โอกาสดีที่ผมได้กลับมาราไวย์ และภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งหลังจากห่างหายภูเก็ตมาหลายปี แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ราไวย์เป็นชุมชนเล็ก ๆ ริมทะเลภูเก็ต ที่มีชาวอูรักลาโว้ยอาศัยอย่างเงียบสงบอยู่ที่นี่ ผมมาราไวย์แล้วหลายครั้ง ภาพทรงจำในการมาเยือนครั้งก่อน ๆ ของผมยังดูเรียบง่าย เด็ก ๆ อูรักลาโว้ยตัวกร้านแดดวิ่งเล่นอยู่ใกล้ ๆ กะละมังทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา สด ๆ ของพ่อแม่ที่พวกเขาจับมาขายเองจากท้องทะเล
วันนี้ที่โลกาภิวัฒน์วัฒนธรรมข้ามพรมแดนมาถึง วิถีชีวิตของชาวชุมชนราไรย์เปลี่ยนแปลงไปที่นี่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนต่างถิ่นทั้งคนไทยต่างถิ่นและชาวต่างชาติ รถรามากมาย และสองข้างทางเรียงรายด้วยร้านค้าขายของที่ระลึก ของประดับตกแต่งจากท้องทะเล และร้านอาหารทะเลสด สิ่งที่น่าสนใจให้คิดต่อคือทั้งหมดล้วนเรียกลูกค้าด้วยวิธีการเดียวกัน คือการขายฝังมายาคติลวง ๆ ของความเป็นชายเล ความเป็นชาวอูรักลาโว้ยผ่านลงไปในทุกสินค้าต่าง ๆ โดยทำให้ผู้คนที่มาเยือนเชื่อว่าสินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าของชาวอูรักลาโว้ยทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งพ่อค้าแม่ค้าต่างก็ไม่ใช่ชาวอูรักลาโว้ยพวกเขาเหล่านั้นมาจากต่างถิ่นและพยายามย้อมสินค้าของท้องถิ่นอื่นให้เป็นสินค้าท้องถิ่นของชาวอูรักลาโว้ย แม้กระทั่งสินค้าเหล่านั้นทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ส่วนใหญ่แล้วมาจากท้องถิ่นอื่น และส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นร้านค้าของชาวอูรักลาโว้ย อีกอย่างในส่วนน้อยนั้นก็ยังถูกเบียดให้เป็นร้านค้าชายขอบของร้านค้าอื่นอีกด้วย
ส่วนชาวอูรักลาโว้ยนั้นถูกเบียดขับให้เป็นชายขอบทั้งจากผู้คนเมืองกระแสหลักในเมือง เป็นชายขอบของรัฐที่มองว่าชาวอูรักลาโว้ยไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามสังคมโลกลากาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเป็นชายขอบของนายทุนที่ได้เอกสารสิทธิที่ดินและรุกไล่ที่จนชาวอูรักลาโว้ยต้องเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเรื่อยมา ซึ่งทุกวันนี้พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่อาศัยสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน พวกเขาไม่มีสิทธิทางกฎหมายใด ๆ และกำลังไม่มีตัวตนด้วยซ้ำ