Skip to main content
"ป้าไฟไหม้ ไฟไหม้ " หลานสาวส่งเสียงอยู่หน้าบ้าน

"ไฟไหม้ที่ไหน" ฉันถาม เดี๋ยวนี้อาการตื่นกลัวเรื่องไฟไหม้ป่าหลังบ้านลดลงไปแล้ว หากเป็นเมื่อสองปีก่อน ฉันจะกลัวมาก กลัวจนตัวสั่นและรีบโทรศัพท์ไปแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายทันที และบางครั้งก็ลงมือดับไฟเองก่อนที่รถดับเพลิงจะมา พร้อมกับบ่นด่าคนที่ทำไฟไหม้ คนที่มาเก็บของกินในสวนร้างแต่ไม่เคยสนใจหน้าแล้งยามที่ไม่ค่อยมีอะไรเก็บกิน และเจ้าของสวนที่ทิ้งสวนตัวเองไว้แล้วไม่มาดูแล  รวมถึงดับเพลิงที่มาช้าไม่ทันใจ

ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ปรับตัวง่ายนะเป็นจริง โดยดูได้จากตัวเอง

คืนนี้ฉันเดินออกไปดูไฟไหม้ได้อย่างปกติเหมือนคนอื่น ๆ หย่อมไฟเล็ก ๆ สองกอง อยู่ในสวนร้างห่างออกไปจากบ้านสักสองร้อยเมตร ดูเหมือนไฟจะลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ เป็นกองใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น ฉันคิดว่ามันคงจะดับเองไม่ได้เพราะที่ตรงนั้นแห้งมาก เป็นดงไม้ไผ่ เสียงไม้ไผ่แตกกดดันนัก  นอกจากหย่อมบ้านที่เราอยู่กันสามสี่หลังแล้ว ห่างออกไปจากกองไฟอีกด้านมีหย่อมบ้านอีกหย่อมหนึ่ง

ยืนมองไฟอยู่ครู่หนึ่ง ฉันจึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปยังหมายเลข 191 เองโดยเลิกรอคนอื่น
"ขอแจ้งข่าวไฟไหม้ค่ะ" ฉันพูดอย่างธรรมดา
"ไหม้อะไรครับ" เสียงถามธรรมดาเหมือนกัน
"ไหม้ป่าค่ะ"
"ที่ไหนครับ"
"หลังโรงเรียนค่ะ" เขาทวนคำหลังโรงเรียนแล้วถามต่อว่าโรงเรียนอะไร ที่ไหน เมื่อฉันบอกสถานที่เขาก็ตอบว่า ครับ ครับ

ฉันยืนดูไฟไหม้และรอรถดับเพลิงอยู่กับหลานสาววัยหกขวบ นานสิบนาที และฉันก็เริ่มกลัวว่า อาจมีลมพัดแรงทำให้ไฟลุกโหมได้ เพราะช่วงนี้กรมอุตุฯประกาศเรื่องระวังพายุฤดูร้อนในภาคเหนือตอนบนด้วย 
"ถ้าป้าทำเสียงตื่นเต้นกว่านี้สักนิด เขาก็คงรีบมาเร็ว ๆ" ฉันพูดกับหลานสาว
"นั่นนะสิ มาช้า เดี๋ยวไฟก็ไหม้หมด" หลานสาวว่า

เมื่อสองปีก่อนไฟไหม้ป่าที่สวนร้างแห่งนี้นับสิบครั้ง ตอนนั้นหลานสาวอายุสี่ขวบ ทันทีที่ไฟไหม้ป่าเธอจะต้องรีบเอาเสื้อกันหนาวมาสวม เธอกลัวจนหนาวสั่นนั่นเอง แต่ปีนี้เธอยืนดูไฟกับฉันได้อย่างที่ไม่ต้องวิ่งหาเสื้อกันหนาว แสดงว่าเธอปรับตัวได้ดีเหมือนกัน

"ป้ามอเตอร์ไชค์มาแล้ว"
"หรือพวกเขาคงจะมาดูก่อนว่าไฟไหม้ไปแค่ไหนแล้ว เรื่องไฟไหม้ป่าพวกเขาคงจะได้รับแจ้งอยู่เรื่อย ๆ จนเลิกตื่นเต้นแล้วเหมือนกัน"
มอเตอร์ไชค์หยุดดู และผ่านเลยไป  อาจจะไม่ใช่ไม่เกี่ยวกับดับเพลิง

เคยพูดคุยกับเพื่อนบ้านเรื่องไฟไหม้ป่า และเคยได้ยินชาวบ้านเขาพูดว่าปล่อยให้ไหม้ไป ให้ไหม้ให้หมดจะได้ไม่ต้องไหม้อีก เพราะถ้าไม่ไหม้ตอนนี้ก็ต้องไหม้สักวันอยู่ดี ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องไฟก็ต่างกันออกไป

ไฟไหม้ป่าแถบนี้ทุกปี ในบริเวณสวนร้างสี่ห้าไร่ ฉันคิดว่าความคิดหลักที่เหมือนกันคือ อย่าให้ไฟไหม้บ้านเป็นใช้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าไฟไหม้อยู่ใกล้บ้านไหนมากที่สุดบ้านนั้นก็จัดการไป จะไปดับไฟเองหรือแจ้งดับเพลิงก็ตามใจ   ส่วนปัญหาหมอกควันที่ได้รับกันทั่วถึงเป็นเรื่องหลัง  เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งจะวิกฤติเมื่อสองสามปีนี้เอง และปัญหาหมอกควันก็ไม่ได้ทำให้ใครตายในทันทีทันใดด้วยแค่ตายแบบผ่อนส่งไม่ค่อยรู้ตัวยังถือว่าห่างไกล

ไฟป่าไม่ได้เกิดขึ้นเอง ฉันรู้สึกว่า ตัวเองถูกหลอกมานาน สมัยเรียนเด็ก ๆ รุ่นฉันจะท่องว่า ไฟป่าเกิดขึ้นจากการเสียดสีของไม้ทำให้ลุกเป็นไฟ ต่อมาก็ถูกบอกว่า ไฟคุขึ้นจากใต้ดิน มาภายหลังได้รับคำยืนยันว่า ไม่จริงส่วนใหญ่เกิดจากคน ไฟป่าเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากไม้เสียดสีเพียงไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์เกิดจากคนทำแน่นอน ทั้งตั้งใจจุดไฟเผา และโดยประมาท

และต่อมาก็ถูกทำให้รู้อีกว่า เกิดจากชาวบ้าน ชาวเขาเผาป่าทำให้เกิดไฟไหม้และเป็นหมอกควันไปทั่ว นานทีเดียวกว่าจะรู้ว่า ไฟไหม้เกิดจากใครก็ได้  เช่นครั้งหนึ่งเพื่อนครูที่เพชรบูรณ์ เขียนจดหมายมาเล่าว่า เขาทำไฟไหม้ไปนับสิบไร่ เหตุเพราะเขาชวนเด็ก ๆ ทำความสะอาดโรงเรียนและกวาดขยะใบไม้เอาไปเผา ลมพัดแรงเพียงไม่นานมันก็ลุกลามไปใหญ่โต เขาถูกสอบ และถูกปรับ หลังจากนั้นก็ต้องย้ายออกจากพื้นที่ ตอนนั้นฉันหัวเราะขำเพราะก่อนทำไฟไหม้เขาได้รับรางวัลเป็นครูดีเด่นสาขาอะไรสักอย่างเป็นเกียรติเป็นศรีแก่เพื่อนฝูงมาก แต่การที่เขาทำไฟไหม้ป่าครั้งนั้นทำให้ฉันเลิกบ่นด่าว่าชาวบ้านชาวเขาว่าเป็นผู้เผาป่าทำไฟไหม้ป่า เพราะตระหนักว่าคนอื่นก็ทำให้ไฟไหม้ป่าได้ เช่นเพื่อนครูก็ทำได้  นักเดินทางนักท่องเที่ยวก็ทำได้

เดือนที่ผ่านมาไฟไหม้ดอยหลวงเชียงดาวครั้งใหญ่ คนที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เพียงห้านาทีไฟก็ลุกไปถึงยอดดอยแล้ว และต่อมามีนักพัฒนาในพื้นที่คนหนึ่งเดินขึ้นไปดูร่องรอยไฟไหม้ เขากลับลงมาบอกว่า ต้นเพลิงน่าจะมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวนักเดินทางหุงหาอาหารกินเพราะเขาพบว่ามีร่องรอยมีเตาไฟด้วย หากเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นความประมาทโดยแท้ เพราะในช่วงที่ร้อนแล้งขนาดนั้นพวกเขาไม่ควรก่อไฟบนดอย เพราะมีกฎห้ามอยู่แล้วว่าห้ามก่อไฟ นักท่องเที่ยวนักเดินทางก็ควรจะรู้หรือบอกว่าไม่รู้ไม่ได้เลย และที่สำคัญพวกที่เอาเตาไฟขึ้นไปก็ต้องเป็นพวกผู้นำทาง ลูกหาบเพราะนักเดินทางนักท่องเที่ยวจะไม่แบกขึ้นไปดังนั้นที่บอกว่าผู้นำทางเชี่ยวชาญมีความรับผิดชอบและลูกหาบผ่านการอบรมมาอย่างดีก็ต้องคิดใหม่แล้วว่าจริงหรือไม่



ภาพดอยหลวงหลังไฟไหม้
จาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=rosymirror&month=03-2009&date=27&group=1&gblog=8

ฉันเคยเดินทางสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาวในช่วงแล้ง แต่ไม่แล้งมากเหมือนปีนี้ ตอนนั้นเรามีแก๊สเล็ก ๆ ขนาดกระเป๋าหิ้วไปด้วย แต่พวกลูกหาบและผู้นำทางก็ยังก่อไฟหุงหาอาหารให้เรากินกัน ซึ่งโชคดีที่ไม่มีไฟไหม้ป่าในช่วงนั้นจากการจุดไฟครั้งนั้น ไม่เช่นนั้นจะรู้สึกผิดบาปและฝันร้ายไปจนตายทีเดียว แต่ที่คิดขึ้นมาแล้วน่าตกใจก็คือ ตัวเองเดินทางไปโดยไม่มีความรู้เรื่องใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่รู้วิธีการจัดการกับไฟเลยแม้แต่นิดเดียว และ เรามอบความไว้วางใจให้กับผู้นำทางและลูกหาบ ดังนั้นเราจึงไม่ห้ามเขาเมื่อเขาจุดไฟ และไม่ได้ดูด้วยว่าพวกเขาดับไฟสนิทหรือไม่  แต่ก็โชคดีอีกที่เราได้ผู้นำทางที่ดี นั่นเป็นการเดินทางในหน้าร้อนครั้งแรกและถือว่าทำผิดกฎระเบียบแม้ไม่ทำเองก็ปล่อยให้ผู้ร่วมทางทำผิดเพราะยอมให้มีการก่อไฟทั้งที่เป็นช่วงแล้วและแห้งมาก อีกทั้งเราก็ไม่ควรเดินทางไปในหน้าแล้งด้วย

ฉันใช้คำว่า โชคดี แน่นอนเมื่อมีคำว่า โชคดี ก็ต้องมีคำว่า โชคร้าย ซึ่งเราไม่น่าจะอยู่กับคำว่าโชคดีหรือโชคร้าย แต่ในความเป็นจริงชีวิตเราอยู่กับสองคำนี้มาโดยตลอด เมื่อรอดเราก็จะรู้สึกว่าโชคดี เมื่อไม่รอดก็จะเป็นโชคร้าย เช่นเมื่อสองวันก่อน เพื่อนเช่ารถขึ้นดอยรถไปเสียระหว่างทาง  เราบอกกันว่า โชคดีที่ไม่เสียบนดอยไม่เช่นนั้นรถตกดอยตายแน่ แต่ความจริงก็คือเราไม่ได้ดูสภาพรถให้ดีก่อนใช้และเป็นเช่นนี้มาหลายครั้ง และเราเอาโชคดีมาเป็นที่ตั้ง

ฉันกลับมานั่งคิดและเขียนเล่น ๆ หลังจากที่รถดับเพลิงมาดับไฟไหม้ป่าในสวนร้างหลังบ้านแล้ว และเหลือทิ้งไว้แต่กลิ่นไหม้ ตอนนี้ฤดูแล้งยังไม่หมดไฟยังไหม้ต่อไป และฉันก็ต้องคิดว่าจะโชคดีต่อไป 

 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
มีคำกล่าวว่า "อาหารอายุสั้น คนกินอายุยืน อาหารอายุยืน คนกินอายุสั้น" แรกที่ฟังก็รู้สึกรำคาญคนพูดนิด ๆ เพราะเรากำลังกินอาหารอายุยืนแต่เราไม่อยากอายุสั้น สงสัยใช่ไหมคะว่าอาหารแบบไหนที่อายุยืน อาหารที่ปรุงแต่งมาเรียบร้อยแล้ว แช่ตู้ไว้ได้นานๆ นั่นคืออาหารอายุยืน กินกันได้นานๆ แช่ไว้ในตู้เย็น อาหารพวกนี้คนกินอายุสั้น แต่อาหารอายุสั้นก็พวกเห็ด ผักบุ้ง พวกเหล่านี้เป็นอาหารอายุสั้นอยู่ได้ไม่นาน แต่คนกินอายุยืน แต่เดี๋ยวนี้มีมะเขือเทศอายุยืนด้วยนะคะ เป็นพวกตัดต่อพันธุกรรมแบบให้ผิวแข็งไม่บอบช้ำในระหว่างขนส่ง
แพร จารุ
  1   เป็นนักเขียนมีความสุขไหม   วันหนึ่งฉันต้องตอบคำถามนี้ “เป็นนักเขียนมีความสุขไหม” ผู้ที่ถามคำถามนี้เป็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ชั้นประถมปีที่ 5 ฉันรู้สึกดีใจที่มีเด็กถามเรื่องความสุขมากกว่าเรื่องรายได้
แพร จารุ
ฉันห่างกรุงเทพฯ มานานจริงๆ นานจนไปไหนไม่ถูก ก่อนฟ้าสางรถทัวร์จอดตรงหัวมุมถนน ฉันเดินตรงเข้าไปทางถนนข้าวสารตามพื้นถนนแฉะ หาที่นั่งรอหลานมารับแต่ก็หาไม่ได้ พื้นแฉะ ๆ ผู้คนกำลังล้างพื้นกันอยู่ จึงตัดสินใจ เดินออกจากถนนข้าวสารมุ่งตรงไปทางกองฉลากกินแบ่งรัฐบาล มีคนจรนอนห่มผ้าเก่า ๆ อยู่มากมาย ตามทางเดิน  
แพร จารุ
มีเพื่อนอย่างน้อยสองคนตกหล่นไปจากชีวิต ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราเขียนจดหมายคุยกันอยู่เสมอ ๆ ต่อมาฉันเลิกตอบจดหมายเพื่อนทั้งสองคน 
แพร จารุ
2 กันยายน 2552 นั่งกินมะขามหวานเพลิน ๆ มะขามก็เปรี้ยวขมขึ้นมาทันที เพื่อนโทรมาบอกว่า เธอไปที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ยินเสียงตามสายที่ รพ.ขอบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กชาวเขาที่แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล “แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล แสดงว่าเธอตายระหว่างคลอด” เพื่อนตอบว่าใช่ “เด็กยังอยู่รอดปลอดภัย” “ใช่”    
แพร จารุ
"อะไรเอ่ยมันโผล่ขึ้นมาจากดิน" คำถามเล่น ๆ ของเด็ก ๆ สมัยก่อนเราจะตอบว่า ขอม เพราะเคยเรียนเรื่องพระร่วง  ตอนขอมดำดิน แต่ เดี๋ยวนี้ถ้าไปตอบว่า "ขอม" เด็กไม่เข้าใจ
แพร จารุ
1 วันก่อนไปท่ากาน (ท่ากานเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ในอำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ ) พบเด็ก หญิงสองคน เอาก้านกล้วยมาแกว่งไปมากระโดดเล่นกัน ดูน่ารักดี เป็นการเล่นแบบหาของใกล้ตัวมาเล่นกัน
แพร จารุ
10 กันยายน 2552 น้องคนหนึ่งโทรศัพท์มาบอกว่า “มีเรื่องตลกเศร้ามาเล่าให้ฟัง” ฉันหัวเราะ ไม่อยากฟังเธอเล่าอะไรเลยเพราะกำลังเจ็บหูอย่างแรง กำลังจะไปหาหมอ แต่เธอรีบบอกก่อนว่า “พี่ยังไม่รู้ใช่ไหม ลุงหมื่นแกฝายพญาคำ กับพ่อหลวงสมบูรณ์ ผู้ช่วยแกฝาย เขาเซ็นยินยอมให้กรมชลประทานสร้างประตูระบายน้ำแล้ว”
แพร จารุ
   บก.สุชาติ สวัสดิ์ศรี เทียบเชิญฉันเขียนเรื่องสั้น ช่อการะเกด ฉบับเทียบเชิญนักเขียนเก่าที่เคยเขียนช่อการะเกด
แพร จารุ
เธอนิ่งเงียบหลังจากกินอาหารเสร็จ "เศร้าทำไม" ฉันถามเธอ "กำลังดูกระถางต้นไม้อยู่" เธอตอบไม่ตรงกับคำถาม ฉันมองไปที่กระถางต้นไม้ มีอะไรตายอยู่ในนั้นที่ทำให้เธอเศร้า หรือว่าเศร้าที่ต้องมากินอาหารใต้ที่เมืองเหนือทั้งที่เธอเพิ่งเดินทางมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แพร จารุ
 ผู้ชายคนหนึ่ง เลี้ยงปลวกเพื่อเอาปลวกไปเลี้ยงปลาดุก เขาบอกว่า เขาเฝ้ามองปลวกตัวอ้วน ๆ ที่ค่อยเติบโตขึ้น และเอาปลวกไปให้ปลาดุกกิน เขาอธิบายตัวเองว่าเป็นวิถีแห่งสัตว์โลก วิธีการใช้ชีวิตให้อยู่รอดฉันแค่สะดุดใจตรงที่เลี้ยงดูเขาไว้ก่อนแล้วค่อยจัดการ ฉันคิดว่า ถ้ามันกินกันเองตามวิถีชีวิตไม่เป็นไรฉันคิดถึงถ้อยคำหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่า ใครพูด "เขารัก...เหมือนคนเลี้ยงหมูรักหมูที่เลี้ยงไว้" นั่นหมายถึงรักและดูแลอย่างดีเพื่อเอาไว้ฆ่าและขาย
แพร จารุ
1  ฉันเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความตายครั้งแรกเมื่อพ่อตายจากไป ในวันที่แม่ พี่ ๆและ ญาติ ๆ ต่างช่วยกันจัดงานให้พ่อ ผู้หญิงเตรียมอาหาร ปอกหอมกระเทียม เด็ดก้านพริกขี้หนู หั่นตะไคร้ ผู้ชายเตรียมไม้ฟืนเพื่อทำอาหาร หุงข้าว ต้มแกง ต้องหุงข้าวด้วยกระทะใบใหญ่  ต้องทำอาหารจำนวนมากในเวลาหลายวัน เรามีญาติเยอะ มีเพื่อนบ้าน และคนรู้จักมากมาย เพราะเราไม่ได้มีพ่อที่ดีต่อลูกเท่านั้นแต่มีพ่อที่ดีต่อผู้อื่นด้วย