Skip to main content

บทความโดย นักโป๊ศาสตร์ท่านหนึ่ง

ถ้าพูดถึง “สื่อโป๊” สำหรับเราๆท่านๆ อาจจะนึกถึงคำอีกคำ คือ “สื่อลามก” และอาจเกิดความสงสัยว่า “สื่อโป๊” และ “สื่อลามก” มันคือสิ่งๆเดียวกันหรือไม่ ในทางภาษาศาสตร์ คำว่า “โป๊” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำจำกัดความว่า “โป๊” เป็นภาษาปาก หมายถึง “...  เปลือย หรือค่อนข้างเปลือย เช่น รูปโป๊, มีเจตนาเปิดเผยอวัยวะบางส่วนที่ควรปกปิด เช่น แต่งตัวโป๊”[1] ส่วนคำว่า “ลามก” หมายถึง “หยาบช้าต่ำทราม, หยาบโลน, อันเป็นที่น่ารังเกียจ ของคนดีมีศีลธรรม, เช่น หนังสือลามก พูดลามก ทำลามก”[2] ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากคำจำกัดความจะเห็นได้ว่า คำว่า “โป๊” เป็นเรื่องของสภาวะหรือสภาพความเปลือยเปล่าของร่างกายมนุษย์โดยแท้ไม่มีแนวคิดเรื่องมาตรศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องจึงไม่มีแนวคิดว่ามันเป็นสิ่งดีหรือไม่ดีแต่อย่างใด (ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงสังคมอาจจะมองว่าโป๊เป็นสิ่งไม่เหมาะสมก็ตาม) ในขณะที่คำว่า “ลามก” นั้นมีลักษณะที่มาตรวัดทางศีลธรรมที่ตัดสินชี้ว่าเป็นสิ่งดีหรือไม่ดีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างชัดเจน เป็นเรื่องของสีขาวและสีดำ โดย สิ่งลามกถูกตราให้อยู่ในอาณาเขตของสิ่งเลวทราม ชั่วช้า ไม่เป็นที่ยอมรับและแม้กระทั่งขัดกับศีลธรรมอันดี

เส้นแบ่งระหว่างสื่อโป๊และสื่อลามกก็ไม่ได้มีอยู่แค่ในภาษาไทย ที่เห็นได้ชัดอย่างน้อยก็ในภาษาอังกฤษ สำหรับภาษาอังกฤษนั้น คำว่า “สื่อโป๊” อาจเทียบได้กับคำว่า pornography ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกสองคำ คือ πόρνη (อ่านว่า พอร์นิ) ซึ่งแปลว่า “โสเภณี” และคำว่า  γράφειν (อ่านว่ากราฟฟิน) ซึ่งแปลว่า “การจดบันทึก” ดังนั้นสองคำนี้ที่รวมกันเป็นคำว่า pornography จึงหมายถึงการบันทึกเรื่องราวของโสเภณี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการบันทึกเรื่องกิจกรรมทางเพศ (ในขณะที่คำว่า “โป๊” ในภาษาไทยเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศในมิติของความเปลือยเปล่าของร่างกายเท่านั้นแต่ไม่ได้มีความหมายล่วงไปถึงกิจกรรมทางเพศด้วย) คำว่า pornography นั้นเพิ่งเข้ามาในภาษาอังกฤษเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เท่านั้นเอง[3] สำหรับความหมายร่วมสมัยของคำว่า pornography Oxford Dictionary ให้คำจำกัดความไว้ว่าหมายถึง “สิ่งพิมพ์หรือทัศนวัสดุที่มีคำบรรยายหรือการแสดงภาพให้เห็นถึงอวัยวะเพศและกิจกรรมทางเพศที่มุ่งก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศ (Printed or visual material containing the explicit description or display of sexual organs or activity, intended to stimulate sexual excitement.)”[4] ในขณะที่คำว่า “ลามก” นั้นอาจจะเทียบกับคำว่า obscenity (n.) หรือ obscene (adj.) ในภาษาอังกฤษ ซึ่งคำๆนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศส obscène ซึ่งมีการใช้มาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า obscaenus ในภาษาลาตินอีกทอดหนึ่ง โดยคำนี้มีความหมายว่า ลางชั่วร้าย (ill-omened) หรือ น่ารังเกียจ (abominable) โดยความหมายของคำว่า obscenity ในปัจจุบันหมายถึง เป็นที่น่ารังเกียจ หรือขยะแขยงตามบรรทัดฐานของศีลธรรมและความเหมาะสม (offensive or disgusting by accepted standards of morality and decency)[5] ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของคำสองคำนี้ก็จะพบว่ามีลักษณะคล้ายๆกับกรณีในภาษาไทย กล่าวคือ pornography จะหมายถึงอะไรก็ตามที่มีลักษณะเป็นเรื่องทางเพศโดยไม่มีมาตรวัดคุณค่าทางศีลธรรมตัดสินว่าดีหรือไม่ดี ในขณะที่คำว่า obscenity จะมีศีลธรรมหรือความเหมาะสมมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคุณค่า โดย obscenity ถูกตราว่าเป็นสิ่งเลวทราม น่ารังเกียจ เช่นเดียวกับคำว่า “ลามก” ในภาษาไทย

ในทางนิติศาสตร์นั้น เมื่อเปิดกฎหมายของไทยดูจะพบแต่คำว่า “สื่อ หรือ สิ่งลามก” เท่านั้น[6] แต่จะไม่พบคำว่า “สื่อโป๊” และในกฎหมายต่างประเทศส่วนใหญ่ เช่น Obscene Publications Act 1959/1964 ของอังกฤษ (และเวลส์) หรือ Section 163 ของประมวลกฎหมายอาญาประเทศแคนาดา (Criminal Code of Canada) และ common law ในคดี Miller v. California[7] ของ Supreme Court สหรัฐอเมริกา ก็จะพบแต่คำว่า “obscene”[8] (อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือในปี 2008 รัฐสภาสหราชอาณาจักรมีการผ่าน Criminal Justice and Immigration Act 2008 ซึ่งใน Section 63 มีการบัญญัติคำว่า extreme pornography ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรก (และอาจเป็นฉบับแรกของโลก) ที่ใช้คำว่า pornography) ซึ่งกฎหมายสื่อลามกในแต่ละประเทศได้วางหลักเกณฑ์หรือบรรทัดฐานในการตัดสินว่าสื่อนั้นเป็นสื่อลามกหรือไม่ ซึ่งหลักเกณฑ์หรือบรรทัดฐานดังกล่าวมีระดับความเข้มงวดเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวหรือเพศแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ

ดังนั้นจึงอาจกล่าว ณ จุดนี้ได้ว่า “สื่อโป๊” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวทางเพศอย่างเปิดเผยนั้นจะถือว่าเป็น “สื่อลามก” ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ก็ต้องพิจารณาดูที่บรรทัดฐานหรือหลักเกณฑ์ความลามก (obscenity standards) ของกฎหมายในประเทศนั้นๆ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า “สื่อโป๊” และ “สื่อลามก” อาจจะเป็นหรือไม่เป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานที่กฎหมายในแต่ละประเทศวางไว้ อย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกาบรรทัดฐานในการตัดสินว่าอะไรเป็นสื่อลามกนั้นอาจมีลักษณะเปิดกว้างและเข้มงวดกว่าบรรทัดฐานสื่อลามกตามกฎหมายของไทย ดังนั้น สื่อโป๊หนึ่งซึ่งไม่เข้าตามบรรทัดฐานของสื่อลามกในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่ถือว่าเป็นสื่อลามกตามกฎหมายอเมริกา ในขณะที่สื่อโป๊เดียวกันนี้เมื่อพิจารณาตามบรรทัดฐานสื่อลามกที่ศาลฎีกาไทยได้วางไว้ซึ่งมีระดับความเข้มงวดมากกว่าในการยอมให้มีการนำเสนอเรื่องราวทางเพศแบบเปิดเผย ก็ถือเป็นสื่อลามกตามกฎหมายไทย อย่างไรก็ตามบรรทัดฐานหรือหลักเกณฑ์ความลามกอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัย เช่น สื่อที่นำเสนอกิจกรรมทางเพศอย่างหนึ่ง (เช่น fisting – การยัดกำปั้นเข้าไปในช่องคลอดหรือรูทวาร หรือ urolagnia – กิจกรรมทางเพศที่เกี่ยวกับน้ำปัสสาวะ) ในยุคหนึ่งอาจมองว่าเป็นสื่อลามก แต่ในยุคต่อมาก็อาจถือว่าไม่เป็นสื่อที่นำเสนอภาพหรือเรื่องราวลามกอีกต่อไป ซึ่งกรณีของคดี R. v. Peacock (2012) ของ English Crown Court เป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี ซึ่งลูกขุนในคดีนี้เห็นว่า DVD หนังโป๊ที่มีกิจกรรม fisting และ urolagnia ไม่ถือเป็นสื่อลามกอีกต่อไป ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่หนังโป๊ประเภทนี้มักตกเป็นเป้าหมายแรกๆของการถูกการนำขึ้นสู่ศาลโดยอัยการและพิพากษาว่าเป็นสื่อลามก

ในเรื่องของบรรทัดฐานหรือหลักเกณฑ์ความลามกของแต่ละประเทศก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องชี้วัดความอ่อนไหวต่อเรื่องทางเพศ (prudishness) ของแต่ละสังคม แต่ละวัฒนธรรมและแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้ามีโอกาสจะได้นำเสนอต่อไป

 

โป๊ศาสตร์ พิศวาสความรู้คู่กามรมณ์



[6] เช่น มาตรา 287 ประมวลกฎหมายอาญา หรือ มาตรา 14(1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

[7] [1973] 413 U.S. 15

 

 

บล็อกของ กลุ่มนักโป๊ศาสตร์

กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะยูอิ อุเอฮาระ โชคชะตาของเอวีหน้าเหมือนดาราดัง
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะFaleno + โทรุ มุรานิชิ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะหากจะนับว่าหนังเรื่องไหนได้รับการยกให้เป็นหนังอีโรติก หรือพิงค์ฟิล์มเรื่องแรกของญี่ปุ่น คำตอบคือผลงานของ ซาโตรุ โคบายาชิ ในปี 1962 ที่ชื่อว่า 肉体の市場(Nikutai no Ichiba) หรือ Flesh Market ที่อาจตั้งชื่อไทยได้ว่า "ตลาดโลกีย์"
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
 ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ..
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ(ขึ้นต้นชื่อเรื่องอาจทำให้เข้าใจผิด ปัจจุบันเธอหายแล้วนะครับ).