Skip to main content

ประวัติย่อว่าด้วยการศึกษา “ประวัติศาสตร์สื่อโป๊” ในโลกวิชาการสากล (2): ยุคแรกเริ่ม

เรียบเรียงจาก Sarah Leonard. 2006. “pornography and obscenity.” In Palgrave Advances in the Modern History of Sexuality, edited by Matt Houlbrook and Harry Cocks, 180-205. London: Palgrave Macmillan.

แปลและเรียบเรียงโดย orgasmography

ประวัติศาสตร์นิพนธ์และนักประวัติศาสตร์สื่อโป๊ยุคแรกเริ่ม (early histories and historians)

นักวิชาการค่อนข้างเห็นตรงกันว่ากรอบคิดสมัยใหม่ว่าด้วย “สื่อโป๊” หรือ “สื่อเชิงสังวาส” นั้นเผยตัวขึ้นในสังคมยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า นักประวัติศาสตร์ Walter Kendrick เสนอว่า สิ่งแสดงถึงความลามกอนาจาร (obscenity) นั้นมีมาตั้งแต่การเกิดขึ้นของภาษาและระบบคุณค่าที่เป็นส่วนรวมของมนุษย์แล้ว (กล่าวคือ ตั้งแต่สังคมมนุษย์เริ่มก่อตัวขึ้น) ในขณะที่ กรอบคิดว่าด้วยสื่อโป๊ (pornography) นั้นก่อตัวขึ้นมาภายใต้กระบวนการวิวาทะระหว่างสำนักพิมพ์ นักเขียน บรรณารักษ์ ครูบาอาจารย์ ตำรวจ และ ศาล ในประเด็นเรื่องผลกระทบของงานเขียน สิ่งตีพิมพ์ หรือรูปภาพบางแบบ ที่จะมีต่อผู้คน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมสาธารณะ

Kendrick กล่าวว่า ตั้งแต่แรกเริ่มของการปรากฏขึ้น คำ/กรอบคิดว่าด้วย “สื่อโป๊” กลายมาเป็นจุดปะทะ (ทางความหมาย) เป็นพื้นที่ซึ่งการยืนยันความหมายไม่สามารถเป็นไปได้โดยไม่เสนอความหมายของอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกปฏิเสธไปพร้อมๆ กัน[i] ทั้งนี้ เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของการโต้แย้งที่ว่าประกอบไปด้วย กระบวนการขยายตัวของ/การกลายเป็นเมือง (urbanization), การเพิ่มขึ้นของอัตราการรู้หนังสือ, นวัตกรรมของการตีพิมพ์ ตลอดจน การขยายตัวของสถาบันสาธารณะ อย่างห้องสมุดและพิพิธภัณฑสถาน ที่ทำให้สิ่งพิมพ์ทั้งที่เป็นข้อเขียนและเป็นภาพเปิดไปสู่กลุ่มผู้อ่านและผู้ดูที่กำลังขยายตัวขึ้น

ในทำนองเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ Lynda Nead เสนอในหนังสือ Victorian Babylon ไว้ว่า ความหมายแบบสมัยใหม่ของ “สิ่งลามกอนาจาร” ต้องได้รับการพิจารณาภายใต้บริบทการก่อตัวขึ้นของวัฒนธรรมมวลชน (popular culture) ที่มีรากฐานมาจากภูมิทัศน์เมืองแบบอุตสาหกรรมในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า Nead ยังกล่าวด้วยว่า “สื่อลามกอนาจารถือเป็นสิ่งแสดงทางวัฒนธรรมที่โจ่งแจ้งและอันตรายที่สุดที่เกิดขึ้นในเมืองสมัยใหม่”[ii] สำหรับพื้นที่แบบเมืองแล้ว วรรณกรรมแผ่นราคาถูก (ที่นำไปแปะบนกำแพงตามถนน) (street literature) หรือที่เรียกกันว่า “Boulevard Press” ทำหน้าที่สองประการควบคู่กันไป ในด้านหนึ่ง เป็นสิ่งแสดงให้เห็นอันตรายแบบใหม่ๆ ของเมือง อันเป็นการเปิดเผยพื้นที่ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคนิรนาม (anonymous consumers) สามารถพบเจอกับข้อเขียนและภาพที่ (มีแนวโน้มจะ) เป็นสิ่งลามก พร้อมกันนั้น การปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องของ “Boulevard Press” ดูจะเป็นการบ่อนเซาะคำกล่าวยืนยันของภาวะสมัยใหม่ทำนองที่ว่าเมืองเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า นัยความหมายของสิ่งลามกอนาจารในยุคสมัยใหม่นั้นเกี่ยวพันอยู่กับการรู้หนังสือของมวลชน, การเป็นภาวะนิรนามของพื้นที่เมือง, และ สื่อสารมวลชน/สำนักพิมพ์สำหรับมวลชนซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์แรกๆ ของสื่อโป๊จะเริ่มมีการผลิตกันในคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้า อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคแรกนี้ก็ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาด้วยน้ำมือของนักประวัติศาสตร์อาชีพ แต่ทว่ามาจากเหล่านักบรรณานุกรม (bibliographers), บรรณารักษ์, และนักสะสมหนังสือ กล่าวคือ ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปดต่อต้นศตวรรษที่สิบเก้า ช่วงเวลาอันยาวนานก่อนที่จะกลายมาเป็นเอกสารหลักฐานที่นักประวัติศาสตร์เห็นว่าควรค่าแก่การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ขณะที่สำหรับนักสะสมและคนรัก-เล่นหนังสือ (bibliophiles) ความสนอกสนใจได้รับการกระตุ้นภายใต้ความท้าทายที่จะบันทึกหรือเขียนถึงงานที่มีลักษณะลามกอนาจาร ในแง่หนึ่ง ความสนใจต่องานเหล่านี้ก่อขึ้นมาเมื่อ สำนักพิมพ์หลายๆ แห่งที่พิมพ์งานที่ผิดกฎหมายเหล่านี้มักจะปิดบังต้นตอหรือที่มาที่ไปที่แท้จริง สำนักพิมพ์มีทั้งการพิมพ์ที่อยู่ที่ไม่ใช่ที่อยู่จริงๆ ของสำนักพิมพ์เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจสามารถเข้ามาก้าวก่ายได้ ผู้ประพันธ์ก็มักจะใช้นามปากกาหรือนามแฝง ขณะที่ ผู้ขายหนังสือมักจะปลอมแปลงหรือปกปิดสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของตัวเองอยู่บ่อยๆ

ความท้าทายของกระบวนการสร้างความเข้าใจใหม่ในทางประวัติศาสตร์ (historical reconstruction) เร้าความสนใจผู้ซึ่งหลงใหลประวัติศาสตร์ลักษณะเชิงกายภาพของการผลิตหนังสือและงานเชิงสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ การที่ประเด็นว่าด้วยสภาวะทางวัตถุเป็นเรื่องสำคัญมากก็เพราะส่วนใหญ่แล้วมันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และต้นตอหรือที่มาที่ไปของมันก็ไม่เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ทำให้วรรณกรรมบางแบบกลายมาเป็นของที่ถือว่า “อันตราย” นั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะสามารถกระทำกัน “ข้างเดียว” ได้ กล่าวคือ สำหรับผู้ประพันธ์, สำนักพิมพ์, และคนขายหนังสือเองก็ต่างสมคบคิดกันในกระบวนการนี้ แน่นอนว่ามีคนจำนวนไม่น้อยทำกำไรได้จากกระบวนการที่เกี่ยวพันกับการสอบสวนและข้อห้ามเหล่านี้

ความพยายามแรกๆ อันหนึ่งที่จะเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ของสื่อลามกอนาจารคืองานของ Steven Marcus ซึ่งมุ่งศึกษางานของนักเล่นหนังสือคนสำคัญในศตวรรษที่สิบเก้า Henry Spencer Ashbee ผู้ซึ่งตีพิมพ์งานในนามปากกา Pisanus Fraxi ในงานของ Ashbee เขาได้สืบเสาะร่องรอยประวัติศาสตร์การพิมพ์ของวรรณกรรมผิดกฎหมายและวรรณกรรม “แปลกๆ” ที่น่าสนใจ อาจกล่าวได้ว่า นักสะสมเหล่านี้เป็นบุคคลสำคัญก็เนื่องมาจากความพยายามที่จะบันทึก, จัดทำรายการ, สะสม, และเก็บรวบรวม สิ่งตีพิมพ์เหล่านี้เอาไว้ให้ได้ศึกษากันในเวลาต่อมา ทั้งยังรวมถึงการพยายามสร้างนิยามความหมายของ “สื่อโป๊” ในฐานะที่เป็นประเภทงานเขียน/สิ่งตีพิมพ์ประเภทหนึ่งแยกต่างหากออกมาจากงานชนิดอื่น 

สำหรับเหล่านักสะสมหนังสือแล้วคำถามสำคัญในการศึกษานั้นเป็นเรื่องของราคา, ความหายาก, ตลอดจนสภาพทางวัตถุ กระนั้น ความสำคัญที่มีของงานของเหล่านี้ก็คือการเก็บรวบรวม โดยที่งานจำนวนมากในยุคแรกๆ ไม่ว่าจะในแง่ของกรอบทางกฎหมาย, กรณีพิพาท, และรายละเอียดของการตีพิมพ์ เป็นงานที่ทำขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์, นักบรรณานุกรม, ตลอดจนนักสะสมหรือคนเล่นหนังสือ ผู้ที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือเหล่านักสะสมหนังสือคนสำคัญในช่วงศตวรรษที่สิบเก้า ผู้คนซึ่งเขียนเกี่ยวกับวรรณกรรมเชิงเร้าอารมณ์หรือวรรณกรรมอีโรติค (erotic literature) ไม่ว่าจะเป็น Gustave Brunet (1807–1896) ผู้เป็นทั้งนักสะสมและนักประวัติศาสตร์; P.L. Jacob (1807–1896) ผู้ซึ่งเขียนภายใต้นามปากกา Paul Lecroix และ Piere Dufour; Frédéric Lachèvre (1855–1945); และ Louis Perceau (1883–1942) เป็นต้น ในขณะที่นักสะสมหรือคนเล่นหนังสือจำนวนไม่น้อย อย่างเช่น Hugo Hayn (1843–1923) มุ่งความสนใจไปที่สภาพเชิงกายภาพของหนังสือและราคาตลาดของหนังสือ ยังพบว่ามีนักสะสมจำนวนไม่น้อยที่มุ่งเน้นความสนใจไปยังเนื้อหาและความคิดที่ปรากฏในข้อเขียน นักสะสมคนสำคัญในแง่นี้ก็คือ องคมนตรีบาวาเรียอย่าง Franz von Krenner ดังที่พบว่าหนังสือที่เขาสะสมนั้นมีประเด็นใจกลางร่วมกันที่เรื่อง “ความรัก” ไม่ว่ามันจะเป็นข้อถกเถียงที่ปรากฏอยู่ในงานปริญญานิพนธ์, งานเขียนทางการแพทย์, หรือตำรากฎหมาย นอกเหนือไปจากงานเขียนแนวโป๊เปลือยหรือเชิงสังวาส

กล่าวได้ว่า กระบวนการทำนองเดียวกันเกิดขึ้นประวัติศาสตร์ยุคแรกของภาพยนตร์โป๊ด้วย ดังเช่นภาพยนตร์ประเภทที่เรียกว่า “stag films” ซึ่งเดิมทีการสะสมอาจเป็นไปเพื่อการสะสมตัววัตถุในตัวเอง ทว่าในท้ายที่สุดกลับกลายมาเป็นคอลเลคชั่นที่สำคัญอย่างประเมินค่าไม่ได้สำหรับนักวิชาการในเวลาต่อมา ดังเช่นคอลเลคชั่นของสถาบัน Kinsey  เป็นต้น[iii]

นับเป็นเวลานานก่อนที่นักวิชาการจะเห็นคุณค่าของงานแนวโป๊เปลือยหรือเร้าอารมณ์เชิงสังวาส หรือแม้กระทั่งจะนับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่ทว่าสำหรับ นักบรรณานุกรม, นักสะสม, รวมไปถึงบรรณารักษ์จำนวนไม่น้อยแล้วถือว่าเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ประเด็นใจกลางสำคัญของงานยุคแรกๆ อยู่ตรงที่ลักษณะเชิงวัตถุ (materiality) ที่ตัวบทหรือข้อเขียนเหล่านี้ปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะหรือคุณภาพเชิงกายภาพของหนังสือ, แผ่นพับ, ภาพยนตร์, และภาพนิ่ง คำถามของนักวิชาการยุคแรกเริ่มนั้นมุ่งความสนใจในประเด็นทั้งเกี่ยวกับกระบวนการผลิต เช่น ผลิตที่ไหนและโดยใคร, ทั้งว่าด้วยสถานที่สำหรับการขายหรือการจัดแสดง, ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกี่ยวพันกับการสร้างสรรค์วัตถุทางวัฒนธรรมประเภทนี้

ในอีกกระแสหนึ่ง ความสนใจในสื่อโป๊เปลือยปรากฏขึ้นในช่วงสองทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบภายใต้พัฒนาการของสาขาวิชาเพศศาสตร์ (sexology) ดังสามารถพบได้จากงานเขียนของ Krafft-Ebing และ Magnus Hirschfeld เป็นต้น สำหรับนักเพศศาสตร์เยอรมันอย่าง Iwan Bloch และ Paul Englisch นั้นก็มีการศึกษาวรรณกรรมที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับเพศ/การร่วมเพศอย่างเปิดเผยในฐานะที่จะช่วยให้เข้าใจวิวัฒนาการของพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ ช่วงทศวรรษ 1920s และ '30s Englisch ตีพิมพ์งานศึกษาประวัติศาสตร์ของงานเขียนเร้าอารมณ์ทางเพศ ซึ่งนับว่างานชิ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นความรอบรู้ในเรื่องนี้ของเขาด้วย นอกจากนี้ Englisch ยังมุ่งสนใจไปยังประวัติศาสตร์ของสื่อโป๊เปลือยด้วย แต่กระนั้นก็ยังเป็นการศึกษาโดยที่แยกขาดออกจากบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกแวดล้อม งานศึกษาของ Englisch มุ่งความสนใจประวัติศาสตร์ทางวัตถุสภาพของหนังสือและสิ่งตีพิมพ์เกี่ยวเนื่อง ทั้งในประเด็นว่าด้วยการพิมพ์ชื่อและที่อยู่ของสำนักพิมพ์, การคาดเดาเกี่ยวกับนามปากกาในการประพันธ์, รวมไปถึงเรื่องเส้นทางการขนส่ง ทั้งนี้ ในขณะที่ Englisch คาดหมายว่าการศึกษาสิ่งพิมพ์เชิงโป๊เปลือยอย่างเป็นจริงเป็นจังจะช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ของพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง การทำความเข้าใจลักษณะเชิงวัตถุของเขาอยู่ภายใต้ความคาดหมายที่จะค้นพบประวัติศาสตร์ของขนบธรรมเนียมและศีลธรรม (Sittengeschichten) ที่ไม่เคยได้รับการบอกเล่ามาก่อน ประวัติศาสตร์อันมีฐานะเป็นแก่นแกนหลักที่ครอบงำในแต่ละยุคสมัย

อาจกล่าวได้ว่า แรงกระตุ้นที่จะทำความเข้าใจงานที่ถือกันว่าลามกอนาจารในฐานะที่จะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับเพศของมนุษย์จึงเป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์/ที่มีประวัติศาสตร์ในตัวเอง ความพยายามลงแรงทุ่มเทศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องราวเกี่ยวกับเพศของมนุษย์โดยนักเพศศาสตร์ริเริ่มขึ้นในช่วง 1920s และ '30s ช่วงเวลาสำคัญที่สังคมยุโรปตะวันตกกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศ บางทีมันคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่สาขาวิชา “เพศศาสตร์” รวมถึงวิชาชีพใหม่ๆ ที่ก่อขึ้นมาจากศาสตร์ว่าด้วยเพศนี้ ก่อตัวขึ้นในยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สถานการณ์ซึ่งส่งผลให้ผู้ชายกว่าสิบล้านคนเสียชีวิตขณะที่อีกหลายล้านคนกลับบ้านในฐานะผู้ทุพพลภาพ, ผู้หญิงมีบทบาทหน้าที่ทางสังคมใหม่ๆ มากขึ้น, อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น, ขณะเดียวกันกับที่ผู้คนก็แต่งงานกันน้อยลง ฯลฯ สถานการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องเกี่ยวกับเพศเป็นเรื่องไม่แน่นอนและมีความเป็นประวัติศาสตร์ได้เปิดไปสู่การปรากฏขึ้นของ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในเรื่องเพศกลุ่มใหม่นี้

อนึ่ง ข้อควรพิจารณาในที่นี้ก็คือประวัติศาสตร์อันหลากหลายว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับเพศของมนุษย์ไม่ได้ก่อขึ้นมาจากความคิดจากความเชี่ยวชาญเฉพาะใหม่เท่านั้น แต่ทว่ายังรวมไปถึงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ร่วมของผู้คนภายใต้สภาวะความเป็นจริงทางสังคมแบบใหม่ๆ ด้วย

 

โป๊ศาสตร์ พิศวาสความรู้คู่กามรมณ์

 



[i] Walter Kendrick. 1987. The Secret Museum: Pornography in Modern Culture. New York: Viking Press, p. 31.

[ii] Lynda Nead. 2000. Victorian Babylon: People, Streets and Images in Nineteenth-Century London. New Haven: Yale University Press, p. 149.

[iii] Al Di Lauro and Gerald Rabkin. 1976. Dirty Movies: An Illustrated History of the Stag Film. New York: Chelsea House.

 

บล็อกของ กลุ่มนักโป๊ศาสตร์

กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
 โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
เอวีรีวิวหนังเอวีแนวเพื่อนรักเพื่อน
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
 โดย : ฮิโตมิโตกูฉะดะ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
โดย : ฮิโตมิโ
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
ในขณะที่เรากำลังพยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโป๊ศาสตร์ ก็อยากให้ blog นี้เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้ในศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะ อาชญาวิทยา (criminology) ด้วย จึงขอนำบทความเรื่อง "อาชญากรรมในที่ทำงาน" ของ กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ มาเผยแพร่ด้วย และต่อจากนี้ blog นี้จะมีทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับโป๊ศาสตร์ และอาชญาวิทย
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
ได้มีโอกาสมาฮ่องกง เดินผ่าน "ร้านผู้ใหญ่" เลยแวะสำรวจหน่อยนึง ทั้งนี้เพื่อการศึกษาล้วนๆ for academic purpose
กลุ่มนักโป๊ศาสตร์
ญี่ปุ่นถือเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลกด้านการผลิตสื่อโป๊ จนถือได้ว่าได้สร้างหนังโป๊ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นเรียกว่า “หนัง AV” ขึ้นมาทาบรัศมีของสื่อโป๊ที่ผลิตโดยประเทศตะวันตกที่เรียกว่า “porn” (อาจเปรียบเทียบได้กับในวงการการ์ตูนที่ถ้าบอกว่า manga คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่น ในขณะที่ comics