แม้ผ่านวันเพ็ญเดือนสิบสองที่น้ำนองเต็มตลิ่งไปนานแล้ว แต่น้ำในคลองข้างบ้านผมยังนองปริ่มตลิ่งอยู่เช่นเดิม แถมลมมรสุมยังพัด "ฝนหยาม"(ฝนประจำฤดู) มาซัดหลังคาบ้านให้คนเหงาได้นอนฟังกล่อมใจไม่สร่างมาหลายวันแล้ว
แน่นอนว่าฤดูฝนหยามจะพา "น้ำพะ"(น้ำนอง) มาด้วย ทุ่งข้าวสีเขียวจมอยู่ใต้น้ำ และแน่นอนคนหาปลาทุกเพศทุกวัยจะออกมาดักปลากันอย่างสนุกสนานดั่งรอคอยมาแรมปี
ปีนี้ฝนโปรยปักษ์ใต้อยู่แรมเดือน ยางพาราราคาต่ำ นาข้าวเสียหาย กระนั้นเลย คนที่นี่ก็ยังพอมีความสุขพอประทังกันบ้าง "กัด"(ตาข่ายดังปลา) ถูกนำมาชะล้างและ "วาง"ลงในห้วยเดิม คัน "เบ็ดทง"(เบ็ดสำหรับปักทิ้งไว้กลางทุ่งและค่อยกลับไปตรวจตราเป็นช่วง ๆ บน "ผลา"(ชั้นวางของเหนือเตาไฟในครัวของชาวใต้ มักทำด้วยฟากไม้ไผ่) ก็ถูกนำไปปักกลางท้องนายามค่ำคืนเช่นกัน
อาทิตย์ก่อนที่ฝนเริ่มขาดเม็ด ด้วยอารามคิดถึงวิญญาณท้องถิ่น(ไม่ใช่ผีประจำหมู่บ้านอย่างที่ผู้อ่านบางท่านกำลังคิดอยู่นะคับ ฮา...) ผมใช้เวลาสุดสัปดาห์วุ่นอยู่กับการหาปลา อย่างที่ว่าแหละครับ มันเป็นกิจกรรม "แนว ๆ" ของคนรุ่นผม เป็นกิจกรรมตามฤดูกาลที่จะ "ฮิต" แถบรอบนอกตัวเมืองใน "ดูน้ำพะ" ซึ่งอาจกินเวลาในช่วงไม่กี่วันตามแต่ละพื้นที่ที่มีน้ำขังในท้องนาแถบนั้น
หลังจากที่รวบรวมสมัครพรรคพวกได้สี่ห้าคน เราถึงกับ "คดห่อ"(เตรียมอาหารไปกินระหว่างทาง) แล้วไป "ทงเบ็ด"(ไปปักเบ็ด) หาปลาข้ามจังหวัดกันเลย (จากที่ผมอยู่ อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ไปยัง อ.ระโนด จ.สงลา) เพราะพรานทงเบ็ดต่างพูดพ้องกันว่าที่นี่ปลาชุมนัก แต่เราก็พอจะสันนิษฐานถึงสาเหตุของเหตุผลที่แถบนี้มีปลาชุกชุมได้ว่า ที่นี่เป็นพื้นที่ปลายน้ำก่อนไหลลงทะเล ทั้งฟากทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย เรื่องอื่นก็อย่างว่าใครเคยหาที่ไหนได้มากก็จะบอกต่อกันไป
วันนั้นเรามีเบ็ดไปคนละประมาณ 50 คัน โดยใช้ "เดือน"(ไส้เดือน) และบ้างที่ใช้ "เขียด" เป็นเหยื่อเบ็ด พราน "ทงเบ็ด" มักหวัง ปลาช่อน หรือปลาดุก มากกว่าปลาชนิดอื่น ๆ เราแบ่งเขตกันปักเบ็ดกินพื้นที่กว้างไปทั้งทุ่ง ไกลออกไปจนมองกันแทบไม่เห็น
เรา "ราย"(กระจาย) เบ็ดห่างกันประมาณคันละ 20 เมตรบน "หัวนา"(คันนา) พอถึงตอนนี้ผมนึกถึงฉากในวรรณกรรมเรื่อง "ในลึก"(ของนักเขียนใหญ่เมืองนครศรีธรรมราช จริง ๆ แล้วก็นักเขียนใหญ่ของประเทศเราก็ว่าได้ ฮา...) หากใครเคยอ่านก็คงจะนึกออกว่าการ "ทงเบ็ด" ของชาวปักษ์ใต้เป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งจริง ๆ
"ทงเบ็ด" ให้ดีต้องเป็นคืนแรมที่ฟ้ามืด ยิ่งดึกจะเป็นเวลาของปลาใหญ่(ว่ากันอย่างนั้น) เราจึงต้องเดินตรวจเบ็ดและเปลี่ยนเหยื่อกลางท้องนากว้างกันทั้งคืนจนเกือบเช้า เหนื่อยแต่ก็บนพื้นฐานของความสุขและสนุก
ก่อนกลับบ้านเรานั่งผิงไฟและต้มกาแฟแบ่งกัน ก็ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นแหละครับ ส่วนใหญ่เราจะได้ปลาช่อนกับปลาดุก ที่เหลือก็จะเป็นปลาหมอและก็ปลาไหล
วันที่วิญญาณท้องถิ่นเข้าสิง (เสียวสันหลังวาบ ฮา..) เช่นนี้ใครหลายคนคงนึกถึงความหลังเก่า ๆ ในวันเด็ก และวัยอื่นเมื่อยังได้ทำกิจกรรมเช่นนี้อยู่ ผมบอกผู้อ่านได้ยากถึงความประทับใจเมื่อกลับปักษ์ใต้มาได้ทำกิจกรรมของท้องถิ่นอีกครั้ง จริง ๆ แล้วยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากใน "ดูน้ำพะ" ไม่ว่าจะเป็น "ดักโพงพาง" (ใช้ตาข่ายขนาดใหญ่ดักปลาตามช่องน้ำที่ไหลแรง) "โหล๊ะปลา" (หาปลาตอนกลางคืนโดยใช้ฉมวกแทง) และอีกหลายกิจกรรม
สำหรับความส่งท้าย (ปี) ผมยังอดยิ้มไม่ได้ที่เลือกเรื่องราวคืนทงเบ็ดมาบอกเล่าทั้งที่ผ่านมา "สามน้ำ" (น้ำพะครั้งที่สาม) แล้ว
ประการสำคัญที่โรคน้ำกัดเท้าของบางคนยังไม่หายสักที
ฤดูน้ำพะ ธันวาคม 51
ทุ่งลานโย ป่าพะยอม พัทลุง