ประวัติศาสตร์แห่งความไม่ต่อเนื่องของอาริสโตเติลในสยาม/ไทยจนถึงการเรียนตรรกศาสตร์ ตอนที่ 2
อาริสโตเติลอยู่ที่นี่จริงหรือ
........................โคสุเกะ โคยามะ (Kosuke Koyama) นักเทววิทยาชาวคริสต์ซึ่งทำงานเผยแผ่ศาสนาอยู่ช่วงหนึ่งในประเทศไทย เรียกการปะทะสังสรรค์ระหว่าง อาริสโตเตลเลียนกับพุทธศาสนาว่า พุทธศาสนาเปรียบเหมือนเกลือและอาริสโตเตลเลียนเปรียบเหมือนพริกไทย (Buddhist salt and Aristotelian pepper) [52] แม้โคยามะจะมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้พระคริสต์พร่าเลือนและคริสตธรรมคัมภีร์จืดจาง (Blurred Christ and Dimmed Gospel) [53] แต่ก็ยอมรับว่าคริสตเทวศาสตร์แบบไทยๆ ก็มีรสมีชาติ(Testy) และถึงอย่างไรก็ต้องหาทางใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ดี ในที่นี้ โคยามะแบ่งชาวไทยออกเป็นสองกลุ่มคือ ชาวไทยที่ถูกหล่อหลอมจากอิทธิพลของพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ กับชาวไทยที่เป็นผลผลิตของอาณานิคมนิยม (Western colonialism) ในฐานะผลของความพยายามที่จะทำให้สยาม/ไทยทันสมัย (Modernization)
........................คำอธิบายของโคยามะแสดงให้เห็นถึงอาริสโตเติลในฐานะพลังทางความคิดที่ส่งอิทธิพลมาจนเป็นตะวันตก และเฉพาะอย่างยิ่งในคริสตเทวศาสตร์ แต่อีกด้านสุลักษณ์กลับเห็นว่าประเทศไทยรับเอาความคิดแบบตะวันตกมาไม่สมบูรณ์ เฉพาะอย่างยิ่งรับความคิดแบบกรีกมาน้อยเกินไป ทำให้ไม่กล้าคิดและตั้งคำถาม [54] ทั้งยังรับความคิดแบบปรนัย (Objective) ที่แยกทุกอย่างออกเป็นชิ้นส่วนตามอิทธิพลของปรัชญาตะวันตกสมัยหลังมามากเกินไป [55] สุลักษณ์วิพากษ์ปัญญาชนเสมอเรื่องอิทธิพลที่ได้รับมาจากวัฒนธรรมตะวันตก เป็นต้น เขากล่าวถึงป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่า “...คุณป๋วยให้ความสำคัญกับความคิดแบบตรรก (Rationalism) และแนวการกระทำแบบได้ผล (Pragmatism) มากเกินไป ให้ความสำคัญในด้านความลึกซึ้งแห่รหัสยนัย (Mysticism) และความเข้าใจในด้านจิตวิญญาณ (Spiritual) น้อยไป...” [56] หรือวิจารณ์คนรุ่นใหม่ในปี พ.ศ. 2526 ว่า “...ตื่นตูมกับความคิดหัวก้าวหน้า ลัทธิซ้ายใหม่ จนมองไม่เห็นคำตอบในสังคมไทย...” [57]
........................หากพิจารณามาจนถึงปี พ.ศ. 2559 ดูเหมือนว่าพลังทางความคิดต่างๆ ก็มิได้ทรงพลังและส่งพลังมากพอที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างสร้างสรรค์ในสังคมไทย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่พบว่าแก่นความคิดแบบตะวันตกจะมีพลังพอที่จะเข้ามาแทนที่หรือเบียดแทรกสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในความคิดเดิมของคนไทย ทั้งที่มีความหลากหลายทางวิชาการในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม อาจเป็นว่ากรอบคิดของ คนไทยอย่างน้อยก็ที่เคยเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทุกคนล้วนผ่านการเรียนแบบแยกขาดจากกันไม่มีที่มาที่ไปและจุดเชื่อมโยง เช่น วิธีคิดแบบสายวิทย์-สายศิลป์ หรือ ปรากฏการณ์กลัววิชาคณิตศาสตร์ [58] ทำให้สามารถทางคณิตศาสตร์ของผู้เรียนชาวไทยในภาพรวมยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ รวมถึงวิชาตรรกศาสตร์ด้วย
........................เมื่อเป็นเช่นนี้ หากคล้อยตามคำกล่าวของเอ็บเตอร์ (Apter) จะเห็นว่า “มนุษย์จะมีค่านิยม ทัศนคติและบุคลิกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาที่เขาได้รับ” [59] จึงทำให้ต้องสรุปว่า เหตุที่สังคมไทยเป็นเช่นนี้ก็เพราะได้รับการศึกษามาเช่นนี้นั่นเอง เรื่องนี้อาริสโตเติลเองเคยเตือนไว้ในหนังสือ Politics ว่า “…ใครก็ตามที่มีอำนาจในการออกกฎหมายควรเห็นความสำคัญของการให้การศึกษาแก่เยาวชนเพราะการปล่อยปละละเลยจะเป็นอันตรายต่อการปกครอง...”(1337a) แน่นอนว่า สังคมไทยได้รับผลของการปล่อยปละละเลยดังกล่าวมาบ้างแล้ว เราจึงไม่เคยพบอาริสโตเติลซึ่งมีชีวิตชีวาในหลักสูตรคณิตศาสตร์ แม้แต่ในมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ที่ออกชื่ออาริสโตเติลบ่อยกว่าก็ตาม
บทสรุป
........................เมื่อมีหลักฐานว่าอาริสโตเติลถูกรับเข้ามาในสังคมนี้มาอย่างน้อย 100 กว่าปีแล้วและอาริสโตเติลยังคงมีตัวตนอยู่อย่างแน่นอนจากการที่ยังปรากฏชื่อหรือผลงานทั้งในระบบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา แต่ก็เห็นได้ชัดว่าอาริสโตเติลคนดังกล่าวไร้ชีวิตชีวาและมิได้จุดประกายหรือก่อให้เกิดอิทธิพลแบบอาริสโตเตลเลียนอย่างเต็มที่แต่อย่างใด ทั้งอาริสโตเติลคนดังกล่าวก็มิได้มีส่วนในการหล่อหลอมคนอย่างอากวีนาสหรือแม้กระทั่งคนอย่างนิวตันที่อาจเกิดขึ้นในสังคมนี้ อาริสโตเติลและผลงานของเขาปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งศาสตร์เกือบทุกแขนงที่เป็นภาษาไทย แต่อาริสโตเติลที่ปรากฏก็มักเป็นเพียงเกียรตินามหรือการเอ่ยถึงอย่างกว้างๆเท่านั้น องค์ความรู้ของเขาในภาคภาษาไทยต้องยอมรับว่ายังหดหายและแหว่งวิ่น เรายังไม่มีงานแปลของเขาที่หลากหลายและกว้างขวาง รวมถึงการพินิจพิเคราะห์งานของเขาอย่างรอบด้านจริงจัง ในส่วนของตรรกศาสตร์ซึ่งเป็นเครื่องมือวางรากฐานทางความคิดให้แก่นักเรียนพบว่านักเรียนถูกสอนแบบสูตรสำเร็จเท่านั้นซึ่งวิธีการเช่นนี้ใช้กับตรรกศาสตร์ไม่ได้ ทั้งที่ตรรกศาสตร์แบบอาริสโตเติลเรียบง่ายและเป็นพื้นฐานสำหรับตรรกศาสตร์สัญลักษณ์แต่กลายเป็นว่ามีการนำไปเชื่อมโยงและใช้จริงน้อยมาก มากไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่สมบูรณ์แต่ไม่ถูกกล่าวถึง เป็นต้น การละเลยความแตกต่างกันระหว่างตรรกศาสตร์แบบอาริสโตเติลกับตรรกศาสตร์สมัยใหม่ในตำราตรรกศาสตร์ภาษาไทย [60] เป็นผลให้รากฐานความคิดทางตรรกะของสังคมไทยไม่มั่นคงหรือจนถึงขั้นไร้รากฐานได้ทางหนึ่ง ท้ายที่สุด เมื่อผลแห่งความไม่สมบูรณ์ข้างต้นสุกงอม สังคมจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจในเรื่องตรรกวิบัติกันเป็นพิเศษ [61] ถึงอย่างไรก็เป็นแต่เพียงความพยายามสำรวจตรรกวิบัติซึ่งมีนัยทางการเมืองจึงยังไม่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ยั่งยืนนัก
........................หากมีคำถามว่าจะฟื้นคืนชีพอาริสโตเติลในฐานะนักปรัชญาผู้มีคุณูปการแก่ศาสตร์ทุกแขนงอย่างไรในสังคมไทย คำตอบก็คงอยู่ที่งานเขียนของอาริสโตเติลเองซึ่งกล่าวไว้หลายแห่ง เป็นต้น ใน Politics [62], Nicomachean Ethics [63] กล่าวคือ รัฐเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของการบรรลุชีวิตที่ดีต้องอำนวยให้มีบรรยากาศที่สามารถฝึกฝนคุณธรรมซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับปัญญาปฏิบัติ(Phronesis: φρόνησις) เพื่อให้เกิดการเป็นคนดีหรือพลเมืองดี(Kalon kagathon: καλὸν κἀγαθόν) (1103a,1106a-1107a) และเพื่อพลเมืองในรัฐจะได้เลือกกระทำในแต่ละสิ่งอย่างมีเหตุผล (1111b,1139a-1140b,1144a) ผู้มีอำนาจต้องกำหนดให้มีการฝึกฝนตั้งแต่เด็กซึ่งจะเป็นรากฐานของปัญญาปฏิบัติในอนาคต (1337a) ความคิดของอาริสโตเติลไปด้วยกันได้ดีกับความคิดแบบตะวันออก นักคิดหลายคนก็เห็นเช่นนั้น เช่น สุลักษณ์ซึ่งเห็นประโยชน์ของปรัชญากรีกในขณะที่วิพากษ์ปรัชญาสมัยใหม่ พระภิกษุชาวไทยมักศึกษาเปรียบเทียบปรัชญากรีกมากกว่าปรัชญาสมัยใหม่ด้วยซ้ำ เพราะอาริสโตเติลมิได้เสนอความคิดด้วยสุ้มเสียงที่รุนแรงหรือแนะให้ถอนหรือรื้อ ทั้งความคิดของอาริสโตเติล เป็นต้น เรื่องคุณธรรมหรือทางสายกลางก็สอดคล้องและยังสามารถเปรียบเทียบกับพุทธศาสนาได้อีกด้วย [64] อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรปรับปรุงอันดับแรก คือ ตรรกศาสตร์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์พื้นฐานเพื่อจะได้วางรากฐานทางความคิดแก่สังคมไทยตามที่ตั้งจุดประสงค์ไว้ ด้วยว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ (หรือสัต)ที่มีเหตุผล” (Man is a rational being/animal: Ζωον λογικον) [65] และมนุษย์จะบรรลุชีวิตที่ดีได้ดีกว่าหากมีกัลยาณมิตรคอยช่วยเหลือส่งเสริมกัน (1177a-b) ซึ่งอริสโตต๎ลในเรื่องมิตรภาพได้อภิปรายเป็นภาษาไทยไว้แล้วเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา
เชิงอรรถ
50 Dominic J.O’Meara, Pythagoras Revived. (Oxford: Clarendon Press, 1989)
51 สายชล สัตยานุรักษ์, “โครงการประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535).” รายงานการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2550. หน้า 505-506
52 Kosuke Koyama, Waterbuffalo Theology (London: SCM Press Ltd., 1974) p. 62
53 David j.Hesselgrave and Edward Rommen, Contextualization: Meaning, Method and Models (CA: William Carey Library, 1989) p.82
54สุลักษณ์ ศิวรักษ์, วัฒนธรรมและอิทธิพลความคิดแบบฝรั่งต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย (กรุงเทพฯ: เสมสิกขาลัย, 2528) หน้า 50-51
55สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ลอกคราบวัฒนธรรมฝรั่ง (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2530)
56สุลักษณ์ ศิวรักษ์, นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ใหญ่ไม่กะล่อน (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2522) หน้า 68
57สุลักษณ์ ศิวรักษ์, วัฒนธรรมและอิทธิพลความคิดแบบฝรั่งต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย (กรุงเทพฯ: เสมสิกขาลัย, 2528) หน้า 50-51
58 ดูการอภิปรายประเด็นนี้เพิ่มเติมใน ศุภวิทย์ ถาวรบุตร, “คณิต-วิทย์ในประวัติศาสตร์ความรู้” ใน สุวรรณา สถาอานันท์ (บรรณาธิการ), ความจริงในมนุษยศาสตร์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549) หน้า 123-164
59 David E.Apter, The Politics of Modernization (Chicago: The University of Chicago Press, 1965) p.145
60 เทพทวี โชควศิน, “รายงานการวิจัยการตีความรูปประโยคแบบจัดประเภทในตรรกวิทยาของอริสโตเติลและตรรกวิทยาสมัยใหม่” (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, 2546) หน้า 14
61 โปรดดู ความเคลื่อนไหวของนักคิดนักเขียนและนักศึกษาเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อลดตรรกวิบัติใน https://www.facebook.com/fallaciesthailand และ http://news.voicetv.co.th/thailand/235428.html
62 โปรดดู Aristotle,”Politics.”Translated by W.D.Ross, Aristotle’s Politica (Oxford: Clarendon Press, 1957)
63 โปรดดู Aristotle, “Nicomachean Ethics” Translated by W.D.Ross, Nicomachean Ethics (Oxford: Oxford University Press, 1998)
64 ศึกษาข้อเปรียบเทียบเบื้องต้นที่ พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), ปรัชญากรีก: บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2544)
65 Bertrand Russell, Unpopular Essays (New York: Routledge, 2009) p.70