ตอนที่ผู้เขียนยังเด็กนั้น มีความเครียดใหญ่หลวง คือ การที่พ่อแม่จะไม่ให้เรียนต่อในระดับชั้นมัธยม เพราะไม่เห็นความสำคัญของการเรียนตามประสาชาวบ้านที่ต้องการให้ลูก ๆ โตมาเป็นแรงงานในไร่นา และอยากให้ช่วยกันทำมาหากินเป็นหลัก เด็กหญิงวัยประถมอย่างผู้เขียนจึงต้องคิดหาทางออกสารพัด จนที่สุดก็แอบตามเพื่อนไปสอบที่โรงเรียนประจำอำเภอจนได้ เมื่อสอบผ่านเกณฑ์ได้เข้าเรียนแล้ว ก็ยอมทำงานโรงงาน และงานต่าง ๆ ในไร่นา เพื่อให้ได้เงินไปเรียนอย่างที่ตนเองต้องการ
สมัยที่คนส่วนใหญ่ถูกเชื่อมโยงกันด้วยอินเทอร์เน็ต ความเครียดของเด็กแห่งยุคเทคโนโลยีข่าวสารเปลี่ยนไปจากสมัยก่อนราวดาวอังคารกับโลกยุดไดโนเสาร์ยังไม่สูญพันธุ์ ลูกสาวตัวน้อยของผู้เขียน ซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมต้นจึงเครียดยิ่งนัก ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนเหมือนเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ในห้องเรียน
ผู้เขียนเป็นแม่ใจแข็งและโหดหิน จึงมักจะไม่ให้สิ่งของใดกับลูกง่าย ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่รู้ดีว่าจะให้ผลเสียต่อลูกมากกว่าให้ผลดี สมาร์ทโฟนเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนจัดให้อยู่ในประเภทให้คุณน้อยนิด แต่ให้โทษมหันต์ต่อเด็ก ลูกสาวรบเร้าให้ซื้อให้เธอมาหลายหน ผู้เขียนจึงไม่เคยใจอ่อน
เด็กน้อยให้เหตุผลหลายอย่างในการขอโทรศัพท์ เช่น เธอจะได้โทรหาผู้เขียนในยามที่หากันไม่เจอขณะที่ไปรอรับเธอกลับบ้าน ผู้เขียนก็บอกลูกถึงจุดนัดหมายในโรงเรียนที่จะไปนั่งรอเธออยู่เสมอ ถ้าเลิกเรียนแล้วให้เดินไปหากันที่จุดนัดหมายได้เลย หรือเธอจะอยากเล่นกับเพื่อนซักพักก่อนก็ได้ ผู้เขียนก็จะนั่งอ่านหนังสือรอได้สบาย ๆ ไม่เร่งรีบ
โต้เถียงแม่อย่างผู้เขียนด้วยเรื่องจุดนัดหมายหลังเลิกเรียนไม่ได้ เด็กน้อยก็พูดต่อไปเรื่องปัญหา หรือเรื่องฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นที่โรงเรียนได้ หากเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นเธอจะได้รีบโทรบอกแม่ ผู้เขียนก็บอกลูกไปตามตรงว่า เรื่องนี้ต้องปล่อยให้ทางโรงเรียนเป็นผู้จัดการ เพราะถ้าเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญมาก โรงเรียนจะติดต่อผู้ปกครองโดยตรงอยู่แล้ว ไปก้าวก่ายหน้าที่ของโรงเรียนไม่ได้ และหากมีเรื่องอื่น ๆ ที่อยากบอกอยากเล่า ก็มีเวลาพูดตอนที่นั่งรถกลับบ้านด้วยกันอยู่แล้ว เด็กน้อยหาเหตุผลมาถกเถียงกับผู้เขียนไม่ได้อีก การนิ่งเงียบจึงดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เธอต้องทำในที่สุด
ลูกขอให้ซื้อโทรศัพท์ให้ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นป.1 ผู้เขียนไม่ยอมใจอ่อน จนลูกเรียนจบชั้นป.3 ก็ยังไม่เปลี่ยนใจ แล้วก็แอบดีใจกับความเป็นแม่ใจแข็งปานหินของตนเองไม่ได้ ที่เห็นว่าเด็กน้อยค่อย ๆ แปรความเครียด ความกดดัน และความรู้สึกด้อยกว่าเด็กส่วนใหญ่ในห้อง ให้เป็นการหาทางแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างสร้างสรรค์ในที่สุด และดูเหมือนว่าจะทำได้ค่อนข้างดีด้วย
ตอนที่เพื่อน ๆ ของเธอส่วนใหญ่พากันก้มหน้าก้มตาเล่นเกมจากโทรศัพท์มือถือหลังจากเลิกเรียนตอนเย็นแล้ว ลูกสาวของผู้เขียนมีเพื่อนเล่นซึ่งเป็นเด็กที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือเหมือนกันอยู่บ้าง เธอชวนเพื่อน ๆ ส่วนน้อยเหล่านี้ สำรวจโรงเรียน หาต้นไม้ดอกไม้ต่าง ๆ และได้ยอดไม้ใบหญ้ากลิ่นแรง ๆ มาหลายอย่าง ซึ่งเธอบอกว่าสามารถนำมาขยี้ก่อนห่อในผ้าขาวบาง แล้วเก็บไว้ใกล้ตัวใช้เป็นยากันยุงได้ด้วย ความรู้ที่เธอได้เรียนมาจากโรงเรียนทางเลือกระดับชั้นอนุบาล ส่งผลดีตอนนี้นี่เอง เพื่อน ๆ ที่ไม่เคยรู้ว่าต้นไม้ใบหญ้ารอบตัวมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ก็ดูเหมือนจะออกอาการชื่นชม ที่มีเพื่อนมีความรู้เรื่องประโยชน์ของใบไม้ไม่น้อย
ส่วนดอกต้นปาล์มที่ร่วงเกลื่อนอยู่เต็มพื้นข้างอาคารเรียน ไม่เคยถูกใครเหลียวแลมาก่อน มีเพียงพ่อบ้านแม่บ้านที่ต้องคอยกวาดไปทิ้ง เมื่อลูกสาวของผู้เขียนไปกอบเก็บมานั่งเล่น แล้วพบว่าการนำก้านเกษรดอกปาล์มมาเกาะเกี่ยวโยงยึดกันไว้หลวม ๆ ทำให้กลายเป็นสร้อยสายดอกไม้งดงามได้อย่างประหลาด พวกเพื่อน ๆ ของเธอบางคนก็ลองทำตามดูบ้าง
ยามเบื่อการสำรวจต้นไม้ใบหญ้าและดอกไม้แล้ว เธอก็สำรวจขวดน้ำนานาชนิดในถังเก็บขวดที่โรงอาหาร ก่อนจะพบว่าฝาขวดหลากสีสันมากหลาย สามารถนำมาเล่นเป็นตัวต่อ สร้างคอก แบ่งเขต หรือต่อเป็นรูปเป็นร่างได้หลายอย่าง จนสามารถจูงใจเพื่อน ๆ ให้มาเล่นด้วยมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อวงการเล่นของเธอขยายออกไป จากของเล่นรอบกายที่พอหาได้ เธอเริ่มคิดค้นหาเกมต่าง ๆ ขึ้นมาเอง จากการวาดตัวการ์ตูนหลากหลายบนแผ่นกระดาษ จนกลายมาเป็นตัวการ์ตูนตามรูปร่างที่เธอเป็นคนคิด แล้วตัดให้เป็นตัว ๆ ออกมาเดินเหิรไปมาได้
เฝ้ามองลูกก้าวย่างสู่การเรียนในชั้นป.4 อย่างสบาย ๆ ท่ามกลางความไม่คลอนแคลนการปฎิเสธการซื้อสมาร์ทโฟน หรือโยนคอมพิวเตอร์ให้ลูกง่าย ๆ พร้อม ๆ กับการหมั่นกลับไปอ่านทบทวนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเสตส์ มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกแห่งสหรัฐอเมริกาที่บอกว่า “ ไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่จะเริ่มสอนคอมพิวเตอร์ในเด็กระดับต่ำกว่า ม.3 เนื่องจากคอมพิวเตอร์จะทำลายความคิดสร้างสรรค์ ความยึดหยุ่นพลิกแพลง ส่งเสริมวิธีคิดแบบเส้นตรงแทนที่จะเป็นแบบองค์รวม “ ผู้เขียนถือว่าสมาร์ทโฟนก็จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับคอมพิวเตอร์ด้วยอย่างไม่อาจจะแยกจากกันได้
บทความโดย : พรพรรณ วรรณา