Skip to main content
ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์ ตอนที่ 2
 
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
 
หมายเหตุ. บทความนี้ปรับปรุงจาก ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ (2559, ตุลาคม). ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์. บทความนำเสนอในงานประชุมวิชาการ "อาริสโตเติลกับสังคมไทย“ จัดโดยสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถานทูตกรีซประจำประเทศไทย, ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ด้วยการสนับสนุนของ Chula Global Network , หน้า 92-117 โดยมีการอภิปรายขยายความเพิ่มเติมทั้งเพิ่มลิงค์เพื่อให้สามารถคลิ๊กเข้าไปสืบคืนได้ง่ายขึ้น
 

ถ้าผลงานของอาริสโตเติลจะปรากฏและถูกพิมพ์ซ้ำ

 
........................แม้จะผ่านการอภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ. 2475 มาจนถึงระยะแห่งการเปลี่ยน “สยาม” มาเป็น “ไทย” ในปี พ.ศ. 2482 ก็ยังไม่พบว่า อาริสโตเติลจะปรากฏชื่ออย่างแจ่มชัดหรือกว้างขวางขึ้นแต่ประการใด  นักปรัชญาอื่นก็ด้วย อย่างน้อยในปี พ.ศ. 2513 ที่ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) บังเอิญปรากฏชื่อขึ้นในวงสนทนาแต่ก็ “ถูกอุบปากด้วยมติชนในกลุ่มให้เงียบเพราะมันเหลวไหลในความคิดของเขา”[18]  ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2507 สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตีพิมพ์งานเขียนของเปลโต้ (เพลโต) ออกสู่สายตาผู้อ่าน   กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงปรารภในคำนำหนังสือว่า “...ปรัชญากรีก ซึ่งมีชื่อโสกราตีส เปลโต้ และอาริสโตเติล เรืองนามอยู่นั้น ได้มีอิทธิพลใหญ่หลวงในอารยธรรมตะวันตก ซึ่งได้แผ่ออกไปทั่วโลกแล้ว เราจึงควรสนใจในปรัชญานั้นและเปรียบเทียบกับพุทธปรัชญาของเราดู...”[19] เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าอาริสโตเติลคงยังเป็นที่รับรู้ แต่ก็ยังน่าสงสัยว่าจะถูกเงาของอาจารย์และปรมาจารย์บดบังหรือไม่ เพราะในระยะแรกของความเคลื่อนไหวทางวิชาการ การแปลงานเขียนของตรีโยนกมหาบุรุษกลับปรากฏชื่อโสกราตีสและเพลโตเสียมากกว่า แม้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์จะบอกว่านักอ่านชาวสยาม/ไทยรู้จักเนื้อหาบางส่วนของ จริยศาสตร์นีโคมาเคียน (Nicomachean Ethics) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 แล้วก็ตาม 
 
........................อาริสโตเติลปรากฏชื่อแต่เพียงลำพังในฐานะผู้ถูกศึกษาอย่างน้อยก็ ปี พ.ศ. 2516 ในรัฐศาสตร์สาร (กันยายน – ธันวาคม พ.ศ. 2516) ในบทความสิทธิในการปฏิวัติของอาริสโตเติล [20]  ของสมบัติ จันทรวงศ์ กับบทความการเปรียบเทียบระหว่างทฤษฎีปฏิวัติของอริสโตเติ้ลและทฤษฎีสมัยใหม่ [21]  ของลิขิต ธีรเวคิน น่าสังเกตว่าอาริสโตเติลปรากฏชื่อในช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยซึ่งก่อตัวจากการรัฐประหารตนเองของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2514 และกำลังจะสุกงอมถึงที่สุดในสถานการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า อาริสโตเติลผู้ปรากฏชื่อในขณะนั้นเป็นอาริสโตเติลแห่งปรัชญาการเมืองมากกว่าอาริสโตเติลแห่งปรัชญา ต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2517 สมบัติเขียนบทความลงสังคมศาสตร์ปริทัศน์อีกเรื่องเสถียรภาพของประชาธิปไตยในทัศนะของอาริสโตเติล คราวนี้สมบัติเริ่มต้นบทความด้วยการกล่าวว่า “...อาริสโตเติลไม่ได้ถือว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ดี...” [22]  พร้อมลงท้ายในบทความว่า  “...ใครบ้างที่จะปฏิเสธว่าไม่ใช่เพราะความพยามที่จะเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในบรรยากาศที่ไม่เหมาะสมดอกหรือที่ทำให้รัฐธรรมนูญไวมาร์แห่งเยอรมนีต้องหลีกทางให้ลัทธินาซีของฮิตเลอร์ไปในที่สุด.. [23]  แม้อาริสโตเติลจะปรากฏชื่ออย่างโดดเด่นในปรัชญาการเมืองเป็นที่แรก แต่ในพรมแดนของวิชาปรัชญาซึ่งเปิดทำการเรียนการสอนได้ไม่นานนักก็ให้ความสำคัญกับอาริสโตเติลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน 
 
........................ปี พ.ศ. 2507 จำนงค์ ทองประเสริฐ (พระกวีวรญาณในขณะนั้น) อนาคตราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์และการเมืองประเภทปรัชญาสาขาวิชาตรรกศาสตร์ (โปรดเกล้าฯ ในปี พ.ศ. 2521) ตีพิมพ์หนังสือ ตรรกศาสตร์: ศิลปะแห่งการนิยามความหมายและการให้เหตุผล [24]  ซึ่งอธิบายผลงานของอะริสโตเติล(อาริสโตเติล) เช่น เรื่องปทารถะ (Category) , จัตุรัสแห่งความตรงกันข้าม (The Square of Opposition) พร้อมทั้งเรื่องอื่นๆ โดยละเอียด[25] งานเขียนชิ้นดังกล่าวเป็นความพยายามแรกๆ    ที่จะอธิบายบางส่วนใน On Interpretation (ΠΕΡΙ ΕΡΜΗΝΕΙΑΣ)  ออกมาเป็นภาษาไทยแต่ก็ไม่ใช่การแปลจากตัวบทงานเขียนของอาริสโตเติลอยู่ดี ในขณะที่บทความของสมบัติอ้างโดยตรงถึง Politics: Πολιτικά  แม้จะเป็นฉบับแปลภาษาอังกฤษไม่ใช่ฉบับกรีก ในส่วนของการเผยแพร่วิชาปรัชญานั้น จำนงค์ยังรับไปบรรยายปรัชญาที่สถานีวิทยุยานเกราะ 785 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510) ตามคำเชิญของกิตติวุฑโฒภิกขุ พร้อมทั้งตีพิมพ์หนังสือปรัชญาประยุกต์ชุดตะวันตก[26] ออกมาอีกเล่มด้วยในปี พ.ศ. 2515 อีกมุมหนึ่งที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก็ได้ตีพิมพ์หนังสือปรัชญาเบื้องต้นและตรรกวิทยาขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือประกอบการเรียนวิชาปรัชญาในปี พ.ศ. 2512 โดยกีรติ บุญเจือ[27]
 
 
........................กล่าวได้ว่าหลังกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) อาริสโตเติลมีชื่อแพร่หลายมากขึ้นในตำราและหน้าหนังสือวิชาการ คู่ขนานกันไปกับกระทรวงศึกษาธิการที่หันมาปรับปรุงหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาโดยเพิ่มเรื่องการให้เหตุผลและตรรกศาสตร์สัญลักษณ์ซึ่งค่อยๆดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 นับตั้งแต่นั้น กล่าวได้ว่า นักเรียนระดับมัธยมศึกษาทุกคนต้องศึกษา    การให้เหตุผลจากตรรกบทแบบของอาริสโตเติลเรื่อยไปจนถึงตรรกศาสตร์สัญลักษณ์ของรัสเซลล์โดยมีจุดประสงค์เพื่อวางรากฐานทางความคิดให้สามารถเข้าใจทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้นได้  แม้อาริสโตเติลในบทบาทนักปรัชญาตะวันตกคนสำคัญจะยังไม่ถูกกำหนดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาต้องรู้จักเหมือนเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) หรือหลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ในระยะแรกของพัฒนาการวิชาสังคมศึกษาก็ตาม แต่ในระยะหลังผู้เรียนวิชาสังคมศึกษาคงได้พบกับอาริสโตเติลไม่มากก็น้อยผ่านผลงานและคำกล่าวที่มีชื่อเสียงของเขาแม้จะไม่ได้ปรากฎชื่อ 
 
........................ข้อสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) วิชาสังคมศึกษา ปีการศึกษา 2558 (สอบ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559) ถามว่า เพราะเหตุใดจึงมีคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” [28] ประโยคดังกล่าวยอมรับกันโดยทั่วไปว่า อาริสโตเติลเป็นผู้กล่าวไว้ในหนังสือ Politics I (1253a)[29] ซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า   Man is a social animal แต่ในตำแหน่งเดียวกันกลับเป็นที่มาของคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ทางการเมืองด้วย (Man is a political animal) และหากพิจารณาตัวบทในภาษากรีกแล้ว คำนามดังกล่าวเมื่อแปลตามรูปศัพท์จะหมายถึง สัตว์ทางการเมือง (Zoon Politikon: ζῷον πoλιτικόν)[30] น่าสนใจที่ถ้าใช้ตรรกศาสตร์มาวิเคราะห์ข้อความดังกล่าวคือ (1) มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์สังคม และ (2) มนุษย์ทุกคนเป็นสัตว์ทางการเมืองจะสรุปว่า สัตว์สังคมคือสัตว์ทางการเมืองหรือไม่ (Political animal as Social animal) และถ้ามีการสรุปว่าสัตว์สังคมคือสัตว์ทางการเมือง ข้อสรุปดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเวลาใด เบื้องต้นหนังสือ Politics I ถูกแปลจากภาษากรีกเป็นลาตินครั้งแรกในปี ค.ศ. 1260 โดยภราดายูลีเอลมูสแห่งมอเอเบกุม (Gulielmus de Moerbecum หรือ William of Moerbeke) ซึ่งตัวบทดังกล่าวก็ไม่ได้สรุปว่าสัตว์ทางการเมืองจะหมายถึงสัตว์สังคม[31] 
 
........................แต่ในสมัยเดียวกันมีนักปรัชญาที่ตีความเช่นนั้น คือ โธมัส อากวีนาส (St.Thomas Aquinas) ซึ่งอ้างถึง Politics I ในงานเขียนชิ้นเอกของเขาเอง Summa Theologiae [36567] Iª-IIae q. 72 a. 4 co. ความว่า “...เพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสัตว์ทางการเมืองและสัตว์สังคม...” (sed quia homo est naturaliter animal politicum et sociale, ut probatur in I Polit.)[32] อิทธิพลทางศาสนาและปรัชญาของ อากวีนาสจึงเป็นการสถาปนาคำอธิบายว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยปริยาย หลายคนอาจรู้สึกว่าการเป็นสัตว์สังคมพร้อมกับการเป็นสัตว์ทางการเมืองไม่แตกต่างกันมากนัก แต่บางคนเห็นแย้งว่า น้ำหนักของความเป็นสัตว์สังคมมีส่วนในการลดทอนความเป็นสัตว์ทางการเมืองในความหมายของอาริสโตเติล[33]    และปรากฏการณ์นี้ก็เข้าใจได้ไม่ยากเพราะคำศัพท์สัตว์สังคมในความหมายของอากวีนาสถูกลดทอนลงจากกรอบคิดแบบจิตนิยม (Idealism) ให้เหลือเพียงคำศัพท์ทางชีววิทยาโดยกรอบคิดแบบประจักษ์นิยม (Empiricism) หรือ สสารนิยม (Materialism) แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามเช่น ผึ้งมิ้ม (Apis florea.) เป็นสัตว์สังคมเช่นเดียวกับมนุษย์หรือเป็นเพียงแมลงสังคม (Social Insect) และมนุษย์ (Homo Sapiens.) ก็ไม่ได้เป็นสัตว์ที่พิเศษไปกว่าสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการจากลิง (Pan troglodytes or paniscus.) อย่างนั้นหรือ ท่ามกลางมุมมองที่ยังกระเพื่อมและเคลื่อนไหวอยู่ตั้งแต่อาริสโตเตลเลียนจนถึงดาร์วินเนียน (Darwinian)[34]  แต่ผลหนึ่งของความเคลื่อนไหวได้ก่อให้เกิดความคิดประจักษ์นิยมแบบสุดโต่ง ซึ่งทำให้หลายคนในศตวรรษที่ 20 เห็นว่าเป็นการลดทอนมนุษย์ให้เป็นเพียงจักรกลซึ่งเป็นการทำลายองค์รวมของเหตุผล[35] 
 
........................ถึงคำถามสั้นๆ ที่ว่า “เพราะเหตุใดจึงมีคำกล่าวที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม” จะยังไม่ได้รับคำตอบตามขนบจักรกลนิยม แต่ข้ออภิปรายข้างต้นก็เชื่อมโยง (Conjunction) และชี้ชวนให้สังเกตถึงปรากฏการณ์ที่กระจัดกระจายอยู่ในประวัติศาสตร์ และนั่นก็อาจทำให้ได้ข้อสังเกตใหม่ๆ (Conjecture) เพราะมุมมองของปัจเจกบุคคลที่จะมีต่อข้อความ “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ถือได้ว่าเป็นการตอบสนองต่อแสงสว่างทางปัญญาของพวกกรีก[36]  และไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาทางบวกหรือทางลบแต่ก็ก่อให้เกิดแนวคิดต่างๆมากมาย เมื่อความพยายามที่จะตอบข้อสงสัยว่ามนุษย์คืออะไรกันแน่ (เทียบเพลงสดุดี 144: 3) จากโลกตะวันตกถูกรับเข้ามาสู่โลกภาษาไทยที่มีวัฒนธรรมตะวันออกตั้งมั่นอยู่ ทำให้ไม่ว่าจะสัตว์ทางการเมืองหรือสัตว์สังคมก็ไม่โดดเด่นเท่าวาทกรรม “สัตว์ประเสริฐ”[37] นั่นทำให้สำนึกต่อความเป็นสังคมซึ่งจัดประเภทมนุษย์อย่างจักรกลมิได้ส่งอิทธิพลอะไรมากไปกว่าสูตรเพื่อหาคำตอบและต้องท่องจำเพื่อสอบ เช่น เฉลยของข้อสอบนี้คือ เพราะมนุษย์สามารถสร้างกฎเกณฑ์เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยใช้สัญลักษณ์ ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นสัตว์สังคม 
 
........................น่าสังเกตว่า “กฎเกณฑ์เพื่อการอยู่ร่วมกันและใช้สัญลักษณ์” เป็นน้ำหนักที่ถูกเน้นและถูกทำให้อยู่ในความรับรู้ของระบบการศึกษาไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะยุคราชาธิปไตย เผด็จการหรือแม้แต่ประชาธิปไตย การกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization) อันเป็น จุดประสงค์ร่วมของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ล้วนแต่มีทิศทางและเป้าหมายเพื่อหล่อหลอมแฝงฝังให้เยาวชนเกิดวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างที่ชนชั้นปกครองต้องการ ทั้งยังเป็นคนละเรื่องกับอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย กล่าวคือ ความต้องการของชนชั้นปกครองที่ปราศรัยหรือแถลงว่าจะปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยก็อาจเป็นคนละเรื่องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริงก็เป็นได้    
 
........................เมื่ออาริสโตเติลและพลังทางความคิดของเขาเป็นเพียงตัวละครสำหรับท่องจำในวิชาสังคมฯและเห็นได้ชัดว่า ปรัชญาของเขามิได้เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์หรือนำไปประยุกต์ใช้ ส่งผลให้ไม่อาจทำหน้าที่จุดประกายหรือต่อยอดทางความคิดแก่ผู้เรียนเหมือนที่อย่างเคยให้แก่อากวีนาสและนักคิดคนอื่นๆได้ ถ้าพยายามค้นหาว่านอกเหนือจากการเอาผลงานของเขาออกเขียนในรูปของหนังสือหรือบทความของปัจเจกบุคคลแล้ว เช่น งานของสมบัติ จำนงค์ หรือกีรติ ดังที่กล่าวมาแล้ว จะค้นหาอาริสโตเติลโดยเฉพาะผลงานของเขาได้จากที่ใด คำตอบที่ถูกมองข้ามไปเสมอ คือ  อาริสโตเติลซึ่งปรากฏชื่อและผลงานในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์รายวิชาพื้นฐาน 
 
........................อาริสโตเติลเชื่อมโยงกับวิชาคณิตศาสตร์ผ่านการศึกษาเรื่องตรรกศาสตร์และการให้เหตุผล  (Logic and reasoning) เนื้อหาส่วนนี้ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 อย่างเป็นทางการด้วยจุดประสงค์เรื่องการเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดให้แก่ผู้เรียน ตรรกศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยนับตั้งแต่จัดสอบครั้งแรกจนถึงปัจจุบันมาโดยตลอด แม้จะเพียง 1-2 ข้อ     อย่างไรก็ตาม หลักสูตรคณิตศาสตร์ซึ่งปรับปรุงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503-2535 (32 ปี) ก็สถาปนาความสำคัญของการให้เหตุผลและตรรกศาสตร์[38]  กล่าวคือ ก่อนระดับอุดมศึกษาผู้เรียนทุกคนถูกกำหนดให้ต้องศึกษาผลงานของอาริสโตเติลในรูปการให้เหตุผลขั้นพื้นฐาน (แม้จะไม่ถูกทำให้รับรู้ว่าเป็นเจ้าของความคิดอย่างทฤษฎีของยูคลิดหรือพีธากอรัสก็ตาม) และกำหนดให้เรียนตรรกศาสตร์สัญลักษณ์ (Symbolic logic) ซึ่งพัฒนาโดยรัสเซลล์และไวท์เฮดเป็นผู้วางรากฐาน 
 
........................นอกเหนือจากความรู้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมแล้ว ที่น่าสังเกตเพิ่มเติมคือข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ในส่วนของตรรกศาสตร์ยังทำหน้าที่เครื่องมือกล่อมเกลาทางการเมืองในแบบเดียวกับข้อสอบวิชาสังคมศึกษาอีกด้วย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพลังของระบบการศึกษาแบบสถาบันส่งผลอย่างร้ายกาจต่อการก่อรูป  ทางความคิดของชนชั้นกลาง เห็นชัดจากความเคลื่อนไหวและการสื่อสารในลักษณะต่างๆของผู้คนในสังคม แต่พลังแห่งการกล่อมเกลาดังกล่าวก็มิได้มีลักษณะที่กดบังคับหรือยัดเยียดในแบบที่วาทกรรมอื่นของรัฐนิยมกระทำ เลวร้ายกว่านั้น เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เชื่องและเซื่องซึมต่ออำนาจโดยอาศัยการปล่อยให้การใช้ตรรกะถูกทอดทิ้ง ทั้งยังสร้างภาพจำให้ตรรกศาสตร์ยากเกินความเป็นจริง ไม่ปลดปล่อยตรรกศาสตร์เข้าสู่พื้นที่แห่งการคิดและถกเถียง อันที่จริงก่อนจะพูดถึงวาทกรรมตรรกวิบัติ (Fallacy Logic) ก็ควรที่จะเกิดคำถามว่าคนไทยเรียนรู้จักตรรกศาสตร์และการให้เหตุผลตั้งแต่เมื่อไรและอย่างไร เพราะการให้เหตุผลแบบอาริสโตเติลแม้จะไม่ครอบคลุมระบบคิดสมัยใหม่ทั้งหมด แต่ก็เป็นกระบวนการให้เหตุผลขั้นพื้นฐานซึ่งทุกคนต้องเรียน และปรากฏผ่านสายตาเป็นแสนคู่ทุกปี[39]  นั่นคือ ในข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย
 

ตัวอย่างข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยวิชาคณิตศาสตร์ กข. พ.ศ. 2523

“---ถ้าทราบว่า ไม่มีนักเรียนเกเรคนไหนที่ขยัน และนักเรียนทุกคนที่สอบได้เป็นเด็กขยัน
แดงเป็นนักเรียนที่ขยัน ดังนั้น---”

ก. แดงสอบได้และแดงเป็นเด็กอยู่ในโอวาทไม่เกเร
ข. แดงสอบตกและแดงเกเร
ค. แดงเป็นเด็กเกเร แต่แดงโชคดีสอบได้
ง. แดงเป็นเด็กอยู่ในโอวาท ไม่เกเร แต่แดงโชคร้ายสอบตก
จ. ไม่มีข้อใดถูก

ประโยคดังกล่าวเขียนในรูปตรรกบทแบบอาริสโตเติล (Aristotelian syllogism) ได้ว่า

(1) ไม่มีนักเรียนเกเรคนไหนที่ขยัน  แทน เป็น No P are M (M เป็นคุณสมบัติของสิ่งที่ไม่ใช่ P)
(2) นักเรียนที่สอบได้ทุกคนขยัน    แทน เป็น All S are M   (คุณสมบัติ M เป็นของทุก S)

ดังนั้น (Therefore),
(3)…(ส่วนที่ต้องอนุมาน)... เพื่อตรวจสอบกับแดงในฐานะสมาชิกย่อย (Subset) ของเด็กขยัน

........................รูปแบบดังกล่าวอยู่ในชุดสัญลักษณ์ที่ฮีสปานูส (Hispanus) นักคิดยุคกลางพัฒนามาจากการศึกษาตรรกบทแบบอาริสโตเติล โดยตั้งชื่อว่า เชซาเร (Cesare-EAE ผังที่ 2) [40]   และเป็นรูปที่เขียนในรูปเชลาเรนต์ได้ (Celarent-EAE ผังที่ 1) กล่าวคือ เขียนอีกแบบได้ว่าไม่มีความขยันในนักเรียนที่เกเร     (No M are P) ทั้งสองนำไปสู่ชุดข้อสรุปที่สมเหตุสมผล (Valid) ที่บรรดานักคิดยุคกลางได้รวบรวมเอาไว้[41]  ทำให้ได้ข้อสรุปว่า  “ไม่มีนักเรียนที่สอบได้ที่เป็นนักเรียนเกเร” (No S are P หรือกล่าวว่า ความเป็นนักเรียนเกเรไม่ใช่คุณสมบัติของนักเรียนที่สอบได้) เมื่อโจทย์ยังกำหนดให้แดงเป็นนักเรียนที่ขยันก็จะทำให้เกิดคำถามว่าแดงสอบได้หรือไม่ ในชุมชนออนไลน์ภาษาไทยชื่อ Mathcenter Community เฉลยคำตอบข้อนี้เป็นข้อ ก. แดงสอบได้และแดงเป็นเด็กอยู่ในโอวาทไม่เกเร[42]   ซึ่งไม่มีอะไรต้องสงสัยในส่วนของการเป็นนักเรียนที่สอบได้ที่จะต้องไม่เกเรด้วย

........................ปัญหาคือความขยันของแดงเป็นเงื่อนไขให้แดงเป็นสมาชิกในเซตของนักเรียนที่สอบได้หรือไม่  แม้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นตรรกศาสตร์แบบอาริสโตเติลแต่ความนิยมในการหาคำตอบเรื่องการให้เหตุผลมักจะใช้วิธีการของนักปรัชญาหรือนักคณิตศาสตร์อยู่ดี เช่น ใช้ระบบตรรกศาสตร์สัญลักษณ์ (Symbolic Logic) ซึ่งพัฒนาโดยเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) หรือ ใช้แผนภาพออยเลอร์ (Euler Diagram) ที่คนไทยเรียกว่า แผนภาพเวนน์-ออยเลอร์ (Venn-Euler Diagram) น่าสังเกตว่า นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถูกกำหนดให้ใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่ความรู้เรื่องตรรกบทแบบอาริสโตเติล หมายความว่าอาริสโตเติลจะไม่ข้องเกี่ยวและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเลย  ในที่นี้ ทดลองวาดข้อมูลข้างต้นเป็นแผนภาพออยเลอร์และแผนภาพเวนน์ได้ว่า:

........................จากแผนภาพดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่าประโยคที่ว่า นักเรียนทุกคนที่สอบได้เป็นเด็กขยันซึ่งเป็นประโยคยืนยันสากล (Universal Affirmative Proposition) จะสามารถเขียนเป็น นักเรียนทุกคนที่เป็นเด็กขยันต้องสอบได้หรือไม่ (All S are M refers to All S are All M or All S are Some M) [43]  และถึงแม้การอยู่นอกเซตของนักเรียนเกเร (P) ที่เขียนด้วยประโยคปฏิเสธสากล (Universal Negative Proposition) ว่า ไม่มีนักเรียนเกเรคนไหนที่ขยัน จะหมายถึง สิ่งนอกเซตเป็นนักเรียนที่ไม่เกเร (P complement) ก็ตาม แต่หมายความหรือว่านักเรียนที่ไม่เกเรและขยันทุกคนต้องสอบได้ ที่กำหนดมาแล้วคือแดงเป็นเด็กขยัน       ถ้าจะสรุปว่าแดงสอบได้ก็ต้องวางเงื่อนไขว่านักเรียนที่ขยันทุกคนเป็นนักเรียนที่สอบได้ (All S are All M) โดยความที่แดงเป็นสมาชิกย่อย (Subset) ในเซตของนักเรียนที่สอบได้ก็จะทำให้แดงเป็นนักเรียนที่ไม่เกเร

........................ถ้าลดทอนชุดประโยคข้างต้นเป็นคำพูดในบทสนทนาทั่วไปจะได้ว่า นักเรียนที่สอบได้ก็คือนักเรียนที่อยู่ในโอวาทแล้วความดื้อรั้นไม่อยู่ในโอวาทที่เรียกว่าเกเรต้องถือว่าไม่ใช่คุณสมบัติของนักเรียนที่สอบได้ส่วนนี้ในสังคมไทยมีค่านิยมเรื่องการเรียนหนังสือเก่งเข้ามาส่งอิทธิพลปฏิบัติการ จึงถูกทำให้เป็นเงื่อนไขที่รองรับความเชื่อเรื่องคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและมีอนาคตที่ดีในสังคมไทย.[44]  เพราะวาทกรรมปฏิบัติการเช่นนี้การเรียนกวดวิชาจึงเกิดขึ้นและยังคงอยู่[45]  ท่ามกลางการกลายสภาพจากการเรียนรู้ตามความสนใจเป็นการแก่งแย่งแข่งขันโดยมีนัยทางเศรษฐศาสตร์หรือธุรกิจ นักเรียนที่เกเรหรือนักเรียนที่ขยันแต่สอบไม่ได้จะถูกกีดกันจากพื้นที่แห่งตัวตนโดยอัตโนมัติ เพราะตามตรรกะนี้เด็กขยันทุกคนต้องสอบได้ ดังนั้น ถ้าสอบไม่ได้ก็จะอยู่นอกแวดวงของเด็กขยัน โดยคำตำหนิจากผู้ปกครองหรือเรื่องเล่ากระแสหลักในสังคมจะทำหน้าที่กดกั้นพื้นที่แสดงออกของนักเรียนเหล่านี้ ทำให้เกิดความคิดเรื่องการเตรียมตัวที่ไม่ดีพอ, กรรมเก่า[46] , เคราะห์โชค หรือพาลไปคิดว่าเป็นความเกเร ทั้งที่ไม่จำเป็นว่านักเรียนขยันทุกคนต้องเป็นนักเรียนที่สอบได้ (All S are Some M) เพราะอะไรจะเป็นมาตรวัดความขยันได้ในเมื่อคนล้วนแตกต่างกัน    

ข้อสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2553 โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีข้อสอบเรื่องการให้เหตุผลที่คล้ายกันกับข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2523 แต่คราวนี้พูดชัดลงไปถึงการอ้างเหตุผลที่สมเหตุสมผล (Valid) ลองพิจารณาข้อความต่อไปนี้

เหตุ      1. รัตนาขยันเรียน หรือ รัตนาสอบชิงทุนรัฐบาลได้ แทนเป็น P is M หรือ P is S
             2. รัตนาไม่ขยันเรียน แทนเป็น P is no M
ผล        รัตนาสอบชิงทุนรัฐบาลได้ แทนเป็น P is S

เพื่อจะตรวจสอบว่าข้อความข้างต้นว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ จะใช้ระบบตรรกศาสตร์สัญลักษณ์ช่วย ในที่นี้ให้ p แทนประพจน์: รัตนาขยันเรียน ดังนั้น not p p) หมายถึง รัตนาไม่ขยันเรียน และให้ q แทนประพจน์: รัตนาสอบชิงทุนรัฐบาลได้ เพราะฉะนั้นเขียนในรูปสัญลักษณ์ได้ว่า

เหตุ     1.  p V q
            2. ¬p

ผล       q

เพื่อตรวจสอบว่าการอ้างเหตุผลข้างต้นสมเหตุสมผล (Valid) หรือไม่จะใช้การตรวจสอบความเป็นสัจนิรันดร์ (Tautology) ซึ่งวิธีการตรวจสอบสัจนิรันดร์มีด้วยกันหลายแนวทางในที่นี้ขอนำเสนอ:

........................ทั้ง 2 ตัวอย่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อสอบเรื่องการให้เหตุผล ซึ่งน่าสังเกตว่าข้อสอบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงกรอบคิดบางอย่างที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับกลวิธีในการแต่งและเลือกข้อสอบ ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางของโลกทัศน์เรื่องความขยันในข้อสอบตรรกศาสตร์ข้างต้น แม้ว่าอาริสโตเติลจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากกว่านี้ในระดับมัธยมศึกษาก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ได้มีบทบาทนำแต่ประการใด มีผู้ยกย่องว่า “อาริสโตเติลบิดาแห่งตรรกศาสตร์”[49] แต่แล้วในสังคมไทยกลับปรากฏอยู่เพียงแต่ชื่อและดำรงอยู่อย่างเงียบเหงา บทประยุกต์จากผลงานของเขาถูกพิมพ์ซ้ำทุกปีในรูปข้อสอบถึงจะปีละไม่กี่ข้อ    แต่ก็ผ่านสายตานักเรียนเป็นแสนคนทุกปี เพราะความที่มิได้มีพื้นที่ให้ปรากฏตัวจึงทำให้เขาไม่อาจเป็นแรงบันดาลใจเรื่องตรรกศาสตร์หรือเป็นแบบอย่างของนักคิดนักถามแก่ใครได้ มิพักต้องกล่าวถึงครีซิปปุส, รัสเซลล์, เฟรเก้ หรือคนอื่นๆในโลกตรรกศาสตร์ด้วย จะเห็นว่าข้อสอบเรื่องการให้เหตุผลเพียงข้อเดียวก็ยังทำให้เกิดคำถามตามมาได้มากมายถึงเพียงนี้ ไม่ว่าจะเป็นความมีอิสระจากการถูกกล่อมเกลาทางการเมือง หรือแม้กระทั่งความใช้ได้จริงของตรรกะที่ปรากฏในข้อคำถาม เพราะจุดหมายของการกำหนดให้ทุกแผนการเรียนต้องเรียนตรรกศาสตร์ก็เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดให้กับสังคมไทยมิใช่หรือ  แต่การศึกษาตรรกศาสตร์และการให้เหตุผลกลับถูกมองข้าม ทั้งๆที่ตรรกศาสตร์เฉพาะประโยชน์ใช้สอยทางปรัชญาเป็นเครื่องมือในการอ่านงานของอาริสโตเติลอย่างสำคัญ และในเมื่อการปรากฏตัวอย่างสาธารณะของอาริสโตเติลค่อนข้างพร่าเลือนเสียแล้ว ที่ซึ่งนักเรียนเป็นจำนวนมากได้เห็นอาริสโตเติลแต่ไม่รู้จักเขา  จึงอาจต้องพิจารณาอาริสโตเติลที่ปรากฏตัวโดยอ้อมผ่านตัวบุคคลหรืองานเขียนอื่นแทน 

 

เชิงอรรถ

18 อุดร ทองน้อย, "ทำไมนิสิตนักศึกษาเมืองไทยไม่ชอบแสดงความคิดเห็น", สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา ฉบับที่ 9 กุมภาพันธ์ 2513. หน้า 26-27

19 กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ ใน สุลักษณ์ ศิวรักษ์, โสเกรตีส: บุคลิกลักษณะ ประวัติ และปรัชญา โดยบริบูรณ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 (พระนคร: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2507) หน้าคำนำ

20 สมบัติ จันทรวงศ์, “สิทธิในการปฏิวัติของอาริสโตเติล”, รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 กันยายน (ตุลาคม)-ธันวาคม 2516, 2516. หน้า 1-19

21 ลิขิต ธีรเวคิน, “การเปรียบเทียบระหว่างทฤษฎีปฏิวัติของอริสโตเติ้ลและทฤษฎีสมัยใหม่”, รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 กันยายน (ตุลาคม)-ธันวาคม 2516, 2516. หน้า 20-29

22 สมบัติ จันทรวงศ์, “เสถียรภาพของประชาธิปไตยในทัศนะของอาริสโตเติล”, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 มกราคม 2517, หน้า 79 Available from http://www.openbase.in.th/files/paritouch046.pdf [2016, 9 September]

23 สมบัติ จันทรวงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 87

24 จำนงค์ ทองประเสริฐ, ตรรกศาสตร์: ศิลปะแห่งการนิยามความหมายและการให้เหตุผล, (กรุงเทพฯ: เลี่ยงเซียงจงเจริญ, 2507)

25 จำนงค์ ทองประเสริฐ, เรื่องเดียวกัน หน้า 76, 188

26 จำนงค์ ทองประเสริฐ, ปรัชญาตะวันตก ชุดประยุกต์ (กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2515)

27 กีรติ บุญเจือ, ปรัชญาและตรรกวิทยาเบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพฯ: ผดุงวิทยาการพิมพ์, 2512)

28 ข้อสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)         ไม่อนุญาตให้เข้าถึงแบบสาธารณะบนอินเตอร์ต้องลงทะเบียนดาวน์โหลดข้อสอบ โปรดดูเพิ่มเติมที่ http://www.niets.or.th/examdownload/ [2016, 9 September]

29 Aristotle,”Politics.”Translated by W.D.Ross, Aristotle’s Politica (Oxford: Clarendon Press, 1957)

30Joseph P.Canning. “A fourteenth-century contribution to the theory of citizenship: political man and the problem of created citizenship in the thought of Baldus de Ubaldis” in Brian Tierney and Peter Linehan, eds, Authority and Power: Studies on Medieval Law and Government (Cambridge, 1980) p. 201-205

31 W.L.Newman, Politics of Aristotle: With an Introduction, Two Prefatory Essays and Notes Critical and Explanatory (Cambridge: Cambridge University Press, 2010) p.122

32Thomas Aquinas, Summa Theologiae (prima pars secundae partis quaestio LXXII).[Online] Available from www.corpusthomisticum.org/sth2072.html [2016, 9 September]

33 Rod Preece, Animal and Nature: Cultural Myths, Cultural Realities (Vancouver: UBC Press, 1999) p. 64-66

34 Larry Amhart, Darwinian Natural Right (New York: State University of New York Press, 1999)  p. 58-68

35 ข้อโต้แย้งที่น่าสนใจของนักวิชาการที่มีต่อแวดวงนักวิชาการอเมริกันในฐานะผู้สถาปนาวาทกรรมหลักทรงอิทธิพลที่ประกอบสร้างสังคมศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ โปรดดู Allan Bloom, The closing of the American Mind (New York: Simon and Schuster, 1987)

36 Gilles Deleuze, “Foucault.” Translated and edited by Sean Hand, Foucault (Minnessota: University of Minnesota Press, 1988) p.93

37 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เล่มที่ 25 สุตตันตปิฎกเล่ม 17 ขุททกนิกาย    ขุททกปาฐะ ธรรมบาท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต (กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539)

38 กรมวิชาการ, หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2535) หน้า 129-136

39 จึงอาจกล่าวอย่างไม่เป็นทางการได้ว่า หากนับเฉพาะสายตาคู่ที่ต้องอ่านหรือถูกกำหนดให้อ่านตามที่พอจะระบุเป็นลายลักษณ์อักษรได้ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ทุกคนที่เข้าทำข้อสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ต้องผ่านตาโจทย์ที่ประกอบด้วยรูปแบบการให้เหตุผลแบบอาริสโตเติลไม่ว่าจะอ่านหรือไม่อ่าน ทำได้หรือทำไม่ได้ก็ตาม ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนเป็นแสนคน (มากกว่าจำนวนการพิมพ์ซ้ำของหนังสือหรือบทความวิชาการที่นำผลงานของอาริสโตเติลมาใช้โดยตรงทุกปีรวมกันด้วยซ้ำไป หากแต่น่าเสียดายที่ไม่ได้รับความสำคัญ) อ้างอิงสถิติจำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในสถานศึกษาของรัฐบาลและเอกชน จำแนกตามชั้นและระดับการศึกษา 2549-2557 [Online] Available from http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/statseries06.html [2016, 12 September]

40 Robin Smith, “Logic” in Jonathan Barnes (ed.), The Cambridge Companion to Aristotle (New York: Cambridge University Press) p. 43-44­

41 E.J.Ashworth, “Some notes on syllogistic in the sixteenth and seventeenth centuries”, Notre Dame Journal of Formal Logic, Vol.XI No.1 January, 1970. p. 20

42 เฉลยโดยศูนย์กลางคณิตศาสตร์ไทยสำหรับผู้มีใจรักคณิตศาสตร์ (Mathcenter.net)[Online] Available from http://www.mathcenter.net/ent/2523/2523p05.shtml [2016, 12 September]

43 Max H. Fisch et al (ed.), Writings of Charles S.Peiece: A chronological edition Volume 1 (1857-1866) (Bloomington: Indiana University Press, 1982).p.295 

44 โปรดดูการอภิปรายเพิ่มเติมใน จิราภรณ์ ภู่เทศ และ บารนี บุญทรง, “ค่านิยมเกี่ยวกับการศึกษาของประเทศไทย: กรณีศึกษาจากสำนวนไทยและข่าวหนังสือพิมพ์.”[Online] Available from http://research.kpru.ac.th/old/Joumal_HSS/images/TGT/2555/pats1/8.pdf [2016, 12 September]

45 รัชดา บุญมหาสิทธิ์, “ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์การเรียนกวดวิชาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย บริเวณสยามสแควร” (สารนิพนธ์ปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนามนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2554)

46 อรสม สุทธิสาคร, “ฝ่าทางสร้างฝันสู่เช้าวันใหม่” ใน ผู้พิพากษา: ชีวิตใหม่ในทางสายยุติธรรม (กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2556) หน้า 95

47 Susanne Bobzien, “The Development of Modus Ponens in Antiquity: From Aristotle to the 2nd Century AD”,Phronesis, Vol.47, No.4, 2002 .p.359-394

48 R.L.Simpson, Essentials of Symbolic Logic (Ontario: Broadview Press, 1998) p. 228 และดูการอภิปรายเพิ่มเติมใน John Woods, Paradox and Paraconsistency: Conflict Resolution in the Abstract Science (Cambridge: Cambridge University Press, 2003) p.165-169

49 Jonathan Lear, Aristotle and logical theory (Cambridge: Cambridge University Press, 1980) pp.IX

 

บล็อกของ ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์

ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
รูปนำเรื่อง  Benjamin West, 1804, Cicero Discovering the Tomb of Archimedesหมายเหตุ1.บทความออนไลน์นี้คัดลอกแบบยังไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมจาก:
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์ ตอนที่ 2 ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ หมายเหตุ. บทความนี้ปรับปรุงจาก ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ (2559, ตุลาคม).
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์ ตอนที่ 2 ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ หมายเหตุ. บทความนี้ปรับปรุงจาก ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ (2559, ตุลาคม).
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์ ตอนที่ 1ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์
    ➤    บทนำ