Skip to main content

ประวัติย่อการศึกษา “ประวัติศาสตร์สื่อโป๊” ในโลกวิชาการสากล (1): บทนำ

เรียบเรียงจาก Sarah Leonard. 2006. "pornography and obscenity." In Palgrave Advances in the Modern History of Sexuality, edited by Matt Houlbrook and Harry Cocks, 180-205. London: Palgrave Macmillan.

แปลและเรียบเรียงโดย orgasmography

บทนำ (introduction)

ความแปลกประหลาดประการหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980s และ '90s เมื่อสื่อโป๊เปลือย (pornography) หรือสื่อลามกอนาจาร (obscenity) ซึ่งเคยถูกมองว่าไม่ได้สลักสำคัญอะไรในทางวิชาการ เริ่มเขยิบเข้ามาสู่ศูนย์กลางในงานศึกษาทางประวัติศาสตร์ ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ยุคนั้นหันกลับไปถามคำถามสำคัญเดิมๆ อย่าง อำนาจทำงานอย่างไร? ทำไมจึงเกิดการปฏิวัติ? ระบบความคิดความเชื่อมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? นักวิชาการจำนวนไม่มาก (แต่สำคัญในเวลาต่อมา?) เริ่มหันมาสนใจตัวบทที่ (มักถือกันว่า) "หยาบคาย" (scurrilous) "ลามกอนาจาร" (obscene) "โป๊เปลือย" (pornographic) หลักฐานประเภทที่นับได้ว่านักประวัติศาสตร์รุ่นก่อนหน้านั้นไม่ใคร่จะสนใจอย่างจริงจัง เริ่มได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญต่อการเข้าใจอดีต

สิ่งที่น่าสนใจของปรากฏการณ์ดังกล่าวอยู่ตรงที่ว่ามันก็ไม่ใช่การศึกษาประวัติศาสตร์ของสื่อโป๊เปลือยหรือลามกอนาจารในตัวของมันเอง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของประเภทงานเขียนและการหยิบยืม ทั้งไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของผู้ผลิตและนักสะสม แต่ทว่า นักประวัติศาสตร์หันมาใช้สื่อที่แสดงลักษณะโป๊เปลือยเหล่านั้นในฐานะที่เป็นช่องทางหรือเครื่องมือที่จะถามคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับอดีตอันผ่านพ้น นักประวัติศาสตร์ใช้หลักฐานประเภทที่ว่าเพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างอาณาบริเวณของประสบการณ์ที่มักไม่ค่อยถูกถือว่าเชื่อมโยงกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องที่เกี่ยวกับเพศกับการเมือง หรือเรื่องอัตลักษณ์ของครอบครัวกับเศรษฐกิจ กล่าวอย่างรวบรัด นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งนี้อยู่ในกระบวนสลายเส้นแบ่งระหว่างการกล่าวถึง "การเมือง" และ "ความเป็นการเมือง"

ในแง่หนึ่ง นักประวัติศาสตร์หันมาสนใจแหล่งข้อมูลที่ถือกันว่า "ลามกอนาจาร" เหล่านี้ภายใต้ความมาดหมายที่จะเผยให้เห็นความสำคัญของแนวทางการศึกษาวิจัยที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ในขณะนั้นที่เรียกว่า "ประวัติศาสตร์เพศวิถี" (the history of sexuality) ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ในช่วงทศวรรษ 1960s เรื่องที่เกี่ยวกับเพศนั้นยังไม่ค่อยถูกถือกันว่าเป็นเรื่องที่มีประวัติศาสตร์ กล่าวคือ สำหรับนักประวัติศาสตร์อาชีพโดยมากแล้ว ประวัติศาสตร์แทบจะมีความหมายอย่างเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตในอาณาบริเวณสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สถาบันทางการเมือง หรือสถาบันทางการทหาร ในขณะที่เรื่องเกี่ยวกับเพศ เพศภาวะ และสิ่งเกี่ยวเนื่อง ยังถูกถือว่าเป็นเรื่อง "ธรรมชาติ", "แน่นิ่ง", และดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่มี/เป็นประวัติศาสตร์ (ahistorical) มากกว่านั้น เรื่อง "ส่วนตัวๆ" ทั้งหลายยังถูกเข้าใจว่าเกี่ยวพันกับความสนใจในทางสาธารณะค่อนข้างน้อย

แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงศตวรรษที่ 1960s และ '70s เมื่อมันยิ่งปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าเรื่องเพศและเรื่องเกี่ยวกับเพศหรือเพศวิถีนั้น "มีประวัติศาสตร์" และสิ่งที่เรียกกันว่าเป็นเรื่อง "ส่วนตัว" นั้นมักจะซ้อนทับหรือเกี่ยวพันกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในทาง "สาธารณะ" อยู่เสมอ

ในช่วงเวลาดังกล่าว นักวิชาการเริ่มจะยืนยันได้ว่ากรอบคิดเรื่อง "สื่อโป๊" เป็นผลผลิตของช่วงคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อโป๊ไม่ใช่แค่เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือดำรงอยู่เพื่อรอการค้นพบ แต่ทว่าเป็น "กรอบคิด" ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านช่วงเวลา โดยตำรวจและผู้พิพากษา ตลอดจนผู้อ่านหนังสือและบรรณารักษ์ ผู้คนต่างๆ ซึ่ง "ลดชั้น" (relegated) (โดยการจำแนกและจัดประเภท) ข้าวของและสิ่งพิมพ์บางแบบให้เป็น "สื่อโป๊" หรือ "ลามกอนาจาร" ในงานประวัติศาสตร์ของสื่อโป๊ชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง Walter Kendrick[i] เสนอว่า สื่อโป๊ไม่ใช่แค่เป็นสิ่งของในตัวเอง (thing) แต่มีฐานะเป็นข้อเสนอ/ข้อถกเถียง (argument) ด้วย โดย Kendrick อภิปรายว่าความหมายของข้อเสนอนั้นก็เปลี่ยนแปลงข้ามเวลา ความหมายว่าด้วยสื่อโป๊นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มความหมายใหม่ ตลอดจนสื่อที่ถูกจัดว่าโป๊นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นแล้ว แหล่งข้อมูลหรือหลักฐานที่มีลักษณะโป๊เปลือยนั้นจึงไม่ได้แค่เป็นสิ่งสำคัญในทางประวัติศาสตร์ แต่ "สื่อโป๊" ยังเป็นสิ่งที่มี/เป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง

Sarah Leonard ผู้เขียนบทความชิ้นนี้พยายามจะเสนอว่า เรื่องราวว่าด้วยการที่สื่อโป๊หรือสื่อลามกกลายมาเป็นหัวข้อศึกษาที่ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังนั้นเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงในวงการประวัติศาสตร์อาชีพตั้งแต่ทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา เนื้อหาในบทความนี้ (ในตอนต่อๆ ไป) จึงไม่ได้เป็นเพียงการบรรยายว่านักประวัติศาสตร์พูดถึงประวัติศาสตร์ของสื่อลามกว่าอะไรบ้าง แต่ยังเป็นการพยายามที่จะทำความเข้าใจการบังเกิดขึ้นของความสนใจที่จะศึกษาสื่อโป๊ตั้งแต่ทศวรรษดังกล่าว กล่าวได้ว่า ความสนใจที่จะศึกษาสิ่งลามก หยาบคาย โป๊เปลือย ก่อตัวมาจากแรงกระตุ้นหลายประการ ทั้งปัจจัยทางสังคมและการเมืองในระดับกว้าง อาทิ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การปฏิวัติทางเพศ" (sexual revolution) ในช่วงทศวรรษ 1960s และ '70s และกระแสเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ในช่วง '70s และ '80s รวมไปถึงกระแสความเคลื่อนไหวทางปัญญาที่สำคัญในครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ ส่วนหนึ่งมาจากการขยายอิทธิพลทางความคิดของกระแสที่เรียกรวมๆ ว่า "หลังโครงสร้างนิยม" ในช่วงทศวรรษ '80s โดยเฉพาะจากงานของ Michel Foucault กล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวทางสังคมและทางวิชาการที่กล่าวข้างต้นบรรจบผสานกันในช่วงเวลาดังกล่าว

เนื้อหาในตอนต่อๆ ไป จะเป็นการนำเสนอถึงพัฒนาการทางสังคมและแวดวงวิชาการที่สัมพันธ์และส่งผลต่อการศึกษา "สื่อโป๊" ในโลกวิชาการสากล

 

 

โป๊ศาสตร์ พิศวาสความรู้คู่กามรมณ์



[i] Walter Kendrick. 1987. The Secret Museum: Pornography in Modern Culture. New York: Viking Press.

 

บล็อกของ กลุ่มนักโป๊ศาสตร์

กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
**
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
แปลและเรียบเรียง
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
บทความโดย นักโป๊ศาสตร์ท่านหนึ่ง
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
เรียบเรียงจาก Sarah Leonard. 2006. “pornography and obscenity.” In Palgrave Advances in the Modern History of Sexuality, edited by Matt Houlbrook and Harry Cocks, 180-205. London: Palgrave Macmillan.แปลและเรียบเรียงโดย orgasmography
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
เรียบเรียงจาก Sarah Leonard. 2006. “pornography and obscenity.” In Palgrave Advances in the Modern History of Sexuality, edited by Matt Houlbrook and Harry Cocks, 180-205. London: Palgrave Macmillan.แปลและเรียบเรียงโดย orgasmography 
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
ประวัติย่อว่าด้วยการศึกษา “ประวัติศาสตร์สื่อโป๊” ในโลกวิชาการสากล (2): ยุคแรกเริ่ม
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
ประวัติย่อการศึกษา “ประวัติศาสตร์สื่อโป๊” ในโลกวิชาการสากล (1): บทนำ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
แปลและเรียบเรียงโดย PORN-TRIP
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
แปลและเรียบเรียงโดย PORN-TRIP
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
เกริ่นนำ - โป๊ศาสตร์