป็นภาษาอังกฤษได้ และแน่นอนว่าเธอก็ไม่สามารถอธิบายให้หมอเข้าใจเธอได้เช่นกัน
ในจังหวะวิกฤตของสุขภาพร่างกายนี่เอง เธอจึงเพิ่งตระหนักถึงความผิดพลาดใหญ่หลวงของตัวเองที่ไม่สอนลูกพูดภาษาแม่คือภาษาไทย และเธอก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว หากเธอพูดภาษาไทยกับลูกมาตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ และสื่อสารแต่ภาษาไทยกับลูกเป็นหลัก เธอจะไม่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับลูกเลยทั้งในเรื่องทั่ว ๆ ไปที่เธออยากสื่อสาร และในยามป่วยไข้ลูกก็จะสามารถรับฟังเกี่ยวกับอาการของเธอได้ทั้งหมด และสามารถจะอธิบายแทนเธอให้หมอเข้าใจได้เป็นอย่างดี
นอกจากแม่คนไทยอย่างเธอจะสูญเสียโอกาสในการสื่อสารกับลูกด้วยภาษาแม่ ซึ่งเป็นภาษาแห่งอารมณ์ความรู้สึกและสูญเสียความสัมพันธ์ฉันแม่ลูกที่ภาษาแม่จะช่วยเชื่อมร้อยได้ดีแล้ว ลูกชายของเธอก็สูญเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้ภาษาเอเชียภาษาหนึ่งไปอย่างน่าเสียดายอีกด้วย
การไม่พูดภาษาไทยกับลูกนี้ใช่ว่าจะเกิดกับแม่คนไทยที่เลี้ยงลูกอยู่ต่างแดนเท่านั้น ฉันเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อแม่คนไทยในเมืองไทยที่ไม่พูดภาษาไทยกับลูกด้วย เพราะพ่อแม่ที่พอจะพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้ส่วนหนึ่งอยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษ ก็ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติ และที่บ้านพ่อแม่เหล่านี้ก็พร่ำสอนลูกให้พูดแต่ภาษาอังกฤษเป็นหลัก จนไม่ให้ความสำคัญกับการพูดภาษาไทยกับลูก อาจจะเป็นเพราะความเข้าใจที่ว่า กลัวภาษาอังกฤษของลูกจะพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนลูกพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกและกลายเป็นเพียงภาษาเดียวที่ลูกใช้สื่อสารเมื่อโตขึ้น
การเรียนในโรงเรียนนานาชาติทำให้เด็กได้อยู่แต่ในแวดล้อมของภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะที่โรงเรียนเต็มไปด้วยเพื่อน ๆ ทั้งคนไทยและต่างชาติ ตลอดทั้งครูกับสื่อการสอนที่เน้นการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ถึงแม้เด็ก ๆ ในโรงเรียนนานาชาติจะได้เรียนภาษาไทยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก และเด็ก ๆ เหล่านี้ส่วนมากก็จะไม่ถนัดการใช้ภาษาไทย พออยู่ในช่วงอายุประมาณสิบขวบเท่านั้น เด็ก ๆ ที่ได้เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเหล่านี้ก็จะใช้ภาษาอังกฤษในการฟังพูดอ่านเขียนได้ในเกณฑ์ที่ดีมาก จนไม่มีความจำเป็นจะต้องสื่อสารกันด้วยภาษาไทยทั้งในกลุ่มเพื่อนและครูผู้สอน
พ่อแม่คนไทยซึ่งพูดสื่อสารภาษาอังกฤษกับลูกมาตั้งแต่เล็ก ๆ เริ่มมีปัญหาการสื่อสารกับลูกได้ไม่ดีในช่วงที่ลูกอายุประมาณสิบขวบนี่เอง เพราะภาษาอังกฤษของลูกอยู่ในระดับที่ดีกว่าของพ่อแม่มากแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะพ่อแม่คนไทยเหล่านี้ ถึงแม้จะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ดีในระดับหนึ่ง แต่การที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกับคนรอบตัวอยู่เสมอเช่นเดียวกับลูก ทักษะภาษาอังกฤษของพ่อแม่คนไทยย่อมไม่ดีเท่าของลูกที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษอยู่เสมอ
เมื่อการสื่อสารภาษาอังกฤษกับลูกเริ่มมีปัญหา พ่อแม่คนไทยเหล่านี้จึงเริ่มหัดพูดภาษาไทยกับลูก แต่ลูกก็จะไม่สื่อสารตอบโต้ภาษาไทยกับพ่อแม่ เพราะไม่เคยชินกับการใช้ภาษาภาษาไทยของพ่อแม่ แต่เคยชินกับการที่พ่อแม่ใช้ภาษาอังกฤษกับตัวเองมานับสิบปีแล้วนั่นเอง ปัญหาการสื่อสารกับลูกไม่ได้จึงขยายกว้างถ่างออกไปมากยิ่งขึ้น จนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นที่ลูกเริ่มมีพฤติกรรมแตกต่างไปจากเดิม เพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยรุ่น พ่อแม่คนไทยเหล่านี้ก็จะยิ่งเกิดภาวะวิกฤษทางอารมณ์ เกิดความขัดแย้งกับลูกแต่ไม่สามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างที่ตนเองต้องการอีกต่อไป ภาวะวิกฤตทางอารมณ์ที่เพิ่งตระหนักว่า ตนเองได้สูญเสียลูกไปจากการที่ไม่เคยสอนลูกพูดภาษาแม่เลย เกิดกับพ่อแม่กลุ่มนี้ในเวลาที่พวกเขาตระหนักว่าสายเกินไปที่จะแก้ไขสิ่งใดได้แล้ว นอกจากจะสูญเสียความสามารถในการสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อลูกได้อย่างที่พ่อแม่ทั่ว ๆ ไปพึงทำได้ พ่อแม่เหล่านี้ยังสูญเสียความมั่นใจในตัวเองในการที่จะอบรมสั่งสอนลูกในแบบอย่างที่ตัวเองคิดว่าดีอีกด้วย
แม่คนเหนืออย่างผู้เขียนที่สอนลูกอู้กำเมืองเป็นภาษาแรก จนลูกพูดภาษาเหนือได้แหลวแล๊ตคล่องแคล่ว รู้สึกยินดีและโล่งอกโล่งใจเป็นอย่างยิ่งที่สอนลูกพูดภาษาแม่เป็นภาษาที่หนึ่ง และจากการอ่านการศึกษามาพอประมาณ ยิ่งทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่า เด็กที่พูดภาษาแม่เป็นภาษาแรกนั้น นอกจากจะทำให้เด็กมีความมั่นใจในตนเอง มีความใกล้ชิดผูกพันธ์กับพ่อแม่แล้ว ยังช่วยทำให้การเรียนภาษาอื่น ๆ ของเด็กเป็นไปได้ดีและรวดเร็วอีกด้วย มิน่าเล่า ลูกสาวของผู้เขียนจึงพูดภาษาไทยกลางเป็นภาษาที่สอง และภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สามได้ดี และปัจจุบันในวัยย่างสิบเอ็ดขวบ ลูกก็สนุกสนานกับการเรียนภาษาจีนอยู่เสมอ
---
แม่เปีย วรรณา
เชียงใหม่ ปลายฝนต้นหนาว 30 ตุลาคม 2559