Skip to main content

 

 

เห็นพ่อ ๆ แม่ ๆ หลายคน ปล่อยให้ลูกน้อยอายุต่ำกว่า 13 ปีเข้าสู่โลกไซเบอร์ผ่านโปรแกรมออนไลน์ต่าง ๆ อย่างดูเหมือนจะไม่คิดอะไรมากนัก ผู้เขียนก็ได้แต่นึกหวั่นใจแทน  ส่วนผู้เขียนไม่ยอมให้ลูกสาวอายุย่าง 11 ขวบมีเฟซบุ๊กเด็ดขาด และหากจะใช้ไลน์ติดต่อกับเพื่อน ๆ ก็ให้มาใช้ในโทรศัพท์ของแม่  สมาร์ทโฟนก็ไม่ยอมซื้อให้ลูก และยืนยันว่าจะไม่ซื้อให้จนกว่าลูกจะอายุครบ 13 ปี จนเธอต้องเก็บเงินซื้อเอง ก็หมดห่วงไปแล้ว เพราะถึงจะมีโทรศัพท์แล้ว แต่การต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตเอง ก็ทำให้ลูกสาวของผู้เขียนเลิกสนใจโทรศัพท์ไปหลังจากที่ใช้ได้เพียงประมาณหนึ่งเดือนเท่านั้น

ความวิตกจริตในการไม่ยอมปล่อยให้ลูกเข้าสู่โลกไซเบอร์และเพลิดเพลินไปกับเครือข่ายของสังคมโซเชียลง่าย ๆ  มีสาเหตุมาจากเรื่องพื้น ๆ ทั่วไป ที่เห็นว่าในโลกสังคมออนไลน์นั้น ผู้คนต่างมีมากหน้าหลายตา  คนดี คนร้ายปะปนกันอยู่ไม่น้อย มิจฉาชีพที่แอบแฝงตัวมาอีกเล่า  เด็ก ๆ จะแยกแยะได้อย่างไร เพราะผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็ยังถูกล่อลวงผ่านโลกออนไลน์มาแล้วไม่น้อย เรื่องความเป็นส่วนตัวและกาลเทศะต่าง ๆ นั้น เด็ก ๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมไม่มีความระมัดระวังและความตระหนักรู้เพียงพอว่า สิ่งไหนควรสิ่งไหนไม่ควร  จนอาจนำไปสู่อันตรายต่อตนเองและครอบครัวได้ง่าย ๆ

เมื่อปีก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้ทำงานเป็นล่ามให้กับนักข่าวต่างประเทศจากสำนักข่าวใหญ่แห่งหนึ่งจากอเมริกา เธอมาติดตามคนที่เคยทำความผิดในต่างประเทศแล้วหลบมาอยู่เมืองไทย การหาข้อมูลเบื้องต้นว่าบุคคลผู้นี้อยู่ที่ไหน และมีกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตส่วนตัวอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่ช่างง่ายดายยิ่งนัก ทั้ง ๆ ที่ทีมงานสืบหาข้อมูลมีเพียงข้อมูลเบื้องต้น คือ ชื่อของชาวต่างชาติและภรรยาคนไทยเท่านั้นเอง 

ข้อมูลเบื้องต้นเพียงเท่านั้นก็ทำให้สามารถสืบเสาะหาข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ได้ไม่ยาก ได้ทั้งอีเมล์และเฟซบุ๊กส่วนตัว และจากเฟซบุ๊ก ซึ่งภรรยาชาวไทยของเขาเปิดเป็นสาธารณะนี่เอง ทำให้ทีมงานได้ข้อมูลทุกอย่างทั้งสภาพบ้านที่อยู่อาศัย หมู่บ้านที่อยู่ สมาชิกทั้งหมดในครอบครัว ลูก ๆ ทุกคนเรียนหนังสืออยู่โรงเรียนไหน ไปรับไปส่งกันอย่างไร การดำเนินชีวิตประจำวันโดยทั่ว ๆ ไป จะไหนมาไหน กินข้าวร้านใดกับใคร ภรรยาคนไทยก็เช็คอินให้ได้รับรู้ทุกครั้ง ถูกใจไม่ถูกใจที่ไหนอย่างไร เธอก็บอกกล่าวต่อสาธารณะอยู่เสมอ  แม้แต่เรื่องความถี่ห่างของกิจกรรมทางเพศของเธอกับสามี เธอก็ยังอุตส่าห์แบ่งปันให้คนอื่น ๆ รู้ ส่วนความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะต่าง ๆ ที่เธอไปแสดงความคิดเห็นไว้ในโลกออนไลน์หลายแห่ง ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลุดหายไปจากโลกไซเบอร์ได้เลย

ถ้าหากภรรยาคนไทยของชาวต่างชาติคนนี้จะไม่ตั้งค่าเฟซบุ๊กเป็นสาธารณะ การเข้าสู่ข้อมูลเฟซบุ๊คของเธอผ่านเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ของเธอก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นเลย  แต่การตั้งค่าเฟซบุ๊คเป็นสาธารณะของเธอ ก็ทำให้ทีมงานสืบหาข้อมูลทำงานได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

แต่กระนั้นก็ตาม ถึงแม้จะรู้ว่าครอบครัวนี้พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านใด และการดำเนินชีวิตโดยทั่ว ๆ ไปเป็นอย่างไร ทางทีมงาน ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาอยู่บ้านเลขที่เท่าไหร่ การที่จะต้องไปเสาะหาบ้านเลขที่จากในหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งมีบ้านนับร้อย ๆ หลังนั้น ถึงจะเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ก็คงต้องเสียเวลาไม่น้อย แต่ทางทีมงานก็ไม่ต้องเสียเวลาในการต้องค้นหาข้อมูลนี้เลย เพราะได้เลขที่บ้านมาอย่างง่ายดายจากตู้ไปรษณีย์ใหม่ที่ภรรยาชาวไทยเอามาโพสต์อวดนั่นเอง

ในฐานะที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในการติดตามชาวต่างชาติที่เคยทำความผิดจากบ้านเมืองตนเองผู้นี้ ผู้เขียนอดนึกสงสารทั้งภรรยาชาวไทย และลูก ๆ ของเธอไม่ได้ ถึงแม้เราจะมีข้อมูลว่าเธอรับรู้เรื่องการกระทำผิดของสามีเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นหลายคน หลังจากที่เธออยู่กินและมีลูกกับเขาแล้ว แต่ในสถานการณ์นั้น เธอคงลำบากใจไม่น้อย และท้ายที่สุดก็คงต้องเลือกที่จะอยู่กับเขาเพราะลูก ๆ เป็นเหตุผลหลัก  การรับรู้ข้อมูลจากสามีเพียงฝ่ายเดียว ก็อาจจะทำให้เธอได้รับข้อมูลที่เจตนาให้เป็นประโยชน์ต่อตัวสามีผู้เล่า จนอาจทำให้มีมุมมองที่แตกต่างจากเหยื่อผู้ถูกกระทำและผู้คนอื่น ๆ ในสังคม  ความผิดที่ดูหนักหนาสำหรับคนอื่น ๆ จึงอาจจะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยหนักอะไรนักสำหรับเธอ

ส่วนลูก ๆ หลายคนของเธอและเขานั้น ถึงแม้จะยังเด็ก แต่เมื่อพวกเธอ พวกเขาโตขึ้น ข้อมูลสาธารณะอันเกี่ยวกับความผิดของพ่อที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในโลกไซเบอร์ และข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของพวกเขา พวกเธอในวัยเด็กที่ถูกแม่นำไปเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็จะยังคงอยู่ให้ผู้คนนำไปเชื่อมโยงกันได้โดยง่าย

แล้วในวันที่ผู้สื่อข่าวไปปรากฏตัวอยู่หน้าบ้าน พร้อมด้วยเอกสารต่าง ๆ ที่จะส่งต่อให้กับสามีของเธอ คำถามแรกที่เธอถามก็คือ “ รู้ได้อย่างไรว่าเราอยู่ที่นี่ ”

ผู้เขียนในฐานะแม่คนหนึ่ง จากบ้านนั้นมาและรับเงินค่าจ้างจากการทำงานหนนี้ด้วยความรู้สึกกระอักกระอ่วนพิกล. 

​----

​พรพรรณ วรรณา

​12 พ.ย. 2559

 

 

บล็อกของ พรพรรณ วรรณา

พรพรรณ วรรณา
“ ความแตกต่างระหว่างประเทศด้อยพัฒนา กับประเทศที่พัฒนาสูงสุดแล้ว ไม่ได้อยู่ที่ความเก่าแก่ของอารยธรรมของประเทศนั้น ๆ ดูได้จากประเทศอินเดีย อียิปต์ ซึ่งมีอารยธรรมมายาวนานกว่า 2,000 ปี แต่ก็ยังยากจน
พรพรรณ วรรณา
   
พรพรรณ วรรณา
ช่วงออกพรรษาที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า การเดินทางโดยรถยนต์จากชายแดนแม่สาย ท่าขี้เหล็ก ต้องใช้เวลาไม่น้อย เพราะถึงแม้ว่าถนนจะราดยางหมดแล้วตลอดสาย แต่สภาพถนนหนทางที่ยังไม่มีการตีเส้นจราจรใด ๆ ทำให้รถวิ่งได้ไม่เร็วนัก ระยะทางจากท่าขี้เหล็ก ถึงเชียงตุงเพียง 1