เมื่อเดือนแปดตามจันทรคติมาถึง “ลมหัวษา” (ลมต้นฤดูพรรษา) โหมแรงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ พัดจีวรและผ้าอาบน้ำฝนใหม่ของพระหนุ่มแรกพรรษาและพระเก่าหลายพรรษาพลิ้วลมอยู่ไหวๆ ลมช่วงนี้อาจพัดแรงไปจนถึงปลายเดือนเก้าที่ “ลมออก” พัด “ฝนนอก” (มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) ห่าใหญ่มาเติมทะเลสาบสงขลา (ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพัทลุง) อีกครั้ง
ตอนผมยังเด็กกว่านี้ (เมื่อสองสามปีก่อน.....ฮา) ผ้าเหลืองบนกุฏิไหวลมไม่เคยสวยเท่าตอนนี้มาก่อน แม้ครอบครัวของผมจะคุ้นชินกับผ้าเหลือง (จีวร) เพราะ “พ่อเฒ่า” (ตา) ของผมบวชครองผ้าเหลืองมาตั้งแต่วัยหนุ่มใหญ่จนปลิดลมหายใจชราของชีวิตสิ้นไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ทิ้งลูกหลานที่เคยติดสอยห้อยตามหิ้วปิ่นโตฝากตัวเป็นศิษย์วัดและเฝ้าทะนุถนอมยามสังขารชำรุดร่วงโรยให้คำนึงถึงอยู่เบื้องหลัง
กระนั้นก็ตาม เราจึงรู้กันดีว่า นอกจากฤดูพรรษาจะพัดเอาส่วนบุญที่เหล่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” น้อมถวาย ทั้งภัตตาหารและเครื่องสังฆภัณฑ์เหล่านั้นสู่วัดไปทั่วมุมเมืองแล้ว “ลมหัวษา” ยังพัดเอาอาหารสุดโปรดตามฤดูกาลของเด็ก ๆ มาด้วย และแน่นอนว่าอาหารสุดโปรดของพวกเขาไม่ใช่ “ลูกไม้” (ผลไม้) หลากชนิดที่ชิงสุกและห่ามพร้อม ๆ กันจนเต็มต้นและเต็มตลาด พาลไปจนสุกและห่ามกันเต็มวัดจนเป็นเหตุให้เด็ก ๆ เบื่อสีแดงของ “ลูกผมเงาะ” (เงาะ) ไปเสียกระนั้น
ย่าของผมเล่าให้ฟังว่า ก่อนนี้ไม่มีไออุ่นใดผิง “ลมหัวษา” ได้อุ่นดีแท้เท่ากับไฟ “หลามเหนียว” (หุงข้าวเหนียวหลาม) และไฟคั่ว “ตอก” (ข้าวตอก)ไปได้ และแน่นอนว่าไฟอุ่นจากรางไฟ “หลามเหนียว” และ “คั่วตอก” มักเรียกเด็ก ๆ ให้ออกจากบ้านได้อย่างมีนัยสำคัญมากกว่าการเล่นกองไฟในลมเย็น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็กๆ รอคอยให้มาถึงไม่แพ้การรอคอยงานประจำปีในตัวจังหวัดเสียกระนั้น
เมื่อลมเย็นจากไอ “ฝนหัวษา” (ต้นพรรษา) พลิ้วผ่านในเสียงหัวเราะของความสุขซึ่งเป็นกิจกรรมและเส้นทางบุญ เพราะทั้ง “เหนียวหลาม” และ “ตอก” ล้วนเป็นของดีถวายพระในฤดูพรรษาของลุ่มทะเลสาบมายาวนานนับแต่การเดินทางมาถึงของความเจริญรุ่งเรื่องในพระพุทธศาสนา ณ ถิ่นแหลมทองแห่งนี้
ซึ่งในความเชื่อของบรรพบุรุษรอบลุ่มทะเลสาบ ทั้ง “เหนียวหลาม” “ข้าวตอก” และ “ดอกไม้” ล้วนมีนัยสำคัญของสัญญะที่เป็นตัวแทนของเครื่องบูชาพระพุทธศาสนาม่ใช่เฉพาะในพื้นที่รอบลุ่มทะเลสาบเท่านั้น หากยังมีกว้างออกไปยังถิ่นอื่นเพียงแต่จะได้รับความนิยมของเหล่าพุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกาของตามแต่ละพื้นที่และวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา
นอกจากอะไรทั้งหมด ของดีถวายพระในฤดูพรรษาของลุ่มทะเลสาบจึงมักเป็นของดีของเด็ก ๆ และบรรดาศิษย์วัดทั้งรุ่นเก่าและรุ่นเก๋าไปโดยปริยาย “เหนียวหลาม” และ “ตอก” จึงถูกให้ความสำคัญก่อน “ลูกผมเงาะ” ที่แดงเกลื่อนในโรงฉันทั้งเวลาเช้าและเวลาเพลรวมถึงกับข้าวกับปลา ไม่ว่าจะเป็น “แกงวัว” “แกงไก่กับหยวกกล้วย” รวมถึง “แกงลูกปลา” และอาหารยอดนิยมอื่นๆ ของลุ่มทะเลสาบ แม้ในทุกวันนี้ที่ “เหนียวหลาม” มีให้กินกันทุกฤดูที่น้ำไม่ “พะ” (น้ำนอง) แล้วก็ตามที
ทุ่งลานโย ในฤดูพรรษา
สิงหาคม ๒๕๕๑