Skip to main content

เรียบเรียงจาก Sarah Leonard. 2006. “pornography and obscenity.” In Palgrave Advances in the Modern History of Sexuality, edited by Matt Houlbrook and Harry Cocks, 180-205. London: Palgrave Macmillan.

แปลและเรียบเรียงโดย orgasmography

กระบวนการเปลี่ยนรูปโฉมของการศึกษาทางประวัติศาสตร์ในคริสต์ทศวรรษ 1950-80 (the transformation in historical studies: 1950-80)

บางทีมันอาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่คำถามและแหล่งข้อมูลต่างๆ เหล่านั้น (หมายถึงวรรณกรรมเชิงสังวาส) กลายมาเป็นสิ่งที่ดูจะสำคัญขึ้นมาสำหรับนักวิชาการในช่วงทศวรรษ 1960 และ ’70 อาจกล่าวได้ว่า งานของ Marcus และ Foxon เขียนขึ้นในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง สำหรับกระแสเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกต่อประเด็นเรื่องการเปิดกว้างขึ้นในทางเพศนั้นก็ตามติดมาจากความพยายามอย่างเป็นระบบของกลุ่มเฟมินิสต์ที่ยืนกรานว่า เรื่องเกี่ยวกับเพศ เพศวิถี เพศภาวะ และประเด็นเรื่องการเจริญพันธุ์นั้นเป็นประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ ในทำนองเดียวกันกับนักวิชาการเพศศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 1920 และ ’30 งานเขียนของนักประวัติศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 1960 และ ’70 จึงเป็นการริเริ่มการศึกษาว่าด้วยเพศและประวัติศาสตร์ของเรื่องเพศในห้วงขณะที่ความหลากหลายในทางประวัติศาสตร์ของเพศวิถีเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราควรจะระมัดระวังในการทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างแวดวงวิชาการกับบริบททางสังคม ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจชวนให้คิดไปถึงคำถามและวิธีการทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ แต่มันก็ไม่ได้กำหนดประเด็นทางวิชาการในลักษณะที่จะชัดเจนขนาดนั้น ในระหว่างทศวรรษ 1960 และ ’70 ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระดับญาณวิทยา (epistemology) และวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่นับได้ว่าส่งผลต่อการขยายตัวของความสนใจในประเด็นว่าด้วยความลามกอนาจารและตัววรรณกรรมเชิงสังวาส

ในส่วนต่อๆ ไป เราจะได้ทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมถึงวิธีการทำความเข้าใจของทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในการตั้งคำถามต่อ “ความรู้” (knowledge) และความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับอำนาจ (power) การเปลี่ยนแปลงของ “ความรู้” ในที่นี้นั้นเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจถึงสาเหตุและกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การทำงานของนักประวัติศาสตร์อาชีพภายในช่วงทศวรรษ 1980 และ ’90 จึงมีการใช้งานเขียนที่ “หยาบคาย” (scurrilous) “ลามกอนาจาร” (obscene) หรือสื่อเชิงสังวาสในฐานะที่เป็นเอกสารหลักฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญๆ

แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น เราควรจะพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ 3 ประการ ในทศวรรษที่ 1960 และ ’70 ที่จะช่วยปูทางไปสู่การทำให้สื่อเชิงสังวาสและสื่อลามกอนาจารกลายมาเป็นประเด็นหรือข้อมูลอันล้ำค่าในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ประการแรก การปรากฏขึ้นของแนวการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม (social history) และต่อมาคือประวัติศาสตร์วัฒนธรรม (cultural history) ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากความเคลื่อนไหวในแวดวงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่สำคัญอย่างการศึกษาในสกุลอันนาลส์ (Annales School) ประการที่สอง การขยายตัวของอิทธิพลของกระแสความคิดที่เรียกรวมๆ ว่า “หลังโครงสร้างนิยม” (poststructuralist) ในทางสังคมศาสตร์ และประการที่สาม ความสำเร็จของนักวิชาการที่สนใจศึกษาในประเด็นใหม่ๆ ของประวัติศาสตร์สตรี, ประวัติศาสตร์เพศภาวะ, และประวัติศาสตร์เพศวิถี

อิทธิพลประการที่หนึ่งนั้นก่อตัวขึ้นภายในใจกลางของวิชาชีพประวัติศาสตร์เอง ซึ่งกล่าวได้ว่าวิชาประวัติศาสตร์นั้นก็เดินทางมาถึงตรง “ทางแยก” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดังที่นักประวัติศาสตร์อย่าง Fernand Braudel กล่าวไว้ว่า “โลกใบใหม่... ต้องการประวัติศาสตร์แบบใหม่” นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยเริ่มรับไม้ต่อจากนักวิชาการที่ทรงอิทธิพลในสกุลอันนาลส์ อาทิ Lucien Febvre, Marc Bloc, Fernand Braudel, และ Emmanuel Le Roy Ladurie ด้วยบรรยากาศของการผ่านสงครามโลกสองครั้งรวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกี่ยวพันกันนั้น นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเห็นว่าโลกใบใหม่หลังโฮโลคอสต์, หลังระเบิดปรมาณู, รวมถึงการขยายตัวของภาวะหลังอาณานิคม ต้องการประวัติศาสตร์ใหม่ ด้วยความคิดที่ว่า เรื่องราวของความสำเร็จของความก้าวหน้า, วิทยาศาสตร์, และอารยธรรม อันเป็นแนวคิดที่วางกรอบการทำความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ในโลกตะวันตกดูเหมือนจะถึงจุด “ล้มละลาย” ไปแล้ว

ตามความคิดของนักประวัติศาสตร์สกุลอันนาลส์ แนวทางสำคัญอันหนึ่งของประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่ว่านี้ต้อง “เปลี่ยน” จุดสนใจออกไปจากประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สำคัญๆ (history of events) กล่าวคือ หันเหออกจากเรื่องของบุคคลสำคัญ กษัตริย์ และการสงคราม โดยให้หันไปพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวและโครงสร้างเชิงลึกที่ก่อรูปก่อร่างภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์แทน ความโดดเด่นในงานของ Braudel อยู่ที่การริเริ่มศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง” (unchanging history) อาทิ ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศ แต่ทว่าในช่วงทศวรรษ 1960 นักประวัติศาสตร์สกุลอันนาลส์รุ่นใหม่ๆ เริ่มที่จะไปสนใจสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ของความรู้สึกนึกคิด” (history of mentalities) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบโครงสร้างของความคิดที่ก่อรูปก่อร่าง “กรอบ” การมองและทำความเข้าใจโลกของผู้คน โดยเฉพาะที่หมายถึงผู้คนธรรมดาๆ ทั่วไปในสังคม (‘ordinary’ people) หรือคนที่ไม่ใช่ชนชั้นนำ (non-elites) ในการจะทำเช่นนั้น นักประวัติศาสตร์สกุลอันนาลส์จึงหันไปหาแหล่งข้อมูลใหม่ๆ และเริ่มที่จะหยิบยืมวิธีการของนักสังคมวิทยาในการศึกษาโครงสร้างที่ก่อรูปการดำรงอยู่ทางสังคมของผู้คน และวิธีการของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษากลุ่มคนที่ไม่ใช่ชนชั้นนำในสังคม รวมถึงการศึกษาผ่าน “ปากคำ” ของผู้คน (oral sources)

นักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ (หมายถึงสกุลอันนาลส์) เริ่มที่จะเลือกประเด็นศึกษาที่เห็นว่า “น่าศึกษา” ในแบบที่นักประวัติศาสตร์รุ่นก่อนหน้าอาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่ “คิดไม่ถึง” หรือกระทั่ง “พ้นไปจากจินตนาการ” (inconceivable) ใน Montaillou งานชิ้นสำคัญของ Emmanuel Le Roy Ladurie ได้เข้าไปพิจารณาประเด็นอย่าง ภาษากาย (body language) เรื่องเกี่ยวกับวิถีทางเพศ ความรัก และการแต่งงานใน langue d’oc ยุคกลาง ประเด็นเหล่านี้ถือได้ว่าไม่เคยอยู่ในขอบข่ายการศึกษาประวัติศาสตร์ “กระแสหลัก” มาก่อน ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ก่อนหน้านั้น คำถามทำนองนี้ดูจะไม่ค่อยสำคัญนักต่อการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

ในแง่นี้ ประวัติศาสตร์สังคม (social history) ซึ่งนับว่าเติบโตมาจากสกุลอันนาลส์ ประกอบกับกรอบการทำความเข้าใจและคำถามแบบมาร์กซิสต์ แสดงให้เห็นว่า นักประวัติศาสตร์เริ่มที่จะสนใจการเมืองแบบประชานิยม (popular politics) และประเด็นว่าด้วยความชอบธรรม (legitimacy) กระบวนการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์การเมือง (โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปสู่การมองระบบระเบียบ (political order) และความไร้ระเบียบ (disorder) ทางการเมือง ผ่านการเมืองแบบประชานิยม) นับได้ว่าเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่นักประวัติศาสตร์เริ่มหันไปหาประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมลามกอนาจารและหยาบคาย ซึ่งจะเป็นประเด็นที่กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น จะพิจารณาถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ อีกสองกระแสที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างนักประวัติศาสตร์กับประเด็นว่าด้วยความลามกอนาจารและสื่อเชิงสังวาสเสียก่อน

อิทธิพลประการที่สองในวิชาชีพประวัติศาสตร์ที่ส่งผลให้สื่อเชิงสังวาสกลายมาเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการศึกษานั้นก็ได้แก่อิทธิพลจากหนังสือของ Michel Foucault (โดยเฉพาะ Discipline and Punish และ Madness and Civilization) ในปี ค.ศ. 1976 Foucault ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของชุด The History of Sexuality ความสำคัญของงานของ Foucault นั้นก็ยากที่จะประเมินค่าสูงเกินความเป็นจริง (overestimate) งานของ Foucault มีอิทธิพลต่อความสนใจในเรื่อง “ลามกอนาจาร” ที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่นักประวัติศาสตร์ด้วยหลายเหตุผลด้วยกัน อิทธิพลดังกล่าวอาจทำความเข้าใจได้ดีผ่านการพิจารณาข้อวิพากษ์ความคิดแบบเสรีนิยม (Liberalism) และความคิดว่าด้วยแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) ของ Foucault ซึ่งนับได้ว่าเป็นข้อวิพากษ์ที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ของสื่อเชิงสังวาสและความลามกอนาจาร อย่างไรก็ตาม คำถามยังคงอยู่ที่ว่า แล้วอะไรคือองค์ประกอบของข้อวิพากษ์ใหม่นี้ที่มีต่อความเชื่อพื้นฐานของแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก และข้อวิพากษ์นี้เสนอแนะแนวทางการศึกษาใหม่ๆ สำหรับการศึกษาสื่อเชิงสังวาสและลามกอนาจารได้อย่างไร

ต่างไปจากความคิดความเชื่อโดยทั่วๆ ไปของผู้คน Foucault นั้นเห็นว่า การทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับเพศในโลกตะวันตกนั้นไม่ได้เป็นไปด้วย “ความเงียบ” (silence) และการ “กดบังคับ” (repression) ทว่าลักษณะสำคัญของสังคมตะวันตกนั้นอยู่ตรงที่การมีพื้นที่อันโดดเด่นและเฉพาะเจาะจงที่จะพูดในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศอยู่หลายพื้นที่ด้วยกัน ทั้งในการสารภาพบาป ในห้องวินิจฉัยทางการแพทย์ และแพทย์จิตเวชศาสตร์ เมื่อมองข้ามเวลา การเปิดเผยเปิดเปลือยเรื่องราวความเป็นจริงว่าด้วยเรื่องเพศไปอย่างช้าๆ ทีละเล็กละน้อยนั้นก็จัดว่าเป็นสิ่งเดียวกับการเปิดเปลือยความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวตนของผู้คน มากไปกว่านั้น สังคมตะวันตกยังมีการ “พูด” เกี่ยวกับเรื่องเพศภายใต้การจัดการของพื้นที่ทางกายภาพ ตัวอย่างเช่น ในบ้านของชนชั้นกลางวิคตอเรียน การพูดเรื่องเพศนั้นก็เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่นำเด็กออกไปอยู่ไกลจากห้องนอนของพ่อแม่ผู้ปกครอง และสร้างนัยความหมายที่ว่า “อะไรที่เกิดขึ้นนั้น” เป็นความลับอันน่าละอาย

Foucault เสนอว่า ประวัติศาสตร์ของเพศวิถีตั้งแต่ช่วงต้นของยุคสมัยใหม่นั้นคือการนำเอาเรื่องเกี่ยวกับเพศไปอยู่ในรูปแบบของการพูด/ภาษา (speech) ไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมาย ทางการแพทย์ ทางการอบรมบ่มเพาะ เรื่อยไปจนถึงศาสนา พื้นที่ต่างๆ ซึ่งไม่เพียงทำให้เรื่องเพศ/เพศวิถีได้รับการบันทึกไว้ แต่ยังเรียกได้ว่าเป็นการก่อสร้างมันขึ้น (constituted) Foucault ถกแถลงว่าสิ่งที่ “เพศวิถี” อธิบายนั้นไม่ใช่เรื่องของแรงกระตุ้นเร้าที่เป็นธรรมชาติ (natural) หรือเป็นสากล (universal) อันอยู่นอกเหนือวัฒนธรรม แต่ทว่า เป็นการเปลี่ยนให้ไปอยู่ใน “ภาษาของเพศ” (language of sex) หรือที่เรียกว่าเป็นวาทกรรม (discourse) ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเห็นว่า การเปลี่ยนให้เรื่องเพศไปเป็นวาทกรรมนั้นเป็นหนทางสำคัญที่อำนาจกระทำ (operated) ต่อตัวตนของผู้คนในสังคมตะวันตก เขาเสนอด้วยว่า อำนาจนั้นไม่ได้เพียงแต่กระทำผ่านการกดบังคับ แต่มันยังทำงานผ่านการกระตุ้นเร้าให้พูดถึง (incitement to speak) และเพื่อที่จะได้รับความสุขสม (to take pleasure) จากการพูด (ถึงเรื่องเพศ) อีกด้วย ทั้งนี้ Foucault ยังเสนอด้วยว่า “ความรู้” เกี่ยวกับเรื่องเพศ (หรืออีกนัยหนึ่ง การสร้าง “เพศวิถี” ด้วยการถ่ายทอดเรื่องเพศให้ไปอยู่ในภาษา) แท้ที่จริงแล้วนั้นผูกโยงอยู่กับรูปแบบของอำนาจที่ทำให้ผู้คนแฝงฝังเอา (internalized) และผลิตซ้ำ (replicated) อำนาจเข้ากับตัวตนของตนเองด้วยตนเอง

ข้อเสนอเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญต่อความสนใจที่ขยายตัวขึ้นของนักประวัติศาสตร์ต่อสื่อเชิงสังวาสและสื่อลามกอนาจารในฐานะที่เป็นประเด็น/หัวเรื่อง (topics) ของการศึกษาที่จริงจัง กล่าวคือ ในการกลับไปทบทวนข้อสมมติพื้นฐานว่าด้วยปฏิบัติการของอำนาจ Foucault ได้กร่อนทำลายข้อสมมติที่เชื่อว่าอำนาจทำงานแต่ในโลกสาธารณะอย่างรัฐ, รัฐบาล, และสถาบันทางสังคมต่างๆ ในทางกลับกัน เขาเสนอว่าอำนาจนั้นทำงานในระดับย่อยๆ (micro-level) ของความเป็นบุคคล โดยเฉพาะในระดับที่เป็นส่วนตัวมากๆ (intimate) ดังนั้น สมมติฐานแบบเสรีนิยมว่าด้วยอำนาจและแนวคิดที่ว่ามันมีโลก “สาธารณะ” ที่ถูกซึมซ่านโดยอำนาจและโลก “ส่วนตัว” (‘private’ or ‘intimate’) จึงถูกท้าทาย ในแง่นี้ กล่าวได้ว่า Foucault มองเห็นโลกในแบบที่เรื่องที่เป็นส่วนตัวมากๆ กำลังถูกแทรกซึมโดย “จุลกายภาพ” ของอำนาจ (‘microphysics’ of power) มากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวได้ว่า ข้อท้าทายดังกล่าวนี้สำคัญอย่างมากในการทำให้เรื่องเกี่ยวกับเพศวิถีและ “ชีวิตส่วนตัว” กลายมาเป็นประเด็นที่มีคุณค่าทางวิชาการขึ้นมา มากกว่านั้น ข้อท้าทายนี้ยังช่วยเปิดหนทางใหม่ๆ สำหรับนักประวัติศาสตร์ในการเริ่มจะจินตนาการว่า อำนาจในทางสาธารณะ (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อำนาจทางการเมือง) สามารถทำความเข้าใจได้ผ่านความเข้าใจในบางแบบว่าด้วยเพศวิถีและชีวิตส่วนตัว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การจำแนกแบบเสรีนิยมระหว่าง “สาธารณะ” และ “ส่วนตัว” นั้นกำลัง “ผุกร่อน” ลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีงานเขียนจำนวนมากขึ้นๆ ที่เสนอความเชื่อมโยงระหว่างปฏิบัติการของอำนาจต่อการก่อร่างความเป็นตัวตนของผู้คน (constitution of the self)

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในใจกลางสำคัญของ “วาทกรรม” ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับเพศในวัฒนธรรมตะวันตก สื่อเชิงสังวาสและลามกอนาจารจึงเป็นสิ่งที่ผูกพันอยู่กับอำนาจ มากว่าที่จะกล่าวว่าอยู่นอกเหนืออาณาบริเวณของอำนาจ ถ้าหากว่า “เรื่องเกี่ยวกับเพศ” หรือการทำให้เรื่องเพศไปปรากฏในภาษา/คำพูด เป็นสิ่งที่เผยออกมาจากอำนาจ จึงกล่าวได้อีกว่า คงไม่อาจมองว่างานเขียนเชิงสังวาสนั้นเป็นกระบวนการของการ “ก้าวข้ามพรมแดนต้องห้าม” (transgressive) ได้อย่างตรงไปตรงมาได้อีกต่อไป มากไปกว่านั้น ยังเป็นการสร้างความหมายโดยนัยให้สื่อเชิงสังวาสในแง่ของการถกเถียงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวในปฏิบัติการของอำนาจ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและรูปแบบของอำนาจอื่นๆ ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวได้ว่า ข้อถกเถียงอันท้าทายของ Foucault ต่อการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดระหว่าง “สาธารณะ” (อันทรงพลังและเป็นประวัติศาสตร์) กับ “ส่วนตัว” (อันปลอดปราศจากอำนาจและไม่มีประวัติศาสตร์) จึงเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความสนใจในประเด็นใหม่ๆ ของวิชาชีพประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า หลังจากงานของ Foucault แล้ว สื่อ “เชิงสังวาส” และ “ลามกอนาจาร” ก็ไม่อาจถูกมองว่า “ไม่เป็นสาระ” ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในการท้าทายกรอบคิดว่าด้วยอำนาจอย่างถึงรากฐาน (อำนาจคืออะไร? อำนาจทำงานอย่างไร? อำนาจตั้งอยู่ที่ไหน? อำนาจแทรกซึมไปสู่อาณาบริเวณใดบ้าง? เป็นต้น) Foucault ได้เสนอแนวทางและหนทางใหม่ๆ ที่จะศึกษาเรื่องอำนาจ และดังนั้น สื่อเชิงสังวาสและลามกอนาจารก็เป็นพื้นที่ที่สำคัญที่จะไปศึกษา (เรื่องอำนาจ)

อิทธิพลประการที่สามที่ส่งผลต่อการศึกษาสื่อเชิงสังวาสและลามกอนาจารนั้นก็มาจากการที่ทฤษฎีเฟมินิสต์เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ต้องกล่าวว่าทศวรรษ 1970 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ กรอบทฤษฎีว่าด้วย “ประวัติศาสตร์สตรี” (women’s history) นั้นเริ่มขึ้นแต่แรกภายใต้ร่มเงาของสาขาประวัติศาสตร์แรงงาน (labour history) กล่าวคือ นักประวัติศาสตร์สตรีต่างก็เห็นประเด็นที่ว่าสตรีเพศนั้นก็เป็น “แรงงาน” มาตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากนั้น ควรกล่าวด้วยว่า อิทธิพลของกระแสความคิดแบบมาร์กซิสต์ (Marxism) ต่อประวัติศาสตร์แรงงานก็คือการเป็นฐานทางทฤษฎีที่สำคัญในการศึกษาวิเคราะห์อำนาจ นักประวัติศาสตร์สตรี และนักประวัติศาสตร์เพศภาวะ (gender) ในเวลาต่อมา ไม่เพียงแต่พยายามจะอธิบาย แต่ยังต้องการทำความเข้าใจความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้างของผู้หญิงด้วย สำหรับนักวิชาการเฟมินิสต์บางคนแล้ว สื่อเชิงสังวาสนั้นเป็นตัวแทน (agent) ของความไม่เท่าเทียมทางเพศของผู้หญิง โดยเฉพาะในแง่มุมที่เห็นว่าสื่อเชิงสังวาสนั้นนำเสนอจินตภาพของผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศที่ขึ้นต่อการกระทำและความปรารถนาของผู้กระทำการ (ซึ่งมักจะมีแง่มุมที่เกี่ยวพันอยู่กับความรุนแรง) เพศชายในฐานะผู้ดู/ผู้ชม/ผู้รับสื่อ

อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของสื่อสังวาสไม่ได้สิ้นสุดลงตรงนั้น นักวิชาการเฟมินิสต์ก็ให้ความสนใจไปกับความคิดต่างๆ ที่เสนอโดย Foucault โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักประวัติศาสตร์สตรีและเพศภาวะพยายามทำความเข้าใจข้อเสนอที่ว่า อัตลักษณ์ทางสังคมและความเป็นตัวตนของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นภายในวัฒนธรรม กล่าวคือ กฎหมาย การแพทย์ การอบรมบ่มเพาะ และจิตวิทยา ไม่ใช่แค่สร้างคำอธิบายว่าด้วยอัตลักษณ์ทางสังคม ทว่าต่างก็ “สร้าง” อัตลักษณ์ทางสังคมขึ้นมา ภายใต้เงื้อมมือของนักประวัติศาสตร์สตรี ข้อเสนอดังกล่าวจึงกลายมาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญในการทำความเข้าใจเพศภาวะและบทบาททางเพศอย่างเป็นประวัติศาสตร์ (historicizing) กรอบคิดว่าด้วย “ผู้หญิง” จึงไม่ได้ถูกเข้าใจในฐานะที่เป็นกรอบคิดทางชีวภาพ (biological category) ซึ่งไม่มีประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากหลายๆ หนทาง ในหลายๆ ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ และดังนั้นจึงแตกต่างและหลากหลาย ในแง่นี้ กระแสความคิดที่เรียกว่า “หลังโครงสร้างนิยม” จึงช่วยเปิดประเด็นการศึกษาเรื่องเพศภาวะไปสู่การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ และจึงหมายความว่าสื่อโป๊เปลือยเชิงสังวาสและลามกอนาจาร ทั้งที่อยู่ในรูปแบบของ “ข้อเขียน” และในแบบ “ภาพ” ได้กลายมาเป็น “หลักฐาน” ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อการศึกษาประเด็นว่าด้วยเพศภาวะของผู้คนไปในแง่นี้ด้วย[i]

 

โป๊ศาสตร์ พิศวาสความรู้คู่กามรมณ์


[i] ผู้เขียนบทความ (หมายถึง Sarah Leonard) ชี้ว่าตัวอย่างงานชิ้นสำคัญก็เช่น Thomas Laqueur, Making Sex: Body and Gender from the Greeks to Freud (Cambridge: Cambridge University Press, 1990); และ Londa Schiebinger, Nature’s Body: Gender and the Making of Modern Science (Boston: Beacon Press, 1993). เป็นต้น

 

บล็อกของ กลุ่มนักโป๊ศาสตร์

กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะยูอิ อุเอฮาระ โชคชะตาของเอวีหน้าเหมือนดาราดัง
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิกูฉะดะFaleno + โทรุ มุรานิชิ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะหากจะนับว่าหนังเรื่องไหนได้รับการยกให้เป็นหนังอีโรติก หรือพิงค์ฟิล์มเรื่องแรกของญี่ปุ่น คำตอบคือผลงานของ ซาโตรุ โคบายาชิ ในปี 1962 ที่ชื่อว่า 肉体の市場(Nikutai no Ichiba) หรือ Flesh Market ที่อาจตั้งชื่อไทยได้ว่า "ตลาดโลกีย์"
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
 ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ.
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ..
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ(ขึ้นต้นชื่อเรื่องอาจทำให้เข้าใจผิด ปัจจุบันเธอหายแล้วนะครับ).