Skip to main content

ประวัติย่อการศึกษา “ประวัติศาสตร์สื่อโป๊” ในโลกวิชาการสากล (1): บทนำ

เรียบเรียงจาก Sarah Leonard. 2006. "pornography and obscenity." In Palgrave Advances in the Modern History of Sexuality, edited by Matt Houlbrook and Harry Cocks, 180-205. London: Palgrave Macmillan.

แปลและเรียบเรียงโดย orgasmography

บทนำ (introduction)

ความแปลกประหลาดประการหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980s และ '90s เมื่อสื่อโป๊เปลือย (pornography) หรือสื่อลามกอนาจาร (obscenity) ซึ่งเคยถูกมองว่าไม่ได้สลักสำคัญอะไรในทางวิชาการ เริ่มเขยิบเข้ามาสู่ศูนย์กลางในงานศึกษาทางประวัติศาสตร์ ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ยุคนั้นหันกลับไปถามคำถามสำคัญเดิมๆ อย่าง อำนาจทำงานอย่างไร? ทำไมจึงเกิดการปฏิวัติ? ระบบความคิดความเชื่อมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? นักวิชาการจำนวนไม่มาก (แต่สำคัญในเวลาต่อมา?) เริ่มหันมาสนใจตัวบทที่ (มักถือกันว่า) "หยาบคาย" (scurrilous) "ลามกอนาจาร" (obscene) "โป๊เปลือย" (pornographic) หลักฐานประเภทที่นับได้ว่านักประวัติศาสตร์รุ่นก่อนหน้านั้นไม่ใคร่จะสนใจอย่างจริงจัง เริ่มได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นข้อมูลสำคัญต่อการเข้าใจอดีต

สิ่งที่น่าสนใจของปรากฏการณ์ดังกล่าวอยู่ตรงที่ว่ามันก็ไม่ใช่การศึกษาประวัติศาสตร์ของสื่อโป๊เปลือยหรือลามกอนาจารในตัวของมันเอง ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของประเภทงานเขียนและการหยิบยืม ทั้งไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของผู้ผลิตและนักสะสม แต่ทว่า นักประวัติศาสตร์หันมาใช้สื่อที่แสดงลักษณะโป๊เปลือยเหล่านั้นในฐานะที่เป็นช่องทางหรือเครื่องมือที่จะถามคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับอดีตอันผ่านพ้น นักประวัติศาสตร์ใช้หลักฐานประเภทที่ว่าเพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างอาณาบริเวณของประสบการณ์ที่มักไม่ค่อยถูกถือว่าเชื่อมโยงกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องที่เกี่ยวกับเพศกับการเมือง หรือเรื่องอัตลักษณ์ของครอบครัวกับเศรษฐกิจ กล่าวอย่างรวบรัด นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งนี้อยู่ในกระบวนสลายเส้นแบ่งระหว่างการกล่าวถึง "การเมือง" และ "ความเป็นการเมือง"

ในแง่หนึ่ง นักประวัติศาสตร์หันมาสนใจแหล่งข้อมูลที่ถือกันว่า "ลามกอนาจาร" เหล่านี้ภายใต้ความมาดหมายที่จะเผยให้เห็นความสำคัญของแนวทางการศึกษาวิจัยที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ในขณะนั้นที่เรียกว่า "ประวัติศาสตร์เพศวิถี" (the history of sexuality) ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ในช่วงทศวรรษ 1960s เรื่องที่เกี่ยวกับเพศนั้นยังไม่ค่อยถูกถือกันว่าเป็นเรื่องที่มีประวัติศาสตร์ กล่าวคือ สำหรับนักประวัติศาสตร์อาชีพโดยมากแล้ว ประวัติศาสตร์แทบจะมีความหมายอย่างเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตในอาณาบริเวณสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สถาบันทางการเมือง หรือสถาบันทางการทหาร ในขณะที่เรื่องเกี่ยวกับเพศ เพศภาวะ และสิ่งเกี่ยวเนื่อง ยังถูกถือว่าเป็นเรื่อง "ธรรมชาติ", "แน่นิ่ง", และดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่มี/เป็นประวัติศาสตร์ (ahistorical) มากกว่านั้น เรื่อง "ส่วนตัวๆ" ทั้งหลายยังถูกเข้าใจว่าเกี่ยวพันกับความสนใจในทางสาธารณะค่อนข้างน้อย

แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงศตวรรษที่ 1960s และ '70s เมื่อมันยิ่งปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าเรื่องเพศและเรื่องเกี่ยวกับเพศหรือเพศวิถีนั้น "มีประวัติศาสตร์" และสิ่งที่เรียกกันว่าเป็นเรื่อง "ส่วนตัว" นั้นมักจะซ้อนทับหรือเกี่ยวพันกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงในทาง "สาธารณะ" อยู่เสมอ

ในช่วงเวลาดังกล่าว นักวิชาการเริ่มจะยืนยันได้ว่ากรอบคิดเรื่อง "สื่อโป๊" เป็นผลผลิตของช่วงคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อโป๊ไม่ใช่แค่เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือดำรงอยู่เพื่อรอการค้นพบ แต่ทว่าเป็น "กรอบคิด" ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านช่วงเวลา โดยตำรวจและผู้พิพากษา ตลอดจนผู้อ่านหนังสือและบรรณารักษ์ ผู้คนต่างๆ ซึ่ง "ลดชั้น" (relegated) (โดยการจำแนกและจัดประเภท) ข้าวของและสิ่งพิมพ์บางแบบให้เป็น "สื่อโป๊" หรือ "ลามกอนาจาร" ในงานประวัติศาสตร์ของสื่อโป๊ชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง Walter Kendrick[i] เสนอว่า สื่อโป๊ไม่ใช่แค่เป็นสิ่งของในตัวเอง (thing) แต่มีฐานะเป็นข้อเสนอ/ข้อถกเถียง (argument) ด้วย โดย Kendrick อภิปรายว่าความหมายของข้อเสนอนั้นก็เปลี่ยนแปลงข้ามเวลา ความหมายว่าด้วยสื่อโป๊นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มความหมายใหม่ ตลอดจนสื่อที่ถูกจัดว่าโป๊นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นแล้ว แหล่งข้อมูลหรือหลักฐานที่มีลักษณะโป๊เปลือยนั้นจึงไม่ได้แค่เป็นสิ่งสำคัญในทางประวัติศาสตร์ แต่ "สื่อโป๊" ยังเป็นสิ่งที่มี/เป็นประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง

Sarah Leonard ผู้เขียนบทความชิ้นนี้พยายามจะเสนอว่า เรื่องราวว่าด้วยการที่สื่อโป๊หรือสื่อลามกกลายมาเป็นหัวข้อศึกษาที่ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังนั้นเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงในวงการประวัติศาสตร์อาชีพตั้งแต่ทศวรรษ 1960s เป็นต้นมา เนื้อหาในบทความนี้ (ในตอนต่อๆ ไป) จึงไม่ได้เป็นเพียงการบรรยายว่านักประวัติศาสตร์พูดถึงประวัติศาสตร์ของสื่อลามกว่าอะไรบ้าง แต่ยังเป็นการพยายามที่จะทำความเข้าใจการบังเกิดขึ้นของความสนใจที่จะศึกษาสื่อโป๊ตั้งแต่ทศวรรษดังกล่าว กล่าวได้ว่า ความสนใจที่จะศึกษาสิ่งลามก หยาบคาย โป๊เปลือย ก่อตัวมาจากแรงกระตุ้นหลายประการ ทั้งปัจจัยทางสังคมและการเมืองในระดับกว้าง อาทิ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การปฏิวัติทางเพศ" (sexual revolution) ในช่วงทศวรรษ 1960s และ '70s และกระแสเคลื่อนไหวของกลุ่มเฟมินิสต์ในช่วง '70s และ '80s รวมไปถึงกระแสความเคลื่อนไหวทางปัญญาที่สำคัญในครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ ส่วนหนึ่งมาจากการขยายอิทธิพลทางความคิดของกระแสที่เรียกรวมๆ ว่า "หลังโครงสร้างนิยม" ในช่วงทศวรรษ '80s โดยเฉพาะจากงานของ Michel Foucault กล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวทางสังคมและทางวิชาการที่กล่าวข้างต้นบรรจบผสานกันในช่วงเวลาดังกล่าว

เนื้อหาในตอนต่อๆ ไป จะเป็นการนำเสนอถึงพัฒนาการทางสังคมและแวดวงวิชาการที่สัมพันธ์และส่งผลต่อการศึกษา "สื่อโป๊" ในโลกวิชาการสากล

 

 

โป๊ศาสตร์ พิศวาสความรู้คู่กามรมณ์



[i] Walter Kendrick. 1987. The Secret Museum: Pornography in Modern Culture. New York: Viking Press.

 

บล็อกของ กลุ่มนักโป๊ศาสตร์

กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะยูอิ อุเอฮาระ โชคชะตาของเอวีหน้าเหมือนดาราดัง
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะFaleno + โทรุ มุรานิชิ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะหากจะนับว่าหนังเรื่องไหนได้รับการยกให้เป็นหนังอีโรติก หรือพิงค์ฟิล์มเรื่องแรกของญี่ปุ่น คำตอบคือผลงานของ ซาโตรุ โคบายาชิ ในปี 1962 ที่ชื่อว่า 肉体の市場(Nikutai no Ichiba) หรือ Flesh Market ที่อาจตั้งชื่อไทยได้ว่า "ตลาดโลกีย์"
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
 ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ..
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ(ขึ้นต้นชื่อเรื่องอาจทำให้เข้าใจผิด ปัจจุบันเธอหายแล้วนะครับ).