Skip to main content
"ป้าไฟไหม้ ไฟไหม้ " หลานสาวส่งเสียงอยู่หน้าบ้าน

"ไฟไหม้ที่ไหน" ฉันถาม เดี๋ยวนี้อาการตื่นกลัวเรื่องไฟไหม้ป่าหลังบ้านลดลงไปแล้ว หากเป็นเมื่อสองปีก่อน ฉันจะกลัวมาก กลัวจนตัวสั่นและรีบโทรศัพท์ไปแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายทันที และบางครั้งก็ลงมือดับไฟเองก่อนที่รถดับเพลิงจะมา พร้อมกับบ่นด่าคนที่ทำไฟไหม้ คนที่มาเก็บของกินในสวนร้างแต่ไม่เคยสนใจหน้าแล้งยามที่ไม่ค่อยมีอะไรเก็บกิน และเจ้าของสวนที่ทิ้งสวนตัวเองไว้แล้วไม่มาดูแล  รวมถึงดับเพลิงที่มาช้าไม่ทันใจ

ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ปรับตัวง่ายนะเป็นจริง โดยดูได้จากตัวเอง

คืนนี้ฉันเดินออกไปดูไฟไหม้ได้อย่างปกติเหมือนคนอื่น ๆ หย่อมไฟเล็ก ๆ สองกอง อยู่ในสวนร้างห่างออกไปจากบ้านสักสองร้อยเมตร ดูเหมือนไฟจะลุกลามขึ้นเรื่อย ๆ เป็นกองใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น ฉันคิดว่ามันคงจะดับเองไม่ได้เพราะที่ตรงนั้นแห้งมาก เป็นดงไม้ไผ่ เสียงไม้ไผ่แตกกดดันนัก  นอกจากหย่อมบ้านที่เราอยู่กันสามสี่หลังแล้ว ห่างออกไปจากกองไฟอีกด้านมีหย่อมบ้านอีกหย่อมหนึ่ง

ยืนมองไฟอยู่ครู่หนึ่ง ฉันจึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปยังหมายเลข 191 เองโดยเลิกรอคนอื่น
"ขอแจ้งข่าวไฟไหม้ค่ะ" ฉันพูดอย่างธรรมดา
"ไหม้อะไรครับ" เสียงถามธรรมดาเหมือนกัน
"ไหม้ป่าค่ะ"
"ที่ไหนครับ"
"หลังโรงเรียนค่ะ" เขาทวนคำหลังโรงเรียนแล้วถามต่อว่าโรงเรียนอะไร ที่ไหน เมื่อฉันบอกสถานที่เขาก็ตอบว่า ครับ ครับ

ฉันยืนดูไฟไหม้และรอรถดับเพลิงอยู่กับหลานสาววัยหกขวบ นานสิบนาที และฉันก็เริ่มกลัวว่า อาจมีลมพัดแรงทำให้ไฟลุกโหมได้ เพราะช่วงนี้กรมอุตุฯประกาศเรื่องระวังพายุฤดูร้อนในภาคเหนือตอนบนด้วย 
"ถ้าป้าทำเสียงตื่นเต้นกว่านี้สักนิด เขาก็คงรีบมาเร็ว ๆ" ฉันพูดกับหลานสาว
"นั่นนะสิ มาช้า เดี๋ยวไฟก็ไหม้หมด" หลานสาวว่า

เมื่อสองปีก่อนไฟไหม้ป่าที่สวนร้างแห่งนี้นับสิบครั้ง ตอนนั้นหลานสาวอายุสี่ขวบ ทันทีที่ไฟไหม้ป่าเธอจะต้องรีบเอาเสื้อกันหนาวมาสวม เธอกลัวจนหนาวสั่นนั่นเอง แต่ปีนี้เธอยืนดูไฟกับฉันได้อย่างที่ไม่ต้องวิ่งหาเสื้อกันหนาว แสดงว่าเธอปรับตัวได้ดีเหมือนกัน

"ป้ามอเตอร์ไชค์มาแล้ว"
"หรือพวกเขาคงจะมาดูก่อนว่าไฟไหม้ไปแค่ไหนแล้ว เรื่องไฟไหม้ป่าพวกเขาคงจะได้รับแจ้งอยู่เรื่อย ๆ จนเลิกตื่นเต้นแล้วเหมือนกัน"
มอเตอร์ไชค์หยุดดู และผ่านเลยไป  อาจจะไม่ใช่ไม่เกี่ยวกับดับเพลิง

เคยพูดคุยกับเพื่อนบ้านเรื่องไฟไหม้ป่า และเคยได้ยินชาวบ้านเขาพูดว่าปล่อยให้ไหม้ไป ให้ไหม้ให้หมดจะได้ไม่ต้องไหม้อีก เพราะถ้าไม่ไหม้ตอนนี้ก็ต้องไหม้สักวันอยู่ดี ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องไฟก็ต่างกันออกไป

ไฟไหม้ป่าแถบนี้ทุกปี ในบริเวณสวนร้างสี่ห้าไร่ ฉันคิดว่าความคิดหลักที่เหมือนกันคือ อย่าให้ไฟไหม้บ้านเป็นใช้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าไฟไหม้อยู่ใกล้บ้านไหนมากที่สุดบ้านนั้นก็จัดการไป จะไปดับไฟเองหรือแจ้งดับเพลิงก็ตามใจ   ส่วนปัญหาหมอกควันที่ได้รับกันทั่วถึงเป็นเรื่องหลัง  เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งจะวิกฤติเมื่อสองสามปีนี้เอง และปัญหาหมอกควันก็ไม่ได้ทำให้ใครตายในทันทีทันใดด้วยแค่ตายแบบผ่อนส่งไม่ค่อยรู้ตัวยังถือว่าห่างไกล

ไฟป่าไม่ได้เกิดขึ้นเอง ฉันรู้สึกว่า ตัวเองถูกหลอกมานาน สมัยเรียนเด็ก ๆ รุ่นฉันจะท่องว่า ไฟป่าเกิดขึ้นจากการเสียดสีของไม้ทำให้ลุกเป็นไฟ ต่อมาก็ถูกบอกว่า ไฟคุขึ้นจากใต้ดิน มาภายหลังได้รับคำยืนยันว่า ไม่จริงส่วนใหญ่เกิดจากคน ไฟป่าเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากไม้เสียดสีเพียงไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์เกิดจากคนทำแน่นอน ทั้งตั้งใจจุดไฟเผา และโดยประมาท

และต่อมาก็ถูกทำให้รู้อีกว่า เกิดจากชาวบ้าน ชาวเขาเผาป่าทำให้เกิดไฟไหม้และเป็นหมอกควันไปทั่ว นานทีเดียวกว่าจะรู้ว่า ไฟไหม้เกิดจากใครก็ได้  เช่นครั้งหนึ่งเพื่อนครูที่เพชรบูรณ์ เขียนจดหมายมาเล่าว่า เขาทำไฟไหม้ไปนับสิบไร่ เหตุเพราะเขาชวนเด็ก ๆ ทำความสะอาดโรงเรียนและกวาดขยะใบไม้เอาไปเผา ลมพัดแรงเพียงไม่นานมันก็ลุกลามไปใหญ่โต เขาถูกสอบ และถูกปรับ หลังจากนั้นก็ต้องย้ายออกจากพื้นที่ ตอนนั้นฉันหัวเราะขำเพราะก่อนทำไฟไหม้เขาได้รับรางวัลเป็นครูดีเด่นสาขาอะไรสักอย่างเป็นเกียรติเป็นศรีแก่เพื่อนฝูงมาก แต่การที่เขาทำไฟไหม้ป่าครั้งนั้นทำให้ฉันเลิกบ่นด่าว่าชาวบ้านชาวเขาว่าเป็นผู้เผาป่าทำไฟไหม้ป่า เพราะตระหนักว่าคนอื่นก็ทำให้ไฟไหม้ป่าได้ เช่นเพื่อนครูก็ทำได้  นักเดินทางนักท่องเที่ยวก็ทำได้

เดือนที่ผ่านมาไฟไหม้ดอยหลวงเชียงดาวครั้งใหญ่ คนที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เพียงห้านาทีไฟก็ลุกไปถึงยอดดอยแล้ว และต่อมามีนักพัฒนาในพื้นที่คนหนึ่งเดินขึ้นไปดูร่องรอยไฟไหม้ เขากลับลงมาบอกว่า ต้นเพลิงน่าจะมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวนักเดินทางหุงหาอาหารกินเพราะเขาพบว่ามีร่องรอยมีเตาไฟด้วย หากเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นความประมาทโดยแท้ เพราะในช่วงที่ร้อนแล้งขนาดนั้นพวกเขาไม่ควรก่อไฟบนดอย เพราะมีกฎห้ามอยู่แล้วว่าห้ามก่อไฟ นักท่องเที่ยวนักเดินทางก็ควรจะรู้หรือบอกว่าไม่รู้ไม่ได้เลย และที่สำคัญพวกที่เอาเตาไฟขึ้นไปก็ต้องเป็นพวกผู้นำทาง ลูกหาบเพราะนักเดินทางนักท่องเที่ยวจะไม่แบกขึ้นไปดังนั้นที่บอกว่าผู้นำทางเชี่ยวชาญมีความรับผิดชอบและลูกหาบผ่านการอบรมมาอย่างดีก็ต้องคิดใหม่แล้วว่าจริงหรือไม่



ภาพดอยหลวงหลังไฟไหม้
จาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=rosymirror&month=03-2009&date=27&group=1&gblog=8

ฉันเคยเดินทางสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาวในช่วงแล้ง แต่ไม่แล้งมากเหมือนปีนี้ ตอนนั้นเรามีแก๊สเล็ก ๆ ขนาดกระเป๋าหิ้วไปด้วย แต่พวกลูกหาบและผู้นำทางก็ยังก่อไฟหุงหาอาหารให้เรากินกัน ซึ่งโชคดีที่ไม่มีไฟไหม้ป่าในช่วงนั้นจากการจุดไฟครั้งนั้น ไม่เช่นนั้นจะรู้สึกผิดบาปและฝันร้ายไปจนตายทีเดียว แต่ที่คิดขึ้นมาแล้วน่าตกใจก็คือ ตัวเองเดินทางไปโดยไม่มีความรู้เรื่องใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่รู้วิธีการจัดการกับไฟเลยแม้แต่นิดเดียว และ เรามอบความไว้วางใจให้กับผู้นำทางและลูกหาบ ดังนั้นเราจึงไม่ห้ามเขาเมื่อเขาจุดไฟ และไม่ได้ดูด้วยว่าพวกเขาดับไฟสนิทหรือไม่  แต่ก็โชคดีอีกที่เราได้ผู้นำทางที่ดี นั่นเป็นการเดินทางในหน้าร้อนครั้งแรกและถือว่าทำผิดกฎระเบียบแม้ไม่ทำเองก็ปล่อยให้ผู้ร่วมทางทำผิดเพราะยอมให้มีการก่อไฟทั้งที่เป็นช่วงแล้วและแห้งมาก อีกทั้งเราก็ไม่ควรเดินทางไปในหน้าแล้งด้วย

ฉันใช้คำว่า โชคดี แน่นอนเมื่อมีคำว่า โชคดี ก็ต้องมีคำว่า โชคร้าย ซึ่งเราไม่น่าจะอยู่กับคำว่าโชคดีหรือโชคร้าย แต่ในความเป็นจริงชีวิตเราอยู่กับสองคำนี้มาโดยตลอด เมื่อรอดเราก็จะรู้สึกว่าโชคดี เมื่อไม่รอดก็จะเป็นโชคร้าย เช่นเมื่อสองวันก่อน เพื่อนเช่ารถขึ้นดอยรถไปเสียระหว่างทาง  เราบอกกันว่า โชคดีที่ไม่เสียบนดอยไม่เช่นนั้นรถตกดอยตายแน่ แต่ความจริงก็คือเราไม่ได้ดูสภาพรถให้ดีก่อนใช้และเป็นเช่นนี้มาหลายครั้ง และเราเอาโชคดีมาเป็นที่ตั้ง

ฉันกลับมานั่งคิดและเขียนเล่น ๆ หลังจากที่รถดับเพลิงมาดับไฟไหม้ป่าในสวนร้างหลังบ้านแล้ว และเหลือทิ้งไว้แต่กลิ่นไหม้ ตอนนี้ฤดูแล้งยังไม่หมดไฟยังไหม้ต่อไป และฉันก็ต้องคิดว่าจะโชคดีต่อไป 

 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
“จึงขอตั้งจิตมั่นว่าจะพูดแต่ความจริงด้วยถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความมั่นใจ ความเบิกบาน และความหวัง โดยไม่กระพือข่าวที่ตัวเองไม่รู้แน่ชัด รวมทั้งไม่วิพากษ์วิจารณ์ หรือกล่าวโทษในสิ่งที่ตัวเองไม่แน่ใจ” ฉันชอบถ้อยคำนี้มาก เป็นถ้อยคำ ที่เพื่อนนำมาฝากหลังจากที่เธอกลับมาจากภาวนา เรื่องมันเป็นอย่างนี้ค่ะ... เพื่อนของฉันกลับมาจาก “ภาวนา” แบบหมู่บ้านพลัม เธอว่าดีงามมาก ใช้กับชีวิตได้ เธอพูดถึง ข้ออบรมสติ 5 ประการ แต่เธอเน้นข้อฝึกอบรม ข้อที่ 4 เธอเขียนส่งมาให้ฉันอ่าน ฉันคิดว่าเธอคงอยากให้ฉันตระหนักรู้ หรือไม่เธอก็บอกอ้อม ๆ ว่า ฉันเป็นคนที่ควรจะปฏิบัติเพราะฉันมีปัญหาในข้อนี้…
แพร จารุ
ระหว่างการพูดคุยกับเพื่อน เพื่อนนักเขียนของฉัน ไปอยู่ไกลถึงลอนดอน ช่วงที่ผ่านมาเธอกลับบ้านเพื่อมาส่งแม่เดินทางไกล เพราะครั้งนี้แม่ไปแล้วจะไม่กลับมาอีกเลย และไม่รู้ว่าเส้นทางสายยาวไกลของแม่อยู่ที่ไหน แต่สำหรับเธอ เชื่อว่า จะไปพบกันที่พระเจ้า เราไม่ได้พบหน้ากันมานาน ได้แต่คุยโทรศัพท์กัน ช่วงแรกเพื่อนนักเขียนของฉันนั่งทำงานเขียน นั่งวาดภาพ และปลูกต้นไม้อยู่ในเรือนกระจกอยู่ที่บ้าน ต่อมาเธอไม่เลือกที่จะนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่บ้านแล้ว เธอไปทำงานที่พักคนชรา ทำงานอยู่กับคนแก่ ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกแต่เป็นเรื่องจริงของชีวิต เธอมีการงานที่มีความเศร้า ความตายของคนแก่ที่นั่นอยู่เสมอ
แพร จารุ
ยามเช้าได้อ่านงานของดอกสตาร์ เธอเขียนจั่วหัวว่า เชียงใหม่แพ้ซ้ำซาก Chiangmai lost her beauties. ข้อเขียนของเธอบอกว่า ผังเมืองฉบับใหม่ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วง ๙๐ วัน ที่คนได้รับความเดือดร้อนจากผังเมืองฉบับนี้จะยื่นคำร้องเพื่อคัดค้าน ถ้ารัฐบาลไม่รับฟังและผังเมืองฉบับนี้ผ่าน โฉมหน้าเมืองเชียงใหม่คงจะอัปลักษณ์สุด ๆ รอวันตายลูกเดียว มีเรื่องฝายทั้งสามแห่งคือ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้งและฝ่ายท่าศาลาอีก ของเก่าแก่ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสร้างไว้ให้ลูกหลานชาวล้านนาได้ประโยชน์กลับจะรื้อทิ้งโดยเห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อยที่เทียบไม่ได้เลยกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองกับลูกหลานในอนาคต“…
แพร จารุ
พ่อหมื่นแก่ฝายคนสุดท้าย นัดพบที่หน้าฝายพญาคำ ในวันเสาร์ที่ 13 กันยายน เวลา 10.00 น. ร่วมทำพิธีสืบชะตาอีกครั้ง ชาวบ้านยอมให้มีการสร้างประตูระบายน้ำแล้ว แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามทุบห้ามรื้อฝายโบราณทั้งสามฝาย หรือทดลองใช้ประตูระบายน้ำก่อนสองปี ว่าสามารถทดน้ำเข้าเหมืองเพื่อส่งเลี้ยงไร่นาได้หรือไม่ คือให้ลองดูว่าประตูน้ำทำหน้าที่แทนฝายหินทิ้งเก่าแก่ได้ดีแค่ไหน การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายจะถูกเปลี่ยนมือ จากการจัดการโดยชาวบ้านในระบบแก่ฝายมาเป็นจัดการโดยรัฐชลประทาน ชาวบ้านผู้ใช้น้ำคิดอย่างไรถึงยินยอมทั้งที่ยื้อกันมานาน ถ้านับตั้งแต่ช่วงแรกที่จะมีการรื้อก็เกือบสิบปีแล้ว
แพร จารุ
ฉันได้เดินทางมายังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ตั้งใจจะมาเที่ยวตามป่าเขาแค่อยากเปลี่ยนบรรยากาศ   รัฐบาล โดยนายอำเภอ และอุทยานแห่งชาติ จัดให้มีงานบวชป่า และส่งมอบอาวุธปืน มีหนังสือจากหน่วยงานของรัฐมาถึงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในเย็นวันหนึ่ง มีเสียงพูดกันเบา จับใจความได้ว่า พวกเขากังวล เพราะพวกเขาไม่มีปืนจะไปมอบ ฉันฟังอย่างไม่เข้าใจ ไม่รู้พวกเขาว่าจะกังวลทำไม ไม่มีก็ไม่ต้องมอบ บอกไปว่าเราไม่มีก็จบ ก็ไม่มีจะเอามาจากไหน
แพร จารุ
 “ไม่นานคนก็ตายกันหมดโลกแน่ ๆ”หญิงสาววัยเพิ่งผ่านเลขสามพูดขึ้นก่อนล้มตัวลงนอน “พี่เชื่อไหม ไม่นานผู้คนจะตายหมดโลก” เธอพูดอีกครั้ง “อะไรทำให้เธอคิดเช่นนั้น” ฉันถามออกไปด้วยความขลาดกลัว มานอนกลางป่ากลางเขาแล้วพูดถึง เรื่องความตาย  ไม่อยากจะฟังคำตอบจากเธอ รีบเตรียมถุงนอน พร้อมที่จะล้มตัวลงนอนใกล้ ๆ เธอ คืนนี้เราเลือกที่จะไม่นอนในบ้านสบาย ๆ แต่เลือกที่จะมานอนกันในป่าเปลี่ยนบรรยากาศ   เธออธิบายต่อว่า เมื่อกลางวันได้ยินข่าวแผ่นดินไหวที่เชียงราย 3.5 ริกเตอร์  เมื่อแผ่นดินไหวที่เชียงรายได้ ก็ไหวที่เชียงใหม่ได้ หรือที่อื่น ๆ ได้ และมันคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ “อือ...ก็น่าจะจริง…
แพร จารุ
 เธอได้ยินไหม  คนบ้านฉันเขาตัดไม้กันอยู่ เสียงดังกรูด ๆ ๆ แล้วไม่นานก็ได้ยินเสียงไม่ล้ม ฉันฟังจนแยกออกแล้วว่า เสียงที่ล้มลงมาต้นเล็กต้นใหญ่ขนาดไหน ฉันบอกเพื่อนไปเช่นนั้น ด้วยเราพูดกันอย่างไม่เห็นหน้าจึงไม่รู้ว่า เพื่อนทำหน้าตาอย่างไร เธอคงคาดไม่ถึงว่าได้ยินเสียงตอบเช่นนี้ เธอคงผิดหวังมากทีเดียวเพื่อนโทร.มาบอกให้ฉันช่วยเขียนเรื่องการปลูกต้นไม้ เป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิที่เธอทำงานอยู่ ชื่อว่า โครงการป่าเมือง หรือการปลูกต้นไม้ในเมืองนั่นเอง
แพร จารุ
ขอคั่นรายการหน้าโฆษณาหน่อยนะคะ บอกจริง ๆ ว่า ช่วงนี้รู้สึกโหวงเหวงอย่างบอกไม่ถูก คุณผู้อ่านรู้จักคำว่า โหวงเหวงไหม มันเป็นอาการซึม ๆ เศร้า ๆ และรู้สึกเบา ๆ ในหัวใจ  เมื่อทบทวนดูอาการแล้ว พบว่าน่าจะมาจากสภาพสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ซึ่งน่าจะเป็นอาการผิดปกติจากข่าว ช่วงนี้มีข่าวมีคนตายเป็นหมื่นเป็นแสน และยังหายสาบสูญไปอีกเท่าไหร่ไม่รู้ อีกทั้งยังบาดเจ็บรอคอยอยู่อีกมาก
แพร จารุ
“พี่มันน่ากลัวจริง ๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ไม้พี่ไม้ ไม้เป็นหมื่น ๆ” เธอส่งเสียงมาเหมือนถูกผีหลอกกลางวัน“อยู่แดนสนธยาที่ไหน” ฉันถามกลับไปเพื่อให้ตัวเองตั้งสติหากมีเรื่องร้าย “ไม่ใช่ต้นไม้แต่เป็นไม้เป็นหมื่น ๆ ท่อนพี่ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย มันเยอะจริง เดี๋ยวจะถ่ายรูปส่งไปให้ดู บางต้นมีผ้าเหลืองผ้าแดงผูกโคนต้นด้วย” “ที่ไหน” “กิ่วคอหมาพี่ เขากำลังสร้างเขื่อนกิ่วคอหมา พี่รู้เรื่องนี้ไหม พูดแล้วขนลุกพี่ รอเดี๋ยว ๆ นะพี่นะจะส่งรูปไปให้ดู”“จ๊ะ แล้วเธอไปทำไม”“ขับรถผ่านมานะพี่  กลับมาจากลำปาง”เธอพูดหลายครั้งว่าเธอไม่เคยเห็นไม้เยอะขนาดนี้มาก่อนจริง ๆ และสงสัยว่าทำไมเขายังตัดไม้กันขนาดนี้…
แพร จารุ
เขาว่ากันว่า  เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งธรรมชาติงดงาม เมืองวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ จอดดูสักหน่อยซิเขาเล่ากันต่อว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา เชียงใหม่เติบโตด้านการท่องเที่ยวสูงสุด ปีหนึ่งๆ มีคนมาเที่ยวเชียงใหม่มากมาย เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่ต้องรับภาระหาเงินทอง เมกกะโปรเจคขนาดใหญ่จึงเกิดขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ว้าว! แล้วคนเชียงใหม่ คิดอย่างไรกับเมืองเชียงใหม่ หากไปถามคำถามนี้ ร้อยทั้งร้อยคนเชียงใหม่ต่างวิตกกังวล คนเชียงใหม่บอกว่า เมืองน่าอยู่นั้นคือเมื่อก่อน เมื่อก่อนซึ่งไม่นานเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้ คนเชียงใหม่ลำบากกับรถติดในเมือง คนเชียงใหม่กลัวน้ำท่วมเหมือนปี 2548 ฤดูร้อน…
แพร จารุ
เมื่อไม่นานมานี้ ฉันไปร่วมงาน เปิดตัวหนังสืออาหารบ้านฉัน ที่บ้านแม่เหียะใน หัวหน้าอุทยานดอยสุเทพ มาเปิดงาน ฉันฟังเสียงของท่านไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่ายืนไกลและที่บ้านแม่เหียะใน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ เสียงเครื่องปั่นไฟดังมาก จึงไปถามชาวบ้านที่ตั้งใจไปฟังใกล้ ๆ ว่าท่านพูดอะไร แน่นอนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานเขาต้องตั้งใจฟังทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่อุทยานพูด เพราะว่าชีวิตขึ้นอยู่กับอุทยานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  หรือเรียกว่าอยู่ภายใต้กฎหมายอุทยาน “ท่านพูดว่า ท่านเข้าใจว่าที่ทำหนังสือเล่มนี้ทำขึ้นมาเพราะต้องการที่อยู่ที่กิน” หญิงสาวคนหนึ่งบอกว่าท่านพูดเช่นนั้น และเธอรู้สึกดีใจมาก“…
แพร จารุ
ป้าของฉันเป็นผู้หญิงธรรมดามาก ไม่เป็นที่รู้จักของใคร  ฉันคิดว่าคนที่ป้ารู้จักมีแต่หลาน ๆ กับคนข้างบ้านเท่านั้น และคนที่รู้จักป้าก็เช่นกัน ป้าเป็นผู้หญิงธรรมดาจริง ๆ แต่ฉันอยากเขียนถึงป้า เพราะน่าจะมีแต่ฉันที่จะเขียนถึงป้า และฉันก็น่าจะเป็นหลานคนเดียวที่ไม่เคยได้ทำอะไรให้ป้าเลยนอกจากเขียนถึงป้า ใจหายเหมือนกันเมื่อคิดว่า นี่คือสิ่งแรกที่ฉันจะทำให้ป้า ป้าฉันไม่มีอะไรพิเศษเลยนอกจากเป็นคนดี มีจิตใจที่ดีงาม ตั้งแต่ฉันรู้จักเป็นป้าหลานมา ฉันไม่เคยเห็นป้าทำอะไรไม่ดีเลย ไม่ใช่แกเป็นป้าที่ดีของพวกหลาน ๆ แกเท่านั้น แต่เป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเพื่อนบ้าน ชีวิตป้ามีความสุขมาก ฉันคิดว่าป้ามีความสุขทุกวัน…