ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์ ตอนที่ 1
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
หมายเหตุ. บทความนี้ปรับปรุงจาก ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ (2559, ตุลาคม). ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์. บทความนำเสนอในงานประชุมวิชาการ "อาริสโตเติลกับสังคมไทย“ จัดโดยสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถานทูตกรีซประจำประเทศไทย, ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ด้วยการสนับสนุนของ Chula Global Network , หน้า 92-117 โดยมีการอภิปรายขยายความเพิ่มเติมทั้งเพิ่มลิงค์เพื่อให้สามารถคลิ๊กเข้าไปสืบคืนได้ง่ายขึ้น
บทนำ
อาริสโตเติลที่ปรากฏในสังคมสยาม
........................ในสังคมสยามสมัยแรกอาริสโตเติลเป็นเพียงนักปราชญ์ที่มอบข้อคิดต่างๆเพื่อเป็นปกิณกะประดับความรู้ให้แก่นักอ่านที่เป็นเจ้านายและบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น เช่น ข้ออภิปรายเรื่องทาส หรือเรื่องมิตรภาพ น่าสันนิษฐานว่าอาริสโตเติลคงยังไม่เกี่ยวข้องกับหลักไฟลอโซฟี10 (Philosophy ใน พ.ศ. 2435) อย่างน้อยก็ไม่ปรากฏว่าถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยเหมือนอย่างนักปราชญ์ท่านอื่น น่าสังเกตที่เมื่อครั้งกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ (พระยศในขณะนั้น) ทรงแปลบทสนทนาไลสิส (Lysis: Λύσις) ของเพลโตลงหนังสือวชิรญาณวิเศษ ในปี พ.ศ. 2430 ทรงอารัมภบทถึงความสัมพันธ์ระหว่างปเลโต(เพลโต)กับสอคราตีส(โสกราตีส) ว่าเป็นศิษย์อาจารย์กัน แต่ก็ไม่ปรากฏชื่ออาริสโตเติลร่วมอยู่ด้วย ทั้งที่ควรจะทรงมีภาพจำว่า ทั้งสามเป็นตรีโยนกมหาบุรุษ11 อาจเป็นไปได้ที่จะทรงวินิจฉัยว่าไม่จำเป็นต้องขยายความให้ฟุ่มเฟือย ทั้งนี้ ทรงให้รายละเอียดนักปราชญ์ทั้งสองอย่างเน้นความสำคัญ พร้อมทั้งทรงอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่า บทสนทนาไลสิสคล้ายกับธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระสูตรบางเรื่อง12
........................ในบริบทที่การเข้าถึงหนังสือวิชาการภาษาต่างประเทศยังจำกัด จึงสังเกตได้ไม่ยากว่า อาริสโตเตลเลียน (Aristotelians) มิได้มีอิทธิพลต่อชนชั้นปกครองของสยามในขณะนั้นแต่ประการใด อาจเพราะสยามมีระบบคิดขนาดใหญ่ที่วิวัฒนาการมาจากอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียมาก่อนแล้วก็เป็นได้ ย้อนกลับมาในยุคปัจจุบันที่ซึ่งโลกาภิวัตน์เชื่อมโยงระบบต่างๆในโลกไว้อย่างไร้พรมแดน หากต้องการจะศึกษาประวัติและผลงานของอาริสโตเติล ต้องไปค้นหาในหมวดมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ หรือในระดับก่อนอุดมศึกษาเรียกว่า สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม แต่สังคมศาสตร์เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว เช่น ในปี พ.ศ. 2454 หลักสูตรวิชาสังคมศึกษายังมีกรอบที่ค่อนข้างจำกัดเพราะนอกเหนือจากการเรียนเพื่อให้รู้แล้ว สังคมศึกษายังมีหน้าที่กล่อมเกลาสันดาน อัธยาศัยใจคออีกด้วย13 ดังนั้น ขอบเขตของความรู้ด้านปรัชญาจึงแคบเข้าไปอีก ความรู้ทุกแขนงจะถูกคัดเลือกและกลั่นกรองโดยชนชั้นปกครองซึ่งก็คือแวดวงของเจ้าขุนมูลนายก่อน ภายใต้กรอบคิดที่ว่าราษฎรไทยควรมีความรู้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะปกครองตนเอง14
........................ซึ่งต่อให้อาริสโตเตลเลียนส่งอิทธิพลเหมือนในยุคกลางก็มิได้ทำให้เกิดกิจกรรมของสัตว์ทางการเมืองที่แท้จริงได้ เพราะไพร่ (และก่อนหน้านั้นคือทาส) ถูกกีดกันออกจากกิจกรรมแห่งการใช้เหตุผลอยู่ก่อนแล้ว คล้ายกับที่อาริสโตเติลอภิปรายถึงทาสว่า “ไม่อาจบรรลุถึงชีวิตที่ดี เพราะไม่สามารถที่จะใช้เหตุผลอย่างสมบูรณ์ ทั้งยังไม่มีสิทธิเลือกว่าจะกระทำหรือไม่กระทำ” (1254a) คำว่า Logic ที่หมายถึงตรรกศาสตร์ในปัจจุบัน ขณะนั้นเรียกวิชาอัตถวิเคราะห์ (พ.ศ. 2441)15 ก็เป็นแต่การวิเคราะห์เชิงภาษา มิได้เกี่ยวกับการทำให้ข้อความเป็นประพจน์ทางคณิตศาสตร์ และวิชาคณิตศาสตร์ในขณะก็ยังมุ่งแต่ทักษะการคำนวณทางพีชคณิตที่อ้างอิงมาจากหนังสือของฮอลล์เป็นหลัก (คนไทยเรียก เลขฮอลล์)16 เพราะความเคลื่อนไหวของการปฏิรูปการสอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับโลกซึ่งทดลองให้มีการจัดหัวเรื่องนอกเหนือจากการคิดคำนวณทางพีชคณิตหรือเรขาคณิต เช่น การให้เหตุผลแบบอนุมานและแบบอุปมาน (deductive and inductive reasoning)17 เกิดขึ้นภายหลังรัชกาลที่ 5
........................จึงส่งผลให้ร่องรอย (Trace) อาริสโตเติลที่ปรากฏอยู่ในสยามเบาบางอย่างยิ่ง ประกอบกับการที่อาริสโตเติลหรือปวงปรัชญากรีกไม่อาจสำคัญไปกว่าพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ถึงแม้ในภายหลังจะมีการกำหนดให้เรียนวิชาตรรกศาสตร์แล้วก็ตามแต่ค่านิยมของคณิตศาสตร์รูปแบบเดิมยังทรงอิทธิพลและส่งอิทธิพลอยู่ เห็นได้จาก ค่านิยมการส่งเสริมบุตรหลานให้เรียนคิดเลขเร็ว จึงไม่แปลกที่นักคิดเลขเร็วไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกับนักคิดผู้ไม่ทิ้งเหตุผล กล่าวได้ว่า ก่อนปี พ.ศ. 2500 อาริสโตเติลปรากฏชื่อนานๆครั้งหรือแทบไม่ปรากฏ ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วความคิดของเขาจะทรงพลังขนาดที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยได้อย่างไร เมื่อคณิตศาสตร์ก็มิได้กล่าวถึง สังคมศึกษาก็มิได้ให้ความสำคัญ อุดมศึกษายังมุ่งเน้นแต่การผลิตข้าราชการ ทั้งการอ่านออกเขียนได้และเข้าถึงหนังสือก็จำกัด
------ มีต่อในตอนที่ 2 ------
เชิงอรรถ
1 พ่อก้อน, มิตรภาพตามมติของอริสโตต๎ล (พระนคร: โรงพิมพ์ศรีหงส์, 2470) พิมพ์แจกในงานปลงศพ ขุนชาติโอสถ (เสม สยามานนท์). เอกสารหายากชิ้นนี้น่าสนใจตรงที่สะกดชื่ออาริสโตเติลด้วยเครื่องหมายยามักการเพื่อช่วยในการออกเสียงภาษาอังกฤษ เนื้อหา 37 หน้าของหนังสือเล่มนี้หยิบเนื้อหาเรื่องมิตรภาพจากหนังสือจริยศาสตร์นีโคมาเคียนเล่ม 8 (Nicomachean Ethics VIII) มาแปลและเรียบเรียง กล่าวได้ว่าคนไทยอย่างน้อยก็ระดับขุนนางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 น่าจะรู้จักงานเขียนของอาริสโตเติลอยู่บ้าง
2 กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น), ทาสกถา ต่อแผ่นที่ 45 น่า(หน้า) 532 ใน หนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม 5 แผ่น 46 วันอาทิตย์ที่ 31 เดือนสิงหาคม รัตนโกสินทรศก 109
3 ชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่ถูกเรียก พอสืบค้นหลักฐานที่เป็นตัวอักษรได้จากอินเตอร์เน็ต เช่น ในวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี (ภาษาไทย) ประวัติหน้า “ไชยันต์ ไชยพร” มีการแก้ไขโดยเพิ่มเติมฉายา “โสกราตีสคนสุดท้าย” ลงไปในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2549 (โดยผู้ใช้ IP: 172.173.86.111 แต่ผู้เริ่มเขียนหน้าดังกล่าว คือผู้ใช้ชื่อ Jittat ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549) โปรดดู https://th.wikipedia.org/wiki/ไชยันต์_ไชยพร และถูกพูดถึงซ้ำใน เบญจมาศ เลิศไพบูลย์, “ชีวิตนอกตำราไชยันต์ ไชยพร.” โพสต์ทูเดย์ (16 กุมภาพันธ์ 2556). Available from http://www.posttoday.com/newspaper/magazine/205167 [2016, 7 September]
4 ชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่ถูกเรียก พอสืบค้นหลักฐานที่เป็นตัวอักษรได้จากอินเตอร์เน็ต เช่น ในวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี (ภาษาไทย) ประวัติหน้า “สมบัติ จันทรวงศ์” มีการแก้ไขโดยเพิ่มเติมฉายา “เปลโตเมืองไทย” ลงไปในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2551 (โดยผู้ใช้ IP: 124.121.11.206 แต่ผู้เริ่มเขียนหน้าดังกล่าว คือผู้ใช้ชื่อ Ajala ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2551) โปรดดู https://th.wikipedia.org/wiki/สมบัติ_จันทรวงศ์ ก่อนที่นิตยสาร WAY MAGAZINE Vol.6 No.6 จะลงบทสัมภาษณ์ของสมบัติด้วยคำโปรยว่า “เปลโตเมืองไทย” อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง ลูกศิษย์ของสมบัติเขียนแย้งเรื่องฉายานี้ใน อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง, “อ.สมบัติไม่ใช่เพลโตเมืองไทยและทางเดียวในการไม่ประนีประนอมกับความชั่วช้าสามานย์”.มติชนออนไลน์ (1 มีนาคม 2556). Available from http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1362091876 [2016, 7 September]
5 สำนักนโยบายและแผนกลุ่มงานยุทธศาสตร์และแผนพัฒนา, สรุปนโยบายการบริหารราชการของประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมอบแก่คณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.[Online] หน้า 11,15 Available from http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/download/article/article_20151123083650.pdf [2016, 7 September]
6 สูตรภาษาลาตินดังกล่าวถอดความว่า “อย่างที่นักปรัชญาท่านนั้นกล่าว....” ให้หมายถึง อาริสโตเติล พบในงานเขียนทางปรัชญาสำคัญในยุคกลาง เช่น งานเขียนของโธมัส อากวีนัส (St.Thomas Aquinas), วิลเลียมแห่งออคแคม (William Ockham) เป็นต้น
7 พูลศักดิ์ เทศนิยม, “คู่มือครูวิชาตรรกศาสตร์,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการสอนคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2522) หน้า 1-2
8 Hans V. Hansen and Robert C. Pinto, Fallacies: Classical and contemporary readings (Pennsylvania: The Pennsylvania State University Press, 1995) p. 3
10 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 ศ.1/5 เบ็ดเสร็จราชการในกรมศึกษา ร.ศ.108-109 และ ร.ศ.110-111 (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 108 – 20 มีนาคม ร.ศ.111)
11 The great trio of ancient Greeks ซึ่งหนังสือภาษาต่างประเทศใช้เรียก หรือ ตรีโยนกมหาบุรุษในภาษาไทยพบในงานเขียนของเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) โปรดดู พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), กาลานุกรมพระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก, Available from: http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/chronology_of_buddhism_in_world_civilisation.pdf [2016, 9 September]
12 ปเลโต, ม.ป.ป, ว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน ,กรมพระยาเทววงศวโรปการ ทรงแปลและประทานพิมพ์ไว้ในหนังสือวชิรญาณวิเศษเล่มที่ 3 พ.ศ. 2431, (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2469) พิมพ์ในงานศพ หม่อมเจ้าหญิงบันดาลสวัสดี ในพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ครบปัญญาสมวาร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2469.
13 กระทรวงธรรมการ, วิธีการสอนพงศาวดาร (พระนคร: กรมวิชาการ, 2454) หน้า 4-6
14 สุกัญญา สุดบรรทัด, รายงานการวิจัยการยึดครองสิทธิอำนาจระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มหัวก้าวหน้าโดยอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์ก่อนปี 2475 (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543) หน้า 90
15 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 ศ.1/5 เบ็ดเสร็จราชการในกรมศึกษา ร.ศ.108-109 และ ร.ศ.110-111 (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 108 – 20 มีนาคม ร.ศ.111)
16 ฮอลล์ (Henry Sinclair Hall) เขียนหนังสือระหว่างปี ค.ศ. 1848-1934 (พ.ศ. 2391- 2477) หลายเล่ม เน้นหนังสือพีชคณิต (Algebra), แบบฝึกหัดเลขคณิต (Arithmetical exercise) เป็นหลัก Available from http://onlinebooks.library.upenn.edu/webbin/book/lookupname?key=Hall%2C%20H.%20S.%20(Henry%20Sinclair)%2C%201848-1934 [2016, 12 September]
17 ธ.ธง พวงสุวรรณ, “การศึกษาผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาตรรกศาสตร์สัญลักษณ์เบื้องต้นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย” (ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2518) หน้า 1-5